25 เม.ย. 2021 เวลา 13:36 • การศึกษา
ประเด็น: ไม่มีสัญญากู้ ฟ้องได้หรือไม่❓
สวัสดีจ้าาา หายไปเนิ่นนาน ติดภาระกิจรัวๆ จนไม่มีเวลาได้พักผ่อนเลยค่ะ 🤣 วันนี้ก็มากับคำถามง่ายๆ ยอดฮิตติดอันดับมาก ที่หลายท่านก็พอจะทราบแล้ว แต่มีอีกหลายท่านที่ยังคงไม่ทราบหรือไม่เข้าใจนะคะ😆
1
📌ก่อนอื่นเลย ต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมายไทยนั้นมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาไว้หลายประเภทค่ะ ซึ่งสัญญาที่สำคัญก็จะถูกบัญญัติไว้เป็นเฉพาะเรื่องๆไป ซึ่งวันนี้จะพูดถึง "สัญญากู้ยืมเงิน" กันค่ะ😎
🔥สมัยก่อน = ถ้าการกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น (>2,001)ไม่มีหลักฐานเป็น "หนังสือ" และผู้กู้ "ไม่ได้ลงลายมือชื่อ" ด้วยจะฟ้องร้องไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
"มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่..."
ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงจำกันไว้ว่าต้องทำสัญญา (เขียนเป็นหนังสือ+ผู้กู้ลงลายมือชื่อ) จึงสามารถเอาไปฟ้องกันได้
🔥สมัยนี้ = หลักของสมัยก่อนก็นำมาใช้อยู่นะคะ ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่ว่าจะมีกฎหมายพิเศษที่ชื่อว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยธุกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544" โดยเฉพาะในมาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง และ 9 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่เอามาใช้ควบคู่กับวิธีการยืมเงินของสังคมในปัจจุบันนี้ค่ะ
1
"มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์"
"มาตรา 8 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกําหนดให้การใดต้องทําเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทําข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนํากลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทําเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว..."
"มาตรา 9 ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(๑) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(๒) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยคํานึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี..."
✅ดังนั้น ไม่ว่าจะทางเฟสบุ๊ค เมสเสจเจอร์ ไลน์ วีแชท วอทแอพ หรือระบบแชทออนไลน์โปรแกรมไหนก็ตาม ก็ถือเสมือนว่าเป็น "หนังสือ" อย่างหนึ่งค่ะ และการสามารถระบุได้ว่าคนที่แชทกับเราเป็นผู้กู้ไม่ผิดตัว ก็ถือเสมือนว่าเป็นการ "ลงลายมือชื่อ" อย่างหนึ่งเช่นกัน
💠จากคำถามนี้ ฟ้องได้แน่นอนค่ะ😆 แต่เขาจะมีคืนหรือเปล่ารับประกันไม่ได้นะคะ ดังนั้นก่อนให้ใครยืมต้องประเมินด้วยว่าเขาสามารถคืนเราได้จริงรึเปล่า 😁
♥️ ชอบก็ไลค์ ใช่ก็แชร์ ♥️
โฆษณา