23 เม.ย. 2021 เวลา 04:08 • ประวัติศาสตร์
"ประเทศไทย พึ่งเกิดยุคจอมพลสฤษดิ์?"
ชวนอ่าน กำเนิด "ประเทศไทย" ภายใต้เผเด็จการ
พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า
ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด
สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา
หลายคนคงเคยได้ฟังบางท่อนบางตอนของบทเพลงผู้ใหญ่ลี ที่มีเนื้อหาเสียดสีระบบราชการไทยใน “ยุคพัฒนา” หรือทศวรรษ 2500 ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างเจ็บแสบ ซึ่งขณะนั้นไทยเราเปิดแขนอ้ารับอิทธิพลทางการเมืองของอเมริกาอย่างเต็มสูบ ตามมาด้วยนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบจัดๆ เอาใจอเมริกา เพื่อให้ได้งบประมาณสนับสนุนทางการทหารและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
หนังสือ กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ ผลงานของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ฉีกแง่มุมการอธิบายความสำคัญของยุคพัฒนาได้อย่างน่าสนใจและไม่เหมือนใคร หนังสือเล่มนี้บอกว่า จริงๆ แล้ว ยุคนี้แหละที่ทำให้ “ประเทศไทย”ที่มีเค้าลางหน้าตาแบบไทยแลนด์ในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น
ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_36210
เปิดมุมมอง “ยุคพัฒนา”
ผู้เขียนเปิดประเด็นว่าการอธิบายยุคพัฒนาที่ผ่านมามักวนเวียนผูกติดอยู่กับชุดความคิดเดิม ๆ ที่ให้ความสำคัญกับกรอบวิเคราะห์เพียง 3 แนวทาง คือ
1. การอธิบายในแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือกันว่า “ยุคพัฒนา” นี้ เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอันเนื่องมาจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้การสนับสนุนของอเมริกา
2. การอธิบายในแนวทางรัฐศาสตร์ มองว่ายุคนี้เป็นยุคที่รัฐดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างเข้มข้น ทำให้สังคมไทยถดถอยไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยม
3. การอธิบายในแนวทางชุมชนนิยมหรือท้องถิ่นนิยม ซึ่งมองว่า ยุคพัฒนาเป็นเสมือน “ตราบาป” ที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับท้องถิ่น ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องสิ้นสลาย แทนที่ด้วยทุนนิยมอันเป็นแนวคิดจากภายนอกที่แทรกซึมและบ่อนทำลายสังคมชนบทให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมอย่างไม่เต็มใจ
ทั้ง 3 แนวทางนี้ผู้เขียนเห็นว่า ไม่อาจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “ยุคพัฒนา” ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างมหาศาลในแง่ของการกำเนิด “ประเทศไทย” อันมีลักษณะที่คลี่คลายมาเป็นสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
“ประเทศไทย” ในความคิดของผู้เขียนไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและมีสำนึกในการยอมรับ “ประเทศไทย” นี้ด้วย
เช่นนั้นแล้ว ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของ “ยุคพัฒนา” จึงอยู่ที่ว่า อำนาจรัฐในยุคนี้สามารถดึงดูดให้ประชาชนทั้งในเมืองและในชนบทสามารถเข้ามาเคลื่อนไหวและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศ จนเป็นผลให้เกิดบูรณภาพในทุกภาคส่วนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน มีสำนึกและจิตนาการในความเป็น “ประเทศไทย” ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐในยุคก่อนหน้านี้ (ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ยุคณะราษฎร) ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้
SPACE นั้น สำคัญไฉน?
ความน่าสนใจของหนังสืออยู่ที่การพยายามอธิบาย “ยุคพัฒนา” ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนที่มีความสลับซับซ้อน การสถาปนาอำนาจและนโยบายต่างๆ ของรัฐมีอิทธิพลต่อความคิด ความใฝ่ฝันและการกระทำอันมหาศาลของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมที่ก่อรูปและสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยโดยใช้ผ่านเครื่องมือการศึกษาที่เรียกว่า “พื้นที่” (Space)
“พื้นที่” ในที่นี้ ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะพื้นที่ทางกายภาพ (Physicial Space) ในทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงพื้นที่ทางสังคม (Social Space) ซึ่งหมายถึงสนามความสัมพันธ์ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ใน “ประเทศไทย”
และพื้นที่ทางความคิด (Mental Space) อันหมายถึงพื้นที่ทางอารมณ์ อุดมการณ์ โลกทรรศน์และความรู้สึกนึกคิดของผู้คน การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ผลักดันให้ประชาชนทั้งในเมืองและท้องถิ่นได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตนเอง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและจินตนการ “พื้นที่ประเทศไทย” ร่วมกัน
ที่นี้ลองมาดูกันต่อไปว่า เจ้า “พื้นที่” ที่ว่านี้ ก่อกำเนิดเป็น “พื้นที่ประเทศไทย” ได้ยังไง?
"พื้นที่ทางกายภาพ"
ยุคพัฒนาเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง “พื้นที่ทางกายภาพ” ขนานใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างถนนหนทางเพื่อเชื่อมต่อเมืองหลวงกับภูมิภาค หรือเมืองกับชนบท
เช่น ถนนมิตรภาพ การปรับปรุงสภาพถนนเดิมในเส้นทางคมนาคมจากตัวจังหวัดสู่อำเภอและอำเภอสู่ตำบลให้มีความทันสมัย การสร้างถนนตามเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทหาร และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น สถานีขนส่งภูมิภาค รถโดยสารประจำทาง รวมถึงการวางระบบทางหลวงแผ่นดินเพื่อควบคุมเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางและรถยนต์ส่วนบุคคลให้เป็นระบบ
ถนนมิตรภาพ ช่วงโคราช-หนองคาย สมัยสร้างเสร็จใหม่ หลังปี พ.ศ. 2504 ภาพจาก https://www.facebook.com/korat.in.the.past/photos/a.950189455049820/1229406240461472/
สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ทางกายภาพในอดีตที่ไม่อาจเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้อุปสรรคในการเข้าถึงการเดินทางของประชาชนลดน้อยลง เส้นทางและระบบขนส่งมวลชนได้เชื่อมโยงให้ผู้คนได้เคลื่อนไหวไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น
มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมืองอันเป็นศูนย์กลางการปกครองและย่านการค้า ประชาชนในชนบทและในเมืองมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในมิติที่หลากหลาย
รัฐยังได้สร้างถาวรวัตถุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ผู้คนรับรู้จุดที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละจังหวัด ซึ่งเอื้อให้คนในท้องถิ่นและคนต่างถิ่นรู้ตำแหน่งหมุดหมายของตนเองและของคนอื่นในพื้นที่ของรัฐด้วย เช่น สถานที่ราชการ อนุสาวรีย์ สวนสาธารณะ ฯลฯ ประสบการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อรูปให้ “พื้นที่ประเทศไทย” ค่อยๆ เกิดขึ้นในความรับรู้ของผู้คนยุคพัฒนา
“พื้นที่ทางสังคม”
การเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นที่ทางสังคมใน “ยุคพัฒนา” ชักนำให้ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และยอมรับอำนาจการคุ้มครองของรัฐ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่รับรู้เรื่องราวของกันและกันในวงกว้างมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น บทบาทของกระทรวงหมาดไทย ซึ่งเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะข้าราชการในท้องถิ่น หรือการทำบัตรประชาชน ซึ่งมีผลอย่างมากในการทำให้ประชาชน แสดงตัวตนเพื่อยืนยันในความเป็นพลเมืองของ “พื้นที่ประเทศไทย” เพื่อรักษาสิทธิอันพึงได้รับจากรัฐบาล
เพราะบัตรประชาชนเป็นเครื่องยืนยันขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองไทยที่ประชาชนจะสามารถอาศัยความคุ้มครองจากรัฐได้ ทั้งในแง่การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ ทะเบียนราษฎร์ โอนย้ายที่ดิน จดทะเบียนสมรส ฯลฯ ประชาชนจึงตื่นตัวอย่างมากที่จะแสดงตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นที่ประเทศไทย”
บัตรประชาชน ช่วง ทศวรรษ 2500
บทบาทของกระทรวงมหาดไทย ได้ทำให้ประชาชนกลายเป็นหน่วยหนึ่งในรัฐที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนต้องยอมรับอำนาจการคุ้มครองจากรัฐมากขึ้น และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในฐานะ “ผู้พัฒนา” ท้องถิ่นและประเทศชาติ
ความชอบธรรมของรัฐในฐานะ “ผู้พัฒนา” ยังถูกสนับสนุนโดยกิจการลูกเสือและกิจการกาชาดซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐและชนชั้นสูง ทั้งกิจการลูกเสือและกิจการกาชาด ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “เครือข่ายคุณธรรม” ที่แผ่ขยายไปพร้อมกับระบบการศึกษาและระบบโครงสร้างทางการปกครอง
กิจการเหล่านี้มีเครือข่ายตั้งแต่ในระดับโรงเรียน อำเภอ จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์รวมและแกนกลางโครงสร้างที่เชื่อมโยงต่อไปยังระดับชาติ ทั้งกิจการลูกเสือและกิจการกาชาดต่างปลูกฝังให้สมาชิกมุ่งอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของรัฐ
ทั้งนี้ยังปลูกฝังอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่เชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นอุดมการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์ใช้ในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วย
จินตนาการและการรับรู้รับรู้เรื่องราวของกันและกันของประชาชน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ หลายภาษาและวัฒนธรรมให้มองเห็นกันและกันมากขึ้น
การขยายตัวของสื่อที่เข้าถึงผู้คนในกลุ่มต่าง ๆ ได้ช่วยให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคสื่อและวัฒนธรรมบันเทิงที่ครอบคลุมมวลชนทั้งประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ประชาชนในชนบทสามารถมีกำลังซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์และโทรทัศน์มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็พอจะมีกำลังซื้อหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง
สื่อเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราวและสื่อสารเหตุการณ์และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในความรับรู้ของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท วัฒนธรรมบันเทิงจากความนิยมในการฟังเพลงลูกทุ่งก็ได้บอกเล่าเรื่องราวของ “เมือง” ผ่านผู้ใช้แรงงานจากชนบทที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในชนบทและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเมืองใหญ่ให้ผู้คนในเมืองได้รับฟังด้วย
วิทยุทรานซิสเตอร์ ภาพจาก https://www.komchadluek.net/news/scoop/383963
นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐในยุคนั้น เป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้ผู้คนในประเทศไทยได้พบเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น ทั้งในจิตนาการและประสบการณ์จริงจากการเดินทางที่อาศัยเส้นทางคมนาคมที่ถูกพัฒนาให้เชื่อมโยงถึงกันทั้งประเทศ
อนุสาร อ.ส.ท. เป็นสื่อกลางของรัฐกระตุ้นให้คนไทยเกิดวัฒนธรรมในการท่องเที่ยวท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมการอ่านที่ขยายตัวของคนในเมืองและคนในชนบทบางส่วน ด้วยเนื้อหาที่กระตุ้นให้ผู้คนสนใจท้องถิ่นต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคผ่านการนำเสนอภาพและเรื่องราวของทิวทัศน์ที่สวยงาม โบราณสถานอันล้ำค่า รวมถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของผู้คนในจังหวัดต่าง ๆ
เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะไปทัศนาจรในท้องถิ่นต่าง ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนหนังสืออ่านนอกเวลาที่ให้ข้อมูลและอรรถรสเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องราวของประเทศไทยไปในตัว
การนำเสนอเหล่านี้ทำให้ผู้อ่านแม้ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่นั้นจริง ๆ ก็สามารถรับรู้และจิตนาการถึงพื้นที่ในประเทศไทยในอีกที่หนึ่งได้ การเปลี่ยนแปลง “พื้นที่ทางสังคม” ในยุคพัฒนาจึงเชื่อมต่อสังคมไทยที่เคยอยู่กันอย่างกระจัดกระจายให้มีเอกภาพมากขึ้นในฐานะพลเมืองของรัฐ และในฐานะประชาชนใน “พื้นที่ประเทศไทย” ร่วมกัน
อนุสาร อสท. ภาพจาก http://www.khanebook.com
ภาพจาก https://web.facebook.com/BirthofThailand1960
"พื้นที่ทางความคิด"
การเปลี่ยนแปลง “พื้นที่ทางความคิด” ของประชาชนเกิดขึ้นมาจากกการปลูกฝังทัศนคติและอุดมการณ์โดยรัฐ และการแสดงออกของประชาชนที่เกิดความรู้สึกร่วมในฐานะประชาชนไทยร่วมกัน รัฐบาลภายใต้จอมพลสฤษดิ์ พยายามเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ อันจะนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย
เห็นได้จากการใช้คำว่า “พัฒนา” และ “ปฏิวัติ” ซึ่งมีนัยยะถึงการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในการโฆษณาผลงานของรัฐบาล อีกทั้ง ยังมีคำขวัญและสุนทรพจน์อีกจำนวนมากที่ชี้ชวนให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของเวลา การเปลี่ยนแปลงและบทบาทหน้าที่ของตนในช่วงเวลานั้น เช่น “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” “ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพัฒนาชาติไทย” ฯลฯ
การโฆษณาดังกล่าวสอดรับไปกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนเกิดความมุ่งหวังและเกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจะเน้นถึงยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลก็ได้อาศัยอุดมการณ์ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อันเป็นแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมในการปลูกฝังให้ประชาชนยอมรับในสถานะของตน และได้เชิดชูให้แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นศูนย์รวมของคนในชาติ
ความรู้สึกร่วมในความเป็นชาติถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาที่เน้นศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้ถูกผลิตซ้ำ โดยอาศัยโครงเรื่องและเนื้อหาที่เลือกสรรให้มีความสอดคล้องกับอุดมการณ์การสร้างชาติของรัฐเป็นแนวทางที่ได้รับการเผยแพร่ ทางด้านศาสนาก็ได้มีการสนับสนุนให้พระภิกษุเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในท้องถิ่นที่ห่างไกล รวมถึงการพัฒนาชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อดึงให้ประชาชนหวาดกลัวในภัยอันตรายของคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านศาสนา และเกิดความรู้สึกร่วมในการต่อต้าน
บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทศวรรษ 2500 ยังได้รับการเชิดชูให้เด่นชัดมากขึ้นในสื่อต่าง ๆ และในการรับรู้ของประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งได้สร้างเอกภาพทางความคิดและความรู้สึกร่วมของคนในชาติ เกิดความรัก ความหวงแหนในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองในประเทศไทยร่วมกัน
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางความคิดสะท้อนให้เห็นผ่านการแสดงออกของประชาชนในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างเช่น กรณีพิพาทเขาพระวิหารใน พ.ศ. 2501
รวมถึงเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการยืนยันตัวตนของคนไทยในเวทีนานาชาติ เช่น ชัยชนะของโผน กิ่งเพชร นักมวยอาชีพที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้ใน พ.ศ. 2503 การคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลของอาภัสรา หงสกุล ใน พ.ศ. 2508 และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในพ.ศ. 2509
โอกาสเหล่านี้ เป็นช่องทางที่รัฐบาลได้แสดงความมีตัวตนของ “พื้นที่ประเทศไทย” ในเวทีโลก ซึ่งได้พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย จนสามารถจัดงานในระดับนานาชาติและพัฒนาพลเมืองให้มีชื่อเสียงได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังได้ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมของประชาชนในการภาคภูมิใจกับ “ยุคสมัยแห่งการพัฒนา” และแสดงออกร่วมกันในการร่วมลุ้น ร่วมเชียร์และยินดีกับความสำเร็จของคนไทยในเวทีโลก
โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกมวยสากลคนแรกชาวไทย
อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรก ภาพจาก https://women.mthai.com/beauty-pageant/311503.html
“พื้นที่ประเทศไทย” หรือประเทศไทยของเรา จึงได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในเชิงประจักษ์และหยั่งรากลึกในความทรงจำของผู้คน “ยุคพัฒนา”
การเปลี่ยนแปลง “พื้นที่ทางกายภาพ” “พื้นที่ทางสังคม” และ “พื้นที่ทางความคิด” ได้สอดประสานและเชื่อมต่อผู้คนใน “พื้นที่ประเทศไทย” ให้เกิดเอกภาพและกลายเป็นพื้นฐานของสังคมไทยในยุคต่อๆ มา
หนังสือ กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ เติมเต็มความสำคัญของ “ยุคพัฒนา” ในอีกแง่มุมหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยหนึ่งที่ให้พื้นที่ในการแสดงออกถึงความมีส่วนร่วมของประชาชนได้โลดแล่นอย่างมีสีสันในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์
รายการอ้างอิง
ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์. กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผเด็จการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.
โฆษณา