#บทความนี้เขียนนานแล้วนะแต่อ่านที่ไรก็รู้สึกชอบทุกครั้ง
ร้านขนมที่มีพื้นที่เพียง 3 ตร.ม. แต่มียอดขายมากกว่าแอปเปิ้ลสโตร์!!! By A-LISA👩🏻‍💻
เรื่องจริงไม่ได้โม้นะคะ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ที่ร้านขนมเล็ก ๆ แต่มีความสามารถสร้างยอดขายได้มากมายขนาดนี้ แล้วเขาทำได้อย่างไร ?
ร้านขนมที่ว่านี้ชื่อว่าร้านโอซาสะ เป็นร้านขายขนมตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ใกล้กับสถานีคิชิโจจิในกรุงโตเกียว ขนาดของร้านมีพื้นที่เพียง 3 ตารางเมตรเท่านั้นค่ะ ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 ผู้ก่อตั้งชื่อคุณอิกามิ เทรุโอะ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว และคุณอินาคากิ อัตสึโกะ ลูกสาวเป็นผู้สืบทอดแทน
ฉันอ่านเจอเรื่องของร้านขนมโอซาสะนี้ใน หนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น เขียนโดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จึงคิดว่าน่าสนใจดี เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ
ริเน็น (RINEN) เป็นปรัชญาการบริหารธุรกิจแบบฉบับญี่ปุ่นค่ะ สำหรับตำราบริหารธุรกิจของทางตะวันตกจะเรียกว่า พันธกิจขององค์กร (Mission)
RI มาจากคำว่า เหตุผล ส่วน NEN มาจากคำว่า สติ เมื่อรวมกันแล้วก็คือ เหตุผลที่เกิดจากสติ ซึ่งก็คือปัญญาหรือปรัชญานั่นเองค่ะ ริเน็นจึงเป็นปรัชญาของผู้ก่อตั้งธุรกิจที่นำมาใช้บริหารบริษัท ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและยืนหยัดฝ่าฟันทุกมรสุมไปได้ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน บริษัทญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ล้วนแต่ยึดมั่นในหลักการบริหารแบบ ริเน็น ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่เหมือนกันของบริษัทเหล่านี้ก็คือการมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกัน ไม่ว่าเศรษฐกิจนั้นจะดีหรือว่าแย่ แถมยังได้รับเสียงชื่นชมทั้งจากลูกค้า พนักงานและแรงสนับสนุนจากสังคมว่าเป็นบริษัทที่ดี คุณอยากให้ธุรกิจของตัวเองเป็นแบบนี้บ้างไหมคะ ถ้าอยากก็ต้องอ่านต่อไปค่ะ ว่าร้านขนมเล็ก ๆ แห่งนี้มีดีอะไรถึงได้ทำยอดขายได้มากกว่าร้านชื่อดังอย่างแอปเปิ้ลสโตร์
แต่คุณเชื่อไหมคะว่า ร้านขนมเล็ก ๆ นี้มีขนมขายเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้น คือวุ้นถั่วแดงหรือโยกัง ราคา 600 เยน และขนมโมนากะ เป็นขนมแป้งบางกรอบสอดใส้ถัวแดง ราคาเพียงแค่ 70 เยน
วัตถุดิบที่ใช้ในการทำวุ้นถั่วแดง ก็มีเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ วุ้นถั่วแดง น้ำตาล และผงวุ้นเท่านั้น ขั้นตอนการทำก็แสนจะเรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนเลย คือนำถั่วไปล้าง ต้มถั่วและนำถั่วไปกวน จากนั้นก็ค่อย ๆ ผสมน้ำตาลและผงวุ้นลงไป แต่สิ่งที่ทำให้ขนมชนิดนี้เป็นขนมขั้นเทพ นั่นก็เพราะความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกขั้นตอนการทำนั่นเองค่ะ ทั้งวิธีการกวน แรงที่ใช้กวน ระยะเวลาในการเคี่ยว ความแรงของไฟ อุณหภูมิและความชื้นของอากาศในแต่ละวัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรสชาติของขนมทั้งสิ้น ด้วยกรรมวิธีการผลิตอย่างพิถีพิถันนี้เองจึงทำให้สามารถผลิตขนมได้แค่เพียงวันละ 150 ชิ้นเท่านั้น
วุ้นถั่วแดงที่ผลิตได้ในจำนวนจำกัดต่อวันนั้น จึงทำให้ผู้คนต้องมาเข้าแถวรอซื้อกันตั้งแต่ตี 1-2 กันเลยทีเดียว เหตุผลก็เพราะต้องการลิ้มรสของวุ้นถั่วแดงแบบดั้งเดิมที่มีความประณีตทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้รสชาติที่สุดแสนพิเศษ ฉันเองก็ไม่รู้จะพรรณนาถึงรสชาติของมันอย่างไรดี เพราะตอนนี้ก็ยังไม่เคยลิ้มลองเลยสักครั้งค่ะ ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีความอดทนไปเข้าแถวยืนรอได้นานขนาดนั้นไหม แต่มีเรื่องที่น่าตกใจ คือยอดขายของร้านโอซาสะนี้หากคิดเป็นยอดขายต่อตารางเมตรแล้ว กลับสูงกว่าร้านแอปเปิ้ลสโตร์ถึง 20 เท่า คุณจะเชื่อหรือเปล่าค่ะว่าร้านขนมขนาด 3 ตารางเมตรนี้สามารถทำยอดขายได้ 300 ล้านเยนต่อปีเลยทีเดียวค่ะ
การที่ร้านขนมโอซาสะอยู่มาได้อย่างยาวนานกว่า 60 ปีและมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งอย่างคุณอิกามิ เทรุโอะที่นำปรัชญาการบริหารแบบริเน็นเข้ามาใช้ในกิจการนั่นเองค่ะ
ริเน็น ที่ร้านโอซาสะนำมาใช้เป็นปรัชญาในการบริหารธุรกิจนั้น คือการสร้างวงจรความสุข ความปรารถนาดี และความเชื่อใจต่อกันระหว่างพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และสังคม
ขนมจะอร่อยนั้นสิ่งสำคัญอยู่ที่วัตถุดิบ ร้านโอซสะจึงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยาวนานกับคู่ค้าที่จำหน่ายวัตถุดิบส่งให้กับทางร้าน ส่วนร้านขนมอื่น ๆ อาจติดต่อกับซัพพลายเออร์หลาย ๆ เจ้าแล้วปล่อยให้ซัพพลายเออร์นั้นแข่งขันราคากันเอง จากนั้นก็เลือกเจ้าที่ถูกที่สุด ส่วนร้านโอซาสะจะสั่งซื้อถั่วแดงจากร้านเดียวมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าห้าสิบปี เพราะเขาเชื่อว่าการกดราคาซัพพลายเออร์นั้นจะทำให้ทางร้านได้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง แต่การซื้อวัตถุดิบจากร้านเดียวจะเป็นการค่อย ๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยทางร้านจะขอให้ซัพพลายเออร์ส่งถั่วแดงที่ดีที่สุดมาให้และชำระเงินทันที
คุณอิกามิและลูกสาวมีความมุ่งมั่นที่จะทำขนมให้ดีที่สุดและอร่อยที่สุดเพื่อลูกค้าจะได้ไม่ผิดหวัง และคุณอิกามิจะคอยสอนลูกสาวอยู่เสมอว่า “อย่าคอยดูแต่ตัวเลขสมุดเงินฝากธนาคาร แต่จงสะสมความเชื่อใจ หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นจนเราเหลือเพียงแค่ป้ายไม้แผ่นเดียวกับวัตถุดิบทำขนม ถ้าลูกค้าเห็นป้ายของเราแล้วยังตัดสินใจซื้อทันที นั่นคือพลังของความเชื่อใจ”
ทุกเช้าคุณอินาคากิผู้เป็นลูกสาวจะตัดวุ้นถั่วแดงที่ตัวเองเป็นคนทำให้พ่อชิม ทั้งคู่จะนั่งหลับตาและลองชิมกันเงียบ ๆ แม้ว่าคุณอินาคากิจะรู้สึกว่าวุ้นถั่วแดงที่ตัวเองทำก็อร่อยดี แต่คุณอิกามิผู้เป็นพ่อนั้นสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างและรู้ถึงจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขในทันที เพื่อให้ได้ขนมที่อร่อยที่สุดสำหรับลูกค้าแล้วคุณอิกามิจึงต้องชิมขนมทุก ๆ เช้า แม้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นแต่เขาก็ยังชิมขนมจนถึงวันที่ได้จากโลกนี้ไป
นอกจากความพิถีพิถันในรสชาติแล้ว ร้านโอซาสะยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนความซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้าอีกด้วย กล่าวคือถ้าพนักงานต้องการซื้อวุ้นถั่วแดง พวกเขาก็ต้องมายืนเข้าแถวเช่นเดียวกันกับลูกค้า ไม่เว้นแม้แต่สามีของคุณอินาคากิก็ยังต้องมายืนรอต่อแถวเพื่อซื้อขนมที่ตัวเองเป็นคนทำ
แม้ว่าร้านโอซาสะจะเป็นเพียงร้านขนมเล็ก ๆ แต่ก็มีมาตรฐานการผลิตและความทุ่มเทเอาใจใส่ต่อลูกค้าอย่างซื่อสัตย์ระดับโลก จึงทำให้ร้านขนมโอซาสะมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาใด ๆ เลย ใคร ๆ ที่ได้รู้จักต่างก็อยากมาลองลิ้มชิมรสขนมวุ้นถั่วแดงของที่ร้านกันทั้งนั้น แล้วคุณผู้อ่านอยากลองไปชิมสักครั้งกันไหมคะ
ในหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น นั้นได้หยิบยกเอาหลาย ๆ กิจการมาเป็นตัวอย่างค่ะ ถ้าใครสนใจก็ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านกันได้ แต่ฉันหยิบยกเอาเรื่องของร้านโอซาสะมาเพราะชอบใจเป็นพิเศษ ตรงที่ร้านขายขนมเล็ก ๆ แห่งนี้เขามีดีอะไรนักหนา ถึงขนาดมีคนไปเข้าคิวต่อแถวรอซื้อกันตั้งแต่ตี 1-2 ทั้งที่ร้านเปิดทำการตอนสิบโมงเช้าถึงทุ่มครึ่ง ถ้าใครอยากรู้จักร้านโอซาสะเพิ่มขึ้นหรือต้องการหาข้อมูลเพื่อจะไปต่อแถวลองซื้อขนมวุ้นถั่วแดงขั้นเทพนี้มาลองดูบ้าง ก็สามารถ (คลิ๊กที่นี่...)เข้าไปดูข้อมูลได้ค่ะ
การอ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ทำให้ฉันได้คิดถึงมุมมองการเริ่มต้นก่อสร้างธุรกิจของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทหรือว่าทุกธุรกิจ ทุกคนมีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการสร้างกำไรจากการลงทุน แต่ฉันก็อยากให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายที่นอกเหนือจากจะคิดถึงแต่การสร้างผลกำไรแล้ว ก็อยากให้คิดถึงการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันสู่สังคมด้วยค่ะ
ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนยังได้เปรียบเทียบการบริหารบริษัท 2 แบบ คือ
บริษัทแบบต้นไผ่ เป้าหมายของบริษัทประเภทนี้คือการเร่งสร้างให้ผลประกอบการเติบโตอย่างรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก ส่วนลูกค้าและสังคมเป็นเรื่องรองลงมา พนักงานและคู่ค้าทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญลำดับสุดท้ายที่จะคิดถึง ถ้าผลประกอบการดี พนักงานก็จะได้รับผลตอบแทนและโบนัสที่ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก ส่วนคู่ค้าทางธุรกิจก็จะกดดันเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด ไม่เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ยืดยาว
บริษัทแบบต้นไผ่ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคปัจจุบันนี้ ตัวอย่างที่ยกให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ บริษัทอูเบอร์ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการเดินทางโดยรถแท็กซี่ ถ้าใครอยากรู้จักความเป็นมาของบริษัทอูเบอร์ก็ไปลองหาอ่านกันดูนะคะ เพราะถ้าฉันนำมาเขียนในบทความนี้จะมันยาวเกินไป
บริษัทต้นสน ผู้บริหารมองว่าบริษัทมีหน้าที่รับใช้สังคม เป้าหมายของบริษัทคือ การทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยพัฒนาสังคม บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขพวกเขาย่อมสร้างคุณค่าดี ๆ ให้กับลูกค้าได้ และให้ความสำคัญกับคู่ค้าทางธุรกิจเป็นลำดับถัดมา บริษัทจะไม่กดดันหรือต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ แต่จะทำงานด้วยกันจนเกิดความไว้วางใจและสานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่วนผู้ถือหุ้นก็วางใจในการบริหารเพราะเห็นว่าบริษัทมุ่งสร้างคุณค่าที่ดีเพื่อลูกค้าและสังคมอย่างแท้จริง
บริษัทที่บริหารจัดการแบบต้นสน อาจจะดูแล้วเติบโตอย่างเชื่องช้า ไม่อาจทันใจนักลงทุนที่หวังแต่จะค้าผลกำไรเป็นหลักแน่นอนค่ะ แต่สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทแบบต้นสนคือ บริษัทมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ มีกำไรสูงต่อเนื่องทุก ๆ ปี ลูกค้าชื่นชอบบริษัทและพึงพอใจในสินค้าแล้วเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ และยังช่วยแนะนำบอกต่อให้กับคนอื่นอีกด้วย ส่วนพนักงานก็รักและอยากทำงานกับบริษัทไปนาน ๆ มีความสุขในการทำงาน มุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายของบริษัท และหากเมื่อบริษัทประสบปัญหาก็ร่วมมือร่วมใจกันประคับประคองบริษัทให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้
สำหรับท่านผู้อ่านที่กำลังคิดจะลงทุนทำธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทของตัวเอง ก็ลองพิจารณาดูนะคะ ว่าคุณต้องการบริหารธุรกิจของคุณให้เป็นแบบต้นไผ่ หรือแบบต้นสน
ความจริงแล้วฉันอยากนำเรื่องของริเน็นและร้านขนมโอซาสะนี้มาเขียนแบ่งปันให้อ่านกันตั้งนานแล้วค่ะ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนสักที ขนาดว่าเขียนบทความนี้บทความเดียวก็ยังต้องใช้เวลาตั้งหลายวันกว่าจะจบ เหตุผลก็คงเป็นเพราะปัญหาและอุปสรรคหลาย ๆ อย่างที่มันพัดไปพัดมาเหมือนกับมรสุมในช่วงฤดูฝนนี่แหละค่ะ แต่ไม่ว่าเราจะเจอมรสุมลูกใหญ่แค่ไหน ก็ขอให้เรายืนหยัดได้อย่างมั่นคงและยาวนานเหมือนกับต้นสนที่มั่นคงเข้าไว้นะคะ
#เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้คือพลังที่ยิ่งใหญ่
โฆษณา