Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InPsych Podcast
•
ติดตาม
29 เม.ย. 2021 เวลา 13:00 • สุขภาพ
แค่ไหนถึงควรไปพบนักจิตวิทยา?
!!อ่านแล้วอย่าพึ่งตัดสินว่าตัวเองว่าเป็นโรคจิตนะ ถ้าสงสัยจริง ๆ ไปหาผู้เชี่ยวชาญให้เขาวินิจฉัยจะดีกว่า!!
สมมุติวันนึง ถ้าเราป่วยด้วยโรคทางกาย เช่น เป็นหวัด เราคงจะเลือกที่จะกินยาและนอนพักผ่อน แต่หากเป็นหนักมาก ๆ เป็นมานานไม่หายสักที เราคงเลือกที่จะไปให้หมอรักษาให้ โรคทางใจก็เหมือนกัน หากเป็นหนักมาก ๆ เป็นแล้วไม่หายสักที การไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่นนักจิตวิทยาก็เป็นหนทางที่ดี
เอ๊ะ!? แล้วมันดูยังไงล่ะว่าเราเสี่ยงเป็นโรคทางใจ? แล้วเราควรไปพบตอนไหน?
จริง ๆ แล้วมันมีวิธีการสังเกตอยู่ และก็สังเกตไม่ยากด้วย เพราะโรคทางใจก็คล้ายกับโรคทางกาย
เกณฑ์การพิจารณานั้น ก็มีความคล้ายกันไม่ได้แตกต่างกันมากเลย จะเป็นยังไง ไปดูกัน
เกณฑ์การพิจารณา
1. รู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือทุกข์ใจกับอาการที่เป็นอยู่
ไม่ว่าอาการจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม หากรู้สึกว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเป็นปัญหากับตัวเอง และอยากจะหายจากอาการนี้ เพียงเท่านี้ก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว เช่น
- รู้สึกเศร้าบ่อย ๆ อยากจะออกจากความเศร้านี้
- รู้สึกเหนื่อยง่าย หมดแรงจะทำสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน
- อยากเลิกเหล้า แต่พยายามเลิกแล้วก็ยังไม่สำเร็จ
- อยากเลิกทำร้ายตัวเอง หรือคิดแง่ลบกับตัวเอง
- รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายกับชีวิตประจำวัน
- รู้สึกหงุดหงิดที่ตัวเองหลง ๆ ลืม ๆ บ่อย จำอะไรก็ไม่ค่อยได้
ถ้าเปรียบกับโรคทางกายแล้วก็เหมือนกับเวลาเราเป็นหวัดมานาน ๆ ไม่หายสักที เราก็เลือกที่จะไปหาหมอนี่แหละ ถ้าเรามีความรู้สึกไม่ดีคล้ายกับโรคทางใจนาน ๆ ก็ไปให้ผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกัน
5
2. มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง
ถ้าเราปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน แน่นอนว่าเราก็คงแทบจะไม่มีแรงจะทำอะไรเลย อาจจะลุกไม่ไหว กินข้าวไม่ลง ไปเรียนไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ นี่แหละ!! คือมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หากเรารู้สึกเศร้าจิตเศร้าใจ เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย หมดไฟ จนกินข้าวไม่ได้ เรียนไม่ไหว ทำงานไม่ได้ ก็ควรไปหานักจิตวิทยาได้แล้ว
3. มีผลกระทบต่อตัวผู้อื่น
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตอนนี้ คือ โรคติดต่ออย่าง COVID-19 ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ว่าแต่... โรคทางใจไม่ได้เป็นโรคติดต่อนะ... แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อคนอื่นได้ยังไง?
จริงอยู่ที่โรคไม่ติดต่อไม่ทำให้เรากลัวที่จะติดโรคจากที่คน ๆ นั้น แต่มันก็สร้างความกังวลให้กับคนรอบข้างได้ไม่แตกต่างจากโรคติดต่อเลย หากเรามีเพื่อนสนิทป่วยเป็นโรคทางใจ เราก็คงรู้สึกเป็นห่วงเพื่อนเหมือนกัน หากเพื่อนเราเป็นหนักมาก ๆ ความเป็นห่วงของเราอาจกลายเป็นความกังวลแทน ยิ่งถ้าเป็นคนที่สนิทกว่านี้ หรือใกล้ชิดกว่านี้ มันอาจกลายเป็นความกังวลและความเครียดได้ง่าย ๆ เลย
4. มีพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ
ในหัวนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้าง Sensitive มาก ๆ อยากให้เปิดใจกว้าง ๆ หน่อยนะ โรคทางใจบางโรคนั้นมีอาการที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ง่าย ๆ อย่างเช่น การกระทำอนาจาร หรือ
การทำร้ายร่างกายผู้อื่น
กรณีที่เห็นได้ชัดมาก ๆ และมันเคยเกิดขึ้นจริง ๆ นั่นก็คือ ข่าวของ จิตรลดา ผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ที่ลักลอบเข้าไปทำร้ายเด็กนักเรียนโดยการใช้มีดแทงเด็กในโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเคยก่อเหตุครั้งหนึ่งในปี 2548 มีคนได้รับบาดเจ็บ 4 ราย โดยเธออ้างว่าได้ยินเสียงจากสวรรค์สั่งให้ทำ หลังจากที่ได้จำคุก 4 ปี และได้รับการบำบัดในระยะเวลาหนึ่ง ก็ก่อเหตุซ้ำ ในลักษณะเดิม ในปี 2556 ซึ่งคราวนี้มีเด็กหญิงเคราะห์ร้ายเสียชีวิต
จากกรณีนี้จะสังเกตได้ว่า จิตรลดาได้ลงมือทำร้ายเด็กเนื่องจากได้ยินเสียงสวรรค์สั่งให้ทำ อาการที่จิตรลดาเป็นนี้เรียกว่า ประสานหลอน (Hallucination) โดยจัดเป็นหนึ่งในอาการป่วยหลัก ๆ ผู้ป่วยโรคจิตเภท
ผู้ป่วยในบางรายอาจมีการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย เช่น เห็นว่ามีคนจ้องจะฆ่าตัวเองและครอบครัวตลอดเวลา อาการดังกล่าวนับว่าเป็นความทรมานมากสำหรับตัวผู้ป่วย หากเขาเลือกได้ เขาคงไม่อยากเป็นเช่นนี้
5. มีการรับรู้ และการแปลความหมายที่ผิดจากความเป็นจริง
คือ มีอาการ หลงผิด (Delusion) หรือ ประสาทหลอน (Hallucination) เช่น
- ไม่สามารถบอกวัน เวลา สถานที่ ที่ตัวเองอยู่ได้
- มีความคิดและความเข้าใจที่ผิดจากหลักความเป็นจริง
- มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือ รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไชอยู่ที่ผิวหนังทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่มี
เกณฑ์พิจารณา 5 ข้อดังกล่าวเป็นเพียงแค่การสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น บางครั้งอาจจะต้องดูสถานการณ์ บริบทในช่วงนั้นด้วย เช่น การที่เราอกหักร้องไห้จนนอนไม่หลับอยู่หลายคืน เมื่อลองคิดดูแล้ว การร้องไห้เพราะอกหักก็อาจเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นการที่เราร้องไห้ทุกคืนอาจไม่ใช่อาการของโรคทางใจ อาจเป็นแค่ความอัดอั้นที่เกิดขึ้นในใจก็ได้ ยังไงก็ตาม ถ้าความอัดอั้นนั้นไม่หายไปหรือไม่ลดลงเลย มันอาจก่อตัวสะสมหนักขึ้น ๆ จนกลายเป็นโรคทางใจได้เช่นกัน การไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน นักจิตวิทยาสามารถช่วยเราได้เหมือนกับที่หมอรักษาคนไข้ ไม่ว่าอาการของเราจะหนักหรือเบาแค่ไหน เขาก็เต็มใจช่วยเราให้หายจากความทุกข์นั้นเสมอ
อ้างอิง
ข่าว
www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1808239
ข้อมูล
หนังสือ จิตวิทยาทั่วไป (2545) โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-0805
2 บันทึก
6
5
2
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย