29 เม.ย. 2021 เวลา 04:50 • การเมือง
อัฟกานิสถาน ประเทศที่ผู้คน มีความสุขน้อยที่สุดในโลก
1
เมื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข คือสิ่งที่ทุกคนล้วนใฝ่ฝัน
ถึงแม้ความสุขจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก แต่ก็มีหลายองค์กรที่พยายามสร้างเกณฑ์ในการวัด และจัดอันดับว่าประเทศไหนที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในโลก
1
หนึ่งในนั้นคือ World Happiness Report 2021
ที่ได้ทำการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศทั่วโลก
ผลปรากฏว่า ประเทศที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในโลก คือ ฟินแลนด์
ส่วนประเทศไทย ผู้คนมีความสุขอยู่ในอันดับที่ 54
และประเทศที่ผู้คนมีความสุขน้อยที่สุดในโลก คือ อัฟกานิสถาน
เรื่องของฟินแลนด์ลงทุนแมนเคยเล่าให้ฟังบ้างแล้ว
แต่สำหรับอัฟกานิสถาน ทำไมผู้คนในประเทศนี้ถึงมีความสุขน้อยที่สุดในโลก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
จากรายงานของ World Happiness Report 2021 พบว่า
ประเทศที่คนมีความสุขมากที่สุดในโลก 3 อันดับสุดท้ายคือ
1
147. รวันดา ประเทศในทวีปแอฟริกา คะแนน 3.415
148. ซิมบับเว ประเทศในทวีปแอฟริกา คะแนน 3.145
149. อัฟกานิสถาน ประเทศในทวีปเอเชีย คะแนน 2.523
ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าประเทศมีความสุขมากน้อยแค่ไหน ?
มีอยู่ 6 ข้อด้วยกัน ประกอบไปด้วย
1. รายได้
2. สุขภาพและอายุขัยเฉลี่ย
3. การสนับสนุนจากสังคม
4. อิสรภาพ
5. การได้รับความไว้วางใจ
6. การคอร์รัปชันของคนในสังคม
1
Cr. Bloomberg
ทีนี้เรามาลองไล่เรียงแต่ละปัจจัยของอัฟกานิสถานว่าเป็นอย่างไร ?
เริ่มจากรายได้..
3
ชาวอัฟกานิสถาน 37 ล้านคนมี GDP เฉลี่ยต่อหัวต่อปี อยู่ที่เพียง 15,814 บาท
อยู่ในอันดับที่ 177 จากทั้งหมด 195 ประเทศ
1
นั่นก็อาจหมายความว่า ประชาชนในอัฟกานิสถานมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ต่ำมาก
ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับงานวิจัยของ Penn’s Wharton School
ที่พบว่า ความสุขที่ลดลง จะสัมพันธ์กับรายได้ที่มีน้อยลง
1
ปัจจัยด้านต่อมาก็คือ สุขภาพและอายุขัยเฉลี่ย
ในปี 2018 อัฟกานิสถานมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 64.4 ปี เป็นอันดับท้าย ๆ ของโลก
ส่วนการบริการสาธารณสุขก็เจอกับปัญหาการโจมตีสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีการกีดกันไม่ให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าถึงสถานบริการด้านสุขภาพอีกด้วย
2
ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนมาจากการที่ผู้หญิงในอัฟกานิสถานแทบจะไม่มีสิทธิอะไรเลยในชีวิต
ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนคนเดียว ต้องแต่งกายให้มิดชิด
ไม่เปิดเผยอวัยวะในร่างกายให้คนอื่นได้เห็น
1
Cr. Voice of America
อีกปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงอัฟกานิสถานคือ การไม่มีตัวตนในสังคม
ผู้หญิงอัฟกานิสถานไม่สามารถเปิดเผยชื่อของตัวเองในที่สาธารณะได้
เอกสารทางราชการต่าง ๆ บัตรประชาชน จะไม่มีชื่อของผู้หญิงปรากฏ
มีเพียงการบอกว่า เป็นบุตรของใคร หรือหากแต่งงานแล้วก็จะระบุว่าเป็นภรรยาของใคร
4
และสุดท้ายเมื่อเสียชีวิต ที่ป้ายหลุมศพก็ไม่มีแม้แต่การระบุชื่อ
ทำได้เพียงระบุว่าเป็นบุตรสาวของใคร เป็นภรรยาของใคร หรือเป็นมารดาของใครเท่านั้น
5
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็นำไปสู่โครงการ “Where Is My Name ?”
ที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายดังกล่าว
เพราะการระบุชื่อผู้หญิงในเอกสารสำคัญทางราชการเป็นสิทธิที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ
3
นอกจากปัญหาด้านรายได้ สุขภาพ การสนับสนุนจากสังคม
ยังมีอีกปัญหาที่สำคัญของอัฟกานิสถาน ก็คือ “ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ”
2
Cr. Asia Society
เริ่มมาตั้งแต่ในปี 1978 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น
เกิดการล้มล้างรัฐบาลของ โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ประธานาธิบดีคนแรกของอัฟกานิสถาน โดยกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และสังหารครอบครัวของประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ทั้งครอบครัว
1
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สหภาพโซเวียตก็เข้ามายึดอัฟกานิสถาน
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างโซเวียตและอัฟกานิสถาน และโซเวียตได้ยึดครองอัฟกานิสถานอยู่นานถึง 10 ปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจ จนเกิดกลุ่มต่อต้านโซเวียตที่ชื่อว่า กลุ่มมูจาฮีดีน
1
แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตยอมถอนทัพออกไปจากอัฟกานิสถาน
สถานการณ์กลับกลายเป็นย่ำแย่ยิ่งไปกว่าเดิม
1
เพราะในช่วงปี 1989 ถึง 1996 เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในอัฟกานิสถาน
จากกลุ่มมูจาฮีดีนที่ร่วมกันขับไล่สหภาพโซเวียตหันมาทะเลาะกันเอง
เพื่อแย่งชิงอำนาจในการปกครองประเทศ
1
นอกจากนี้ในปี 1991 ยังเกิดกลุ่มตอลิบานขึ้นเพราะต้องการต่อต้านกลุ่มมูจาฮีดีน
ซึ่งในช่วงแรก ตอลิบานก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวอัฟกานิสถานเป็นอย่างดี
จนสามารถรวบรวมกองกำลังได้ถึงหลักหมื่น และสามารถยึดอำนาจทั้งยังจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
4
แต่ภายหลังที่ตอลิบานขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนคำสัญญาจากหน้ามือเป็นหลังมือ
จากคำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า จะสร้างความสงบ พัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า
ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายมาเป็นออกกฎให้ผู้หญิงแทบจะไม่เหลือสิทธิและเสรีภาพใด ๆ เลย
สังหารผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นิกายซุนนีที่กลุ่มตอลิบานนับถือ
รวมถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศไปเป็น Islamic Emirate of Afghanistan อีกด้วย
Cr. Voice of America
แต่เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือ เหตุการณ์ 9/11
ที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์ พันธมิตรของกลุ่มตอลิบาน ซึ่งก่อตั้งโดย อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ชาวซาอุดีอาระเบียได้โจมตีแบบพลีชีพทางอากาศในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ทำให้เกิดสงครามในอัฟกานิสถานขึ้นมาอีกครั้ง
1
ปัจจุบันอัฟกานิสถานยังคงมีปัญหาการก่อการร้ายและการสู้รบรุนแรงภายในประเทศ
จากข้อมูลของ Global Peace Index 2020 ได้ระบุว่า
อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในโลก จากการสำรวจทั้งหมด 163 ประเทศอีกด้วย
2
ด้วยความที่ประเทศยังคงอยู่ในอันตรายร้ายแรง ทำให้การพัฒนาด้านต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานยังคงล้าหลัง เต็มไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งด้านการศึกษา
อัตราการรู้หนังสือของคนในอัฟกานิสถานมีเพียง 38.2% เท่านั้น
รวมไปถึงปัญหาด้านคอร์รัปชัน โดยจากการจัดอันดับด้านความโปร่งใส
อัฟกานิสถานอยู่อันดับที่ 165 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
2
จะเห็นได้ว่า จากทั้ง 6 เกณฑ์ที่ใช้วัดว่าแต่ละประเทศมีความสุขมากแค่ไหน
อัฟกานิสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลก ในทุก ๆ เกณฑ์
1
ผู้คนในประเทศนี้ล้วนผ่านภาพของสงครามมากมาย เผชิญกับความตายไม่เว้นแต่ละวัน
และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว
1
สำหรับผู้คนที่ยังอยู่ในสังคมที่ร้าวฉานแห่งนี้ จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา
สิ่งเดียวที่ผลักดันให้ผู้คนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ก็อาจจะเป็นเพียงความหวังเล็ก ๆ ว่า วันพรุ่งนี้คงจะมีอะไรสักอย่างที่ดีกว่าวันนี้..
3
โฆษณา