2 พ.ค. 2021 เวลา 15:55 • การศึกษา
เคล็ดไม่ลับ เก็บเงินให้ลูกเรียน
ขอออกตัวก่อนนะครับ ผมเป็นคนชนชั้นกลาง เป็นพนักงานประจำ ที่ผ่านมามีรายได้สม่ำเสมอ สามารถทยอยเก็บเงินทุกเดือนไปเรื่อยๆ ได้ (หวังว่าจะไม่โดนไล่ออกกลางคันนะครับ) เลยอยากจะแชร์วิธีการเก็บเงินให้ลูกของผมแบบเรียบง่ายครับ แต่ก็มีวิธีการคิดประมาณนี้ครับ
อันดับแรก คิดก่อนเลย ช่วงประถมฯ ถึงมัธยมฯ อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนแบบไหน ปัจจุบันนี้มีโรงเรียนหลายแบบมาก ถ้าแบ่งเป็นคร่าวๆ ได้ประมาณ 4 ประเภทครับ 1) รัฐบาล 2) เอกชน 3) อีพี (English Program) และ 4) อินเตอร์
แน่นอนครับ ราคาต่างกัน ผมกับภรรยาคิดเหมือนกันว่า เราคงมองลูกเป็นตัวตั้งเลือกโรงเรียนที่ "เหมาะ" กับเขามากกว่า ซึ่งต้องให้ลูกได้ลองสัมผัสและพ่อแม่ใช้การสังเกต (เข้าใจครับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย)
เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว ผมจะแบ่งเงินส่วนนี้จากเงินเดือนและเอาไว้ในเงินฝาก พอถึงช่วงที่ต้องจ่ายค่าเทอม ก็นำไปจ่ายครับ หากจ่ายเต็มแล้วมีส่วนลด ก็จ่ายเต็มครับ
ตัวอย่าง เช่น จะส่งลูกเรียน อีพี ค่าเทอมประมาณ 120,000 บาทต่อปี ฉะนั้น หนึ่งปีก่อนเข้าโรงเรียน ผมจะเก็บเดือนละ 10,000 นิดๆ ไว้ในเงินฝากครับ (ที่เผื่อนิดๆ อีกสัก 10-20% เผื่อเหลือเผื่อขาดครับ) ปีถัดไปก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ต้องบวกค่าเทอมที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยนะครับ
ผมจะไม่นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนครับ เพราะ 1 ปีนั้นสั้นนัก สำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น หลายครั้งเวลาที่มันตกอาจจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี จะกลับมาที่เดิม
เงินก้อนนี้ถือว่า Serious ครับ หายไม่ได้ เราต้องไม่เสี่ยงเกินไป เพราะลูกจะไม่ได้เรียนอยากที่เราตั้งใจไว้ พ่อแม่คนไหนก็รับไม่ได้แน่ๆ
สำหรับเงินที่จะเรียนมหาลัย ผมจะมีอีกวิธีคิดครับ
ผมเองเกิดมาในครอบครัวที่มีค่านิยมอยากให้ลูกไปเรียนมหาลัยเมืองนอก อย่างน้อยก็ ป.โท ในฐานะพ่อแม่ชนชั้นกลางทั่วไปก็ถือว่าที่สุดแล้วครับ
ผมเองคิดแบบนี้เช่นกันครับ เตรียมเงินให้ลูกไปเรียนเมืองนอก ป.โท ส่วน ป.ตรี เตรียมอินเตอร์ในไทยไว้ให้ครับ
แน่นอนครับ เราก็หวังว่าลูกจะเรียนเก่ง สามารถสอบชิงทุนได้ จะได้ไม่หนักพ่อแม่ แต่ก็ไม่อยากเอาความลำบากใจไปไว้ที่ลูก ถ้าทำได้ก็ดีครับ
ในฐานะพ่อแม่ ผมก็ต้องเตรียมไว้ให้ก่อน ถ้าเกิดได้ทุนมาจริงๆ ก็ถือซะว่าเงินนี้เป็นเงินก้นถุงให้ลูก เผื่อลูกอยากจะเอาไปเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ในอนาคต
เหมือนเดิมครับ ตั้งเป้าหมายก่อน ลองดูตารางค่าเล่าเรียนด้านล่างครับ
จากผมตั้งใจว่าจะส่งลูกเรียน ป.ตรี อินเตอร์ในไทย และ ป.โท เมืองนอก (มหาลัย Top 100) ครับ ใช้เวลา 6 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,600,000 บาทครับ
แต่นั้นคือราคาวันนี้ครับ จาก Bloomberg บอกว่าเงินเฟ้อการศึกษาค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี (หรือพูดง่ายๆ ค่าเล่าเรียนจะเพิ่มขึ้น 5% ทุกปีและจะทบต้นไปเรื่อยๆ)
สมมติลูกผมตอนนี้ 3 ขวบ เขามีเวลาอีก 15 ปี กว่าจะเข้า ป.ตรี และ 19 ปี สำหรับ ป.โท พอคูณเงินเฟ้อการศึกษาเข้าไปด้วยแล้ว จะอยู่ที่ 11,350,000 บาท!!
ไม่ต้องตกใจนะครับ หลายท่านที่ไปเรียนเมืองนอกมา จะรู้ว่ามันแพงขึ้นทุกปีจริงๆ
ถ้าคิดไวๆ พ่อแม่ต้องเก็บปีละประมาณ 600,000 บาท เดือนละ 50,000 บาท หรือ แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาว 15-19 ปี เงินก้อนนี้ ถึงแม้จะ Serious แต่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ เช่น หุ้น เพราะหากหุ้นตก ก็ยังมีเวลายาวพอให้ฟื้นกลับมาครับ
ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ในสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ครับ
แต่จะดียิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากเราจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม และถือไปให้ยาว ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากหลายสำนักแล้วว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
หากผมลงทุนในพอร์ตฯ ความเสี่ยงสูง (เพราะผมเข้าใจว่าในระยะยาวมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนที่ดี - ทั้งนี้ลองศึกษาเพิ่มเติมกันนะครับ) ผมอาจจะได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี จะทำให้เงินต้นที่ผมต้องเก็บต่อปี เหลือเพียงประมาณ 360,000 บาทต่อปี หรือ 30,000 บาทต่อเดือน เท่านั้นครับ
ในทางการเงินแล้ว แบบนี้เรียกว่าการทยอยลงทุนสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) ครับ ยิ่งตลาดหุ้นผันผวนเท่าไร ยิ่งดีครับแบบนี้
ทำให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็พอจะเป็นไปได้ขึ้นมาทันทีเลยครับ
ส่วนสุดท้าย ส่วนสำคัญที่สุดครับ
อย่างที่บอกไป เงินเก็บให้ลูกเรียน เป็นเงินก้อนที่ Serious ซึ่งหากเราอยู่ เราจะหาทุกวิถีทางให้ลูกได้ไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้ให้มากที่สุด
และถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น เราเกิดไม่อยู่ขึ้นมา ลูกเรายังคงสมควรที่จะได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะให้ได้เหมือนเดิมครับ
ผมจึงต้องเตรียมทำประกันชีวิตครับ โดยให้ทุนประกันชีวิตเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องเตรียมเพื่อให้ลูกไปเรียนต่อครับ คือ 11,350,000 บาท
แต่ผมจะซื้อให้ถูกที่สุดครับ ซึ่งค่าเบี้ยประกันฯ อาจจะได้ต่ำไม่ถึง 60,000 บาทต่อปี (หรือ 5,000 บาทต่อเดือน) เมื่อรวมกับเงินที่จะลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือนแล้วจะอยู่ที่ 35,000 บาทครับ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ผมมีเงินเก็บมากขึ้น ผมจะลดทุนประกันชีวิตลง โดยคำนวนจาก "เงินที่เตรียมให้ลูกกับ" หักลบกับ "เงินเก็บในปีนั้นๆ" ครับ จะทำให้ผมจ่ายเบี้ยประกันน้อยลงไปเรื่อยๆ จนปีท้ายๆ ผมอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องมีประกันชีวิตแล้ว เพราะบรรลุเป้าหมายไปแล้ว (จำนวน "เงินเก็บ" ได้มากกว่าหรือเท่ากับเงินต้องเตรียมให้ลูกครับ)
ฟังดูขี้งกนะครับ แต่แบบประกันที่จัดการได้แบบนี้มีครับ
1
เรื่องประกัน ผมเชียร์ให้ทำอย่างยิ่งนะครับ เพราะทำให้เกิดความสบายใจกับเราและคนที่เรารักครับ
ไม่ต้องทำเยอะ ทำเท่าที่จำเป็นก็พอครับ
ลองปรับใช้เป็นของตัวเองดูนะครับ
โฆษณา