Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
little big green
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2021 เวลา 13:04 • สิ่งแวดล้อม
“ชิ้นนี้ทิ้งลงถังรีไซเคิลได้ไหมนะ?”
เชื่อว่าในหนึ่งวัน เราหลายคนคงมีคำถามนี้เกิดขึ้นกันมากกว่าหนึ่งครั้ง
แล้วหลังจากนั้น เราได้ทิ้งขยะชิ้นนั้นไปอย่างไร?
ถ้าเราตอบตัวเองด้วยการหย่อนขยะชิ้นนั้นลงไปในถังรีไซเคิล เป็นไปได้สูงว่าการกระทำนั้นอาจจะเข้าข่ายคำที่เรียกว่า “Wishcycling” (เพราะบนโลกใบนี้ อัตราการรีไซเคิลช่างต่ำเสียเหลือเกิน มีไม่ถึง 10% เท่านั้น)
Wishcycling คืออะไร?
ในภาษาอังกฤษ “Wishcycling” หรือ “Aspirational recycling” หมายถึงการ Wish the items be recycled หรือการคาดหวังว่าขยะที่ทิ้งลงไปจะถูกรีไซเคิล
หากหาข้อมูลเกี่ยวกับ Wishcycling ในสื่อต่างประเทศ เราจะเจอว่า มันคือการที่เราหวังดี คาดหวังว่าสิ่งของที่ทิ้งลงไปในถังรีไซเคิลนั้นจะถูกนำไปรีไซเคิล แต่จริง ๆ แล้วไม่สามารถรีไซเคิลได้ เนื่องจากมูลค่าไม่มากพอ หรือตัววัสดุไม่สามารถรีไซเคิลได้ (ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่คนรับรู้) ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกเพิ่ม บางทีได้ไม่คุ้มค่า อาจจะทำให้เกิดการเหมารวมว่าถังนั้นรีไซเคิลไม่ได้เลยก็มี
Wishcycling สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ถ้ามองในบริบทประเทศไทย
1. Wishcycling อาจจะเกิดจากเรื่องของวัสดุ
คือเราเห็นว่าหลอดยาสีฟัน มันควรจะถูกรีไซเคิลได้นี่นา เพราะดูเป็นพลาสติก แต่ด้วยวัสดุที่ถูกผลิตมาเป็นแบบ Composite material ซึ่งเป็นการประกบแปะกันระหว่างพลาสติกกับอะลูมิเนียม ตัวพลาสติกตรงหลอดกับฝาก็ไม่ใช่ประเภทเดียวกันอีก ทำให้รีไซเคิลได้ยาก หรือไม่มีใครทำ
2. Wishcycling โดยไม่ได้ดูเรื่อง water หรือ food content หรือความเลอะ
เช่น ทิ้งแก้วชานมไข่มุกโดยไม่ได้เทน้ำข้างในออกก่อน ทำให้ขยะอื่นในถังเลอะเทอะ หรือเน่าเสียไปด้วย หลายครั้งการทำแบบนี้ทำให้ไม่สามารถคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ ถึงแม้ว่าตัวบรรจุภัณฑ์เอง หรือขยะในถังก่อนหน้าเป็นขยะที่ขายได้หรือรีไซเคิลได้ก็ตาม
ในประเทศไทย หลัก ๆ น่าจะเป็นแบบที่ 2 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างแตกต่างและเป็นปัญหามากกว่าแบบแรก
ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร?
1. Wishcycling เรื่องวัสดุ: ทำให้ต้องใช้ทั้งเวลา คน และต้นทุนในการคัดแยกเพิ่ม ถ้าไม่คุ้มค่าที่ดำเนินงาน ถังนั้นอาจจะไม่ถูกรีไซเคิลก็ได้ เราจะสังเกตได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคที่ไม่สามารถแยกวัสดุรีไซเคิลได้ทั้งหมด เพราะเข้าใจได้ว่ามันค่อนข้างยากที่จะจำว่าขยะอะไรขายไปรีไซเคิลได้ราคาเท่าไหร่บ้าง เลยทำให้มักจะแยกกันแค่ “ขยะยอดฮิต” คือขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ และหลงลืมวัสดุอื่น ๆ โดยเฉพาะพลาสติกเจ้าปัญหาแบบต่าง ๆ
ปัญหานี้เกิดจาก 1) กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ว่ามีความต้องการในวัสดุรีไซเคิลประเภทนั้นไหม ซึ่งจะส่งผลกับราคารับซื้อขยะรีไซเคิล 2) คุณสมบัติของตัววัสดุนั้นถูกออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลจริง ๆ ไหม และผู้ผลิตได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากพอหรือเปล่า และ 3) ระบบการจัดการขยะของเราก็ยังมักจะขึ้นอยู่กับมูลค่าราคามากกว่าการใส่ใจต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป เช่นบางที่มีถังสำหรับขยะทั่วไป ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ คำถามคือถ้าเป็นแก้วพลาสติกหนา PP ซึ่งขายได้ ควรทิ้งลงในถังไหน ทิ้งลงถังขวดก็ถูกคัดออก ทิ้งลงทั่วไปก็เหมือนได้ทางลัดไปบ่อขยะกับขยะเปื้อน ๆ แทน
2. Wishcycling เรื่องความสะอาด: ไม่ว่าตัววัสดุจะรีไซเคิลได้หรือไม่ หรือขายได้ราคามากน้อยเท่าไหร่ การทำให้ขยะในถังเละเทะ เน่าเสีย ส่งผลทำให้ไม่ถูกเลือกนำไปคัดแยกตั้งแต่แรก
ปัญหานี้เกิดจากความเข้าใจและการเรียนรู้ เราถูกสอนกันมานานว่าให้ “ทิ้ง” ขยะลงถัง แต่การ ”แยก” ขยะที่เป็นส่วนสำคัญ กลับถูกมองข้ามไป พอมีการโปรโมตเรื่องการแยก ก็เน้นแต่เรื่องวัสดุและ “ขยะยอดฮิต” ที่ขายได้ง่าย แต่ไม่เคยถูกบอกว่าด่านแรกคือ “ต้องสะอาดก่อน” และยังมีขยะอีกมากมายหลายชนิด ที่ขายได้ รีไซเคิลได้
(อ่านเพิ่มเติม "ใครกันบอกได้ อะไรจะถูกรีไซเคิล" เพื่อดูเส้นทางของขยะรีไซเคิล)
อ่านเพิ่มเติม
blockdit.com
[little big green] เคยสงสัยกันไหมว่า เวลาเราทิ้งขยะรีไซเคิล มันไปไหนต่อ?
เคยสงสัยกันไหมว่า เวลาเราทิ้งขยะรีไซเคิล มันไปไหนต่อ?
แก้ไขยังไงดี?
1. Wishcycling เรื่องวัสดุ: ผู้ผลิตและรัฐบาลควรใช้หลัก EPR ช่วย เพราะจะได้ออกแบบตั้งแต่ต้นทางและมีระบบการจัดการรองรับที่ดี เช่น ผู้ผลิตใช้ recyclable mono-material แทน รัฐบาลสนับสนุนการมีระบบการเผาทำเชื้อเพลิง (ที่ถูกหลัก) สำหรับขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ไม่ได้ สร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะอื่น ๆ นอกจากขยะยอดฮิตมากขึ้น
2. Wishcycling เรื่องความสะอาด: สำหรับทุกคน “ก่อนแยก/ทิ้ง ทำให้ของในมือสะอาดก่อน” ไม่ต้องถึงกับวิ้งวับก็ได้ แค่เทน้ำ เทเศษอาหารออกให้มากที่สุด แค่นี้ก็ช่วยได้มากแล้ว
ที่เราเห็นว่าในหลาย ๆ ประเทศ เขาสามารถแยกขยะจากวัสดุได้ เป็นเพราะมันเป็นที่รู้กันว่าขยะที่จะนำไปรีไซเคิลได้ควรมีสภาพที่สะอาดประมาณหนึ่ง แต่ในกรณีของบ้านเรา จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจเพิ่ม ว่าก่อนจะบอกได้ว่าของอะไรขายได้ไม่ได้ ต้องสะอาดก่อน เพื่อที่คนแยกขั้นต่อไปสามารถทำงานได้
เพราะการรีไซเคิลไม่ใช่ทุกอย่าง การลดการใช้ตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แต่บางอย่างที่จำเป็นต้องมีอยู่ ก็ควรหาทางจัดการให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเผาทำเชื้อเพลิงสำหรับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่มีปริมาณน้ำหรือเศษอาหารปนน้อย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7Rs คือ Energy Recovery นั่นเอง
ทิ้งท้ายไว้อีกรอบว่า “จะทิ้งลงในถังรีไซเคิลได้ ต้องทำให้แห้ง/สะอาดก่อนนะทุกคน”
#AsGreenAsYouCan
#littlebiggreen
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย