Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมองจ๋า
•
ติดตาม
29 เม.ย. 2021 เวลา 06:09 • ข่าว
จากเพจแม่ค้าที่ตั้งใจทำ "ขนมอาลัวพระเครื่อง" ขายหารายได้ สู่ดราม่าสังคมว่าการกระทำแบบนี้เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่?
ขนมรูปร่างพระเครื่องที่กำลังเป็นกระแสอยู่นั้น คือ "ขนมอาลัว" เป็นขนมหวานที่ทำมาจากแป้ง ต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส ก่อนจะถูกนำมาเผยแพร่โดยคุณท้าวทองกีบม้าในสมัยอยุทธยา จุดเด่นของขนมชนิดนี้คือนอกจากจะมีรสหวานทานง่ายแล้ว ยังสามารถออกแบบเป็นรูปร่างลักษณะใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ปั้น
ล่าสุด เพจมาดามชุบ เพจทำขนมไทยที่เน้นความปราณีตสวยงามในการทำขนมได้ปิ๊งไอเดียปั้นขนมอาลัวให้เป็นพระเครื่อง โดยจะขายกล่องละ 100 บาท 1 กล่องมี 20 ชิ้น ไอเดียดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจและแปลกใหม่ไม่น้อย แต่พอโพสต์สู่สาธารณชนผ่านเพจของเธอ กลับพบว่ามีดราม่าชาวพุทธบางส่วนเกิดขึ้นอย่างมาก
ดราม่าที่เกิดขึ้น มาจากความรู้สึกไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับการเอารูปเคารพของพระพุทธเจ้ามาทำเป็นขนมกินเล่น บางคนมองว่าพระเป็นของสูงการกระทำแบบนี้ถือว่าไม่สมควร หรือแม้แต่การต่อว่าคนทำเป็นคนไม่มีศาสนา
ผู้แสดงความคิดเห็นมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนล่าสุดโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า "แม้การทำขนมเป็นรูปพระเครื่องจะไม่ผิดกฎหมายหรือหลักคำสอนของศาสนา แต่ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะกระทบกับความรู้สึกของชาวพุทธด้วยกัน"
ขณะนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเตรียมส่งหนังสือตั้งข้อสังเกตความไม่เหมาะสมไปยังร้านขนมดังกล่าว เพื่อขอให้ทบทวนและพิจารณาทำขนมเป็นรูปทรงอื่น เช่นเดียวกับด้านวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงครามที่มองว่า กรณีทำขนมเป็นรูปพระเครื่องนี้ไม่เหมาะสมและกำลังจะเตรียมส่งหนังสือไปที่ร้านแห่งนี้เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน แม้จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่มองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งต่อหลักพระพุทธศาสนา และไม่เชื่อว่าเพียงการทำขนมเป็นรูปพระเครื่องจะทำให้ศาสนาเสื่อมเสียหรือล่มสลาย ดังกรณีของพระมหาไพรวัลย์ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างตรงไปตรงมาว่า
"สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธไม่กล้าชี้ว่า ไอ้ไข่อยู่ในวัด และคนพากันไปจุดประทัดเซ่นไหว้เช่นนั้น ไม่เหมาะสม
สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธ ไม่กล้าชี้ว่า พระพิฆเนศองค์ใหญ่กว่าหลังคาโบสถ์อยู่ในวัด ไม่เหมาะสม
สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธไม่กล้าชี้ว่า การบูชาราหู บูชาพยานาค การทำพิธีดูดวง เจิมหน้าผาก ลงนะหน้าทอง ครอบครู ซึ่งทำกันอยู่ในวัด (ดังดัง) ไม่เหมาะสม"
การแสดงความคิดเห็นของคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าการตีความต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยต่างกันอย่างสุดขั้ว
กรณีที่เกิดนี้สามารถมองได้สองมุม มุมแรกคือพระพุทธศาสนาไม่เคยสอนให้ยึดติดกับวัตถุสิ่งของและไม่เคยสอนให้บูชารูปปั้นที่มาจากอิฐ หิน ดิน ทราย แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่การยึดติดแต่รูปเคารพ เพราะรูปเคารพที่เป็นเพียงรูปปั้นไม่ใช่หนทางแห่งการดับทุกข์ แต่การยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนและการปฏิบัติตนตามอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
ในขณะที่มุมมองที่สอง กล่าวว่าการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าเสมือนเป็นของเล่นเอาไว้กิน จะทำให้ศาสนาดูเสื่อมถอย ไม่น่าเคารพ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวถือว่ากระทบจิตใจและความเชื่อของชาวพุทธอยู่ไม่น้อย
มุมมองสองมุมนี้ คือกระแสความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชี่ยล แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคำถามที่หลายคนตั้งว่า ศาสนาพุทธจะเสื่อมลงเพราะการทำรูปขนมเลียนแบบศาสนาหรือจะเสื่อมเพราะคนไม่ได้ยึดมั่นในหลักคำสอนกันแน่?
ในโลกที่เต็มไปด้วยการหาประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะการทำพระเครื่องปั้นราคาขาย การนำผี เทวดา และความเชื่อของลัทธิอื่นมาปนเปกับคำสอนของพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่คนต้องการให้ประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดผ่านการขอพร บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนละเลยหนทางที่พระพุทธองค์สอนไว้
ท้ายที่สุดนำไปสู่การเอาอารมณ์ผูกติดกับไว้กับความเชื่อ มองศาสนาเพียงแค่เปลือก แม้แต่รูปพระที่ทำเป็นขนมก็ทำให้เกิดความขัดแย้งได้
น่าคิด ว่าอะไรกันแน่ที่จะทำให้ศาสนาดูหมองหม่นและเสื่อมถอยอย่างแท้จริง ขนมพระเครื่องหรืออารณ์ความรู้สึกของคนพุทธ?
ป.ล.1 ในต่างประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่นก็มีการทำขนมพระพุทธรูปเหมือนกันแต่สามารถขายได้ปกติ ไม่มีดราม่า และไม่มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของศาสนาใดๆ
ป.ล.2 เจ้าของร้าน "เพจมาดามชุบ" ประกาศหยุดรับออเดอร์แล้ว เหตุเพราะยอดสั่งเยอะไม่สามารถทำทันทุกออเดอร์
บันทึก
6
2
1
6
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย