21 เม.ย. 2021 เวลา 07:31 • ธุรกิจ
.
.
7. ทำงานบริการ แต่คิด Man-Hour Rate ไม่เป็น
งานบำรุงรักษาในโรงงาน งานบริการบำรุงรักษา (Maintenance Services) ที่รับซ่อมบำรุงให้กับโรงงานต่าง งานบริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ของบริษัทที่ขายเครื่องจักร หรือแม้แต่อู่ซ่อมรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นงานบริการเช่นกัน ซึ่งองค์ประกอบของการให้บริการประกอบด้วย
1. พื้นที่หรือสถานที่ให้บริการ เช่นไปบริการถึงสถานที่ รับอุปกรณ์จากนอกสถานที่เข้ามาซ่อม หรือผสมผสานทั้งสองแบบ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าขนส่งทั้งไปและกลับ ค่าถอด ค่าติดตั้ง
2. ค่าอะไหล่ เป็นค่าใช้จ่ายของอะไหล่ที่เปลี่ยน
3. ค่าแรง คือค่าเวลาของช่างที่ลงมือทำงานตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้น ซึ่งมักจะมีปัญหาในการกำหนดสำหรับหลายๆหน่วยงาน
โดยปกติค่าแรงสำหรับงานบริการ จะคิดจาก จำนวนช่างที่ทำงาน และเวลาที่ใช้ในการทำงานที่เรียกว่า คน-ชม. หรือ Man-Hours ดังนั้นอัตราการคิดค่าแรง จึงเรียกว่า Man-Hours Rate ซึ่งหลายหน่วยงานไม่ทราบว่าจะคิดอย่างไร ครอบคลุมอะไรบ้าง บทความนี้จะให้หลักสำคัญในการคิด Man-Hours Rate
องค์ประกอบของต้นทุนที่ใช้ในการคิดต้นทุนค่าแรง (Man-Hours Rate) ได้แก่
1.1. เงินเดือนและสวัสดิการ (Personal Expense) ของคนในหน่วยงานซ่อมบำรุงหรือหน่วยงานบริการนั้น สมมุติว่ามีค่าใช้จ่าย 2,600,000 บาท/ปี
1.2. ค่าใช้จ่ายดำเนินการ (Operating Expense) ของหน่วยงานซ่อมบำรุงหรือหน่วยงานบริการนั้น เช่นค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ ค่าเช่า สมมุติว่ามีค่าใช้จ่าย 600,000 บาท/ปี
1.3. ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (Depreciation) หน่วยงานซ่อมบำรุงหรือหน่วยงานบริการนั้น เช่นค่าเสื่อมราคารถยนต์ คอมพิวเตอร์ หรืออาคาร Workshop สมมุติว่ามีค่าใช้จ่าย 300,000 บาท/ปี
1.4. ค่าใช้จ่ายที่โอนมาให้ (Allocation) ของหน่วยงานบริหารจัดการที่อยู่เหนือหน่วยงานซ่อมบำรุงหรือหน่วยงานบริการนั้น สมมุติว่ามีค่าใช้จ่าย 3,000,000 บาท/ปี
ถ้าเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือหน่วยงานซ่อมบำรุงในโรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นผู้ใช้เงินหรือทางบัญชีเรียกว่า Cost Center กับกลุ่มที่ทำงานบริการซ่อมบำรุงให้กับลูกค้าทั่วไปหรือเป็นผู้หาเงิน ที่เรียกว่า Profit Center ทั้งสองกลุ่มจะมีวิธีคิด ค่าแรงที่แตกต่างกัน
การคิดต้นทุนอัตราค่าแรง
ต้นทุนอัตราค่าแรง = (ค่าใช้จ่ายรวมของหน่วยงาน / (เวลาทำงาน x จำนวนคน)) / U-Factor
2.1. ค่าใช้จ่ายรวมของหน่วยงานในช่วงระยะเวลา 1 ปี
หน่วยงาน Cost Center = 1.1 + 1.2 + 1.3
= 2,600,000+600,000+300,000 = 3,500,000 บาท/ปี
หน่วยงาน Profit Center = 1.1 + 1.2 + 1.3 + 1.4
= 2,600,000+600,000+300,000+3,000,000 = 6,500,000 บาท/ปี
2.2. เวลาทำงานเป็นชั่วโมงในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยหักวันหยุดต่างๆออกไป เช่น
ทำงาน 290 วัน/ปี x 8 ชม./วัน = 2,320 ชม./ปี
2.3. จำนวนคนที่เป็นคนทำงานจริงๆ เช่นหน่วยงานมี 12 คน แต่ทำงานธุรการ 2 คน ดังนั้นเหลือคนทำงานซ่อมบำรุงหรืองานบริการซ่อมบำรุง 10 คน
2.4. U-Factor คือ ค่า %ที่ทำงานได้จริง เช่น 60%
ต้นทุนอัตราค่าแรง = (ค่าใช้จ่ายรวมของหน่วยงาน / (เวลาทำงาน x จำนวนคน)) / U-Factor
ต้นทุนอัตราค่าแรงสำหรับ Cost Center = (3,500,000 / (2,320 x 10)) / 0.6 = 232.09 บาท/ชม
ต้นทุนอัตราค่าแรงสำหรับ Profit Center = (6,500,000 / (2,320 x 10)) / 0.6 = 431.03 บาท/ชม
บทสรุป
1. อัตราค่าแรงที่ได้เป็นต้นทุน ดังนั้นถ้าเป็น Profit Center ราคาขายจะต้องบวกกำไรเพิ่มตามนโยบายกำไรของหน่วยงาน
2. สาเหตุที่อัตราค่าแรงของ Profit Center ต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โอนมาของหน่วยงานบริหาร เนื่องจาก การออกไปทำงานทุก Man-Hours ที่เกิดขึ้น จะต้องสามารถรองรับค่าใช้จ่ายของการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยนอกเหนือจากรองรับค่าใช้จ่ายของหน่วยงานตัวเอง เพื่อให้บริษัทอยู่รอด ส่วนหน่วยงาน Cost Center เพียงแค่ทำให้รองรับค่าใช้จ่ายของหน่วยงานตัวเองทั้งหมดได้ก็พอเพียงแล้ว
3. อัตราค่าแรงที่คำนวณได้จะเรียกว่าเป็น Standard Man-Hours Rate ส่วนการคำนวน Actual Man-Hours Rate และ Variance ที่เกิดขึ้น จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ทางหน่วยงานบัญชีต้องเข้ามามีส่วนร่วม
#CMMS
#Maintenance #PM
#Maintenance Management
#IDYL #Cedar
#Productivity #TPM
#RCM #SPO #OEE
#SpareOptimizer
#Powerplant
โฆษณา