23 เม.ย. 2021 เวลา 03:47 • ดนตรี เพลง
ความเป็นมา และประเภทของเทปคาสเซ็ท
อาจจะค่อนข้างยาวสักหน่อย ถ้าอ่านจนจบ
คุณจะรู้ว่าระบบเสียงของเทป ไม่ได้ห่วยอย่างที่เข้าใจ
เทปคาสเซ็ทยุคแรกๆ เกิดขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 โดยบริษัท โตเกียว เทเลคอมมิวนิเคชัน (Tokyo Telecommunication) หรือโซนี่ (SONY) ในปัจจุบัน
โดยที่โซนี่ในตอนนั้น ได้คิดค้นการทำเทปแม่เหล็กขึ้น โดยการนำกระดาษมาทากับแป้งเปียก แล้วเอาผงเหล็กมาป่นจนละเอียด ทาเคลือบลงไป กลายเป็นเทปแบบบันทึกได้รุ่นแรกๆ ซึ่งมีราคาถูกมาก จากนั้น ก็พัฒนา ลดขนาดลง จนกลายเป็น Compact Cassette Tape ในปัจจุบัน โดยร่วมมือ และแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับ ฟิลลิปส์ (Philips)
โดยที่โซนี่ จะทำการตลาดในทวีปเอเชีย ส่วน ฟิลลิปส์นั้น จะทำการตลาดในทวีปยุโรป และ อเมริกา โดยฟิลลิปส์ ใช้ชื่อการค้าในตลาดยุโรปว่า Compact Cassette โดยจุดประสงค์หลักในตอนนั้นคือ ใช้ในการบันทึกเพลงจากแผ่นเสียงไวนิล (Vinyl)
เทปคาสเซ็ทรุ่นแรกๆ ใช้ผงเหล็กธรรมดา ตอนแรกยังไม่มีการระบุชื่อรุ่น แต่ช่วงหลังๆ ที่เทปถูกทำออกมาหลายแบบมากขึ้น จึงมีการกำหนดชื่อให้กับเทปชนิดนี้ว่า Type I (ภาพ1) ในตอนหลังได้มีการเปลี่ยนสูตรเพื่อไม่ให้เป็นสนิมเร็ว ตัวอย่างของเทปชนิดนี้ก็คือ Sony EF, HF (รู้จักอยู่ยี่ห้อเดียว) เทปในยุค 80’s ที่เสียงดีมากๆ ก็จะมีของ Amigo (ไม่เคยฟัง), Peacock (ยุคที่เป็นตลับทึบ เสียงต่างจากยุคตลับใสราวฟ้ากะเหว), นิธิทัศน์ (บางอัลบั้ม), แกรมมี่ยุคแรกๆ ยกตัวอย่าง นันทิดา ปี 2532 กับ 2535 เจ เจตริน ปี 2536 แล้วก็คริสติน่า ปี 2537
หลังจากนั้นก็มีเทปชนิดใหม่เข้ามานั่นคือ Type II (ภาพ2) เปลี่ยนจากผงเหล็กธรรมดามาเป็นโครเมี่ยม (Chromium) เสียงของเทปชนิดนี้จะใสกว่าเทปเนื้อธรรมดา แต่ก็ยังใสไม่เท่า Type IV เมื่อก่อนแกรมมี่ก็เคยทำเทปประเภทนี้ออกขายอยู่ช่วงนึง ยกตัวอย่าง คริสติน่า อากีล่าร์ ปึ 2533 อัสนี วสันต์ ปี 2536 แต่ด้วยราคาที่แพงมาก จึงไม่เป็นที่นิยม จำไม่ได้ว่าเลิกผลิตไปช่วงไหน
เครื่องเล่นเทปแบบตั้งโต๊ะ และเทปซาวอะเบาท์สมัยก่อนจะมีตัวปรับ Bias ให้สัมพันธ์กับเนื้อเทป (สังเกตที่ตัวเครื่องจะมีปุ่มปรับ) แต่ในยุคหลัง การปรับ Bias จะเป็นแบบอัตโนมัติ โดยใช้วิธีการเจาะช่องที่สันเทป 1 ช่อง
แล้วหลังจากนั้น ก็มีเทปรุ่นต่อมาอีกคือ Type III (ภาพ3) ทำจากเฟอโรโครเมียม (เหล็ก + โครเมียม) (FeCr) (Ferrochrome) แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อพบว่า สารเฟอโรโครเมียมนั้น เมื่อเสื่อมสภาพ จะกลายสภาพเป็นผงฝุ่น ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนในอากาศ จะเกิดเป็นสารที่มีชื่อว่า เฟอริคออกไซด์ (Ferric Oxide) ซึ่งเป็นสารพิษ ส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้เทปชนิดนี้ถูกสั่งเลิกผลิตไป
หลังจากนั้นก็มีเทปรุ่นใหม่ออกมาอีก แต่เป็นรุ่นสุดท้าย นั่นคือ Type IV ทำจากโลหะผสมหลายชนิด ไม่มีสูตรตายตัว เรียกกันทั่วไปว่าเทปเมทัล (Metal Tape) มีการปรับ Bias แบบอัตโนมัติโดยใช้วิธีการเจาะที่สันเทป 1 ช่อง แต่เจาะคนละที่กับเทปโครเมียม ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องบันทึกเทปรุ่นสูงๆ เพื่อใช้บันทึกเพลงจากแผ่นซีดี (ภาพ5) สมัยนั้นก็มีเทปเพลงที่บันทึกด้วยเทปชนิดนี้ออกวางขาย ยกตัวอย่าง คำภีร์ เสือตัวที่11 ปี 2533 (ภาพ4) แต่ด้วยราคาที่แพงมาก จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ (อยากรู้ว่าถ้ามาลองอัดกับไฟล์ Hi Resolution แบบ 24 บิต / 192 กิโลเฮิร์ทซ์ เสียงจะเป็นยังไง)
ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ในช่วงกลาง ถึงท้ายยุค 90’s คนเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง ซีดี (CD) และ มินิดิสก์ (MD) กันมากขึ้น เทปคาสเซ็ทเองก็ต้องปรับตัวสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ ในยุคท้ายๆ ของเทปคาสเซ็ท มีการนำเอาเทคโนโลยีระดับสูง มาใช้ในการเล่นเทป เพื่อดึงเอาคุณภาพเสียงออกมาให้ดีที่สุด เท่าที่พอสรุปได้มีดังนี้
1. Dolby S NR ระบบตัดเสียงรบกวนขั้นเทพ ถูกใส่เข้ามาในเครื่องเล่นเทประดับสูง เช่น TEAC V9000 เห็นว่าค่ายเพลงอย่างแกรมมี่ และอาร์เอส เอาไปใช้ทำ Master Tape ด้วย โดยที่สามารถลดเสียงรบกวนจากเทปลงได้ถึง 24 เดซิเบล
2. DCC หรือ Digital Compact Cassette เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นโดย ฟิลลิปส์ และ พานาโซนิค (Panasonic) เป็นเทปแบบใหม่ที่ใช้หัวอ่านแบบพิเศษ ร่วมกับระบบ Digital Signal Processor หรือ DSP ในการอ่านและบันทึก สนนราคาโหดมหาประลัย เครื่องเล่นตกประมาณ 20,000 บาท (เล่นได้ทั้งเทป DCC และเทปธรรมดา) ส่วนตัวเทปตลับละ 900 บาท (สมัยนั้นซีดีแผ่นละ 500 คนแทบไม่มีปัญญาซื้อ อันนี้เทปม้วนละ 900 คนเขาคงซื้อกันแหละเนาะ) สุดท้าย DCC ก็ไปไม่รอด มีอายุการตลาดอยู่แค่ 2 ปีเท่านั้น
3. DAT หรือ Digital Audio Tape (ภาพ6) คราวนี้เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยโซนี่เจ้าเก่า แต่มีเดน่อน (DENON) กับ นากามิชิ (Nakamichi) เจ้าพ่อเทปในสมัยนั้นเข้ามาร่วมวงด้วย แต่จนแล้วจนรอด ก็เข็นไม่ออก ไปไม่ไหว ดับอนาถไปไม่ต่างกับ DCC เห็นเขาว่าไปเร็วกว่า DCC ซะอีก หลักการทำงานของ DAT คือใช้หัวอ่านวิดีโอเทปของ Betamax แล้วใช้วิธีการเก็บข้อมูลเป็นแบบดิจิตอลที่ 20 บิท 48 กิโลเฮิร์ทซ์ ปรับความเร็วของเทปเป็นแบบ Long Play ได้เหมือนวิดีโอเทปเลย (โซนี่เคยออก DAT วอล์กแมนออกมาประมาณ 3 รุ่น เคยมีคนบอกว่าเทป DAT เสียงดีมาก เคยถูกนำมาบันทึกเสียงเป็นมาสเตอร์ สำหรับทำออดิโอซีดี แต่ก็ไม่เคยฟังเหมือนกัน สมัยนี้คงหาฟังยาก แค่เครื่องยังหายาก ม้วนเทปนี่คงไม่มีหวัง)
4. DSP Tape Deck คิดค้นโดย Pioneer เป็นเทคโนโลยียุคท้ายสุด มีรุ่นระดับตำนานอยู่ 2 รุ่นคือ CT-W616DR หรือ CT-W606DR เครื่องเล่นเทปที่ใช้เทคโนโลยีนี้หายากมาก (ย้ำว่า “มาก”) เพราะตอนที่เทคโนโลยีนี้ออก ซีดี เอ็มดี ไอพ็อด เอ็มพีสาม ครองตลาดไปหมดแล้ว เทคโนโลยีที่ใช้กับเครื่องเล่นเทปนี้คือ หัวอ่านเทปแบบธรรมดา แต่ถูกส่งไปแปลงสัญญาณด้วยระบบ Digital Signal Processing (DSP) ก่อนที่จะแปลงกลับเป็นสัญญาณเสียงอีกครั้งหนึ่ง ในตัวเครื่องเล่นเทประบบ DSP นี้ อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีระดับสุดยอด เป็นการทิ้งท้ายให้กับวงการเทปคาสเซ็ทก่อนที่จะอำลาตลาดไป อย่าง Dolby B/C NR, HX Pro, MPX, Frequency Level Expander (FLEX), Bias Level Expander (BLE) หัวเทป 3 หัว อ่านด้วยมอเตอร์แบบ Disc Drive แบบเดียวกับ Walkman DD มีระบบคำนวณจำนวนเพลงที่จะอัดลงเทป ให้เหมาะสมกับความยาวของเทปนั้นๆ เพื่อให้คุ้มค่าที่สุดใน 1 หน้าเทป และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาท ร่ำลือกันว่า สามารถเล่นเทปทุกม้วนให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับซีดีได้ แต่... ด้วยความที่มันออกมาในยุคที่เทปใกล้จะหมดอายุตลาดแล้ว เครื่องเล่นซีดีคุณภาพเยี่ยมราคาถูกก็ออกตลาดแล้ว แผ่นซีดีเองก็ราคาถูกลงจากเดิมมาก ก็...ดับไปตามระเบียบ
ขอบคุณบทความที่แอดมินเอามาแก้ไขนิดหน่อย
คุณปามมี่ Kritch Pichetkampee
เครดิต FB คนรักเทปคาสเซ็ท
โฆษณา