21 เม.ย. 2021 เวลา 06:15 • ครอบครัว & เด็ก
เมื่อ"ครอบครัวไม่ใช่ที่พึ่ง" ฉันจึงเปราะบางและขาดที่พึ่งทางใจ
"เพราะว่าเด็ก...ไม่ได้โตมาแบบเดียวกันกับคุณ แต่พวกเขาจะเริ่มเติบโตมาจากพวกคุณ"
พ่อแม่และครูหลายคนคาดหวังว่าเด็กจะต้องเติบโตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ กดดันให้เด็กเป็นในสิ่งที่ต้องการ จนทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย อึดอัด ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าเล่าถึงอารมณ์ ความรู้สึก และปัญหาที่เขาได้เจอมา เนื่องจากผู้ใหญ่พยายามสื่อสาร โดยการสั่งสอนด้วยความคิดที่หวังดี แต่ความหวังดีที่ขาดความเข้าใจนั้นกลายเป็นความเคร่งครัด กดดัน บีบคั้น หรือการกระตุ้นด้วยคำพูดแง่ลบ เพราะหวังว่าเด็กจะเข้มแข็งขึ้น ตลอดจนวางกรอบและตั้งเป้าหมายแก่เด็กอย่างไม่รู้ตัว
.
เพราะผู้ใหญ่คิดว่าความหวังดีนี้แหละคือสิ่งที่ดีสำหรับที่สุดสำหรับปัญหาที่เด็กกำลังเจออยู่ ซึ่งความหวังดีที่ขาดความเห็นใจนี้ ได้ส่งผลให้เด็กและวัยรุ่นหลายคนรู้สึกอึดอัดกับการถูกยัดเยียดด้วยความคาดหวังของคนอื่น เมื่อพวกเขาไม่ต้องการทำตามแนวทาง หรือไม่สามารถบรรลุความหวังที่ผู้ใหญ่มอบให้ได้ หลายครั้งมักเกิดการโต้แย้งที่บั่นทอนความสัมพันธ์ให้ห่างเหินกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างใช้เหตุผลเข้าห้ำหั่นกัน เราต่างผิดหวังและไม่พอใจเหตุผลของกันและกัน
.
ถ้าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่แบบนั้นอยู่ จะแก้ปัญหานี้ยังไง ?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัยของผู้ใหญ่ และ เด็กก่อน...
.
เมื่อเรายังเด็ก เราต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็เริ่มมีความคิดและเริ่มตัดสินใจด้วยตัวเอง มีสังคมมากขึ้น ทำให้เริ่มสนใจเพื่อนมากกว่า คนในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่หลายคนพยายามสื่อสารด้วยเหตุผลของตนเอง เพื่อที่ให้เด็กได้เป็นไปตามความหวังที่ตั้งเอาไว้ทำให้เกิดความกดดัน หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อเด็ก เช่น ตะคอก ขู่ บ่น จนไปถึงทุบตี ทำร้ายร่างกาย โดยหวังว่าเด็กจะเข้าใจและทำตามที่ต้องการ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้เป็นการทำร้ายเด็กทั้ง “ทางตรง” และ “ทางอ้อม”
.
ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องตระหนักเสมอว่า "เด็ก...ไม่ได้โตมาแบบเดียวกันกับคุณ แต่พวกเขาจะเริ่มเติบโตมาจากพวกคุณ" ผู้ใหญ่คือส่วนหนึ่งที่จะกำหนดว่า “เด็กคนหนึ่งจะเติบโตอย่างอบอุ่นหรือเป็นเด็กที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยว” ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเขา ค่อย ๆ รับฟัง มอบความรู้สึกที่ดีให้ แทนที่จะเป็นการตั้งความหวังสร้างเป้าหมาย และค่อยๆ สนับสนุนให้ลูกแก้ไขปัญหาและเลือกทางของตัวเอง ถึงแม้มันจะยากหรือขัดใจคุณก็ตาม แต่เด็กจะเติบโตได้อย่างสุขใจ และคุณจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในใจเด็กคนนั้นตลอดไป
.
แล้วสำหรับเด็กจะต้องทำยังไงให้ผู้ใหญ่เข้าใจเรามากขึ้น ?
.
สำหรับเด็กหรือวัยรุ่น ด้วยวัยที่ถูกมองว่าด้อยประสบการณ์ ทำให้หลายครั้งที่ถูกตัดสินและจำกัดกรอบจากผู้ใหญ่ด้วยเหตุผล และความเห็นที่ไม่ตรงกัน มักเกิดสงครามที่สาดคำพูดและอารมณ์ด้วยเหตุผลของแต่ละคน ยิ่งทำให้ไม่เข้าใจกันมากขึ้น เด็กหรือวัยรุ่น เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ ลองเล่าอารมณ์และความรู้สึกออกมา ทำให้พ่อแม่รู้ถึงความเจ็บปวด ความอึดอัดที่เกิดขึ้น เปลี่ยนการสื่อสารที่เริ่มต้นด้วยอารมณ์ เป็นความคิดและเหตุผลของเรา ทำให้พ่อแม่เห็นว่า เรารู้สึกอย่างไร ? เราไม่ได้ดื้อ ต่อต้าน หรือคัดค้านความคิดของพ่อแม่ เพียงแต่ถ้าเราทำตามใจพ่อแม่ต้องการ มันทำให้เราเกิดความทุกข์ ความอึดอัดใจ เราเพียงต้องการให้พ่อแม่สนับสนุนและเป็นกำลังใจในยามที่เราผิดพลาดและผิดหวัง ซึ่งบางครั้งอาจต้องเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอย่างเรา ที่เปิดใจให้ผู้ใหญ่เห็นก่อน
.
สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ "การรับรู้ความรู้สึก” ของอีกฝ่าย และสื่อสารออกมาโดยไม่ตัดสิน เปิดโอกาสรับฟังความรู้สึก ลดเหตุผลลงด้วยความเข้าของความแตกต่างของวัย เพียงเริ่มถามว่า “วันนี้เป็นยังไงบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง” ปล่อยให้แต่ละฝ่ายพูดบ้างฟังบ้าง ถึงแม้จะขัดใจ และ “ยอมรับ” เมื่อความคิดเห็นไม่อาจไปด้วยกันได้ บางทีเราอาจต้องถอยคนละก้าว เจรจาหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ ที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกกันและกัน ก็นับเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใยแล้ว
บทความโดย นายพรเลิศ ชุตินธรางค์กูล นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ปัญหาวัยทำงาน ภาวะหมดไฟ ความสัมพันธ์
.
.
#OOCAprovider
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/pvdbdctfamily
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
.
.
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
โฆษณา