24 เม.ย. 2021 เวลา 03:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์ 5.5G: ทางรอดของหัวเว่ย?
3
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
5
ตั้งแต่สมัยทรัมป์จนปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้ใส่ชื่อหัวเว่ยไว้ในบัญชีดำ กดดันหัวเว่ยด้วยกลยุทธ์สามห้าม คือ ห้ามหัวเว่ยใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ คบค้ากับหัวเว่ย และห้ามบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ขายชิ้นส่วนให้หัวเว่ย
2
โดนหนักขนาดนี้ แต่หัวเว่ยยังคงยืนเด่น กล้าท้าทายสหรัฐฯ?
7
ในช่วงแรกเริ่ม หัวเว่ยยังหวังว่า การกดดันของสหรัฐฯ จะเป็นเพียงพิษสงครามการค้าระยะสั้น แต่เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการประชุมสาธารณะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ใหม่ของหัวเว่ย สวี่จื่อจุน ประธานบริหารหัวเว่ย ได้ประกาศยอมรับความจริงแล้วครับว่า สหรัฐฯ คงไม่มีทางจะปลดหัวเว่ยออกจากบัญชีดำอีกแล้ว
2
คำถามใหม่สำหรับหัวเว่ยจึงตรงไปตรงมา “จะอยู่รอดอย่างไร แม้ถูกมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกพยายามบีบให้ตาย”
คำตอบก็คือ ยุทธศาสตร์ใหม่ของหัวเว่ย ซึ่งมี 5 ข้อด้วยกัน
ข้อแรกคือต้อง "ประกอบร่างใหม่" ความหมายคือต้องจับคู่ผสมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ยังรอดอยู่ให้เกิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เลิกคิดจะฟื้นธุรกิจเดิมที่ถูกบีบให้ตายอย่างธุรกิจสมาร์ตโฟน
โอกาสแรก คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ แม้สหรัฐฯ จะตัดเส้นทางพัฒนาฮาร์ดแวร์ของหัวเว่ยด้วยการห้ามบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ขายชิปให้หัวเว่ย แต่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่ต้องใช้ชิปนี่ครับ
โอกาสที่สอง คือ หาพันธมิตรบริษัทชิ้นส่วนของจีน ดูว่าร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ได้บ้างในเทคโนโลยีที่จีนมี ตัวอย่างเช่น รุกตลาด light desktop display และตลาด fiber optic censor โดยใช้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีระดับสูงของหัวเว่ยช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์เหล่านี้
โอกาสที่สาม คือ เร่งปฏิวัตินวัตกรรมให้ได้ในภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นและยังไม่มีใครครองนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ
3
ยุทธศาสตร์ข้อที่สอง คือ "มุ่งไป 5.5G" หลายคนฟังแล้วอาจสงสัยว่า ทำไมหัวเว่ยไม่มุ่ง 6G ไปเลย มาพัฒนาอะไรครึ่งๆ กลางๆ
6
ก่อนหน้านี้ยังมีข่าวว่า ในสหรัฐฯ มีกลุ่มความร่วมมือชื่อ The Next G Alliance โดยภายในกลุ่มมีแต่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ เท่านั้น เป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 6G หากเป็นเช่นนี้แล้ว หัวเว่ยจะไม่ตกขบวนหรือ?
3
สวี่จื่อจุน ประธานบริหารหัวเว่ย อธิบายเหตุผลของการมุ่งไปที่ 5.5G ว่า ในระยะ 10 ปี เป้าหมายหลักของหัวเว่ยอยู่ที่การต่อยอดเทคโนโลยี 5G ที่ตอนนี้หัวเว่ยเป็นผู้นำในวงการโทรคมนาคม เรียกว่า ทุ่มให้กับจุดที่แข็งแกร่งที่สุดของบริษัท
1
เนื่องจากหัวเว่ยคร่ำหวอดในวงการ จึงทราบความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี โดยที่ในปัจจุบัน ความเร็วของ 5G ถือว่าเร็วพอสำหรับการใช้งานส่วนบุคคล และในเทคโนโลยีการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทางไกล
1
แต่หากเป็นการใช้งานภายในองค์กรใหญ่หรือในเทคโนโลยีใหม่อย่างรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งต้องอาศัยการประมวลข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์ ความเร็ว 5G ยังตอบสนองตลาดเหล่านี้ไม่ได้ครบถ้วน
2
5.5G ยังอยู่ในยุค 5G เพราะเป็นการต่อยอดจากฐานเทคโนโลยีเดิม ไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิด แต่เป็นการทำของเดิมให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซึ่งหัวเว่ยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จะได้ความเร็วสูงกว่า 5G ถึง 40 เท่า และจะเพียงพอตอบสนองทุกความต้องการของตลาดที่มีอยู่ในขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดองค์กรใหญ่หรือเทคโนโลยีใหม่อย่างรถยนต์ไร้คนขับ
2
สวี่จื่อจุนบอกว่า ที่ไม่ขายฝัน 6G เพราะสองเหตุผล
เหตุผลแรก เพราะ 6G อาจเป็นแค่ความฝัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีใครในวงการเห็นภาพจริงๆ ว่า 6G จะหน้าตาเป็นอย่างไร และยังต้องการการคิดใหม่ในระดับพลิกแนวคิดเดิม และต้องใช้พลังจินตนาการอีกมาก ไม่ได้มีทีท่าว่าจะสำเร็จได้ง่ายๆ
2
อย่างเร็วที่สุดสำหรับ 6G ก็น่าจะเป็น ค.ศ. 2030 หรืออาจจะไม่มีวันสำเร็จเลยก็ได้ เพราะการปฏิวัติเทคโนโลยีรอบใหม่อาจไม่ง่ายอย่างที่ใครต่างฝัน
3
แต่เหตุผลที่สองก็คือ ถ้าหัวเว่ยต่อยอดฐานความแข็งแกร่งเดิมของตนไปเป็น 5.5G ได้สำเร็จ โลกก็อาจจะไม่จำเป็นต้องคิด 6G เพราะสามารถตอบทุกความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้ ในขณะเดียวกัน หัวเว่ยก็จะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีโทรคมนาคมตัวจริง เพราะ 5.5G แม้อยู่บนฐานคิดของ 5G เดิม แต่ล้ำกว่า 5G ถึง 40 เท่า
6
ยุทธศาสตร์ข้อที่สาม คือ “ทุกที่มีอุปกรณ์อัจฉริยะ” โดยเน้นมองผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองทุกดีมานด์ของผู้บริโภค ข้อนี้คือในส่วนของธุรกิจฮาร์ดแวร์นั้น หัวเว่ยจะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ รุกตลาดธุรกิจอุปกรณ์อัจริยะและ Internet of Things เป็นสายธุรกิจใหม่ขึ้นมา แทนธุรกิจสมาร์ตโฟนเดิม
3
ยุทธศาสตร์ข้อที่สี่ คือ “ลดระดับการใช้พลังงาน” หัวเว่ยตั้งโจทย์จะใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมของตน มาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน เพื่อตอบสนองแผนฉบับใหม่ของจีนที่เน้นเรื่องพลังงานสะอาดและการมุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอน แผนฉบับใหม่ของรัฐบาลจีนจะทำให้เกิดดีมานด์ในทุกภาคธุรกิจของจีนที่ต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน นี่จะกลายเป็นขุมทรัพย์ตลาดธุรกิจด้านใหม่อีกด้านของหัวเว่ย
3
และยุทธศาสตร์ข้อสุดท้ายคือ “ประสานห่วงโซ่การผลิต” ข้อนี้เป็นยุทธศาสตร์เชิงรับ คือยังพยายามแก้ไขปัญหาการถูกแบนจากสหรัฐฯ โดยหาซัพพลายเออร์ทางเลือกและห่วงโซ่ทางเลือก เพื่อความอยู่รอดในภาคธุรกิจที่ห่วงโซ่การผลิตถูกสหรัฐฯ ตัดเส้นทาง
3
ยุทธศาสตร์ห้าข้อสรุปได้ว่า ประกอบร่างใหม่, มุ่งไป 5.5G, ทุกที่มีอุปกรณ์อัจฉริยะ, ลดระดับการใช้พลังงาน, ประสานห่วงโซ่การผลิต จะเห็นว่าทั้งหมดมีหัวใจการเดิมพันอยู่สองหลักคิด
2
หลักคิดแรกคือ เดิมพันการบุกเบิกธุรกิจใหม่ นั่นคือหัวเว่ยยอมรับความจริงแล้วว่า ภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ หรือซัปพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ สุดท้ายคงถดถอยลงหรือถูกบีบจนตาย เข้าทำนองว่า ที่ตายก็ต้องปล่อยตายไป ที่จะรอดได้ ก็คือต้องสร้างบุญใหม่
1
หลักคิดที่สองคือ เดิมพันว่าจะยังไม่มีการปฏิวัติเปลี่ยนจาก 5G เป็น 6G กล่าวคือ ถ้าโลกยังอยู่ในยุค 5G หัวเว่ยยังมีทางชนะขาด หากสามารถต่อยอดความแข็งแกร่งเดิม และพัฒนา 5.5G ได้สำเร็จ
2
หลักคิดคล้ายๆ กับที่หลี่ไค่ฟู่ นักเทคโนโลยีชื่อดังอีกคนของจีน เคยอธิบายไว้ในหนังสือชื่อดัง “AI Superpowers” เขามองว่า จีนเดิมพันว่าในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ โลกจะยังอยู่ในยุคเทคโนโลยีปัจจุบันที่เรียกว่า Machine Learning ไปอีกยาวนาน ซึ่งจีนได้เปรียบในยุคเทคโนโลยีปัจจุบันเพราะมีข้อมูล Big Data มหาศาล เนื่องจากประชากรและการเป็นสังคมดิจิทัล
1
แต่ทั้งหมดก็คือเดิมพันทั้งของหัวเว่ยและจีน เพราะหากสหรัฐฯ สามารถปฏิวัตินวัตกรรมอีกรอบได้สำเร็จ เปลี่ยนจากยุค 4.0 และ 5.0 ขยับโลกเป็นยุค 6.0 เมื่อนั้นหัวเว่ยย่อมถึงจุดชี้เป็นชี้ตายของจริง
3
โฆษณา