29 เม.ย. 2021 เวลา 06:07 • ความคิดเห็น
🏙 กรุงเทพฯ 20 ปีผ่านไป เปลี่ยนไปขนาดไหนนะ??
 
วันนี้ LivingPop จะพาไปดูกรุงเทพในมุมต่างๆ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth กันครับ โดยเราจะ เทียบแต่ละมุมว่าในช่วงเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว สมัยยุค 2001-2004 เทียบกับปัจจุบัน ตรงไหนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
4
🌏 ก็ต้องบอกว่าพยายามหาเก่าที่สุดเท่าที่ Google Earth จะย้อนดูได้แล้ว บางภาพก็เลยจะเป็น 2001 บางภาพก็จะเป็น 2004
 
ที่ไหนจะต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ ^^
1
--- บางซื่อ ---
เริ่มกันที่บางซื่อครับ ที่นี่จุดที่เห็นชัดเลยก็คือ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่สร้างใหม่เพื่อจะใช้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่แทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หรือที่หลายคนเรียกว่าหัวลำโพง) เตรียมเปิดใช้งานพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงปลายปีนี้ครับ
นอกจากนี้บริเวณรอบข้างก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างบริเวณจตุจัตรที่เริ่มมีห้างมาสร้าง หรือ 5 แยกลาดพร้าวที่เดี๋ยวนี้มีคอนโดสร้างใหม่กันคึกคักทีเดียว
2
--- บางกระเจ้า ---
1
สำหรับบางกระเจ้าก็ยังเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อยู่ครับ แต่จะมีบ้านเรือนต่างๆ สร้างแทนที่พื้นที่สวนเขียวๆ มากขึ้น ซึ่งก็ต้องบอกว่าที่ดินในส่วนนี้เป็นของเอกชน ดังนั้นก็ถือว่าไม่ได้ผิดฮะ (ก็ที่เค้าอ่ะเนอะ)
1
แอบไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ปัจจุบันผังเมืองในส่วนบางกระเจ้าก็ค่อนข้างเข้มงวดพอสมควร อย่างเช่นห้ามสร้างโรงงาน อาคารห้ามสูงเกิน 9-12 เมตร ห้ามทำบ้านจัดสรร หรือต้องมีไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่ว่าง
3
และยังมีกฎยิบย่อยอีกหลายข้อทีเดียว เพื่อเน้นให้พื้นที่ในส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียวคงธรรมชาติแบบเดิมไว้เป็นหลักครับ
ส่วนด้านข้างๆ ก่อนถึงบางกระเจ้า จะเห็นสะพานภูมิพล 1-2 และคลองลัดโพธิ์กำลังสร้างครับ ปัจจุบันก็ช่วยให้การเดินทางที่ต้องข้ามแม่น้ำบริเวณนี้สะดวกขึ้นมากพอสมควร
--- แยกวงแหวน-บางนา กม.9 (เมกาบางนา) ---
2
เป็นอีกจุดที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีเยอะมากกกกกก เริ่มจากประมาณปี 2002 ที่ก่อนหน้านั้นมีถนนวงแหวนตะวันออกตัดผ่านที่เพิ่งสร้างเสร็จมาได้ไม่นานมาก
3
ช่วงแรกยังเป็นถนนไปกลับฝั่งละ 2 เลนอยู่เลย และสุดเป็นสามแยกอยู่แค่ที่ถนนบางนา-ตราดครับ หลังจากนั้นในช่วงประมาณปี 2007 การทางพิเศษก็ได้สร้างทางด่วนวงแหวนส่วนใต้ไปเชื่อมกับทางสุขสวัสดิ์-พระราม 2
ทำให้ถนนวงแหวนกลายเป็นถนนวงกลมโดยสมบูรณ์ และทำให้แยกนี้กลายเป็น 4 แยกต่างระดับที่สมบูรณ์แบบในปัจจุบัน
1
นอกจากที้ในช่วงประมาณปี 2011 มีห้างเมกาบางนามาเปิด ก็เพิ่มความเจริญแถวนี้ขึ้นไปอีกพอสมควร ปัจจุบันจะเห็นหมู่บ้านต่างๆ มาเปิดแถบนี้เยอะมากตั้งแต่ระดับไม่กี่ล้านยันเกือบร้อยล้าน เป็นอีกย่านยอดฮิตของคนหาบ้านครับ
--- IMPACT เมืองทองธานี ---
อภิมหามหึมาโครงการขนาดใหญ่ 4,000 ไร่ ตั้งแต่ยุค 2530 กับการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่ หมู่ตึกคอนโดกว่า 50 ตึก อาคารสำนักงาน ซึ่งก็ต้องยอมรับกับความกล้าในการลงทุนกับโปรเจคใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหลังเจอปัญหาฟองสบู่ในช่วงปี 39-40 ก็ทำให้ขายไม่หมด อย่างที่เราเห็นตึกร้างยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
แต่เมืองทองธานีเองก็ไม่จบลงแค่การกลายเป็นเมืองร้างครับ เพราะในช่วงประมาณปี 2541 ที่นี่ได้ปรับตัวสร้างเป็นศูนย์กีฬาเพื่อใช้ในงาน Asian Game ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่มากในปีนั้น หลังจากนั้นศูนย์กีฬาก็ได้ถูกปรับมาเป็นศูนย์แสดงสินค้า จนเรียกได้ว่า IMPACT เมืองทองธานีก็น่าจะเป็นเบอร์ 1 ของสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและศูนย์ประชุมไปแล้วในปัจจุบัน
2
อย่างในรูปยุคปี 2000 จะเห็นว่ามี IMPACT แล้วนะครับ ส่วนที่จอดรถเยอะๆ นั่นก็จะเป็นพื้นที่ของ IMPACT Callenger ในปัจจุบันนั่นเอง (สร้างเสร็จในปี 2006)
1
นอกจาก IMPACT เองแล้ว ในเมืองทองธานีโซนต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกันนะ อย่างยุคปี 2000 นี่นอกจากตึกคอนโดร้าง พื้นที่บางส่วนที่จัดสรรมาเป็นหมู่บ้านนี่ก็ร้างเช่นเดียวกัน ปัจจุบันโซนต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกทุบไปเกือบหมดแล้ว
1
โดยขายที่ทำเป็นหมู่บ้านต่างๆ อย่างในเมืองทองเองก็มีหมู่บ้านของพฤกษามาขึ้นหลายโครงการ หรืออย่างตึกคอนโดบางส่วนก็ถูกนำมาปรับปรุงขายใหม่ ปัจจุบันก็เหลือตึกร้างในเมืองทองไม่เยอะแล้วครับ
--- สยาม ---
ถ้าย้อนไปตอนช่วงปี 2004 ช่วงนั้น Siam Paragon ในปัจจุบันยังเพิ่งเริ่มสร้างครับ จากที่ดินเดิมที่เคยเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลมาก่อน
ในส่วนบริเวณสยาม ช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถว สลับกับโรงหนังสยาม, ลิโด้, สกาล่า ปัจจุบันตัวสยามเองก็มีการพัฒนาที่ดินใหม่หลายโซนครับ ทั้งตึก Center Point, Siam Square One, สยามกิตติ์, และล่าสุดตึก Siam Scape ที่สร้างใกล้จะเสร็จแล้วตรงบริเวณโบนันซ่าเดิม
3
ส่วนที่แปลงใหญ่อีกแปลงที่เปลี่ยนไปเยอะมากเลย นั่นก็คือ World Trade Center ในปัจจุบัน ในตอนนั้นตึกออฟฟิศยังสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่อจากเจ้าของเดิมมีปัญหาด้านการเงินจากยุคปี 40 จนกลุ่ม Central เข้ามาซื้อต่อในช่วงปี 2002-2003 เปลี่ยนเป็น Central World แล้วสร้างออฟฟิศต่อให้แล้วเสร็จ เพิ่มตึกโรงแรม, ห้างโซน D, ตึกจอดรถและโซน F, ตึกใหม่ Zen, โซน E เชื่อมต่อรถไฟฟ้าเข้าห้าง, โซน Groove หน้าตึกออฟฟิศ และล่าสุดมี Apple Store มาอยู่ที่บริเวณหัวมุมแยกราชประสงค์ด้วยครับ
2
--- วงเวียนนครอินทร์ พระราม 5 ---
2
สมัยปี 2004 ต้องบอกว่าถนนนครอินทร์ และถนนราชพฤกษ์นี่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เลย ตอนนั้นยังเป็นที่ว่างซะส่วนใหญ่ ปัจจุบันแถวนี้กลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของทำเลบ้านเดี่ยวไปแล้ว มีให้เลือกกันหลายระดับราคาเลย รวมไปถึงห้างต่างๆ ก็มาสร้างแถวนี้หลายเจ้าทีเดียว
1
ส่วนตัววงเวียนนี่ก็ขึ้นชื่อเรื่องรถติดกันพอสมควร ก็ต้องบอกว่าทำเลนี้โตไวมากครับ ไม่กี่ปีหลังจากสร้างถนน วงเวียนนครอินทร์จากเดิมที่มีแค่สะพานข้ามแยก ก็ไม่พอ เพราะรถติดมาก ต้องสร้างอุโมงค์เพิ่มตามมา
1
--- อ่อนนุช ---
อ่อนนุชก็เป็นอีกย่านที่เจริญขึ้นมาก จากการที่เป็นปลายทางของรถไฟฟ้า BTS ในสมัยนั้น และบริเวณอ่อนนุชเดิมก็มีชุมชนอยู่ ทำให้มีห้างอย่างคาร์ฟูร์/โลตัส รวมถึงตลาดอยู่แล้ว ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ คอนโดเลยนิยมที่จะมาสร้างที่สถานีนี้กัน แทนที่จะเลือกสถานีพระโขนงที่ใกล้เมืองกว่า
2
ปัจจุบันก็ต้องบอกว่าถ้าจะหาคอนโดติดรถไฟฟ้าอ่อนนุชแบบติดเลย ถ้าจะเอาคอนโดใหม่ๆ นี่ก็แทบไม่มีแล้วครับ ส่วนใหญ่ก็จะต้องมีระยะเดินกันหน่อย อาจจะมาทางซอยสุขุมวิท 81, หรือสุขุมวิท 50 นี่ก็มีให้เห็น ส่วนซอยที่มาสร้างกันเป็นหลักเลยก็หนีไม่พ้นซอยอ่อนนุช หรือซอยสุขุมวิท 77 นี่ล่ะ
2
จากภาพจะเห็นอาณาจักร T77 ของแสนสิริ ที่เปลี่ยนที่ดินริมคลอง ให้กลายเป็นหมู่คอนโด รวมถึงมีออฟฟิศของแสนสิริเองอยู่ในนั้น เป็นโปรเจคพลิกที่ดินที่อาจจะดูไม่ใกล้รถไฟฟ้ามาก ให้ดูน่าสนใจขึ้นมาได้ ด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างน่าอยู่
1
--- เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ---
ใครอยู่แถวศรีนครินทร์ น่าจะเห็นแล้วพอเดาได้ ว่านี่คือบึงหนองบอนแน่นอน แต่ก่อนที่ดินบริเวณนี้จะมีที่เวิ้งใหญ่ๆ ที่มีแต่ซอยเล็กๆ เข้าถึง ทำให้หมู่บ้านส่วนใหญ่ถ้าไม่สร้างติดถนนอ่อนนุช ก็จะมาอยู่แค่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 กัน
แต่หลังจากการมาของถนนพัฒนาการตัดใหม่ ที่สามารถขับตรงเข้าสู่พัฒนาการได้โดยตรง ทำให้ย่านนี้ก็มีหมู่บ้านมาสร้างกันเพียบเลยครับ
1
--- แยกพระราม 9 ---
ในตอนนั้น เรียกได้ว่าถ้าจะนับตึกสูงที่แยกนี้ ใช้นิ้วแค่มือเดียวก็พอ ยังเป็นโซนที่มีพื้นที่ว่างเยอะมาก ที่จริงแยกพระราม 9 เองก็มีโครงการ Mixed Use มาตั้งแต่ก่อนปี 40 แล้ว แต่หยุดชะงักจากปัญหาเศรษฐกิจไปก่อน อย่างในภาพจะเห็นตึกออฟฟิศ The Nine Tower และคอนโด Belle ที่สร้างฐานรากค้างไว้ก่อนตั้งแต่ยุคปี 2000
1
จนกระทั่งการมาของรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ในช่วงปลายยุค 2010 ย่านนี้ก็กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยความที่เป็นทำเลที่ใกล้ใจกลางเมือง แต่ราคายังไม่สูงมาก (นึกภาพว่าที่นี่นั่งรถไฟฟ้า 2 ป้ายก็ถึงอโศกแล้ว)
1
ทำให้รัชดาในยุคปี 2010 มีโครงการต่างๆ มาเปิดเยอะมาก ทั้ง Office, โครงการ Mixed Use อย่าง G Land ที่มี Central มาเปิดตามแผนเดิม รวมถึงมีคอนโดมิเนี่ยมมาเปิดรวมๆ กว่า 10,000 unit ได้ ปัจจุบันย่านนี้ก็ถือเป็นหนึ่งใน New CBD ไปแล้วครับ แต่จะเป็น New Central Business District หรือ New Condo Building District อันนี้ก็แล้วแต่คนมองฮะ 5555
1
--- แยกบางนา ---
BITEC บางนาแต่ก่อนจะไม่ได้เชื่อมกับถนนสุขุมวิทและสถานีรถไฟฟ้าแบบที่เห็นในปัจจุบันนะครับ ความใหญ่ของ Bitec บางนาในยุคนั้น น่าจะเพียงแค่ครึ่งเดียวของปัจจุบันเท่านั้นเอง แต่ต่อมาได้มีการซื้อที่เพิ่มแล้วเชื่อมไปออกถนนสุขุมวิทได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาคาร “ภิรัชทาวเวอร์” เป็นอาคารสำนักงานอยู่ใน BITEC ด้วย
2
ในส่วนด้านตรงข้ามของ Bitec ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจคยักษ์ของทางกลุ่ม The Mall ครับ กับห้าง The Bangkok Mall ด้วยพื้นที่ที่ใหญ่มาก เปิดตัวโครงการมาตั้งแต่ต้นยุค 2010 ปัจจุบันก็ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ถ้าเปิดเมื่อไหร่ก็น่าจะทำให้บริเวณนี้คึกคักขึ้นไปอีกฮะ
--- รังสิตคลอง 3 ---
ถัดมาที่รอบนอกกันบ้างครับ ตรงนี้จะเป็นบริเวณรังสิตคลอง 3 ซึ่งในตอนนั้นแทบไม่มีอะไรเลยฮะ ต้องบอกว่าใช้เวลาไม่นาน ย่านนี้ก็กลายเป็นโซนหมู่บ้านขนาดใหญ่ของ “พฤกษา” ไปแล้ว เรียกได้ว่าถ้าหาบ้านในโซนรังสิตแล้ว จะอยากอยู่คลองไหนก็มีบ้านพฤกษาให้เลือก 555+
2
--- แยกเกียกกาย - จรัญสนิทวงศ์ ---
ตรงนี้ทีมงานเองค่อนข้างมีความหลังพอสมควร เพราะตอน ม.ปลาย ต้องนั่งเรือจากโรงเรียน ไปเรียนรด.ที่ค่ายทหารแถวๆ แยกเกียกกายฮะ พื้นที่ตรงนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะทีเดียวหลังจากที่รัฐสภาตัดสินใจย้ายที่มาก่อสร้างอยู่บริเวณแยกนี้ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็ทำให้ต้องย้ายโรงเรียนโยธินบูรณะออกไปอยู่บริเวณใกล้กับสะพานพระราม 6 แทน
2
นอกจากรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และมีทางด่วนศรีรัช – วงแหวนรอบนอก และรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้นมา ที่ด้านริมซ้าย และในอนาคตยังมีแผนที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีกแห่งที่ท่าเรือเกียกกาย ทางทิศเหนือของรัฐสภาใหม่ด้วยครับ
2
--- ตลิ่งชัน - บรมราชชนนี ---
1
ความเปลี่ยนแปลงของย่านนี้คือหลังจากที่ถนนราชพฤกษ์ก่อสร้าง ก็จะมีหมู่บ้านต่างๆ มาเปิดเยอะมากครับ รวมถึงมีห้างและ Community mall หลายแห่ง ด้วยความที่ถนนสายนี้มุ่งตรงเข้าเมืองผ่านสะพานตากสินและถนนสาทร ทำให้ถนนราชพฤกษ์กลายเป็นถนนเส้นหลักในการเดินทางเข้าออกเมืองอีกเส้นนึงไปแล้ว ช่วงเย็นๆ นี่ก็ยืนหนึ่งเรื่องรถติดเลย
1
นอกจากนี้จะเห็นทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ที่เชื่อมต่อจุดขึ้นลงกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เตรียมจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ครับ
--- รัชโยธิน ---
1
แยกนี้ในภาพรวมอาจจะดูเปลี่ยนไม่มาก แต่ถ้าลองดูก็จะเห็นจุดที่เปลี่ยนไปหลายจุดครับ อย่างเช่นสะพานข้ามแยกที่ถูกรื้อทิ้งสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอด แล้วไปสร้างสะพานข้ามแยกขึ้นใหม่ในอีกทิศทางนึงแทน เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สร้างต่อขยายมาจากหมอชิต ก็ถือว่าช่วยบรรเทารถติดไปได้พอสมควรครับ
1
ปัจจุบัน Major รัชโยธินก็ขยาย community mall ด้านข้างมาได้สักพักแล้ว ส่วนที่ดินแปลงอื่นๆ บริเวณหัวมุมแยกนี้ก็มีการเคลียร์พื้นที่ไว้หลายแปลงเช่นเดียวกัน ต้องดูว่าจะมีใครมาสร้างอะไรกันบ้างครับ
--- ถนนกัลปพฤกษ์ ---
ในช่วงปี 2001 ตอนนั้นถนนกัลปพฤกษ์ยังอยู่ในช่วงก่อสร้างครับ รอบข้างก็คือเป็นทุ่งเป็นสวนจริงๆ แทบไม่มีอะไรเลยในตอนนั้น (แอดมินเองก็เคยขี่จักรยานเล่น ลุยทรายในทางก่อสร้างตรงนี้มาก่อนนะ อิอิ)
1
แต่ด้วยความที่ถนนนี้สามารถตรงสู่สาทรได้ง่าย 20 ปีผ่านไป ปัจจุบันก็คือเป็นทำเลหมู่บ้านอีกย่านนึงเลย แถมหมู่บ้านแถวนี้ถ้าใครไม่พ่วงท้ายว่า “สาทร” ก็เหมือนทำบาป ต้องมีชื่อสาทรต่อท้ายเกือบทุกหมู่บ้าน ถึงจะอยู่ห่างจากสาทรเป็น 10 กิโลก็ตาม 555+
1
--- แยกรามอินทรา-วัชรพล ---
1
สมัยปี 2002 ทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ยังสุดอยู่แค่ถนนรามอินทรา บริเวณหน้าแยกถนนวัชรพลครับ ตอนนั้นจะเห็นได้เลยว่ายังมีพื้นที่ในซอยเหลืออีกพอสมควร ตัดภาพมาในปัจจุบันมีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาอีกพอสมควรแทบไม่มีที่ว่างในช่วงต้นซอยแปลงใหญ่ๆ เหลือแล้ว
1
นอกจากนี้ปัจจุบันทางด่วนก็ได้ตัดไปถึงถนนวงแหวนรอบนอกเป็นที่เรียบร้อย
--- พุทธมณฑลสาย 1 ---
ถ้าไม่บอก เดาถูกไหมครับว่าที่ไหน ถนนสายนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งสายที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่ยาวนานม้ากกกกกก มีบางช่วงเสร็จ บางช่วงหาย บางช่วงโผล่มาแบบงงๆ ด้วยปัญหาเรื่องของงบและการเวนคืน
2
ทำให้ถนนพุทธมลฑลสาย 1 กว่าจะได้สร้างเสร็จแบบวิ่งได้ตลอดทั้งเส้นจริงๆ นี่ก็ยุคปี 2010 เลยทีเดียว ตามมาด้วยถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ที่สร้างเสร็จถึงวงแหวนกาญจนาภิเษกในอีกไม่กี่ปีตามหลัง (ซึ่งก็เวนคืนกันมานานเช่นกัน)
--- พัฒนาการ - ศรีนครินทร์ ---
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าแต่ก่อน ซอยพัฒนาการ 32 เคยมีหมู่บ้านร้างขนาดใหญ่มากๆ ตั้งแต่ยุคปี 40 ตั้งอยู่ เรียกได้ว่ามีบ้านร้างเป็นร้อยหลังเลยครับที่ถูกทิ้งเอาไว้ ซึ่งที่ดินแปลงนี้ ในภายหลังได้ถูกขายให้กับทางพฤกษา แล้วบ้านเหล่านี้ก็ถูกทุบทิ้งทั้งหมด แล้วพฤกษาก็นำที่ดินมาจัดรูปแบบใหม่ แบ่งเป็นโครงการย่อยๆ ด้านในหลายโครงการมีหลายระดับราคาเลย
2
ก็ต้องบอกว่าย่านพัฒนาการนี้ ปัจจุบันราคาที่ดินสูงขึ้นมากครับ อย่างโครงการบ้านเดียวระดับ top สุดของแสนสิริระดับร้อยล้าน อย่าง “บ้านแสนสิริ” เอง ก็ตั้งอยู่ในซอยนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
--- ศรีนครินทร์ - ทางด่วนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ---
ถนนศรีนครินทร์ช่วงตรงนี้ จะมีทางด่วนกาญจนาภิเษก (วงแหวนด้านใต้) ที่เชื่อมต่อระหว่างพระราม 2 - สุขสวัสดิ์ - บางนา ตัดผ่านครับ จะเห็นว่าหมู่บ้านที่ใกล้ๆ ทางด่วนแถวนั้น อย่างหมู่บ้านนันทวัน ก็มีโดนเวนคืนในบางเฟสกันไปด้วยเช่นกัน รวมไปถึงทางเข้าหมู่บ้านเอง ที่ก็ต้องมีการย้ายทำใหม่ เพราะติดกับทางขึ้นลงทางด่วน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพบรรยากาศย้อนยุคที่เรานำมาฝากกันครับ ใครที่อยากส่องหลังคาบ้านตัวเองบ้าง ก็ไปโหลดโปรแกรมมาลงกันได้เลย เราจะแปะลิงค์ไว้ให้ด้านล่างบทความนี้ครับ สุดท้ายนี้ฝากเพื่อนๆ กดติดตามเพจของเรา และกดแชร์ให้เพื่อนๆ กันได้ตามอัธยาศัยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามคอนเทนต์ของพวกเราคร้าบ
ดาวน์โหลด Google Earth Pro ได้ที่
(ใช้ได้เฉพาะ Windows/MacOS เท่านั้น บนมือถือใช้ไม่ได้จ้า)
2
โฆษณา