27 เม.ย. 2021 เวลา 10:42 • ประวัติศาสตร์
วัยเด็ก ~ จากบ้าน
วัยเด็ก~จากบ้าน
ระบบแบ่งเขตกาปกครองส่วนภูมิภาค เป็นมณฑล เรียกชื่อว่า “มณฑลเทศาภิบาล” เป็นการปฎิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัย ร.5 จัดขึ้นโดยราชดำริของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงมหาดไทย เริ่มใช้ช่วงปี พ.ศ.2437-2476 มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจแทนเจ้าเมือง
ปี 2438 มณฑลกรุงเก่า [มณฑลอยุธยา]จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับ 2 (ถัดจากมณฑลพิษณุโลกที่จัดตั้งเป็นมณฑลแรกในปี 2437)
ประกอบด้วย เมืองกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี
พ่อเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ถึงห้าแผ่นดิน เกิดปี พ.ศ 2447 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ พ.ศ. 2446 (ร.ศ.122)ที่ไทยจำต้องยกดินแดนตั้งแต่ อ.แหลมสิงห์ จ. จันทบุรี ไปจนถึงเกาะหมากและเกาะกูด และเมืองปัจจันตคีรีเขต ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยชายฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่ที่เกาะกง เป็นเมืองคู่แฝดของ เมืองประจวบคีรีขันธ์ (เดิมชื่อเมือง ‘บางรมย์’)ที่ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการให้เรียกขานให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี (ฝรั่งเศสนักล่าอาณานิคมมายึดครองอยู่ตั้งแต่ พ.ศ 2436 ร.ศ.112)
ตามสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศส (สนธิสัญญาสยาม- ฝรั่งเศส ร.ศ.122 Traité français- siamois de 1904)
ซ้ำในปีพ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5.ทรงโทรมมนัสอย่างที่สุดที่ต้องตัดสินพระทัยยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงของไทยให้แก่ฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อแลกเอาจังหวัดตราด และหมู่เกาะต่าง ๆ คืนมา
พ่อมีชีวิตตั้งแต่เกิด เรียน และทำงานอยู่ในมณฑลกรุงเก่า เพราะพ่อเป็นลูกชาวนาชาวบางระจัน เมืองสิงห์บุรี การศึกษาชั้นต้นเริ่มในปี 2457ที่โรงเรียนวัดห้วย เป็นเวลา 1 ปี ในปี พ.ศ. 2459 เรียนนักธรรม เป็นเวลา 2 ปีที่วัดพระปรางค์ ( ปรางค์ทรงฝักข้าวโพด ศิลปอยุธยาตอนต้น สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และมีแหล่งเตาเผาโบราณลุ่มน้ำน้อย ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานปีพ.ศ.2478)
ปี 2465 พ่อเป็นนักเรียนฝึกหัดครูโรงเรียนประจำมณฑลอยุธยา
“ 2466 -สอบไล่ประโยคครูมูลได้ที่ 1 มณฑลอยุธยา 2468-สอบไล่วิชาชุดครูประถม เฉพาะวิชาสรีรศาสตร์และสุขวิทยาได้ที่ 1ในประเทศสยามได้รับรางวัลจากกระทรวงธรรมการ 6บาท”
“ 2479สอบแข่งขันวิชาข้าราชการพลเรือนชั้นตรี แผนกอักษรศาสตร์ได้ที่ 96”
ปี 2467 พ่อเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งครูประจำชั้นร.ร.ประจำมณฑลอยุธยา กรมสามัญศึกษา กระทรวงธรรมการ ครั้นถึงปี พ.ศ.2470 พ่อเป็นครูประจำชั้น ร.ร.ประจำจังหวัดสิงห์บุรี
อาชีพที่ดีที่สุดที่ลูกชาวบ้านจน ๆ ที่ทุนทรัพย์น้อยจะเลือกได้คือ เรียนเป็นครู
พ่อโชคดีที่เป็นนักเรียนที่ได้รับเลือกเข้ามาเรียน “โรงเรียนฝึกหัดครูเมืองกรุงเก่า” หลังวังฯ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2448 โดยร.5 พระราชทานราชทรัพย์แก่กระทรวงธรรมการ30,000บาท เพื่อจัดตั้งมีการสอนวิชาสามัญ ม1-ม.3 และสอนเพิ่มวิชาครูเพื่อเตรียมตัวนักเรียนที่คัดเลือกมาเรียนไปเป็นครูสอนตามเมืองต่างๆในมณฑล
ชีวิตพ่อถูกกำหนดอีกครั้งในปีพ.ศ. 2472 เมื่อพ่อ “สอบไล่เข้าเป็นข้าราชการพลเรือน ชั้นราชบุรุษ ได้ที่ 1 มณฑลอยุธยา”
ในปีนั้นเองพ่อได้รับแต่งตั้งเป็น “ปลัดซ้ายอำเภอสิงห์ ชั้น 4 รับ40บาท” ตามพระประชากรบริรักษ์ พนักงานประวัติบันทึกไว้ในสมุดประวัติประจำตัวข้าราชการ
พ่อเป็นปลัดอยู่ถึง 8ปี จนถึงพ.ศ2480 พ่อได้ย้ายไปเป็นปลัดซ้าย ปลัดขวา และปลัดอำเภอชั้นพิเศษที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
เมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2481 พ่อได้รับคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้โอนมารับราชการในตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี
ติดยศ ร.ต.ต. รับ 80 บาท
จนถึงปี พ.ศ. 2484 พ่อมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวดตำรวจจังหวัดสิงห์บุรี รับยศ ร.ต.ท.รับ 110บาท
นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต ที่อยู่ในวัย 37 ปี
พ่อโชคดีที่ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโทเมื่อ 1 มิถุนายน2484ในขณะที่เรายังเป็นทารกอยู่ในท้องแม่ และถือกำเนิดในวันที่ 25 สิงหาคม ของปีนั้น ในเรือนแพที่พักประจำตำแหน่งของพ่อหน้าจวนข้าหลวง
วันที่เราเกิดคือวันที่พ่อได้รับคำสั่งย้ายให้ไปเป็นผู้บังคับหมวดกองตำรวจภูธรจังหวัดตราด
แม่เล่าให้ฟังว่า แม่ได้พักหลังคลอด 15 วันจึงได้เดินทางพร้อมพ่อที่ไปรับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2484
โดยเดินทางด้วยเรือเมล์กลไฟชื่อ “นิภา”ที่เดินระหว่างหัวเมืองในฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกในเวลานั้นซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่2( พ.ศ.2484-2488)ซึ่งแล่นเป็นปกติจากกรุงเทพฯ-ท่าแฉลบ
เราถูกโยงขึ้นบนเรือในวันเดินทาง และพ่อก็งงเมื่อถูกเรียกชื่อให้ขึ้นเรือว่า “ มิสเตอร์ เมืองแมน” ว่าเป็นชื่อสกุลเราหรือเปล่า
ว่าด้วย ‘เรือล่ม’ กลางทะเลไทยในหน้าประวัติศาสตร์
เรือนิภา สันนิษฐานว่าขณะจอดที่ท่าแฉลบ
ชีวิตคนเหมือนสายน้ำ ไหลเรื่อยไปจากแหล่งกำเนิด ไกลไปเรื่อยๆตามชะตาชีวิตกำหนด. และไม่มีวันไหลกลับคืนเช่นเดียวกับกาลเวลา
ความทรงจำเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่
แต่ลึกลงไปในใจเราผู้เกิดมาดั่งเช่นเป็นผู้กำหนดให้พ่อต้องจากบ้าน-จากถิ่นเกิดและระเหเร่ร่อนไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ 2533 ไม่มีโอกาสได้หวนคืนมาอยู่ถิ่นเดิมอีกเลย
พ่อได้แต่เพียงทดแทนถิ่นกำเนิดด้วยการตั้งมูลนิธิให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดสิงห์บุรีที่ยากจน เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครบทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด โดยเริ่มที่ อ.บางระจันแดนเกิดเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา โดยพ่อจะไปแจกเองจนถึงปีสุดท้ายที่ไปได้ คือปี 2532
มูลนิธิยังได้อุดหนุนสถานที่เรียนในจังหวัดอื่น
ที่มีหนังสือขอมาเป็นราย ๆ ไป จนเมื่อปิดการดำเนินงานของมูลนิธิในปี 2547 จึงได้นำมอบเงินที่เหลือ 220,000 บาท บริจาคแก่โรงพยาบาลสิงห์บุรี
ความเมตตาของ “หลวงพ่อปัญญาฯ”ที่มีต่อพ่อ ในวันที่พ่อละโลกนี้ไปประทับอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ได้แต่กราบนมัสการและบูชาท่าน
แม้นานมาแล้วแต่ครั้งที่ท่านไปแสดงธรรมทางภาคเหนือและพ่อเป็นนายอำเภอในขณะนั้น ท่านก็ยังจำพ่อได้
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังเสร็จงาน. แม่-ลูกได้ ทำบุญอุทิศให้พ่อเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการถวายเงินบำรุงโรงพยาบาลที่ท่านอุปถัมภ์อยู่ 61,006 บาท
[ปัจจุบันคือศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนัครินทรวิโรต]
ยามนี้ แว่วเสียงกาพย์ยานี 11 ที่พ่อเคยท่องให้ฟังตอนเด็ก
“พฤษภกาสร. อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง. สำคัญหมายในกายมี
นรชาติที่วางวาย. มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
27/04/2564
………………………………………………………………………………………………………………
โฆษณา