28 เม.ย. 2021 เวลา 12:29 • ประวัติศาสตร์
“วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)” และจุดเริ่มต้นของ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)”
6
เหตุการณ์ “วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)” มีความเกี่ยวเนื่องกับ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)”
ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสองไปแล้ว แต่อยากจะนำเสนออีกครั้ง เป็นการสรุปและบอกเล่าเรื่องราวของภาวะในเวลานั้นและความเกี่ยวเนื่องของทั้งสองเหตุการณ์
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ตลาดหุ้นเริ่มจะปรับตัวลดลง หลังจากที่พุ่งขึ้นไม่มีหยุด และการปรับตัวลดลงก็สร้างความตื่นตระหนกให้เหล่านักลงทุน
ตลาดหุ้นในยุค 20
นักลงทุนต่างรีบเทขายหุ้น ในขณะที่คนซื้อก็มีอยู่เพียงไม่กี่ราย
ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) เป็นที่รู้จักในชื่อของ “พฤหัสทมิฬ (Black Thursday)” เนื่องจากตลาดหุ้นนั้นร่วงสุดขีด และต่อเนื่องไปถึงวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ “วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)”
ในวันอังคารทมิฬ นักลงทุนต่างเทขายหุ้นมากเป็นประวัติการณ์ มีการขายหุ้นกว่า 16.4 ล้านหุ้น สูญเงินไปรวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ แต่หากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะอยู่ที่ประมาณ 206,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.18 ล้านล้านบาท)
วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)
รวมๆ ความเสียหายในสี่วัน อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ (คิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะมีมูลค่ามากกว่านี้มาก) ซึ่งมากกว่างบประมาณที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก
ภายหลังจากการล่มของตลาดหุ้น ผู้คนจำนวนมากก็สิ้นเนื้อประดาตัว ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ และด้วยความโกลาหลทางเศรษฐกิจนี้ ธนาคารก็นั่งไม่ติด รีบเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เป็นการด่วน
ลูกหนี้ซึ่งส่วนมากก็ไม่มีเงิน ก็ต้องยอมเสียบ้าน เสียรถ แลกกับหนี้ที่ติดธนาคาร แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารรอดพ้นจากวิกฤต ธนาคารหลายแห่งเองก็ต้องปิดกิจการไปเช่นกัน รวมทั้งผู้คนที่ต้องสูญเงินไปกับธนาคารที่ตนฝากเงินไว้
ผู้คนจำนวนมากตกงาน ในขณะที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับก็แทบจะไม่มี
1
ผู้คนซึ่งตกงาน หมดตัว ต่างโทษผู้นำประเทศที่นำพาประเทศมาสู่จุดตกต่ำขนาดนี้ และผู้นำสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นก็คือประธานาธิบดี “เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover)”
คนไร้บ้านจำนวนมากต้องย้ายไปอยู่ในกระท่อมโทรมๆ ต้องพึ่งพิงอาหารจากครัวอนาถาที่ทำซุปแจกให้ฟรี คนที่ยังโชคดี ไม่เสียรถยนต์ของตน แต่ก็ไม่มีเงินเติมน้ำมันหรือซ่อมรถ สุดท้ายรถก็กลายเป็นเศษเหล็ก
เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover)
ภายหลังจากเหตุการณ์วันอังคารทมิฬ ในนิวยอร์ก ผู้คนที่หมดตัวได้ฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก บ้างกระโดดสะพาน บ้างกระโดดจากระเบียงบ้าน โรงแรมต่างๆ ต่างต้องปวดหัวที่แขกที่มาพัก ฆ่าตัวตายในโรงแรมของตน
ระหว่างปีค.ศ.1930-1935 (พ.ศ.2473-2478) มีฟาร์มกว่า 750,000 แห่งถูกยึดและนำออกขายทอดตลาด แต่ก็มีเรื่องน่าประทับใจ เนื่องจากส่วนมาก คนในชุมชนมักจะช่วยเหลือเจ้าของฟาร์มที่ถูกยึด ด้วยการแทรกซึมเข้าไปเป็นคนประมูลซะเอง และเสนอราคาต่ำมากเพื่อให้เจ้าของฟาร์มสามารถประมูลคืนไปได้
ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” ซึ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ได้ออกโปรแกรมฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมามากมาย ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
แต่สถานการณ์นั้นพลิกจริงๆ เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดความจำเป็นที่จะต้องผลิตอาวุธและยานพาหนะสำหรับสงครามจำนวนมาก ทำให้เกิดตำแหน่งงานที่เปิดรับมากมาย
และเนื่องจากสงครามนี้เอง แทบทุกคนจึงมีงานทำ ตัวเลขผู้ว่างงานลดฮวบลงในชั่วข้ามคืน
สงครามโลกครั้งที่ 2
หากจะบอกว่าสหรัฐอเมริกาพลิกฟื้นขึ้นมาได้เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อาจจะไม่เกินจริงนัก
โฆษณา