30 เม.ย. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 21] อิทธิพลของภาษาละตินในภาษาอังกฤษ
Latin influence in English language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 2 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิพลของภาษาละตินต่อภาษาอังกฤษ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าแม้ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาในกลุ่มภาษาเยอรมานิกทางตอนเหนือของยุโรป แต่ก็ได้รับอิทธิพลด้านคำศัพท์จากภาษาละตินที่มีศูนย์กลางในดินแดนอิตาลีทางตอนใต้ของยุโรปมาต่อเนื่องหลายศตวรรษ เมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากล จึงมีร่องรอยภาษาละตินแฝงอยู่ในคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วโลก
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
หน้าแผนที่ "Insulae Albion Et Hibernia" (ภาษาละติน : เกาะบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์) ในตำราแผนที่ "Blaeu Atlas of Scotland" จัดทำโดย Joan Blaeu นักทำแผนที่ชาวดัตช์ในปี ค.ศ.1654 ซึ่งใช้ภาษาละตินกำกับตำแหน่งต่าง ๆ ในแผนที่ [Credit ภาพ : National Library of Scotland]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : https://www.youtube.com/watch?v=VyvPrbpeH7M
เพลง “Britannia” เพลงภาษาละตินและภาษาอังกฤษที่ออกมาใน ค.ศ.2001 โดย Lesiëm วงดนตรีเเบบนิวเอจในประเทศเยอรมนี ชื่อ Britannia ของเพลงนี้ยังเป็นชื่อของเกาะบริเตนใหญ่ในภาษาละติน
ภาษาอังกฤษได้รับคำยืมหรือวิวัฒนาการมาจากคำภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาษาละตินเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยสะท้อนให้เห็นได้จากกลุ่มของคำที่ดูมีกลิ่นอายภาษาละตินชัดเจนและคำที่ดูเผิน ๆ แล้วคิดว่าไม่น่าจะมาจากภาษาละติน
คำยืมจากภาษาละตินที่ดูชัดเจน มีทั้งแบบเขียนเต็มรูปและย่อรูป ตัวอย่างเช่น sine qua non, status quo, Q.E.D., etc. และ a.m.
คำยืมจากภาษาละตินอีกส่วนจะดูมีกลิ่นอายภาษาละตินน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น area, exit, inscription, negotiate และ series
นอกจากคำยืมจากภาษาละตินที่ปรากฏในภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีคำภาษาอังกฤษอีกมากที่สร้างคำโดยอาศัยภาษาละติน หรือวิวัฒนาการต่อเนื่องจากภาษาละตินผ่านภาษาอื่นก่อนถึงภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น computer, expensive, reason, round และ video
หากพิจารณาจากลักษณะและประวัติความเป็นมาของภาษาแล้ว
- ภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มภาษาเยอรมานิก (Germanic languages) ร่วมกับภาษาเยอรมัน ภาษาดัตช์ และภาษาของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์)
- ภาษาละตินอยู่ในกลุ่มภาษาอิตาลิก (Italic languages) และเป็นรากของกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages ประกอบด้วยภาษาอิตาลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาโรมาเนีย)
แต่ก็มีกระบวนการที่ส่งผลให้เกิดอิทธิพลข้ามกลุ่มภาษาจากภาษาละตินเข้ามาในภาษาอังกฤษ มีหลายแบบหลายช่วงเวลา ได้แก่...
1) คำภาษาละตินที่รับมาในภาษาโปรโตเยอรมานิก (Proto-Germanic language) ภาษาต้นสายของกลุ่มภาษาเยอรมานิกและบรรพบุรุษของภาษาอังกฤษ ภาษานี้อยู่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5
โดยในช่วงนั้น ภาษาละตินช่วงนี้เข้ามาผ่านปฏิสัมพันธ์ (การค้าขายและสู้รบ) ระหว่างกลุ่มชนเยอรมานิก (Germanic peoples) ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวอังกฤษอย่างชาวแองเกิล (Angles) ชาวแซกซัน (Saxons) และชาวยูต (Jutes) กับจักรวรรดิโรมัน คำภาษาอังกฤษที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาละตินในช่วงนี้ มักไม่เหลือร่องรอยคำภาษาละตินแล้ว
แผนที่แสดงการอพยพของกลุ่มชนเยอรมานิก 3 กลุ่มซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวอังกฤษ (Saxons, Angles และ Jutes) จากดินแดนที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมนีและเดนมาร์ก มายังเกาะบริเตนใหญ่ ในช่วง ค.ศ.400-500 ขณะที่การปกครองบริเตนของจักรวรรดิโรมันยุติลงในปี ค.ศ.410 [Credit ภาพ : User 'Notuncurious' @ Wikipedia]
ตัวอย่างของคำภาษาอังกฤษในกรณีนี้ ได้แก่ cat, peacock, tile และ wine
2) คำภาษาละตินที่รับมาในภาษาอังกฤษเก่า (Old English language) ภาษาต้นสายของภาษาอังกฤษ อยู่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13
คำภาษาละตินช่วงนี้มากับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์บนเกาะบริเตนใหญ่ และการใช้คำภาษาละตินแทนหากไม่สามารถหาคำในภาษาอังกฤษเก่ามาเทียบเคียงกันได้ ระหว่างการแปลตำราทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษเก่า คำภาษาอังกฤษแบบนี้หลายคำก็ดูไม่ค่อยเหลือร่องรอยภาษาละตินเช่นกัน
ตัวอย่างของคำภาษาอังกฤษในกรณีนี้ ได้แก่ nun, place, street และ tower
3) คำจากภาษาละตินที่แฝงมากับภาษาฝรั่งเศสเก่า (Old French language) หรือภาษานอร์มัน (Norman language) แล้วเข้ามาในภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English language) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษแบบภาษาพูดที่ใช้ในช่วง ค.ศ.1066 (การพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันจากฝรั่งเศส) จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15
ราชสำนักอังกฤษได้นำภาษานอร์มันเข้ามาใช้ในปี ค.ศ.1066 – 1399 แล้ววิวัฒนาการกลายเป็นภาษาแองโกล-นอร์มัน (Anglo-Norman language)
แผนที่แสดงพื้นที่ที่ชาวนอร์มันผู้พูดภาษานอร์มันอาศัยอยู่ทางชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส [Credit แผนที่ : User 'Carport' @ Wikimedia]
ตัวอย่างของคำภาษาอังกฤษในกรณีนี้ ได้แก่ complete, magnet, religion และ salmon
4) คำจากภาษาละตินที่แฝงมากับภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (ภาษาอิตาลี ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส) ซึ่งกรณีนี้จะมีไม่มากนัก
ตัวอย่างของคำภาษาอังกฤษในกรณีนี้ ได้แก่ albino, buffalo, cupola และ tornado
5) คำจากภาษาละตินที่รับเข้ามาใหม่ในภาษาอังกฤษปัจจุบันตอนต้น (Early modern English) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17
ตัวอย่างของคำภาษาอังกฤษในกรณีนี้ ได้แก่ compensate, condolences, insane และ ultimate
การพัฒนาระบบการพิมพ์ในยุโรปยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่สามารถพิมพ์อักษรกรีกและโรมันได้ ช่วยส่งเสริมการตีพิมพ์ตำราที่เขียนในภาษาละตินหรือแปลจากภาษาละติน ซึ่งมีหลายครั้งที่นักแปลทับศัพท์หรือใช้คำภาษาละตินไปเลย เพราะไม่สามารถหาคำอังกฤษที่มีความหมายเดียวกันหรือมีรูปสละสลวยพอได้ในตอนนั้น
การฟื้นฟูค่านิยมวัฒนธรรมกรีกโบราณ-โรมัน การใช้คำภาษาละตินที่เป็นผลจากการพัฒนาการพิมพ์ ร่วมกับภาษาละตินยุคเรอแนซ็องส์และภาษาละตินใหม่ที่เคยใช้เป็น “ภาษากลาง” ทางวิชาการโดยเฉพาะตามตำราในสมัยนั้น ส่งผลให้เกิดการประดิษฐ์คำภาษาอังกฤษด้วยรากศัพท์ภาษาละติน หรือยืมคำภาษาละตินมาใช้ในภาษาอังกฤษปัจจุบันช่วงต้น ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงใช้เป็นคำศัพท์ที่ดูเป็นผู้ดีหัวสูง หรือใช้แฝงความหมายบอกโดยนัยอ้อม ๆ
แผนภาพแสดงสัดส่วนของคำในภาษาอังกฤษ (แกนตั้ง) ที่เริ่มปรากฏในยุคสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ.1000 - คริสต์ศตวรรษที่ 20 (แกนนอน) โดยแบ่งสีตามภาษาที่เป็นรากฐานของคำ เช่น คำที่ประดิษฐ์มาจากภาษาอังกฤษด้วยกันเอง ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส ภาษานอร์สเก่า ภาษากรีก หรือภาษาเยอรมัน [Credit แผนภาพ : Oxford English Dictionary Online]
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพของอิทธิพลของภาษาละตินต่อภาษาอังกฤษในด้านคำศัพท์ ที่เข้ามาหลายระลอกในหลายยุคสมัย ผ่านภาษาต่าง ๆ (ภาษาโปรโตเยอรมานิก ภาษาฝรั่งเศสเก่า ภาษานอร์มัน หรือภาษาอื่นในกลุ่มภาษาโรมานซ์) หรือเข้ามาผ่านปัจจัยอื่น (การเข้ามาของศาสนาคริสต์ในยุคกลาง การฟื้นฟูค่านิยมวัฒนธรรมกรีกโบราณ-โรมันและการพิมพ์ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา) จนภาษาอังกฤษที่ใช้แพร่หลายกันทั่วโลก มีร่องรอยของภาษาละตินแฝงอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งในรูปของคำยืม คำที่ผ่านวิวัฒนาการ หรือคำที่สร้างใหม่จากรากศัพท์ภาษาละติน
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- G.D.A. Sharpley. Get Started in Latin. London, UK: Hodder Education; 2010.
โฆษณา