Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Military Weapons อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร
•
ติดตาม
22 เม.ย. 2021 เวลา 08:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"เจาะลึกข้อมูลกริเพน ของกองทัพอากาศไทย"
การปฎิบัติการการบินของภารกิจอันหลากหลายในเครื่องบินรบยุคใหม่อย่าง JAS-39 Gripen ซึ่งถูกออกแบบให้มีสมรรถนะที่ดี มีความเหมาะสมกับภูมิประเทศที่มีความหลากหลายของประเทศไทย ทั้งป่าทึบ ชายฝั่ง และอาณาเขตที่กว้างขวางของท้องทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน กริเพนมีความอ่อนตัวและเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศแบบเขตร้อนของไทยที่มีทั้งภูเขา ป่าดิบชื้น ที่ราบลุ่มและชายฝั่งทะเลที่มีความยาวมากว่า 2,000 กิโลเมตร เป็นเครื่องบินรบที่ต้องการอุปกรณ์สนับสนุนในการขึ้นบินน้อยมาก สามารถทำการร่อนลงหรือบินขึ้นบนถนนหลวงทั่วไปโดยใช้ทางวิ่งไม่มากนัก กล่าวคือ ขึ้นและลงได้จากรันเวย์กว้างเพียง 9 เมตรยาว 800 เมตร SAAB แก้ปัญหาระยะทางด้วยการขยายขนาดแอร์เบรก (air brake) ใช้พื้นบังคับทั้งหมดเพื่อกดเครื่องบิน ช่วยให้เบรกล้อกดพื้นสนิทจากการกดปีกเล็กลง จนทำหน้าที่เหมือนแอร์เบรกเพื่อหยุดเครื่องบินด้วยระยะสั้นกว่าเครื่องบินขับไล่ทั่วไป จึงเป็นเครื่องบินที่มีความคล่องตัวสูงที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ
JAS-39 Gripen ทุกลำติดตั้งระบบเครือข่ายข่าวสารทางยุทธวิธี (TIDLS) ที่มีความก้าวหน้าที่สุดแบบหนึ่งของโลก ระบบดังกล่าวสามารถถ่ายโอนส่งต่อข้อมูลระหว่างฝูงบินได้ทันทีในระหว่างทำภารกิจ สามารถเปลี่ยนเป้าหมายที่มีภัยคุกคามสูงกว่า และรับ-ส่งข้อมูลจากเครื่องบินลำอื่นหรือจากกองบัญชาการทางภาคพื้นดิน ระบบจะทำการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนการบินได้ทันทีในระหว่างปฎิบัติภารกิจ โดยการบินเกาะหมู่เครื่องกริเพน สามารถเปิดเรดาร์เดินอากาศเพียงเครื่องเดียวในหมู่บินทั้งหมดเพื่อลดการถูกตรวจจับจากฝ่ายตรงข้าม โดยสามารถส่งต่อข้อมูลเป้าหมายต่างๆของข้าศึกให้กับเครื่องบินอื่นๆในหมู่บินได้อย่างอัตโนมัติ
JAS-39 Gripen เป็นเครื่องบินขับไล่-โจมตีที่มีขนาดเล็ก ยากแก่การตรวจจับและมองเห็น เนื่องจากมีพื้นที่หน้าตัดน้อย จึงส่งผลให้การสะท้อนต่อคลื่นความถี่ของเรดาร์ตรวจจับลดลง ตัวเครื่องมีการแผ่รังสีอินฟาเรดต่ำ ปีกเล็กแบบสามเหลี่ยมที่ติดอยู่ใต้ค็อกพิสนักบินหรือปีกแบบ Delta Canard ทำให้ตัวเครื่องสามารถทำการบินในท่าทางที่เครื่องบินรบรุ่นอื่นไม่อาจบินได้เมื่อใช้ความเร็วสูง เทียบกับขนาดและน้ำหนักตัวแล้ว กริเพนเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกอาวุธได้สูงมาก ทำให้เลือกใช้อาวุธที่มีความเหมาะสมกับภารกิจ ระบบเรดาร์ตรวจจับเครื่องบินข้าศึกเป็นของบริษัท Ericsson รุ่น PS-05 A ซึ่งมีขีดความสามารถในการตรวจจับเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามในระยะที่ 120 กิโลเมตร ระบบจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ เช่น AIM-120 AMRAAM สามารถติดตั้งใต้ปีกของกริเพนได้ในทุกตำแหน่ง นอกจากนั้น กริเพนยังทำการตรวจจับเป้าหมายทั้งทางบก ทางอากาศและทางทะเลโดยนักบินสามารถปรับเปลี่ยนโหมดไปค้นหาเป้าหมายต่างๆด้วยเรดาร์ที่มีความแตกต่างกันได้ถึงสี่ตำแหน่ง
หลักการสำคัญในการออกแบบและสร้างเครื่องบินขับไล่-โจมตีกริเพน คือ "เครื่องบินที่มีขนาดกระทัดรัดเพียบพร้อมไปด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์ขั้นสูงที่สามารถเอาชนะเครื่องบินที่ทรงพลังกว่า" วิศวกรการบินของบริษัท Saab จึงมุ่งเน้นไปที่การออกแบบระบบสมองกลไฟฟ้าให้กับเครื่องกริเพน โดยนำระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลความเร็วสูงเข้ามาทำการควบคุมทุกระบบในตัวเครื่อง ช่วยให้ลดภาระในการบินปฎิบัติการ ด้วยการควบคุมของนักบินเพียง 20 % อีก 80 % นักบินจะมุ่งไปที่การบินรบทางยุทธวิธี ซึ่งแตกต่างจากเครื่องบินรบรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิงที่นักบินจะต้องควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองถึง 80 % เลยทีเดียว
JAS-39 Gripen ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นเทอร์โบแฟน Volvo RM12 พัฒนามาจาก General Electric F404 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ติดตั้งให้กับเครื่องบินรบอย่าง F/A-18 ให้แรงขับดันสูงกว่าเครื่องยนต์รุ่นแรก ระบบพับฐานล้อจากเดิมที่พับเก็บใต้ลำตัวเปลี่ยนมาเป็นการพับฐานล้อเก็บที่แฟร์ริ่งปีก ทำให้เพิ่มพื้นที่ของลำตัวที่จะใช้เก็บเชื้อเพลิงมากขึ้นอีก 40 % ส่วนน้ำหนักบินขึ้นสูงสุดเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัน จาก 14,000 กิโลกรัมเป็น 16,000 กิโลกรัม ตัวเครื่อง JAS-39 Gripen รุ่น C/D ยังสามารถเพิ่มเติมตำแหน่งของการติดตั้งอาวุธภายนอกลำตัวอีก 2 ตำแหน่ง สำหรับเครื่องรุ่นนี้ยังทำการปรับปรุงระบบเอวิโอนิกส์ รวมถึงระบบสงครามอิเล็คทรอนิกส์อีกด้วย
การเข้าประจำการของเครื่องบินรบกริเพน ทำให้กองบิน 7 มีขีดความสามารถในการบินปฎิบัติการป้องกันภัยทางอากาศครอบคลุมภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด รวมถึงการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเล ในลักษณะการบินปฎิบัติการร่วมกันกับเครื่องบินติดเรดาร์แจ้งเตือนภัยทางอากาศ Saab 340 AEW และการเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีในลักษณะการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางข้อมูลและข่าวสาร การประเมินสถานการณ์ เพิ่มความสามารถในการบัญชาการรบและควบคุม ลดจุดอ่อนของระบบป้องกันภัยทางอากาศ ทำให้ฝ่ายศัตรูต้องประเมินกันอย่างหนักทีเดียวหากคิดจะเปิดฉากการโจมตีหรือบุกรุกเข้ามายังน่านฟ้าของเรา.
โปรแกรมป้องกันภัยทางอากาศของกริเพน ข้อตกลงในปี 2008 ซึ่งลงนามระหว่างสำนักงานยุทโธปกรณ์ทางทหาร (FMV) และกองทัพอากาศไทย ว่าด้วยการส่งมอบเครื่องบินกริเพน C/D จำนวนหกลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์รุ่นล่าสุดและระบบตรวจการณ์ เพื่อแทนที่เครื่องบิน F-5 ที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว หลังจากนั้นยังมีการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่กริเพน C อีกหกลำในปี 2010 ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการกริเพน ได้แก่
• เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ กริเพน C/D จำนวน 12 ลำ
• ระบบเรดาร์แจ้งเตือนล่วงหน้าอิรี่อาย (AEW) จำนวน 2 ระบบ ซึ่งติดตั้งในเครื่องบินสำหรับบินในระดับภูมิภาค ซาบ 340
• ระบบบัญชาการและควบคุม ได้แก่ ระบบเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูล
• เครื่องบินซาบ 340 เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนส่งและการฝึกนักบินและช่างอากาศ
• ขีปนาวุธต่อต้านเรือ
• การถ่ายทอดเทคโนโลยี
• การฝึกอบรมนักบินและช่างอากาศ
• เครื่องฝึกจำลองการบิน
• อุปกรณ์สนับสนุนภารกิจ
• อุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน
• โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์สำหรับนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศสวีเดน
• โครงการความร่วมมือทวิภาคีที่ยั่งยืน
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย