29 เม.ย. 2021 เวลา 02:35 • ไลฟ์สไตล์
หลักแนวคิด 7 ประการ ที่ทำให้ Leonardo Da vinci เป็นอัจฉริยะ
ลีโอนาร์โด ดาวินชี คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปศาสตร์ ดาราศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ และความฉลาดของเขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะในรอบพันปี
Michael Gelb ผู้เขียนหนังสือ Think Like Da Vinci ได้รวบรวมข้อมูลจากบันทึกของดาวินชีจากแหล่งต่างๆ โดยเขาได้สังเกตุเห็นถึงลักษณะพิเศษแนวคิดของลีโอนาร์โด ดาวินชี และเรียกสิ่งนั้นว่า หลักแนวคิด 7 ประการ โดยเขาได้ตั้งชื่อแนวทางต่างๆ เป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ดาวินชี และเรียกแนวทางทั้งเจ็ดนี้ว่า Seven Da Vincian Principles
หลักการที่ 1 Curiosita ( Curious )
Curious หรือ ความอยากรู้ อยากเห็น อาจจะพูดได้ว่ามนุษย์ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่กับตัวทุกคน เพียงไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ดาวินชีเป็นคนที่มีความสนใจใคร่รู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัวตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวที่สุดอย่างร่างกายตนเอง ด้วยความสงสัยว่าร่างกายมนุษย์ทำงานยังไง เขาจึงลงมือวาดภาพร่างกายของมนุษย์อย่างละเอียดจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ วิชากายวิภาคศาสตร์
ดาวินชี จะคอยถามคำถามต่างๆ กับสิ่งรอบๆตัวเสมอ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากจะทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องและชัดเขน ทำให้ดาวินชีไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัวตลอดชีวิตของเขา
หลักการที่ 2 Dimostrazione ( Demonstration )
คือการนำความรู้ที่มีอยู่ไปลองใช้จริง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ประสบการณ์คือเป็นบ่อเกิดสำคัญของสติปัญญา ดาวินชีเองเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นหัวขบถและความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ดาวิชีจึงไม่ค่อยจะยอมรับต่อความเชื่อที่ยังไม่ผ่านการทดลองและการพิสูจน์ โดยตัวของดาวินชียอมรับว่า "การที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น มักจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด"
หลักการที่ 3 Sensazione ( Sensation )
ดาวินชีเป็นคนที่ให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า ( การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส รสชาติ และกลิ่น ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ( การมองเห็น ) ผ่านทางการวาดภาพ ตามมาด้วย ( การได้ยิน ) ผ่านดนตรี นอกจากนี้ดาวินชี ก็ยังให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าที่ดีที่สุด ( สัมผัส ) ในห้องทำงานของดาวินชีจะอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ และน้ำหอมตลอดเวลา ( กลิ่น ) ส่วนในด้านการกิน ดาวินชีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบ และรสชาติของอาหาร ( รสชาติ ) สิ่งที่น่าสนใจคือ ดาวินชีเป็นคนแรกๆ ที่สร้างสรรค์แนวคิดของการนำเสนออาหารที่คำไม่ใหญ่ แต่อุดมด้วยสุขภาพ
สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องประสาทสัมพัสทั้ง 5 ของ ดาวินชีคือคำพูดของเขาที่กล่าวว่า
" looks without seeing, listens without hearing, touches without feeling, eats without tasting, inhales without awareness of odour or fragrance and talks without thinking"
หรือแปลเป็นไทยได้ว่า " มองโดยไม่เห็น ฟังโดยไม่ได้ยิน สัมผัสโดยไม่รู้สึก กินโดยไม่รู้รสชาติ หายใจเข้าโดยไม่ตระหนักถึง กลิ่นหอม และพูดโดยไม่คิด"
หลักการที่ 4 Sfumato
หลักข้อนี้ใช้คำว่า Sfumato เป็นเทคนิคภาพสีหม่นที่เป็นแบบฉบับของ ลีโอนาโด ดาวินชี เป็นการลงสีที่บางและเบาเหมือนหมอกหรือควันจางๆ โดยไม่มีเส้นตัดหรือขอบที่ชัดเจน เป็นภาพที่มองได้หลายแง่ ตีความได้หลายมุม ตามแต่ผู้มองภาพจะจินตนาการ
Sfumato เปรียบได้กับ ความพร้อม ความเต็มใจ ที่จะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ (Ambiguity) ความขัดแย้ง (Paradox) และความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ในยุคสมัย Renaissance แนวคิดของดาวินชีต้องถือว่าล้ำหน้าคนในยุคสมัยเดียวกันไปหลายร้อยปี ทำให้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวดาวินชีจะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน รวมถึงความขัดแย้งในแนวคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ตัวของดาวินชีก็ยังสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในสิ่งใหม่ที่ไม่ใครนึกภาพและจินตนาการตามเขาทัน การทำสิ่งที่ไม่ชัดเจนให้กลายเป็นภาพชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้ที่เป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับดาวินชี เพราะเขาต้องคิดและจินตนาการอยู่เสมอ
หลักการที่ 5 Corporalita ( Cooperation )
หรือ ความสมบูรณ์ของปัญญาและร่างกาย เรามักจะไม่ค่อยเชื่อมโยง ระหว่างบุคคลที่ฉลาด กับบุคคลที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่เรื่องนี้ดาวินชีคงจะไม่เห็นด้วยซักเท่าไหร่ เพราะตัวของดาวินชีเองถือว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ผู้หนึ่ง คนในยุคเขาเรียกดาวินชี ว่า เป็นผู้ที่มีร่างกายที่สวยงาม (Great physical beauty) ในยุคนั้นดาวินชีมีชื่อมากในเรื่องของความสมบูรณ์ แข็งแรงของร่างกาย หรือแม้แต่นักวิชาการจำนวนมากก็ระบุว่า การที่ดาวินชีให้ความสนใจอย่างมากต่อร่างกายของมนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจาก ความสมบูรณ์ในร่างกายของเขาเอง ดาวินชีจะบอกไว้เสมอให้รักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เนื่องจาก ความพร้อมของร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมอง ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย
หนักการที่ 6 Arte/Secienza ( Art/Science )
คือการสร้างความสมดุลระหว่าง วิทยาศาสตร์และศิลปะ เหตุผลกับจินตนาการ หรือการคิดโดยใช้สมองทั้ง 2 ด้าน
เราคงทราบอยู่แล้วว่า การใช้สมองด้านขวา คือการใช้สมองเชิงสร้างสรรค์ การใช้สมองด้านซ้าย คือการใช้สมองในเชิงตรรกะ เหตุผล แต่คนส่วนใหญ่มักจะถนัดใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่งในการคิดตัดสินใจ เช่น คนที่ถนัดใช้สมองด้านซ้าย จะเรียนหนังสือดี มีหลักการ แต่ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ คนที่ถนัดใช้สมองด้านขวา มักมีไอเดียมากมายฟุ้งอยู่ในหัว มีโปรเจคมากมาย และจินตานาการสูง แต่ขาดหลักการและเหตุผล
ดาวินชีเป็นทั้งนักคิด นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก และในขณะเดียวกัน ก็เป็นศิลปินเอกของโลก ดาวินชีเองยอมรับในหลายโอกาสว่า ในการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น เขาได้นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสาน ทำให้ดาวินชีเป็นคนที่สามารถมองเห็นทั้งภาพรวม (ใช้สมองข้างขวาเป็นหลัก) และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ (ใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก) ได้พร้อมกัน
หลักการที่ 7 Connessione ( Connection )
การเชื่อมโยง หรือ Conecting the dot การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ดาวินชีเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้มาตลอด งานหลายๆ ชิ้นของดาวินชีแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการคิดเชิงองค์รวม หรือความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยต่างๆ รูปภาพหลายรูปของดาวินชีก็เป็นผลจากความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปของสัตว์ในเทพนิยาย) และตัวอย่างของบุคคลที่มีความคิดแบบเชื่อมโยงคล้ายกับดาวินชี ที่หลายท่านรู้จักกันเป็นอย่างดี คนผู้นั้นก็คือ สตีฟ จ็อบส์ อัจฉริยะคนล่าสุดของโลกนั่นเอง
โฆษณา