25 เม.ย. 2021 เวลา 04:01 • หนังสือ
ชีวิตต้องมีคู่มือด้วยเหรอ?
หลายคนถ้าเห็นชื่อหนังสือ คงเกิดคำถามว่า ชีวิตต้องมีคู่มือด้วยเหรอ
หลายคนอ่านหนังสือ how-to ฟะรังคี เยอะเยอะ คงไม่ชอบชื่อหนังสือห้วนๆแบบนี้มันไม่เท่ห์
คนติสหน่อย คงบอกชีวิตมันคือคาเปเดี้ยม ใช้ซะอย่าคิดมาก มีหลักอะไรมากมาย
คู่มือชีวิต ของท่านพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นการรวบรวมพระธรรมเทศนา ที่เกี่ยวข้องกับหลักดำเนินชีวิตตั้งแต่ เกิด ศึกษา ทำงาน ชีวิตคู่ การดูแลลูก ครอบครัว ความสุข การทำบุญ การภาวนา ความเจ็บป่วย ความตาย เรียกว่าครบสังสารวัฏตั้งแต่เกิดยันตาย
ด้วยวิธีการเล่าเรื่องของท่าน ที่แจกแจงอย่างชัดเจน ซึ่งตรงจริตกับเรามาก จึงเป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านสักครั้งในชีวิต (หนังสือ พุทธธรรม ก็เป็นอีกเล่มที่แนะนำนะ หนัก.. หนา..หน่อย.. 😀)
ข้อคิดดีๆที่ชอบคือ
1. การศึกษา: หลักปลีกย่อยต่างๆมีมากมาย แต่หลักใหญ่ของการศึกษาคือ ไตรสิกขา ซึ่งเป็นเรื่องของวิชาชีวิตเป็นการทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข เริ่มเรียนกันตั้งแต่เราเกิดเลย เรียน 3 ด้าน พฤติกรรม (ศีล) จิตใจ ปัญญา สอบวัดผลด้วย ภาวนา 4 (กาย ศีล จิต ปัญญา) สอบผ่านก็ได้เป็น ภาวิต 4 คือ เจริญแล้ว จบหลักสูตรวิชาชีวิต
2. การทำงาน: ทำงานเพื่ออะไร สำหรับคนจำนวนมาก ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ บางคน งานคือกล่อง ยศ ตำแหน่งทางสังคม ซึ่งเป็นการมองจำกัดเฉพาะตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรุ่งเรือง สำเร็จ ท่านขยายมุมมองเราว่า งานคือการพัฒนาตน ทำงานเพื่อให้งานสำเร็จ ไม่ใช่ให้คนสำเร็จ รักษาคนป่วยเพื่อให้รอดชีวิต บริการให้ลูกค้ามีความสุข ทำให้สังคมมีวินัยขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เราได้เงินขึ้นเยอะๆ ท่านพูดถึงคนเราเกิดมาควรมีจุดหมาย 3ขั้น 1. จุดหมายที่ตามองเห็น มีรายได้ ปัจจัย 4 เพียงพอ 2. จุดหมายที่เลยจากตามองเห็น เช่นความสุขในการทำงาน สุขจากการทำเพื่อส่วนรวม 3. จุดหมายที่พ้นเหนือโลก ไม่ต้องยึดติดกับ 1 & 2 มีอิสระโดยสมบูรณ์ ควรทำให้ ชีวิต งาน และ ธรรม ประสานกลมกลืนกัน
3. ชีวิตคู่: อย่ามีแค่พิธีมงคล พิธีเป็นเพียง ศรัทธาเริ่มต้น แต่ต้องมี ธรรมมงคล ชีวิตคู่จะอยู่อย่างยั่งยืนด้วย ฆราวาสธรรม 4 (สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ) เป็นหลักร่วมสมัยมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นประธานงานแต่งคนไหนอวยพรแบบนี้เลย
4. ครอบครัว: พระพุทธเจ้าบอก พ่อแม่เป็น 1. ผู้ให้กำเนิดลูก (พระพรหม) 2. เป็นครูคนแรกของลูก (บูรพาจารย์) 3. ผู้รักลูกอย่างบริสุทธิ์ (พระอรหันต์) พ่อแม่เป็นคนแสดงโลกนี้แก่ลูก หมายถึง เป็นผู้นำ ชี้บอก พัฒนาความรู้สึก ทัศนคติต่อโลก ต่อสังคม ถ้าแสดงโลกอย่างไร ลูกก็จะเห็นโลกอย่างนั้น พ่อแม่ เลี้ยงลูกดี ก็เหมือนตามลูกไปคุ้มครองโลกให้ดีด้วย (คมจริงๆ ลองคิดดีๆ) เราทำเพื่อโลกได้ ให้เวลาลูก สอนลูกให้เป็นคนดี
5. ความสุข: 5 ระดับที่เราค่อยๆพัฒนาได้ 1. ความสุขจากการเสพใดๆ แล้วก็พัฒนามาเป็น 2. สุขจากการให้ การเมตตา กรุณา แล้วพัฒนาต่อเป็น 3. สุขจากการดำเนินชีวิตสอดคล้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ยึดติดน้อยลงจาก 1 และ 2 จากนั้น 4. เราสุขจากการปรุงแต่งด้านดี (มีแต่มนุษย์ที่ทำได้) ให้เกิด ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ ความสุข สมาธิ และสุดท้าย 5. เรามีความสุขเหนือการปรุงแต่ง
6. การทำบุญ: ทำทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นบุญที่อานิสงส์สูงขึ้นตามลำดับแต่อย่าประมาทว่าจะทำแต่ภาวนา เพราะได้บุญมากสุด ควรทำไปพร้อมๆกันทั้ง 3 อย่าง ทุกโอกาสที่เอื้ออำนวย ทำบุญทำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าทำอะไร ถ้าทำเป็นก็ได้บุญ
7. การทำใจรับความตาย: ชอบบทสุดท้ายที่สุด การพิจารณาความตายให้ผลดีมากมาย 1. เห็นความจริงว่า ชีวิตนี้สั้นนัก ไม่แน่นอน เร่งทำกิจให้เสร็จเถิด 2. ทรัพย์สินตายไปก็เอาไปไม่ได้ ตอนมีใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมเถอะ 3. อย่าไปยึดติดกับคนที่รักเลย ยังไงก็ต้องพลัดพราก 4. จะโกรธกันไปทำไม ทำดีต่อกันเถอะ เดี๋ยวเธอหรือชั้นก็ต้องตายแล้วไม่รู้วันนี้พรุ่งนี้ จะแค้นฝังหุ่นทำไม 5. รู้เท่าทันตามคติแห่งธรรมดา ว่าชีวิตมันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป 6. รู้ว่าสังขาร ก็ไม่ใช่เรา แค่ธาตุต่างๆมันมารวมกันชั่วคราวเอง เดี๋ยวมันก็ไป จะยึด ‘เรา’ อย่างงั้น อย่างงี้ทำไม
1
พออ่านจบหัวใจมันอาจไม่พองโต มีพลังเหมือนอ่านหนังสือ how-to success แต่มันได้ความรู้สึกแบบว่า เกิดมาโคตรโชคดีเลยที่ได้มาเจอกับพุทธศาสนา
จะผ่านไปกี่พันปี แก่นมันก็เป็นแบบนี้ เราภาวนาแล้วนำมันมาสู่ตัวเราแล้วหรือยัง
🙂🤓😇

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา