Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hi-Story
•
ติดตาม
22 เม.ย. 2021 เวลา 05:57 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ว่าด้วยตะแลงแกง...จุดจบของนางวันทอง ถึง คดีอำแดงเหมือน เมื่อผู้หญิงไม่ใช่ควาย แต่เป็นคนเสมอกัน...
เมื่อพูดถึงละครวันทอง ทางช่อง One ซึ่งได้พยายามนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เช่น การเอาแนวคิดเรื่อง สตรีนิยม (Feminism) สอดแทรกลงไป ในบริบทสังคมอยุธยา และเน้นย้ำว่านางวันทองนั้นไม่ใช้หญิงสองใจ อย่างที่ได้รับรู้และถูกกล่าวหากันมาโดยตลอด
ในฉากจบของเรื่องที่เป็นไฮไลท์ก็คงจะเป็นฉากประหารนางวันทอง ที่หลายคนลุ้นกันสุดตัวว่าจมื่นไวยวรนาถ(พลายงาม) จะควบม้าเอาธงพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระพันวษา มาช่วยแม่ที่ตะแลงแกงได้ทันไหม ซึ่งแน่นอนว่าก็มาไม่ทัน เพชฌฆาตลงดาบตัดคอนางวันทอง ให้ตายตกไปก่อนแล้ว...
นางวันทองขณะถูกจำที่หลักประหารและมีใบตองรองซับโลหิตไม่ให้ตกถึงพื้นดิน
โดยหากย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา "ตะแลงแกง" ซึ่งเป็นสถานที่ในการประหารนักโทษตามพระราชบัญชา อย่างกรณีแม่วันทองนั้น ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนหน้าวังหลวง ที่ผ่านหน้าวัดพระราม ศาลพระกาฬ และย่านป่าถ่ายไปถึงประตูชัยกับถนนที่ตัดทางทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จากย่านป่าโทนผ่านสะพานชีกุนไปจดหลังวัง
แผนที่ย่านตะแลงแกง คุกหลวงนครบาล (ซุ้มขุนแผน)ในกรุงศรีอยุธยา
จุดที่ถนน ๒ สายนี้มาตัดกันจึงกลายเป็นสี่แยกที่อยู่ในจุดกึ่งกลางของพระนคร เรียกว่าตะแลงแกง ซึ่งอยู่ใกล้กับคุกคุ้มขังนักโทษ ของกรมพระนครบาล และยังถือว่าเป็นบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น เนื่องจากมีย่านตลาดขายของชำและของสดเช้าเย็น ได้แก่ ตลาดหน้าคุก ตลาดหน้าศาลพระกาฬ
แผ่นที่ Google Map วัดระเส้นทางจากที่ตั้งพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทไปยังย่านตะแลงแกง
ด้วยเหตุนี้ในสมัยอยุธยาจึงมักใช้ตะแลงแกงแห่งนี้เป็นสถานที่ประหารชีวิตนักโทษ โดยการตัดหัวเสียบประจาน เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่นๆ จนเกิดความเกรงกลัวในพระราชอาญาไม่กล้าคิดที่จะทำผิดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกต่อไป
โดยคดีที่มีโทษถึงประหารส่วนใหญ่มักเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างราชบัลลังค์ หรือ คดีที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบัญชาลงมาอย่างคดีนางวันทอง
แม้ในท้ายที่สุดสมเด็จพระพันวษา จะทรงเปลี่ยนพระทัยและโปรดให้จมื่นไวยวรนาถ อัญเชิญธงพระราชทานอภัยโทษออกไป แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้วแม้ระยะทางควบม้าจากพระบรมมหาราชวัง มายังตะแลงแกง จะใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาทีก็ตามที...
จมื่นไวยวรนาถขณะควบม้่มายังตะแลงแกง เพื่อช่วยนางวันทอง แม่ของตนจากการประหารชีวิต
ฉากนางวันทองถูกประหาร
ป้ายย่านตะแลงแกง ใกล้กับวงเวียนตะแลงแกง ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
คดีการประหารนางวันทอง หากให้เป็นไปตามพระไอยการลักษณผัวเมีย ในตัวบทกฏหมายตรา ๓ ดวง โทษในลักษณะดังกล่าวของนางวันทอง มีโทษเพียงแค่การปรับไหม เท่านั้น หาได้ถึงขั้นต้องถูกประหารชีวิต ดังเช่นข้อความในหมวด ๓ มาตราที่ ๒๕ ของพระไอยการดังกล่าวที่ว่า
"๒๕ มาตราหนึ่ง ผู้ใดทำชู้ด้วยเมียท่าน แลชายชู้นั้นเอาเมียท่านมาเป็นเมียตน ท่านว่าอย่าพึงให้ ให้ส่งหญิงนั้นให้แก่ผัวมันจงได้ ข้าเมียแลบาดเบี้ยเท่าใด ให้ไหมเท่านั้นให้แก่เจ้าผัวจงสิ้น"
จากพระไอยการจะเห็นได้ว่า กรณีนางวันทองนั้น ตัวเธอเองถึงแย่งชิงกันไปมาทั้งจากขุนแผน สามีคนแรก และขุนช้าง สามีคนที่สอง ท้ายสุดก็ยังมีจมื่นไวยฯ ที่จะชิงตัวแม่กลับไปอีก
เรื่องราววุ่นวายในครอบครัวของนางวันทอง เกิดเป็นดราม่ากระแสสังคมจนเป็นคดีความขึ้น เมื่อขุนช้างได้ว่ายน้ำไปถวายฏีการ้องเรียนต่อสมเด็จพระพันวษาถึงเรือพระที่นั่ง จึงเป็นที่ต้องมาพิจารณาตัดสินคดีนี้ จนท้ายที่สุดได้ทรงให้นางวันทองได้เลือกว่าจะอยู่กับผู้ใด
ภาพวาดขุนช้างว่ายน้ำถวายฏีกาแด่สมเด็จพระพันวษา ขณะประทับบนเรือพระที่นั่ง บนปกหนังสือลิเกกลอนสด เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ: พระนคร, ๒๕๐๒.
นางวันทอง ขุนช้าง ขุนแผน และ จมื่นไวยวรนาถ ขณะขึ้นให้การไต่สวนคดีตามฏีกา ณ ท้องพระโรง
แต่คนที่ลำบากใจที่สุดก็คือนางวันทองเองที่ได้ทูลตอบมาดัง เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา ความว่า
จะว่ารักขุนช้างกะไรได้
ที่จริงใจมิได้รักแต่สักหนิด
รักพ่อลูกห่วงดังดวงชีวิต
แม้นทูลผิดจะพิโรธไม่โปรดปราน
อย่าเลยจะทูลเป็นกลางไว้
ตามพระทัยท้าวจะแยกให้แตกฉาน
คิดแล้วเท่านั้นมิทันนาน
นางก้มกรานแล้วก็ทูลไปฉับพลัน
ความรักขุนแผนก็แสนรัก
ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน
สารพันอดออมถนอมใจ
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา
คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่
เงินทองกองไว้มิให้ใคร
ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก
ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว
ทูลพลางตัวนางระเริ่มรัว
ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป
สมเด็จพระพันวษา(นำแสดงโดย พ.อ.วันชนะ สวัสดี ) ขณะออกพิจารณาคดีนางวันทอง ณ ท้องพระโรง
ข้อความที่นางวันทองทูลตอบ สร้างความขัดเคืองพระราชหฤทัยให้แก่สมเด็จพระพันวษา เป็นอย่างมาก ที่ไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะเลือกใคร ท้ายที่สุดจึงรับสั่งบริภาษนางวันทองอย่างรุนแรงและโปรดให้นำตัวไปประหาร เพื่อยุติความวุ่นวายและไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้คนอื่นต่อไป ดังความว่า
มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง
จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์
ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน
สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ
ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว
หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่
หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย
อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา
กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น
คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า
อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองเรา
กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย
หญิงกาลกิณีอีแพศยา
มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย
ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป
มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้
เร่งเร็วเหวยพระยายมราช
ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี
อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี
อย่าให้มีโลหิตติดดินกู
เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน
ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่
ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู
สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย ฯ
จะเห็นได้ว่าความตายของนางวันทอง ที่ย่านตะแลงแกง ล้วนแล้วแต่มาจากทัศนคติของผู้นำอย่างสมเด็จพระพันวษาที่มองผู้หญิงอย่างเธอว่าเป็นตัวปัญหา ทั้งๆที่ ในความจริงแล้วไม่ใช่ความผิดของเธอเลย การเป็นหญิงที่ถูกตราหน้าว่ามากผัว นั้นกลับถูกด้อยค่าและศักดิ์ศรีลงอย่าชัดเจนในบทประพันธ์ของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนข้างต้น
จากวันทอง สู่คดีอำแดงป้อม จนถึง คดีอำแดงเหมือน และจุดเริ่มต้นของสิทธิเสรีภาพที่สตรีจะพึ่งมีในฐานะมนุษย์
ขณะที่แนวคิดที่ปรากฎอยู่ในละครเรื่องวันทอง ก็สะท้อนมาจากมุมมองของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฏหมายในหมวดพระไอยการลักษณผัวเมีย ของสมเด็จพระพันวษา เพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก้สตรี ในการออกความเห็นในคดีการหย่า และเลือกคู่ครองได้
ซึ่งในประเด็นนี้หากศึกษาตัวบทกฏหมายเก่า ที่มีมาก่อนการตรากฏหมายตราสามดวงในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น จะพบว่าใน พ.ศ.๒๓๔๗ ได้เกิดคดีที่ผู้พิพากษาตัดสินคดีอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรี ผู้เป็นผัว ซึ่งไม่มีความผิดอันใด ทั้งๆ ที่อำแดงป้อมเองเป็นชู้กับนายราชาอรรถ
กฎหมายตรา ๓ ดวง
คดีดังกล่าวนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่าเป็นคดีที่ไม่ยุติธรรม ดังประกาศพระราชปรารภตอนต้นของกฎหมายตราสามดวง ที่กล่าวถึงคดีของ อำแดงป้อมที่ไปทำชู้กับกับนายราชาอรรถแล้วกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นผัว ความว่า
“อำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ให้การแก่พระเกษมว่า อำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ไม่ยอมหย่า
พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแพละโลมอำแดงป้อม แลพิจารณาไม่เปนสัจธรรม เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดข้อความมาให้ลูกขุนสานหลวงปฤกษาๆ ว่าเปนหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย จึ่งทรงพระกรรุณาตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่าชาย ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้นหาเปนยุติธรรมไม่”
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้มีการตรวจสอบตัวบทกฏหมายซึ่งเก็บไว้ที่ศาลหลวง ที่ข้างพระที่ในพระบรมมหาราชวัง และที่หอหลวงมาตรวจสอบ พบว่าข้อความทุกฉบับตรงกัน เนื้อหาว่า
“ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้”
การที่กฏหมายเปิดโอกาสให้ผู้หญิงหย่าผู้ชายที่เป็นคู่ครองตัวเองนั้น หากมองในมุมความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันในโลกปัจจุบัน ก็เป็นการให้สิทธิผู้หญิงในการเป็นฝ่ายเลือกครองคู่กับคนที่ตนเองรักได้เท่าเทียมกับผู้ชาย และหากหมดรักก็หย่าร้างกันได้
แต่ในทางกลับกันในช่วงเวลานั้น ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม โดยยกข้อกฏหมายที่ให้หญิงหย่าชายได้ออก และโปรดเกล้าให้มีการชำระกฏหมายครั้งใหญ่ในพ.ศ.๒๓๔๗ จนเป็นที่มาของการตรากฏหมายตรา ๓ ดวง ที่ใช้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕
หนังสือกฏหมายตราสามดวง ฉบับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ ทั้ง ๓ เล่ม ซึ่งเนื้อหาของ พระไอยกสรลักษณผัวเมีย จะอยู่ในเล่มที่ ๒
โดยหากวิเคราะห์ตัวกฏหมายในพระไอยการลักษณผัวเมียแล้ว จะพบว่าผู้หญิงนั้น มีค่าประหนึ่งสิ่งของในครอบครองของผู้ชาย ที่หากมีใครมาล่วงละเมิด ทำให้เสียหาย ลักพาไป ก็ต้องจ่ายเป็นสินไหม ให้เจ้าของเป็นค่าทดแทน ซึ่งสถานะของผู้หญิงเมื่อวัยเยาว์นั้นถือเป็นสมบัติของ บิดามารดา และหากแต่งงานก็มีฐานะเป็นภรรยาที่อยู่ใต้การปกครองของสามี
สภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมา จนใน พ.ศ.๒๔๐๘ ได้ปรากฏกรณีการถวายฎีกาของอำแดงเหมือน ต่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และการได้สิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง ของผู้หญิงเป็นครั้งแรก
โดยกรณีคดีของอำแดงเหมือนนั้น เกิดขึ้นที่เมืองนนทบุรี มีเหตุมาจากการที่นายเกตและอำแดงนุ่ม บิดามารดาของอำแดงเหมือน บังคับให้แต่งงานกับนายภู ชายที่ตนไม่ได้รัก เพียงเพราะเห็นว่าฝ่ายชายเป็นลูกเจ้าของโรงหล่อพระ มีฐานะดี แต่ตัวอำแดงเหมือนกลับมีใจรักกับนายริด มาก่อนแล้ว จึงพาหนีตามกันไป
ซึ่งภายหลังทั้งอำแดงเหมือนและนายริดถูกจับได้ และถูกนายภูฟ้องร้องกับพระนนทบุรี เจ้าเมือง ว่าลักพากัน จึงถูกตัดสินให้จำคุก แต่ทั่ง ๒ ได้พากันแหกคุกหลบหนี้เข้ามายังกรุงเทพและไปตีกลองวินิจฉัยเภรีพร้อมกับถวายฎีกาแด่รัชกาลที่ ๔ ที่ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
กลองวินิจฉัยเภรี ปัจจุบันจัดแสดงเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อความในฏีกาทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยในคดีนี้ ให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยาของนายริดได้ เนื่องจากมีอายุ ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรเลือกคู่ครองอองได้ ดังความในประชุมประกาศบัญญัติลักษณะลักพา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก ความตอนหนึ่งว่า
"จัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฏีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัครเพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้"
แต่อย่างไรก็ตามในคดีนี้นายริดก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยละเมิด และค่าฤชาธรรมเนียม แก่บิดามารดาอำแดงเหมือนและนายภู และโปรดให้ยกฟ้องนายริด เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน
นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าการที่ บิดามารดา ของอำแดงเหมือน ยอมให้นายภูมาฉุดคร่าตัวอำแดงเหมือนกับว่าทำเหมือนผู้หญิงเป็นดังวัว ควาย เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรพึ่งกระทำอีก ดังข้อความว่า
"บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา"
และในท้ายของประกาศบัญญัติลักษณะลักพา ฉบับดังกล่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้นำกฏหมายเก่าที่อนุญาตให้หญิงหย่าชายได้ โดยให้การเลือกคู่ครองนั้นต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้หญิง ไม่ใช้เป็นสิทธิของบิดามารดา หรือสามี อีกต่อไป
"...ตามสิทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใดชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเป็นเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้นแล้ว ตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของ และให้เมียเป็นดังสัตว์เดียรัจฉาน
เพราะลัทธิอย่างนั้นแหละจึงได้ตัดสินในเวลาหนึ่งให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงอย่าชายอย่าได้นั้น ให้ยกกฏหมายนั้นต้องยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นประมาณ ความเรื่องนี้ที่เปรียบเทียบพิจารณาว่าเป็นเมียว่าไม่ได้เป็นเมียให้ยกเสีย เอาแต่ตามใจหญิงที่สมัครไม่สมัครเป็นประมาณ.."
ประกาศบัญญัติลักษณะลักพา ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔
จะเห็นได้ว่าจากกรณีคดีวันทอง ในวรรณกรรม จนถึงคดีอำแดงเหมือน สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทย ต่างตกเป็นเหมือนสมบัติสิ่งของ ที่ไม่ต่างจากวัว ควาย ที่ผู้เป็นเจ้าของคือบิดามารดาและสามีจะบังคับเหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า ไม่มีเสรีภาพแม่จะเลือกความรักได้อย่างสมัครใจ จนเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่หญิงและชายนั้นมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน
ประเด็นเรื่อง พัฒนาการในเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเดินทางมายาวไกลจนถึงปัจจุบัน เพราะกฏหมายที่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพ ในร่างกายจิตใจ ในเมื่อทุกคนเป็นคนเสมอกัน ย่อมต่อมีสิทธิเสมอหน้ากันต่อหน้ากฏหมาย...
ภาพยนตร์เรื่องอำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ.๒๕๓๗) นำแสดงโดย จินตรา สุขพัฒน์ และ สันติสุข พรหมศิริ
ละครเวทีเรื่อง เหมือน จัดทำโดย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.๒๕๕๗)
ละครเรื่องอำแดงเหมือนกับนายริด ทางช่อง Thai PBS (พ.ศ.๒๕๖๐)
เอกสารอ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_5985
https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตอนที่-๓๕-ขุนช้างถวายฎีกา
https://www.silpa-mag.com/history/article_38224
กฏหมายตรา ๓ ดวง เล่มที่ ๒.กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ,2548 หน้า 12
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2547. หน้า 441-446
1 บันทึก
3
7
1
3
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย