1 พ.ค. 2021 เวลา 10:05 • ธุรกิจ
Facilitation Payment หรือ "ค่าอำนวยความสะดวก" คืออะไร? และ ประเทศไหนยอมให้ทำได้บ้าง ?
1
ท่านเคยไปติดต่อที่หน่วยงานของรัฐเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ ทำงานบางอย่างตามหน้าที่ แต่กลับถูกเรียกค่าตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ แลกกับการช่วย "ประสาน" หรือช่วย "เร่งรัด" การทำงาน บ้างไหมครับ ?
ถ้าเคยพบประสบการณ์แบบนี้ จะเล่าให้ฟังว่าค่าตอบแทนที่ว่านั่น ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า "Facilitation Payment" ครับ
ในภาษาไทยเราก็มีอยู่หลายคำที่หมายถึงสิ่งเดียวกัน เช่น "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" "ค่าดำเนินการพิเศษ" หรือ "ค่าน้ำมันหล่อลื่น" ซึ่งใน ภาษาอังกฤษเองก็มีคำอื่น ๆ อีก เช่น "Grease payment" (Grease แปลว่า จารบี) "Speed money" หรือ "Oiling the wheels"
ส่วนในประเทศอื่นก็มีคำเฉพาะของเขา เช่น ในประเทศเคนยา จะใช้คำที่แปลว่า "Tea Money" หรือในอียิปต์จะใช้คำว่า "Baksheesh" ทีมีความหมายกว้าง ๆ ตั้งแต่ การบริจาค การให้ทิป ไปจนถึงการจ่ายสินบน
และเชื่อหรือเปล่าว่า "Facilitation Payment" นั้น ในบางประเทศมีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าสามารถทำได้หากเข้าเงื่อนไข และทั้งหมดจะเป็นการยกเว้นให้คนของประเทศตัวเอง ไปจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศอื่นเท่านั้น
นั่นเป็นเพราะการกระทำดังกล่าวในประเทศตัวเองถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ... อ่าห์ ... ​มันช่างย้อนแย้งจริงเชียว
เท่าที่ค้นหาเจอ ผมพบว่าในปัจจุบันยังมีอยู่ 3 ประเทศคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ สหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายตราไว้ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งหากดูในรายละเอียดก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร
เรามาเริ่มกันที่ ออสเตรเลีย กันก่อน
ในกฎหมายอาญา (Criminal Code) ฉบับปี ค.ศ. 2006 ของ ออสเตรเลีย กำหนดไว้ว่า Facilitation Payment นั้นหมายถึง
1) เป็นการจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อย (Nominal Value)
2) เป็นการจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ "ในต่างประเทศ" เพื่อเหตุผลหลัก (หรือเหตุผลเดียว) คือเป็นการ "เร่งรัดการดำเนินการที่เป็นกิจวัตรปกติ" (Expediate minor routine action)
3) มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
อย่างไรก็ดี ด้วยความคลุมเครือดั่งเพลง Getsunova ของกฎหมายจากรัฐบาลกลาง ทำให้ในแต่ละรัฐของ ออสเตรเลีย นั้น ได้ตรากฎหมายของตัวเองมาแทนที่ และกำหนดให้ Facilitation Payment นั้นไม่ต่างจากการติดสินบนที่ผิดกฎหมายครับ
แต่เกร็ดที่น่าสนใจจาก ออสเตรเลีย ยังมีอีกนิดหน่อยคือ กฎหมายที่ใช้ในการประเมินภาษี (Income Tax Assessment Act) ที่แก้ไขในปี ค.ศ. 1999 ได้อนุญาตให้บริษัทนำ Facilitation Payment (ที่ตรงตามเงื่อนไข) มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วยครับ
ประเทศถัดไปคือ นิวซีแลนด์ ก็มีประมวลกฎหมายอาญา (Crimes Act) ค.ศ. 1961 ที่แม้จะไม่ได้ระบุความหมายของ Facilitation Payment ไว้ชัด แต่ก็ให้ข้อยกเว้นไว้คล้าย ๆ กัน
ข้อยกเว้นดังกล่าวคือ การจ่ายเงิน หรือให้สิ่งตอบแทนนั้น ๆ จะไม่ถือเป็นการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ หากเข้าลักษณะ 2 ข้อนี้
1) ทำไปเพื่อเหตุผลเดียว หรือ เหตุผลหลักในการสร้างความเชื่อมั่น หรือ เป็นการเร่งรัด การปฏิบัติงานอันเป็นกิจวัตรของเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ (For the sole or primary purpose of ensuring or expediting the performance by a foreign public official of a routine government action)
2) มีมูลค่าของผลประโยชน์มีน้อย (แต่น้อยแค่ไหนคือน้อย อันนี้ไม่รู้)
นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ ยังมีกฎหมายอีกฉบับคือ "Organised Crime and Anti-corruption Legislation Bill" หรือ Organised Crime Bill ที่มีการปรับปรุงออกมาในปี ค.ศ. 2015 โดยให้เงื่อนไขเพิ่มเติมว่า Facilitation Payment นั้นถือได้ว่าผิดกฎหมายหาก ผู้จ่ายเงินได้รับผลประโยชน์ "ที่ไม่เหมาะสม" หรือ มีบุคคลอื่นเสียผลประโยชน์ "อย่างไม่เหมาะสม" (an undue material benefit to the person making the payment, or an undue material disadvantage to any other person)
อ่านกฎหมายฉบับหลังนี้ก็อาจจะงงกันหน่อย แต่ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือ การจ่ายเงินที่ว่านั้นแม้จะเข้าเงื่อนไขยกเว้นตาม Crimes Act แต่ถ้าสิ่งที่ทำไปมันผิดกฎหมายในประเทศปลายทาง ก็ถือได้ว่าเป็นการทำให้ผู้จ่ายได้ประโยชน์ หรือให้ผู้อื่นเสียประโยชน์อย่าง "ไม่เหมาะสม" ตาม Organised Crime ได้ทันที
สุดท้ายสำหรับ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุไว้ในกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ไว้ว่า การจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐของต่างประเทศนั้น "ไม่ถือว่าเป็นความผิดหากมีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งหรืออำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานโดยปกติ"
ซึ่งจะเห็นว่า FCPA ไม่ได้พูดถึงมูลค่าของสิ่งตอบแทนหรือจำนวนเงินว่าต้องเป็น "Nominal value" หรือ Small amount" แต่อย่างไร
นอกจากนี้ FCPA จะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศแก้ต่างได้ หากการจ่ายเงินหรือการให้สิ่งตอบแทนนั้น
1) เป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศดังกล่าว (ซึ่งทุกวันนี้คงไม่น่าจะเหลือแล้ว)
2) เป็นค่าใช้จ่ายที่สุจริต และสมเหตุสมผล เช่น เป็นไปเพื่อการส่งเสริม สาธิต หรืออธิบายผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือเกิดจากการบังคับใช้ หรือ ปฏิบัติตามสัญญา
หากเราดูนิยามในกฎหมายแต่ละประเทศแล้ว ก็อาจะพูดได้กว้าง ๆ ว่า Facilitation Payment มันต่างจากการจ่ายสินบน (Bribe) ตรงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ "กระตุ้น" ให้การทำงาน "อันเป็นปกติ" ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปด้วยความรวดเร็วเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ หรือทำให้ผู้ใดเสียประโยชน์โดยมิชอบ และก็ควรจะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สุดท้ายแล้ว มันก็เป็นการให้ค่าตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐอยู่ดี บางครั้ง Facilitation Payment ก็ถูกเรียกว่าเป็น "Small Bribe" หรือ "สินบนเล็กน้อย" ได้เหมือนกัน
ซึ่งนอกจาก 3 ประเทศข้างต้นที่มีเงื่อนไขอนุญาต Facilitation Payment เป็นกรณีพิเศษไว้ ทุกวันนี้เราจะพบว่าในประเทศอื่น ๆ นั้น การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยเด็ดขาดแล้วทั้งสิ้น
ซึ่งพัฒนาการของข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นอานิสงส์จาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกช่วยกัน "แบน" Facilitation Payment โดยเด็ดขาด
ถ้าสักประมาณ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ ท่านอาจจะเคยได้ยินว่าหลาย ๆ ประเทศเช่น Austria, Canada, Greece, Slovak Republic, South Africa, Spain หรือ Switzerland ยังมีขอยกเว้นให้เกิด Facilitation Payment ได้ แต่ในปัจจุบันเท่าที่ผมลองค้นหาดู ก็น่าจะแบนกันไปหมดแล้วครับ
ตัวอย่างที่โดดเด่นก็เช่น ประเทศอังกฤษ ได้แก้กฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่ชื่อว่า UK Bribery Act ในปี ค.ศ. 2010 เพื่อระบุไว้ชัดเจนไปเลยว่า Facilitation Payment นั้น ถือว่าเป็น สินบน ชนิดหนึ่งซึ่งผิดกฎหมาย
หรือกฎหมาย SAPIN II ในปี ค.ศ. 2016 ของ ประเทศฝรั่งเศสก็มีการระบุไว้ในทำนองเดียวกัน
หรือใกล้บ้านเราหน่อยอย่างของประเทศเกาหลีใต้ สมัยก่อนก็มีเงื่อนไขที่อนุญาต Facilitation Payment ไว้ แต่เมื่อ ตุลาคม ค.ศ. 2014 ก็ได้แก้กฎหมาย Foreign Bribery Prevention in International Business Transactions Act (the FBPA) ซึ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นของผิดกฎหมายไปแล้ว
สำหรับในประเทศไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั้นก็ห้ามเรื่องพรรค์นี้โดยเด็ดขาดแบบไม่มีข้อยกเว้น โดยท่านสามารถไปศึกษาดูต่อได้จากหมวด 11 ของกฎหมาย
ถือได้ว่ากฎหมายบ้านเราในส่วนนี้ก็เรียกได้ว่าพัฒนาทัดเทียมนานาอารยประเทศแล้ว
แต่ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่ หรือจะปิดตาข้างเดียว หาข้อยกเว้นกันอย่างไร ก็ถือเป็นอีกเรื่องนึงนะจ๊ะ
โดยสรุป แม้ว่ากฎหมายในบางประเทศจะมีช่องเปิดให้ Facilitation Payment พอจะทำได้ แต่เนื่องจากมันคลุมเครือ และสุ่มเสี่ยงเอามาก ๆ แนวปฏิบัติที่ดีก็คือ อย่าทำเสียจะดีกว่า
ซึ่งเราก็สามารถเห็นแนวทางลักษณะนี้ ในเอกสารนโยบายด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นของบริษัทข้ามชาติชั้นนำมากมายครับ ถ้าสนใจก็ลองไปศึกษาต่อได้
ขอบคุณมากครับ
อ้างอิง
โฆษณา