1 พ.ค. 2021 เวลา 01:12 • การศึกษา
รู้หรือไม่? คุณคืออัจฉริยะ
คำว่า "อัจฉริยะ" ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยไหน ก็สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างดี และก็มีบทความมากมายที่นำเสนอเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะ
The Five Faces of Genius ที่เขียนโดย ANNETTE MOSER-WELLMAN คือหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะ โดยผู้เขียนเลือกการนำเสนอความเป็นอัจฉริยะด้วยมุมมองที่แตกต่าง โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว "เราทุกคนมีความเป็นอัจฉริยะที่ซ่อนอยู่ภายในตัวตนเราทุกคน" เพียงแต่เราไม่เคยค้นหาความสามารถที่ซ่อนอยู่ และดึงเอาความเป็นอัจฉริยะภายในตัวเองออกมาใช้
เรามาลองเดินทาเข้าสู่จิตใจตัวเอง แล้วมาดูกันดีกว่าเรานั้นมีความเป็นอัจฉริยะในประเภทใด
1. ผู้มีพลังของจินตนาการ
ลักษณะของผู้ใช้พลังของจินตนาการ
ผู้ที่มีความสามารถในการคิดเป็นภาพ ที่มองเห็นและสัมผัส แสง สี เสียง และความรู้สึก และ คิดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วในจินตนาการ แล้วพยายามหาวิธีการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเป็นจริง ตัวอย่างเช่น Mozart ที่สามารถแต่งเพลงเสร็จตั้งแต่อยู่ในหัว และยังรู้ด้วยว่าช่วงไหนจะใช้เครื่องดนตรีประเภทใดบรรเลง เป็นต้น
ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ ปัญญาจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในสภาพผ่อนคลาย ดังนั้น คนที่มีความสามารถด้านนี้หากต้องการดึงพลังแห่งจินตนาการมาใช้ ควรอยู่ในอิริยาบถสบายๆ อาจจะเป็นการนั่งหรือนอนแต่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา และควรมีสมุดเล็กๆ ติดตัวเพื่อจดภาพความคิดที่ผุดขึ้นมา เพราะภาพที่ผุดขึ้นมาและจางหายไปอย่างรวดเร็ว
1
สำหรับบางคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีจินตนาการ และอยากจะมีความสามารถนี้สามารถฝึกฝนได้ทำได้โดยวิธีการสร้างจินตนาการ เช่น หัดเขียนบันทึกโดยเน้นบรรยายความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น และควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานนัก เช่น การบรรยายความรู้สึกเมื่อไปเที่ยวทะเล ควรนึกให้ได้ว่า เมื่อสัมผัสโดนลมแล้วรู้สึกอย่างไร เหนียวตัว , เป็นลมร้อน หรือเย็นสบาย เป็นต้น
2. ผู้มีพลังช่างสังเกต
ลักษณะของผู้ที่มีพลังช่างสังเกต
จะนิ่งๆ นั่งเฉยๆ ไม่ชอบพูด แต่จะมีความละเอียดอ่อนในการมองเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อยๆ เวลามองจะสังเกตเห็นรายละเอียดรอบๆ สิ่งนั้น และสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัว จึงทำให้คาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทำให้มองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น จึงมักเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว เช่น เดินป่าคนเดียวเป็นเวลานานๆ และเป็นผู้ที่อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา ซึ่งจะสะท้อนความอยากรู้ออกมาในลักษณะของคำถามหลักว่า " ทำไม " ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้จะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ต้องเป็นนักเดินทาง หรือการไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ใช้ชีวิตไม่ซ้ำซาก สำหรับบางคนที่ต้องทำงานซ้ำซากก็มีวิธีแก้ โดยแบ่งเวลาว่างในแต่ละวันไปศึกษาอะไรแปลกใหม่ให้ชีวิต เช่น ใช้การอ่าน หรือการดู เป็นต้น
วิธีการสร้างนิสัยเป็นคนช่างสังเกต
ให้เจาะจงเลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างแล้วลงมือทำอย่างช้าๆ หมั่นคอยสังเกตรายละเอียดของการทำงานชิ้นนั้น ฝึกตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆว่า "ทำไม" เพราะนี้คือจุดเริ่มต้นให้เกิดการเก็บข้อมูล และเมื่อทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบ ฝึกทบทวนความคิด พฤติกรรมของตนเองในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตแบบเป็น Routine เพราะเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์
3. นักเล่นแร่แปรธาตุ
ลักษณะของนักเล่นแร่แปรธาตุ
คือ คนที่สามารถดึงสิ่งต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญที่ต้องการ โดยพลังความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้โดยการจับข้อมูลต่างสาขา มาสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันจนกระทั่งเกิดความคิดใหม่ๆ ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ เกิดจากความคิดที่ว่า " ทำเพราะอยากทำ " เช่น ลงแรงเพื่อต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน หรือทำเพราะเป็นหน้าที่ บุคคลตัวอย่างที่เป็นอัจฉิระยะด้านนี้ก็ เช่น Elon Musk, Steve Jobs, Bill Gates
วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้
พยายามไม่ยึดติดกับแนวคิดในสายงานหรือความคิดของตนให้มากเกินไป
รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้งานของตนออกมาดียิ่งขึ้น หาความรู้ที่นอกเหนือจากสายงานประจำให้มากขึ้น
4. ผู้คิดนอกกรอบ
ลักษณะของผู้คิดนอกกรอบ
เมื่อตัดสินใจลงทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ ถึงแม้ว่าทำผิดแล้วผิดอีกก็ยังจะทำ โดยจะขอลองทำอีกครั้ง และหาวิธีอย่างไรไม่ให้ผิดพลาด จะมีการวิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดเกิดจากอะไร มีสาเหตุอะไร เพื่อหลีกเลี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดการผิดซ้ำสอง เช่น Thomas Alva Edison นักประดิษฐ์วที่มีความมุ่งมั่นในการทดลอง จึงเป็นคนที่มีความอดทนสูง สามารถรับความผิดพลาดในชีวิต และยอมรับการดูถูกดูแคลนได้ เพราะเขารู้จักตัวเอง รู้ว่าคิดตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ ความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้ จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อทำอะไรโดยจำกัดระยะเวลาให้กับสิ่งที่ทำ มี Positive Thinking ว่าเราสามารถทำได้ พลิกสถานการณ์ได้ไม่ว่าจะลำบากยังไง ใครจะหัวเราะเราก็ต้องเชื่อว่า เราจะทำให้ได้
วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้
คิดกลับหัวหลับหางหัดวิเคราะห์ความล้มเหลวว่า ทำไมจึงล้มเหลว และจะแก้ไขอย่างไร มีความอดทน อดทนทนต่อคำดูถูกดูแคลนจากคนอื่น และอดทนต่อความยากลำบากตรากตรำ จนกว่าจะหาวิธีการพิสูจน์ความเชื่อ ของตนเองออกมาได้
5. นักปราชญ์
ลักษณะของนักปราชญ์
เป็นผู้ที่ทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ สามารถอธิบายหรือเขียนอย่างเรื่องที่เข้าใจยาก ให้สั้นกระชับและผู้อื่นเข้าใจและได้ใจความ ใช้คำที่สั้นแต่เข้าใจได้ง่าย เป็นผู้รักการเรียนรู้ โดยสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่แล้วคนประเภทนี้จะเป็นนักอ่าน เพราะการอ่านเปรียบเสมือนพื้นฐานของปัญญาอันหลักแหลมของปราชญ์ ทำให้สามารถคิดได้หลายมิติ และไม่ค่อยคิดในทาง Negative เพราะมีความรู้มากก็หาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
วิธีการสร้างความเป็นอัจฉริยะประเภทนี้
ฝึกให้มีความกล้าในการนำเสนอความคิดตัวเองกับบุคคลสำคัญๆ หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดความอ่าน และไม่กลัวถ้าจะเกิดการปะทะกันทางปัญญา เมื่อระหว่างต้องลแกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
เมื่ออ่านจนจบแล้วน่าจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่า "ตัวเรานั้นมีอัจฉริยะในด้านไหนแอบแฝงอยู่" และเราจะดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้ได้ยังไง ใครมีความเป็นอัจฉริยะด้านใดแฝงอยู่บ้างลองคอมเม้นมาบอกกันหน่อยนะครับ
โฆษณา