23 เม.ย. 2021 เวลา 10:09 • สุขภาพ
เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดช่วยติดตามอาการโควิด-19 ได้อย่างไร
1
เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด หรือ Pulse Oximeter เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นของการช่วยติดตามอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลและที่บ้าน
8
สิ่งแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดนี้คือ Pulse Oximeter ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการ ‘วินิจฉัย’ ว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่ แต่เป็นอุปกรณ์ติดตามอาการที่จะ ‘ใช้กับผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 แล้ว’ โดยเครื่องมือจะวัดค่าการเต้นของหัวใจ และระดับของออกซิเจนที่อยู่ในเลือด
1
กรมการแพทย์แบ่งระดับอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
2
สีเขียว: ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก
สีเหลือง: อาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว หรือมีความเสี่ยง / โรคประจำตัว
สีแดง: หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% หรือภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง (Exercise-induced Hypoxia)
โดยกลุ่มสีเขียวจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ส่วนกลุ่มสีเหลืองและแดงต้องรักษาที่โรงพยาบาล ระหว่างรอการประสานเตียงที่บ้าน
3
จากทั้ง 3 ระดับของผู้ป่วย หากผู้ป่วยทั้งสามได้เข้ารับการรักษาที่รงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยทั้งสามจะได้รับการตรวจวัดค่าออกซิเจนด้วยอุปกรณ์นี้เป็นประจำทุกวัน เพื่อดูว่าค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในระดับปกติหรือไม่ และหากลดลงแพทย์จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันที
1
อีกกรณีที่สำคัญและพบมากในผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่นี้คือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ แต่ปอดมีความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตรวจอาการที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มแสดงอาการน้อย สีเขียว และหมอพิจารณาให้กลับไปรักษาตามอาการที่บ้านได้ตามระเบียบการปฏิบัติ Home Isolation แต่เมื่อกลับมาบ้าน ผู้ป่วยสีเขียวอาจมีอาการทรุดลง หรือระดับออกซิเจนในเลือดลดลงได้
ซึ่งหากอาการทรุดลงจริง ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการหมั่นตรวจระดับออกซิเจนอยู่เสมอ จึงจำเป็นในการติดตามอาการของผู้ป่วยโควิด-19
1
ผู้ป่วยที่มีเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หรือนาฬิกาที่สามารถวัดระดับออกซิเจนในเลือดได้ สามารถนำมาใช้ติดตามอาการของตนเองได้ โดย
2
ล้างมือให้สะอาด ล้างเล็บ หรือถอดเล็บปลอมออก
หนีบเครื่องไว้ที่นิ้วชี้หรือนิ้วกลาง
รอเครื่องแสดงผลระดับออกซิเจนในเลือด และชีพจรพร้อมกัน
วัดระดับออกซิเจนทุกวัน วันละ 3 เวลา แล้วจดบันทึก
ระดับออกซิเจนในเลือดปกติจะไม่ต่ำกว่า 96%
2
ผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดเป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา และแน่ใจว่าค่าออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 96% ซึ่งเป็นระดับออกซิเจนในเลือดปกติ หากลดลงหรือมีอาการ ‘ภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง’ ควรพบแพทย์ทันที
1
ภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง (Exercise-induced Hypoxia) สามารถตรวจโดย
1
วัดระดับออกซิเจนในเลือดก่อนทดสอบ
ทดสอบโดยปั่นจักรยานอากาศนาน 3 นาที หรือเดินไป-มาข้างเตียง 3 นาทีขึ้นไป
วัดระดับออกซิเจนในเลือดอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบกัน
หากลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 3% ถือว่ามีภาวะ Exercise-induced Hypoxia
1
อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์หรือมีผู้ดูแลที่บ้านอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้อาการทรุดหนักจากการออกกำลังได้ และหากมีค่าออกซิเจนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 3% จริง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เร็วที่สุด
1
ผู้ป่วยที่อาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน รีบโทรสายด่วน 1669 หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
เรื่อง: นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก
อ้างอิง:
- แนวทางการคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
- Using a pulse oximeter to check you are OK
โฆษณา