21 เม.ย. 2021 เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์
ขนมจีนน้ำยา - อาหารของคนโรแมนติก
ในที่สุดโรคไวรัสโควิด 19 ก็ระบาดเป็นรอบที่ 3 ในเมืองไทย ด้วยเหตุอันใดไม่ต้องพูดถึง ก็ต้องรักษาตัวกันไว้นะครับ สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงประทานคติธรรมให้เราคนไทยไว้ว่า
“ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งก่อให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่แสวงหาหนทางเพิ่มพูน “สติ” และ “ปัญญา” พร้อมทั้งแบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ความกลัวภัยและความหดหู่ท้อถอย คุกคามเข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร เสียสละ และสามัคคี”
1
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.youtube.com
เมื่อตอนต้นปี 2564 นี้ ก็มีข่าวว่าทีมวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาวิจัย “กระชายขาว” พบว่าสารสกัดจากกระชายขาว ซึ่งมีสารสำคัญ 2 ชนิดซึ่งสามารถยับยั้งการเจริฐเติบโตของโควิด-19 ได้ถึง 100% นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย
แต่ความสำเร็จอันนี้ยังอยู่ในขั้นห้องปฏิบัติการ และกำลังนำมาทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองและมนุษย์ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในอนาคต
ความจริง “กระชายขาว” เป็นพืชที่มักนิยมนำมาประกอบอาหารไทยอยู่แล้ว ในหลาย ๆ เมนูก็มีกระชายเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็น ผัดฉ่า แกงป่า ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น
“ขนมจีนน้ำยา” เป็นอาหารพื้นบ้านของไทยที่เรารู้จักกันดี ขนมจีนนั้นเราก็รู้กันอยู่ว่าขนมจีนเป็นอาหารมอญ คำว่า ขนมจีน มาจากภาษามอญว่า “ขะ-นอม-จิน” นั้นคำว่า “ขะนอม” มีความหมายว่าเส้นขนม จีน มาจากคำว่า “จิน” มีความหมายว่า “สุก”
คนไทยคงกินขนมจีนกันมานานแล้วดังปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนหนึ่งว่า
“แจ่วห้าแจ่วหกยกออกมา ทั้งน้ำยาปลาคลุกหนมจีนพลัน”
1
แม้เราจะรู้ความหมายและที่มาของคำว่า “ขนม” แต่คำว่า “น้ำยา” นั้นไม่ปรากฏที่มาของคำนี้ว่าเป็นอย่างไร ทำไมน้ำแกงจึงเรียกว่า “น้ำยา” ฟังดูเหมือนของที่เอาไว้ทดลองทางเคมี
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pantip.com/
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายหนึ่งของคำว่า “น้ำยา” ไว้ว่า
“น. อาหารคาวอย่างหนึ่ง ลักษณะอย่างแกงกะทิ กินกับขนมจีน มีรสค่อนข้างเค็ม ทำด้วยเนื้อปลาต้ม โขลกกับเครื่องแกงผสมกระชาย กินกับถั่วงอกลวก ใบแมงลักเป็นต้น”
อย่างไรก็ตามแต่ เมื่อยังไม่ทราบก็ไม่เป็นไร เรารู้แต่ว่าอร่อย เพราะฉะนั้น มาทำขนมจีนน้ำยารับประทานกันดีกว่าครับ
วิธีทำขนมจีนน้ำยานั้นค่อนข้างจะใช้ความพยายามมากอยู่ เริ่มต้นด้วยการหั่นเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อทำเครื่องแกงอันได้แก่ ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ข่า ผิวมะกรูด และพระเอกของเราที่ขาดไม่ได้เลยคือ กระชาย ตามด้วยพริกชี้ฟ้าแห้ง และกะปิ เอาทุกอย่างที่หั่นแล้วใส่ลงในหม้อ เติมน้ำเปล่าหรือหางกะทิก็ได้ให้ท่วมแล้วต้ม มีบางสูตรใส่เนื้อปลาเค็มลงไปด้วยเพื่อให้หอมอร่อย
พอน้ำเดือด เครื่องแกงที่ต้มไว้พอนิ่มก็เอาขึ้นมาโขลกจนละเอียด ฝีมือปลายจวักก็อยู่ตรงนี้แหละครับ แต่ในยุคสมัยใหม่โขลกเองไม่ไหวก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องปั่นหรือ blender แทน เอาเนื้อปลาช่อนที่ต้มไว้แล้วใส่ลงไปโขลก(หรือปั่น)อีกจนละเอียด คราวนี้ก็ใส่หม้อแล้วเอาหัวกะทิเติมเข้าไปให้กะให้ข้นพอดี ใส่น้ำตาลปี๊บเล็กน้อย แล้วก็เคี่ยวต่อไปจนเดือด ก็เป็นอันเสร็จพิธี
ในยุคหลังนี้มีการเพิ่มโปรตีนเข้าไปอีกเช่น ใส่ลูกชิ้นปลา ขาไก่ หรือปลาทูน่า แต่สูตรที่ได้รับความนิยมมากก็เห็นจะเป็น น้ำยาปู ใส่เนื้อปูกันเป็นก้อน ๆ เลย
แต่มีข้อสังเกตว่า น้ำยาปูนั้นจะไม่ใส่ “กระชาย” นะครับแต่ใส่ขมิ้นแทน น้ำยาปูเลยจะมีสีเหลือง ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าน้ำยาปูเป็นอาหารของคนปักษ์ใต้ ไม่เป็นสีส้มเหมือนน้ำยาของคนภาคกลาง
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pantip.com/
เวลาจะรับประทานทุกท่านก็คงจะทานเป็นอยู่แล้วคือ เอาน้ำยาข้น ๆ ราดไปบนขนมจีน กินกับผักแนมซึ่งมีมากมายหลายชนิดได้แก่ มะระ ถั่วงอก กะหล่ำปลี ใบแมงลัก ไปจนถึงผักกาดดอง หรือจะเอาผักอย่างอื่นที่ท่านชื่นชอบก็ได้ แถมด้วยพริกทอดกับไข่ต้มอีกใบ อาหารจานนี้ก็กลายเป็นอาหารรสเลิศขึ้นมาทีเดียว
ธรรมดาขนมจีนน้ำยาและเครื่องเคียงต่าง ๆ ก็เป็นอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว นี่ถ้ากระชายสามารถทำลายล้าง covid-19 ได้จริงอย่างในห้องแลปละก้อ ขนมจีนน้ำยาจะกลายเป็น Super Food ขึ้นมาทันที
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงแต่งกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานเพื่อชมเชยฝีมือทำกับข้าวของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พร้อมทั้งรำพันความรักความคิดถึงของพระองค์ถึงเจ้าฟ้าหญิงลงไปในแต่ละบทด้วย ซึ่งหนึ่งในอาหารคาวหวานที่ปรากฏอยู่ในกาพย์นั้นคือ “ขนมจีนน้ำยา” ดังปรากฏความว่า
“ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคล้ายคล้ายเห็น”
เรียกว่าทรงพระโรแมนติกเสียจริง ๆ นะครับ
เรื่องตอนที่แล้ว “ฤดูร้อนก่อนเก่าทำ “ข้าวแช่”” ไปอ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/607309e8aeaf230c2dab2dd8
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา