Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ILOVEORGARNIC
•
ติดตาม
26 เม.ย. 2021 เวลา 04:12 • สุขภาพ
ทฤษฎีที่เป็นไปได้ : สาเหตุที่วัคซีน COVID-19 อาจทำให้เกิดลิ่มเลือด
หลายคนวิตกกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและผลข้างเคียง ภาวะเช่นนี้สิ่งที่เราต้องทำคือ “หาความรู้แต่อย่าตื่นตระหนก”
จนถึงปัจจุบันทั้งวัคซีน AstraZeneca และวัคซีน Johnson & Johnson ถูกสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดที่พบได้ยากแต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำให้หยุดใช้วัคซีน J&J ชั่วคราวในสหรัฐอเมริกาไปช่วงหนึ่ง แต่ภายหลังอนุญาตให้สามารถกลับมาใช้ได้พร้อมทั้งเพิ่มคำเตือนว่า “วัคซีนอาจสามารถทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดที่พบได้ยากมาก” ส่วนวัคซีน AstraZeneca เองก็ยังไม่ผ่านการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้หลายประเทศในยุโรปได้หยุดจำหน่ายวัคซีนดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเช่นกันอย่างไรก็ตามตัววัคซีนนั้นไม่พบว่าเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดโดยตรง และปัจจุบันมีเพียงทฤษฎีเท่านั้นที่ระบุว่าทำไมวัคซีนถึงอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นได้ยากนี้
ทั้งวัคซีน J&J และ AstraZeneca ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน (ใช้ Virus Vector) ทั้งคู่ใช้ adenovirus - อะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสหวัดธรรมดาเพื่อเป็นพาหะนำยีนจากโปรตีนของไวรัส COVID-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักกับไวรัส COVID-19 และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ COVID-19 ในอนาคตได้ โดยวัคซีน J&J ใช้อะดีโนไวรัสที่พบในมนุษย์ ในขณะที่วัคซีน AstraZeneca ใช้อะดีโนไวรัสของลิงชิมแปนซี
ทีมวิจัยจาก University of Griefswald ในเยอรมันนี พบว่าสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดดูเหมือนจะเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและพบได้ยาก โดยนักวิทยาศาสตร์ เรียกภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดในกรณีนี้ว่า vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia (VITT) - ภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติจากวัคซีนที่ส่งผลให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำและเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด (ในตอนแรกทีมวิจัยตั้งชื่ออาการเหล่านี้ว่า Vaccine-Induced Prothrombotic Immune Thrombocytopenia (VIPIT) ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น VITT )
****ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ****
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำเป็นภาวะที่จำนวนของเกล็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว โดยปกติเกล็ดเลือดก่อตัวขึ้นเพื่อห้ามเลือดดังนั้นเมื่อมีเกล็ดเลือดไม่เพียงพอ เลือดในร่างกายจะไม่สามารถจับตัวและอาจทำให้เลือดออกมากเกินไป ภาวะนี้มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมร่วมด้วย แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาทั่วไปมากกว่า 300 ชนิด รวมถึงจากการใช้ยาเพนิซิลลินและยาแก้ปวดบางชนิดอย่าง ควินีน
ผู้ที่มีอาการของ VITT อาจมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดท้อง ชัก และมีภาวะทางสายตาเปลี่ยนแปลงไป อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่ไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
ในบางกรณีของภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดออกจากสมองได้ สำนักงานยาแห่งยุโรปกล่าวว่าได้รับรายงานในผู้ป่วย 169 รายที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมองในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในกรณีที่มีอาการรุนแรงภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ และมีรายงานการเสียชีวิตจากลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน AstraZeneca รวม 19 รายในสหราชอาณาจักร
อาการ VITT จะปรากฏให้เห็น 4-20 วันหลังการฉีดวัคซีนและจนถึงขณะนี้พบว่าส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี
****การเกิดลิ่มเลือด****
วัคซีน AstraZeneca กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนส่วนเฉพาะของ SARS-CoV-2 (ไวรัสที่ทำให้เกิด COVID-19) เรียกว่า spike protein ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ยึดติดกับเซลล์เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราให้สร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนชนิดนี้ ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโรค COVID-19 หากมีการติดเชื้อในอนาคตด้วย
แต่ในบางรายพบว่าวัคซีน AstraZeneca ดูเหมือนจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่ทำปฏิกิริยากับเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดเกิดการเกาะกันและส่งผลให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ซึ่งจะไปลดการไหลเวียนของเกล็ดเลือดในร่างกายส่วนอื่นๆและด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
แอนติบอดีเหล่านี้คล้ายกับที่พบในบางคนที่ใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ที่เรียกว่าเฮปาริน ในผู้ที่ได้รับยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อยาเฮปารินจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีที่จับกับเกล็ดเลือด สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดในผู้ป่วยบางราย โดยภาวะเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า heparin induced thrombocytopenia – ภาวะที่การใช้ยาเฮปารินทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยผู้ป่วยจำนวนมากถึง 1 ใน 20 คนที่ได้รับยาเฮปารินจะมีอาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
นักวิทยาศาตร์มีสมมุติฐานว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือการก่อตัวของลิ่มเลือดในผู้รับวัคซีนบางราย อาจมีกลไกทางชีววิทยาเช่นเดียวกับที่ยาเฮปารินทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
****ภาวะนี้พบได้บ่อยแค่ไหน?****
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 1 ใน 30,000 คนต่อปีในสหรัฐอเมริกา สำหรับภาวะที่สงสัยว่าเกิดจากวัคซีนตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Thrombosis and Haemostasis Society ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พบว่าอาการ VITT นั้นพบได้ยากมากถึง 1 ใน 500,000 คน
อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ รายงานตัวเลขในอัตราที่แตกต่างกัน เช่น นอร์เวย์ได้รายงานว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีน 1 ใน 25,000 คน ที่อายุต่ำกว่า 65 ปี มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออก และมีลิ่มเลือดอุดตัน
นอกจากนี้ความเป็นไปได้ที่บางกรณีของภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนทำให้การทำความเข้าใจกรณีที่เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกันแล้วภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะพบได้บ่อยในคนทั่วไปมากกว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน
****หาความรู้แต่อย่าตื่นตระหนก****
ท่ามกลางการสอบสวนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง บางประเทศ เช่น นอร์เวย์ได้ยุติการเปิดตัววัคซีน AstraZeneca เป็นการชั่วคราว ประเทศอื่นๆ จำกัดการใช้วัคซีนในบางกลุ่ม เช่น แคนาดาใช้เฉพาะกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ COVID แต่มีโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดน้อย ขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรจะเสนอตัวเลือกวัคซีนอื่นๆ นอกจาก AstraZeneca สำหรับผู้ที่อายุน้อยด้วย (จากข้อมูลที่นักวิจัยรวบรวมจนถึงปัจจุบันเชื่อว่าโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ)
สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป คำแนะนำในปัจจุบันจากหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆซึ่งรวมถึง องค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้นมีมากกว่าความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลที่จะเราต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ผู้รับวัคซีนควรเฝ้าติดตามอาการต่อไปนี้นี้ภายใน 28 วันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน :
- หายใจไม่ออก
- ปวดที่หน้าอกหรือท้อง
- อาการบวมหรือเย็นที่ขา
- ปวดศีรษะรุนแรง
- มองเห็นภาพซ้อน
- เลือดออกไม่หยุด
- มีรอยฟกช้ำขนาดเล็กหลายจุดสีแดง หรือสีม่วง หรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง
หากผู้รับวัคซีนมีอาการเหล่านี้และกังวลควรปรึกษาแพทย์ทันที
อ้างอิง :
1)
https://theconversation.com/what-is-thrombocytopenia-the-rare-blood-condition-possibly-linked-to-the-astrazeneca-vaccine-158522
2)
https://www.biospace.com/article/covid-19-brief-theories-on-the-covid-19-blood-clotting-and-more-top-stories/
3)
https://www.washingtonpost.com/world/europe/astrazeneca-blood-clot-dilemma-europe/2021/04/05/a8091e4e-914f-11eb-aadc-af78701a30ca_story.html
4)
https://www.medscape.com/viewarticle/949636
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความพิเศษ COVID-19
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย