25 เม.ย. 2021 เวลา 15:14 • หนังสือ
คิมจียองเกิดปี 82 | ฉันไม่มีค่าพอจะซื้อกาแฟแก้วละพันห้าร้อยวอนกินเหรอ
- รีวิวหนังสือ -
เราต่างก็เคยดูซีรีส์เกาหลี และกรี๊ดหน้าตาแสนหล่อเหลาของโอปป้า แถมความเท่ที่พร้อมหักรถเปลี่ยนเลนส์เพื่อกลับไปง้อนางเอกได้ทุกเมื่อ ก็ทำให้หลายคนอยากเกิดเป็นผู้หญิงเกาหลี แต่น้อยคนเลยจะล่วงรู้ว่า ท่ามกลางภาพสวยที่ซีรีส์ฉายซ้ำให้เราดู ยังมีอีกโลกหนึ่งของผู้หญิงที่ถูกกระทำและเลือกไม่ได้วนซ้ำอยู่มากมายเช่นกัน
หนังสือ : คิมจียอง เกิดปี 82
เขียน : โชนัมจู
แปล : ตรองสิริ ทองคำใส
สำนักพิมพ์ : earnest publishing
“...ฉันคลอดลูกเจ็บเจียนตาย ฉันเลี้ยงแก ยอมทิ้งตัวตนของฉันทุกอย่างทั้งหนทางทำมาหากิน งานการ ความฝัน ชีวิต แต่ก็เป็นได้แค่ปลิง...” (หน้า 168)
คิมจียอง เกิดปี 82 เป็นนิยายเล่มไม่หนาที่อ่านรวดเดียวจนจบ เรื่องเปิดที่วันหนึ่งคิมจียองก็เปลี่ยนไป บางครั้งเธอก็กลายเป็นเด็ก บางครั้งเธอก็พูดเหมือนเพื่อนรุ่นพี่ที่ตายไปนานแล้ว ซ้ำร้ายบางครั้งเธอยังกลายเป็นแม่ของตัวเอง สามีคิดว่าเธอป่วยจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ต่อด้วยภาวะซึมเศร้าที่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก แต่ใครเลยจะรู้ว่าอาการของคิมจียองมันมีสาเหตุมากกว่านั้น เพราะมันถูกบ่มเพาะมานานแล้วจากสังคมที่ชายเป็นใหญ่แถมยังไม่ให้ค่าของผู้หญิงที่ฝังรากลึกมานาน
ตั้งแต่เกิดคิมจียอง ก็เห็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกถึงสามคน แถมด้วยแม่สามีอีกหนึ่งคน แม่ไม่ได้เรียนจบสูงเพราะต้องออกมาทำงานเพื่อส่งให้พี่ชายและน้องชายเรียนตามความเชื่อที่ว่า ผู้ชายจะเป็นเสาหลักให้ครอบครัว
เมื่อแต่งงานมีครอบครัว พ่อของคิมจียองรับข้าราชการ ในขณะที่แม่เป็นแม่บ้านต้องรับภาระทุกอย่าง แถมยังต้องเจียดเวลาที่เหลือทำงานรับจ้างเพื่อจุนเจือครอบครัวอีกทาง แต่ย่ากลับไม่เคยชมเชยลูกสะใภ้ กลับกล่าวชมแต่ลูกชายที่รับเธอมาอยู่ด้วย แถมมีอาหารอุ่น ๆ และห้องนอนอุ่น ๆ ทั้ง ๆ ที่หากมองจากสายตาของคิมจียอง แม่ของเธอต่างหากที่เป็นคนดูแลย่าทุกอย่าง
คิมจียองเป็นหลานผู้หญิงที่ย่าไม่ได้สนใจนัก เพราะน้องของเธอเป็นผู้ชาย ตั้งแต่เด็กคิมจียองและพี่สาวต้องเสียสละของที่ดีกว่าให้น้องชายเสมอ โชคยังดีที่ไม่นานย่าก็ตายไป แม่จึงมีสิทธิ์มีเสียงในบ้าน
เมื่อแม่เข้าใจหัวอกลูกผู้หญิง สถานะในบ้านของคิมจียองและพี่สาวจึงดีขึ้น แต่หลายต่อหลายครั้งที่สังคมกลับยังปฏิบัติกับผู้หญิงเป็นรองเสมอมาซึ่งแม่เองก็ไม่อาจทัดทานหรือเรียกร้องได้ ทั้งกฎการแต่งตัวของนักเรียนหญิงอันแสนงี่เง่า การตราหน้านักเรียนหญิงที่ต่อกรกับชายโรคจิต ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้ทำอะไรผิด หรือการกล่าวโทษผู้หญิงว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อยทำให้ถูกล่วงละเมิด แทนที่จะบอกให้ผู้ชายเรียนรู้ที่จะควบคุมความใคร่และให้เกียรติผู้หญิง
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลี หรือแทบทั้งโลกจะต้องเผชิญ ตัวคิมจียองเองก็เช่นกัน เธอต้องละทิ้งความฝัน ความหวัง สังคมเพื่อน เพราะต้องทำตามความต้องการของสังคมที่ว่า ‘เป็นผู้หญิงต้องแต่งงาน แต่งงานแล้วก็มีลูก มีลูกแล้วก็ต้องลาออกจากงานเลี้ยงลูก’ ในขณะที่สถานะของฝ่ายชายถูกยกย่องว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ทั้ง ๆ ที่การจะพยุงให้ครอบครัวอยู่รอดได้ไม่ใช่แค่การออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน คุณค่าของการเป็นแม่บ้านกลับถูกกดทับ ไม่มีใครเคยเหลียวแลหรือฉุกคิดว่าคิมจียองก็เสียสละชีวิตของเธอเพื่อครอบครัวเช่นกัน
หลายอย่างที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนในสังคมแทบไม่เคยฉุกคิด เพียงเพราะว่าเกิดมา สังคมก็เป็นแบบนี้แล้ว ทุกคนทำตามกันมาเรื่อย ๆ โดยไม่ตั้งคำถาม คิมจียองเอง ตอนเป็นพนักงานใหม่ที่อายุอ่อนที่สุด เธอก็ต้องทำหน้าที่จุกจิกมากมายเพื่อดูแลรุ่นพี่ในทีม ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีใครขอแต่เธอรู้เองว่าต้องเป็นเธอที่ทำ ต่างจากพนักงานชายน้องใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนี้เพื่อรุ่นพี่
นั่นเพราะสังคมทำตามกันมาจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ สังคมให้ค่าของผู้ชายก่อนเสมอ ในขณะที่ผู้หญิงต้องต่อสู้หลาย ๆ อย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่เราทุกคนสมควรจะได้เท่ากันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
สังคมของผู้หญิงในคิมจียอง เกิดปี 82 ก็ไม่ค่อยต่างกับสังคมบ้านเรานัก เพราะมองดูประเทศไทย น้อยครอบครัวที่พ่อจะลุกขึ้นมาทำงานบ้านแบบแม่ ยิ่งบางครอบครัวคนเป็นแม่ก็ต้องออกไปต่อสู้ในที่ทำงาน กลับมาบ้านก็ยังต้องทำงานบ้านต่ออีก โดยแม่เหล่านั้นอาจไม่ทันฉุกคิดว่า
‘นี่เป็นงานของฉันคนเดียวหรือเปล่า ทำไมผู้ชายไม่ทำด้วยนะ เพราะยังไง ๆ ฉันก็หาเงินเข้าบ้านเหมือนกัน’
หรือผู้หญิงบางคนที่เคยเป็นคนเก่งในที่ทำงาน ต่อเมื่อลาออกจากงานไปเป็นแม่บ้านเต็มตัว กลับถูกลดคุณค่าลง ทั้ง ๆ ที่การเสียสละชีวิตเดิมของพวกเธอเป็นเรื่องยากมาก คนเราไม่ควรตัดสินใครจากทางที่พวกเขาเลือก
ในนิยายเล่าไว้ด้วยว่าสังคมเกาหลีเริ่มเปลี่ยนแปลง มีการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงมากขึ้น กฎหมายต่าง ๆ ล้วนแก้ไขเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกมากขึ้น ทั้งการให้ลูกเลือกใช้นามสกุลพ่อหรือแม่ก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายก็แทบไม่ยอมให้ลูกใช้นามสกุลของแม่เลย
“จียองพูดถูกนะพี่ เราไม่คิดถึงใจเธอกันเลย อย่าทะเลาะกันเลยนะ พี่อย่าโกรธเธอด้วย แค่พูดขอบคุณกับขอโทษเธอก็พอ เข้าใจไหม” (หน้า 23)
“พี่ ฉันไม่มีค่าพอจะซื้อกาแฟแก้วละพันห้าร้อยวอนกินเหรอ ไม่สิ ไม่ใช่แค่พันห้าร้อยวอน ถึงเป็นล้านห้าแสนวอนก็เถอะ ฉันจะใช้เงินสามีซื้ออะไรก็เป็นธุระในครอบครัวเรานี่นา” (หน้า 168)
จึงเหมือนกับทสรุปในเรื่องนี้ที่ว่ากันว่า
“เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง” เพราะมันเป็นแบบนั้นเสมอมา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา