30 เม.ย. 2021 เวลา 15:20 • อาหาร
สุกี้ยากี้ - อาหารยอดนิยมในช่วงกักตัว
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้ทำการสอบถามผู้บริโภคอาหาร จานเดียวจำนวน 1,566 คน ระหว่างวันที่ 5 - 9 มิถุนายน 2563 ถึง 10 รายการอาหารจานเดียวยอดนิยมของคนไทย ปรากฏว่า “สุกี้ยากี้” ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 76.69%
สุกี้ยากี้เป็นอาหารของชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างมากมาย ถ้าคนญี่ปุ่นมาเห็นก็อาจจะนึกว่าไม่ใช่สุกี้ยากี้
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.gourmetandcuisine.com
ก็ต้องยอมรับว่า สุกี้ยากี้เป็นอาหารที่มีคุณค่าเพราะประกอบด้วยโปรตีนจากเนื้อ หมู หรือไก่ มีวิตามินและแร่ธาตุจากผักนานาชนิด คาร์โบไฮเดรตจากวุ้นเส้น และไข่ไก่ นี่ยังไม่นับประโยชน์ที่ได้จากเครื่องปรุงอย่างอื่น ๆ ที่เอามากินกับสุกี้ยากี้เช่น เต้าหู้ เนื้อปลา เห็ดต่าง ๆ และ ฯลฯ
อัน “สุกี้ยากี้” แบบญี่ปุ่นนั้นเป็นอาหารประเภทเนื้อ โดยจะใช้เนื้อติดมันที่มีคุณภาพแล่ออกเป็นชิ้นบาง ๆ เวลาจะรับประทานก็ทานในกระทะก้นแบนไม่ได้รับประทานในหม้อไฟแบบบ้านเรา น้ำซุปทำจากซีอิ๊ว เหล้ามิริน และน้ำตาลทำให้น้ำซุปจะออกหวาน ในขณะเดียวกัน ก็มีผักต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบเช่น หัวหอมญี่ปุ่นหรือหัวหอมใหญ่ เต้าหู้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เห็ดชิตาเกะ อาจจะมีใส่ผักอย่างอื่นได้อีกก็แล้วแต่ความชอบ
เวลาจะรับประทานก็เอาเนื้อไปลวกในน้ำซุปที่อยู่ในกระทะก้นแบนนั้น แล้วเอามาจิ้มกับไข่ดิบ ไม่ได้มีน้ำจิ้มอื่นใด เมื่อเอาเนื้อลงไปลวก น้ำซุปก็จะซึมเข้าไปในชิ้นเนื้อ เมื่อจิ้มกับไข่ดิบแล้วเอาเข้าปาก เราก็จะได้ความหวานของเนื้อตัดกับความมันของไข่ มันวิเศษมากเลยครับ
มีอาหารไทยอยู่อย่างหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “แกงร้อน” เป็นแกงจืดประกอบด้วยวุ้นเส้น หมูสับ โรยกระเทียมเจียว ดูส่วนประกอบแล้วท่านผู้อ่านนึกสงสัยไหมครับว่าทำไมแกงชนิดนี้ถึงเรียกว่า “แกงร้อน”
ในตอนหนึ่งของหนังสือ “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์” ผู้เขียนคือ “ก๊วยเจ๋ง” ซึ่งเป็นเด็กในบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ว่าครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เล่าบนโต๊ะอาหารกับมิตรสหายที่บ้านซอยสวนพลูไว้ว่า
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://wagyuman.com/
“อาหารญี่ปุ่นก็เข้ามาสมัยอยุธยา นายยามาดา นางามาสะ แกพาซามูไรหลบราชภัยมาพึ่งบรมโพธิสมภารตั้งแต่ครั้งพระเอกาทศรถ ก็เอาสุกี้ยากี้มาแสดงให้คนไทยดู พร้อมผักหญ้าอีกจำนวนหนึ่ง”
“สุกี้แปลว่าหม้อเหล็ก แต่เดิมชาวนาญี่ปุ่นเขาใช้ผลาญคือเหล็กปลายไถที่ใช้ขุดม้วนดินให้ร่วนมาวางบนกองฟืน (ผลาญญี่ปุ่นคงป้อมๆ กลมๆ เหมือนตัวคนญี่ปุ่นนั่นแหละ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านชอบพูดอะไรให้เป็นรูปธรรมเสมอๆ) แล้วเอาเนื้อลงนาบอย่างที่คนไทยเรียกว่าจี่ เติมน้ำซุปเติมซีอิ้วลงไปเพิ่มรส ใส่เส้นที่เป็นแป้งๆ อย่างที่ญี่ปุ่นเรียกว่าอุด้งหรือโซบะลงไป จากนั้นก็มีผักต่างๆ แล้วแต่จะหาได้ ตักใส่ถ้วยแบ่งมากินกับข้าว และต้องกินขณะร้อนๆ เพราะจะได้ทั้งรสชาติที่เอร็ดอร่อย และแก้หนาวไปด้วย คนไทยเห็นเข้าเลยเรียกว่าแกงร้อน”
“แกงวุ้นเส้นที่พวกเรากินนี่แหละคือแกงร้อน และเป็นแกงญี่ปุ่นแท้ ๆ แต่คนไทยคงจะเลือกใส่เฉพาะเส้นแป้งเป็นหลัก ที่คงจะพยายามทำให้เหมือนของญี่ปุ่นโดยเอาถั่วเขียวมาทำ (สมัยนั้นถั่วเหลืองยังไม่เข้ามา เพราะเข้ามาตอนรัตนโกสินทร์ตอนต้นจากพวกคนจีนอพยพ ที่เอาเต้าเจี้ยวและน้ำซีอิ้วที่ทำจากถั่งเหลืองเข้ามา) กลายเป็นเส้นแข็ง ๆ ใส ๆ เรียกว่าวุ้นเส้น ใส่หมูใส่ไก่ก็อร่อยขึ้นมาก และต่อมาคงแปลงของจีนมาร่วมด้วย ใส่หมูบะช่อ ใส่กระเทียมเจียว….”
เพราะฉะนั้น แกงร้อนของเราจึงที่มาจากสุกี้ยากี้ของญี่ปุ่น เพียงแต่เราไม่ค่อยทราบที่มากันเท่านั้นเอง
แต่สุกี้ยากี้แบบของบ้านเราในปัจจุบันอาจจะหน้าตาไม่เหมือนต้นฉบับนัก และไม่เหมือนแกงร้อนเสียด้วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.chinatownyaowarach.com/
เท่าที่ “Gourmet Story” จำความได้ เมื่อก่อนในตรอกเต๊า ถนนเยาวราช ซึ่งเดี๋ยวนี้มีชื่อที่ทันสมัยว่า “ซอยเยาวราช 8” เดินเข้าไปแค่ปากซอยซ้ายขวาก็มีแต่ร้านขายสุกี้ยากี้อยู่หลายร้าน ร้านไก่ตอนชื่อดังในตรอกเดียวกันก็มีสุกี้ยากี้ขายเช่นกัน ร้านเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของร้านสุกี้แซ่เอี้ยวทั้งหลายในปัจจุบัน
สุกี้ยากี้สมัยนั้นจะเสิร์ฟเป็นจานเปลขนาดใหญ่ มีเนื้อวัวที่หมักแล้ว ต่อยไข่ลงไป 2 ฟอง ของประกอบอื่นก็มีแค่ผักกาดขาว ผักบุ้ง ต้นหอม กับวุ้นเส้น ทานในหม้อน้ำซุปที่ตั้งอยู่ตรงกลางโต๊ะ น้ำซุปทำให้ร้อนด้วยแก๊สที่ต่อสายตรงมาจากถังแก๊สที่อยู่ใต้โต๊ะ คนกินก็นั่งคร่อมถังแก๊สไปขณะรับประทาน ระทึกใจดีครับ
สุกี้ยากี้ในสมัยนั้นก็เอาเนื้อมาลวกแล้วจิ้มด้วยน้ำจิ้มที่ทำจากเต้าหู้ยี้ปรุงรสด้วยกระเทียมสด กระเทียมดอง น้ำมันหอย น้ำมันงา และ ฯลฯ น้ำจิ้มนี้จะออกสีแดง ๆ หรือสีชมพูเพราะเต้าหู้ยี้ ให้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ
ต่อมา ร้านสุกี้ยากี้ก็ขยับมาสู่แหล่งไหม่ที่ทันสมัยกว่าคือสยามสแควร์ ด้านถนนอังรีดูนังต์ มียี่ห้อใหม่ ๆ เกิดขึ้น ร้านสุกี้ยากี้เหล่านี้บางรายทุกวันนี้ก็สูญหายไปแล้ว บางรายก็เจริญรุ่งเรืองเป็นกิจการใหญ่โตมีสาขาหลายร้อยสาขา
แต่สุกี้ยากี้ในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปจากของเดิมอย่างมากมาย เพราะมีเนื้อสัตว์ ผัก และเครื่องปรุงอย่างอื่นมาให้เลือกอีกมากมายหลายสิบชนิด มีลักษณะเป็นร้านอาหารหม้อไฟหรือ Steamboat มากกว่าร้านสุกี้ยากี้แล้ว
สุกี้ยากี้ในบ้านเราได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยกลายมาเป็นอาหารจานเดียวได้รับความนิยมของคนทั่วไป นอกจากสุกี้น้ำแบบดั้งเดิมแล้ว ก็มีสุกี้แห้งที่เอาสุกี้มาผัดใส่ไข่ ไข่นั้นเมื่อเอามาทอดก็ส่งกลิ่นหอมชวนกินอยู่แล้ว ผสมด้วยเนื้อ ผัก วุ้นเส้นแล้วราดน้ำจิ้มสุกี้ก็หอมอร่อยจนลืมตำรับเดิมไปเลย เดี๋ยวนี้มี “ทูนหัว” อยู่ในเมนูด้วย ทีแรก “Gourmet Story” ก็งงว่าคืออะไร พอได้เห็นของจริงปรากฎว่าเป็นเนื้อผัดผักกินกับน้ำจิ้มสุกี้ ร้านสุกี้แบบนี้บางร้านเป็นร้านอาหารแนะนำของมิชลินเสียด้วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.thecrystal.co.th
เมื่อปี 1961 มีเพลงญี่ปุ่นชื่อ "Ue o Muite Arukō" (上を向いて歩こうแปลว่า "I Look Up as I Walk" ร้องโดย Kyu Sakamoto เพลงนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไม่เฉพาะแต่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ได้กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตของหลาย ๆ ประเทศซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย
แต่การที่จะให้เพลงญี่ปุ่นไปโด่งดังได้ในต่างประเทศได้นั้น ก็มีการเปลี่ยนชื่อเพลงให้เป็นชื่อ "Sukiyaki" ซึ่งคนรู้จักกันดีมากกว่าคำอื่น ๆ เพลงนี้ก็เลยมีชื่อว่า “สุกี้ยากี้” ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของเพลงไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับสุกี้ยากี้เลย ผลของการเปลี่ยนชื่อเพลง ทำให้เพลงนี้กลายเป็นแผ่น Single ที่ขายได้ถึง 13 ล้านแผ่นทั่วโลก
ใครเคยฟังเพลงนี้บ้างยกมือขึ้น? ไม่มีใครยกมือเลย 5555 ถ้าไม่เคยฟังก็ไปฟังได้จาก Youtube ที่
เรื่องตอนที่แล้ว “ขนมจีนน้ำยา - อาหารของคนโรแมนติก” ไปอ่านได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา