22 เม.ย. 2021 เวลา 13:30 • สุขภาพ
ไขข้อสงสัย "ลิ่มเลือดอุดตัน" เมื่อวัคซีนแอสตราเซเนกา-จอห์นสันฯ ควรได้ไปต่อ
บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) หรือ J&J
เตรียมกลับมาเดินหน้าแผนการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประเทศในทวีปยุโรปอีกครั้ง หลังสำนักงานยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) หรือ EMA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมทางการแพทย์ของภูมิภาค ให้ความเห็นว่า วัคซีนของ J&J มีประโยชน์มากกว่า ความเสี่ยงจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ยากและมีความเสี่ยง ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีที่เคยพบในวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี EMA แนะนำให้มีการติดฉลาก "คำเตือน" เรื่องผลข้างเคียงเกี่ยวกับภาวะผิดปกติร้ายแรงในระบบไหลเวียนเลือด คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เอาไว้กับผลิตภัณฑ์ด้วย
1
ส่วนในสหรัฐอเมริกา ภายหลังองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (Centes for Disease Control and Prevention) หรือ CDC มีคำสั่งให้ชะลอการใช้วัคซีนของ J&J ชั่วคราว หลังมีรายงานพบผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ถึง 6 คน ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี เกิดภาวะผิดปกติร้ายแรงในระบบไหลเวียนเลือดจนกระทั่งทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นรูปแบบอาการที่พบได้ยาก หลังมีการฉีดให้กับชาวอเมริกันไปแล้วอย่างน้อย 6.9 ล้านคน
3
โดยเบื้องต้น ทางบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เปิดเผยว่า มียอดการสั่งซื้อวัคซีนจากประเทศในยุโรปอย่างน้อย 200 ล้านโดส และในสหรัฐอเมริกาอีกอย่างน้อย 100 ล้านโดส
2
และล่าสุด มีรายงานว่า CDC และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) หรือ FDA จะมีการนัดหารือและอาจมีบทสรุปในประเด็นดังกล่าวในวันที่ 23 เมษายนนี้
สำหรับปัญหาภาวะผิดปกติร้ายแรงในระบบไหลเวียนเลือด คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งปัจจุบันถูกพบในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนของทั้งบริษัท J&J และบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนในกลุ่ม Adenovirus Vector Vaccine หรือการใช้อนุภาคเทียม (Pseudovirus) หรือการใช้ไวรัสไม่ก่อโรค แล้วฝากส่วนหนึ่งของไวรัสที่ก่อโรคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวไวรัส เพื่อส่งสารพันธุกรรมของ Covid-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ จนกระทั่งกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านโรคนั้น แถลงการณ์อย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ณ วันที่ 17 มีนาคม 2021
ที่อ้างอิงถึงการตรวจสอบวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา รายงานว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะไม่ช่วยลดภาวะความเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ และเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ในขณะที่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism) หรือ VTE ซึ่งคือ ภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นภายในหลอดเลือดดำจากนั้นลิ่มเลือดได้เคลื่อนที่ไปพร้อมกับการไหลเวียนภายในหลอดเลือดดำจนมาอุดกั้นที่ปอด ถูกพบบ่อยมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เช่นเดียวกับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
1
การรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่างๆ จะส่งสัญญาณถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อันอาจเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความว่า มันเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลดีในแง่ของการปฏิบัติที่มีการตรวจสอบและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
3
โดยปัจจุบัน WHO ได้มีการประสานการทำงานร่วมกับ EMA และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้วัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา อย่างรอบคอบ โดยหากได้ผลสรุปที่ชัดเจนแล้วจะมีการแจ้งต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบทันที
อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ WHO พิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ของวัคซีนบริษัท แอสตราเซเนกา ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยง และแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนนี้ต่อไป!
1
ขณะที่ รายงานการตรวจสอบวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ของ WHO อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 16 เมษายน 2021
ระบุว่า อาการไม่พึงประสงค์ชนิดใหม่ที่พบได้ยาก ซึ่งเรียกว่า การเกิดกลุ่มอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome) ​หรือ TTS ตามรายงานหลังการฉีดวัคซีน Vaxzevria และ Covishield ของบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประเมินโดย Brighton Collaboration
กลไกทางชีวภาพของการเกิดกลุ่มอาการ TTS ยังต้องทำการศึกษาต่อไป ในขณะนี้กลไกที่สัมพันธ์จำเพาะกับการใช้วัคซีนชนิด adenovirus-vectored ยังไม่แน่ชัด แต่ก็ไม่สามารถตัดประเด็นนี้ออกไปได้ การทบทวนขั้นต่อไปในผู้ป่วย TTS และการวิจัยว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ใช้เทคนิค adenvirus vector อื่นๆ ด้วย GACVS ระบุว่า พบการเกิด TTS ตามหลังการฉีดวัคซีนของ Johnson & Johnson ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มอาการ TTS ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัคซีนชนิด mRNA-based (เช่น Comirnaty หรือ Moderna)
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ TTS กับวัคซีน Vaxzevria และ Covishield ของบริษัท แอสตราเซเนกา ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากๆ โดยอ้างอิงข้อมูลจากสหราชอาณาจักร พบว่า มีความเสี่ยงในอัตรา 4 เคส ในกลุ่มผู้ใหญ่ (Adults) 1 ล้านคน หรือ 1 เคส ใน 250,000 คนที่ได้รับวัคซีน ขณะที่ ข้อมูลจากสหภาพยุโรป หรือ EU พบว่า อยู่ในอัตราประมาณ 1 ใน 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน
ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่มีการประเมินความเสี่ยงสำหรับโอกาสที่อาจทำให้เกิดภาวะ TTS หลังได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรทำการวิเคราะห์ระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ โดยคำนึงถึงปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่ ผลกระทบในด้านต่างๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 กลุ่มอายุเป้าหมายที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนและความพร้อมของวัคซีนทางเลือกต่างๆ เป็นสำคัญ
1
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งในส่วนของกลุ่มอายุและเพศให้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์เพิ่มเติมและทำความเข้าใจกับภาวะ TTS อย่างถ่องแท้ต่อไป
สำหรับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเฉพาะบริเวณ เช่น สมอง หรือช่องท้อง
ซึ่งพบได้บ่อยจากภาวะ TTS นั้น แพทย์ที่ทำการรักษาควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากพบคนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง รวมถึงอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและหายใจสั้นและถี่ๆ หลังได้รับวัคซีนในกลุ่ม Adenovirus Vector Vaccine (J&J และ แอสตราเซเนกา) ภายในกรอบระยะเวลา 4 ถึง 20 วัน และไม่ควรใช้ยาเฮพาริน (Heparin) หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งปกติจะถูกนำมาใช้ในกรณีผู้ป่วยเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันกับคนไข้ที่เกิดอาการดังกล่าว เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับคนไข้ได้
ทั้งนี้ WHO ยังได้ร้องขอให้ทุกประเทศทบทวนรายงาน ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และประเมินความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะ TTS หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ต่อไป
โรคโควิด-19 กับภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน?
1
"ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ฉันสามารถยืนยันได้เลยว่า โควิด-19 คือ โรคที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากที่สุดเท่าที่เราเคยพบกันมาในช่วงชีวิตนี้"
แพทย์หญิงอเล็กซ์ สปายโลปูลอส (Dr.Alex Spyropoulos) ศาสตราจารย์จากสถาบันไฟน์สไตน์เพื่อการแพทย์และการวิจัย (Feinstein Institutes for Medical Research) นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยภายหลังการตรวจสอบทั้งผู้ป่วยหนักจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ พบว่า มีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ในขณะที่ เมื่อมีผ่าชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ พบว่า มีลิ่มเลือดไปอุดตันอยู่ในปอดจำนวนมากด้วย
2
และจากการทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง แพทย์หญิงอเล็กซ์ สปายโลปูลอส ยังพบอีกด้วยว่า การนำ Blood thinners หรือยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดที่เป็นอันตรายนั้น สามารถช่วยลดหรือป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงเป็นทั้งการป้องกันปัญหาที่หลายคนกำลังหวาดวิตก รวมถึงป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ตั้งแต่แรกอีกด้วย อีกทั้งที่ผ่านมา แม้จริงอยู่ที่อาจมีความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีน แต่องค์กรทางการแพทย์หลายแห่งล้วนยืนยันตรงกันว่า ความเสี่ยงที่ว่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ
4
"หากพูดถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน มันก็คงจะพอๆ กับความเสี่ยงที่คุณอาจจะถูกฟ้าผ่า" สถาบันไฟน์สไตน์เพื่อการแพทย์และการวิจัย สรุป
ความเสี่ยงจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันโดยปกติ เกิดจากปัจจัยใดได้บ้าง?
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นภาวะที่พบได้โดยทั่วไป ปัจจุบันมีชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวเฉลี่ยประมาณ 900,000 คนในแต่ละปี ส่วนผู้เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 100,000 คนในทุกๆ ปี ตามรายงานของ CDC
.
นอกจากนี้ ตามรายงานของสมาคมโรคหัวใจของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) รายงานว่า มีผู้ป่วยจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองถึง 795,000 คนในทุกๆ ปี และในจำนวนนี้ 10-15% เป็นกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี
.
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่ การผ่าตัด, อุบัติเหตุ, การรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงการนั่งอยู่กับที่นานเกินไป เช่น การนั่งบนเครื่องบิน หรือแม้กระทั่ง การนั่งในรถยนต์ เป็นเวลานานๆ
1
.
"จากข้อมูลในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่ชาวอเมริกันจะต้องเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ (Adult) อยู่ที่ 1 ใน 100 ในขณะที่ ความเสี่ยงที่ชาวอเมริกันจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อยู่ที่ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 6 และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 หากต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ฉะนั้น ประโยชน์ใดๆ ที่จะได้รับจากวัคซีนย่อมมีมากกว่า ความเสี่ยงและระยะเวลาการแพร่ระบาดที่ทอดยาวออกไปแน่นอน" แพทย์หญิงอเล็กซ์ สปายโลปูลอส สรุปความเห็นในท้ายที่สุด
2
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
👇อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา