29 เม.ย. 2021 เวลา 14:56 • ครอบครัว & เด็ก
เราสามารถสอนลูกเรื่องการเงินได้อย่างไรบ้าง
บุ่นได้มีโอกาสคุยกะเพื่อนสนิทคนหนึ่ง หลังจากได้อัพเดทเรื่องราวต่างๆ ของกันและกัน ก็มีพูดถึงเรื่องการเงินในสมัยวัยเด็กกัน เรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับการเงินของเราสองคนไม่เหมือนกัน แต่จากการพูดคุยกันครั้งนี้ เราคิดเหมือนกันว่าการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่ค่อยมีใครสอน หรือถ้ามีการสอน ก็จะสอนเฉพาะเรื่อง ไม่รู้จะเอามาปรับใช้ในชีวิตเราอย่างไรได้บ้าง
บุ่นเลยลอง search หาว่า การเงินกับเด็กๆ มีคนพูดถึงไว้ยังไงบ้าง ก็ได้เจอกับคลิปนึง “5 Things to teach your kids about MONEY” ความยาวประมาณ 10 นาที คลิปนี้เป็นการสรุปเนื้อหาจากหนังสือ “Make your kid a money genious (even if you’re not)” เขียนโดย Beth Kobliner ดูจบแล้วก็เลยอยากเก็บมาเล่าไว้สักหน่อย เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นๆ ที่สนใจก็ได้ ผู้เขียนบอกว่าแนวทางในการสอดแทรกเรื่องราวการเงินต่างๆ สามารถทำให้เสมอ โดยเนื้อหาในคลิปมีดังนี้นะคะ
1. Start earlier than you think - คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนเรื่องการเงินกับลูกได้แม้ลูกจะยังเป็นเด็กเล็กอยู่
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิลในอเมริการายงานว่า เด็กอายุ 3 ขวบ
- สามารถเข้าใจไอเดียด้านการเงินได้ เช่น มูลค่าของสิ่งของ หรือการแลกเปลี่ยนสิ่งของ
- ตัดสินใจเลือกของบางอย่างได้
- คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการรอได้ เช่น ขณะต่อคิวชำระเงินเมื่อไปซุปเปอร์มาร์เกต หรือหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้เวลาเดินเร็วขึ้น
- คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการออมเพื่ออะไรสักอย่าง เช่น ออมเงินเพื่อเป็นค่าเข้าสวนน้ำ โดยเราก็ออมไปกับลูกด้วย
2. Make it age appropriate - สอนเรื่องราวการเงินให้เหมาะสมกับช่วงอายุ
- ช่วง 3-5 ขวบ สอนให้รู้จักมูลค่าของเงิน เงินมาจากไหน เงินใช้แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของได้ รวมถึงเรื่องการออม
- ช่วง 6-10 ขวบ สอนเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส เช่น ถ้ากินขนมน้อยลง จะมีเงินเหลือ เพื่อออมซื้อของเล่นได้นะ รวมถึงสามารถสอนเรื่องดอกเบี้ยได้ ว่าหากเรานำเงินไปฝากธนาคาร ก็จะได้ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเงินที่เราได้มาฟรีๆ
- ช่วง 11- 14 ปี เราสามารถบอกลูกได้ว่าการออมเงินเพื่อนำซื้อของที่อยากได้เป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่ก็ควรจะไตร่ตรองและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความคุ้มค่าของสิ่งนั้น
- ช่วง 15-18 ปี ช่วงอายุเป็นเราสามารถทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ และสอนให้รู้จักตั้งเป้าหมายการออมของตนเอง เช่น เก็บเงินเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อมีรายได้ก็อาจมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง และสามารถสอนเรื่องดอกเบี้ยทบต้นโดยยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจได้ เช่น หากนำเงิน 10,000 บาท ไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เมืออายุ 18 เงินก้อนนี้จะโตเป็น 250,000 บาทเมื่ออายุ 60 ปีเลยนะ
การที่เราค่อยๆ สอนลูกเรื่องการเงินตามช่วงอายุ จะช่วยให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าได้รับข้อมูลที่เยอะเกินไปด้วย
3. Use anecdotes - สอนด้วยการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องราวให้ลูกคุณฟัง จะทำให้เด็กเห็นที่มาที่ไป มีเรื่องราวให้จดจำ เช่น การที่คนๆ หนึ่งไม่สามารถมีเงินมาซื้อ/เช่าคอนโดได้ เป็นเพราะว่าเค้าช้อปปิ้งเยอะเกินไป จนทำให้มีหนี้บัตรเครดิต เมื่อเด็กได้ฟัง จะเข้าใจว่าสาเหตุคืออะไร ทำแบบนี้แล้วได้ผลลัพธ์อะไร แทนที่จะบอกไปตรงๆ ว่า การมีหนี้บัตรเครดิตมันไม่ดีนะ
4. Use real number - สอนการเงินด้วยการแทนค่าด้วยตัวเลขจริงๆ
คุณพ่อคุณแม่สามารถยกตัวอย่างให้ลูกเห็นได้เลยว่า ตอนนี้ลูกอายุ 18 การที่เราเก็บเงินเดือนละ 1000 บาท แล้วนำไปลงทุน ที่ผลตอบแทน 8% เมื่อลูกอายุ 60 ลูกจะมีเงิน 3.6 ล้านบาทนะ การอธิบายแบบนี้จะทำให้ลูกสนใจ มากกว่าการที่คุณบอกว่าการเก็บออมเงินเพื่อใช้ยามเกษียณสำคัญอย่างไร
5. Don’t overshare your financial past - ไม่จำเป็นต้องเล่ารายละเอียดทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้น
ความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่จำเป็นต้องเล่าให้ลูกฟังทั้งหมด มีงานวิจัยรายงานว่า การที่พ่อแม่เล่าเรื่องราวแง่ลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ลูกฟังมากเกินไป มีแนวโน้มที่ลูกจะทำพฤติกรรมเหล่านั้นบ้าง
6. Identify your financial baggage - รู้สถานะการเงินของตัวเองอยู่เสมอ
การที่คุณพ่อคุณแม่มีสถานะทางการเงินไม่ได้ดีมาก แต่คุณก็สามารถสอนเรื่องการเงินที่ถูกต้องให้ลูกได้
7. Keep money fights behind closed doors - การถกเถียงปัญหาการเงินต่างๆ ไม่ควรให้ลูกได้ยิน
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทะเลาะกันเรื่องการเงินให้ลูกเห็นหรือได้ยิน หากลูกคุณรับรู้ถึงปัญหาเหล่านั้น คุณสามารถสื่อสารกับลูกว่าคุณกำลังแก้ไขปัญหานั้นอยู่ เพื่อให้ลูกเห็นว่าคุณจัดการเรื่องนี้ด้วยหลักการไม่ใช่อารมณ์
8. Don’t keep up with the Joneses - เราไม่จำเป็นต้องมีเหมือนคนอื่น
เราไม่ต้องเอาตัวเองไปเทียบกันคนอื่นที่มีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า เพราะการทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข
9. There is no need for kids to know which parent makes more - ใครมีรายได้มากกว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย
ลูกของคุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าพ่อหรือแม่ ใครกันที่มีรายได้มากกว่า เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน ทีมเดียวกัน หากมีใครคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลและจัดการงานในบ้าน คุณสามารถสอนลูกได้ว่าสิ่งนี้ก็คือการทำงานเหมือนกัน แทนที่จะจ้างคนอื่นมาทำแทน
10. Don’t flaunt bad money behaviours - ไม่ต้องคุยโม้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ถึงแม้เราจะบอกว่าลูกควรทำอะไร ควรปฏิบัติตัวแบบไหน แต่หากคุณไม่ได้เป็นทำตัวอย่าง ลูกก็จะไม่ได้ประโยชน์
หากบุ่นสรุปใจความตรงไหนผิดพลาด บอกกันได้นะคะ คลิปเต็มๆ สามารถกดได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ
ขอบคุณที่กดติดตามนะคะ มีเรื่องเล่าด้านการเงินมาแบ่งปันกันได้นะค้าาาา
❤️❤️❤️❤️❤️
โฆษณา