16 มิ.ย. 2021 เวลา 14:00 • ธุรกิจ
'Start-Up' กับ 'SMEs' ต่างกันอย่างไร?
1
เปรียบเทียบความต่าง ระหว่าง 'Start up' กับ 'SMEs' ให้เลิกสับสน และเข้าใจธุรกิจยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
'Start-Up' กับ 'SMEs' ต่างกันอย่างไร?
เมื่อพูดถึง "ธุรกิจ" ยุคใหม่ช่วงที่ผ่านมา ใครๆ ก็พูดถึง "Start-Up" (สตาร์ทอัพ) โดยเฉพาะหลังจากที่ซีรีส์เกาหลีเรื่อง "Start-Up" ที่นายกฯ เคยออกมาเชิญชวนให้ดู ทำให้คำนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
พอพูดถึง "Start-Up" ภาพในหัวที่หลายคนคิดถึง คือคนที่ทำธุรกิจจากไอเดียเจ๋งๆ มีภาพลักษณ์คูลๆ เป็นคนรุ่นใหม่ แต่พอเมื่อพูดถึง ธุรกิจเล็กๆ ที่เราคุ้นหูกันอยู่เมื่อหลายสิบปีก่อนอย่าง "SMEs" (เอสเอ็มอี) ก็ถึงกับต้อง เอ๊ะ! และอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า Start-Up และ SMEs ต่างกันอย่างไร
3
..หรือแท้จริงแล้ว Start-Up คือเวอร์ชั่นใหม่ของ SMEs กันแน่?
1
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงพาไปดู 5 จุดที่แตกต่างระหว่าง Start-Up และ SMEs ที่ทำให้หายสับสน และเข้าใจลักษณะการทำงานของธุรกิจทั้ง 2 แบบนี้มากขึ้น
จุดที่ 1 : การเริ่มต้นของธุรกิจ
สตาร์ทอัพ: เป็นธุรกิจเริ่มต้นจากแนวคิดและไอเดียอะไรบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของคน หรือแก้ปัญหา หรือ pain point บางอย่างในสังคม ซึ่งไอเดียเหล่านี้จะต่อยอดไปเป็นรายได้รูปแบบต่างๆ ในภายหลัง
เอสเอ็มอี: เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่เริ่มต้นธุรกิจที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมมากกว่าสตาร์ทอัพ เนื่องจากมักจะเป็นการให้บริการ หรือขายสินค้า ที่ส่วนใหญ่จับต้องได้ใช้งานทั่วไป โดยมีไอเดียในการสร้างสินค้าใหม่ๆ หรือการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจเข้ามาส่งเสริมกับสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้เติบโตเป็นรายได้
จุดที่ 2 : การเติบโตของธุรกิจ
สตาร์ทอัพ: การเติบโตของสตาร์ทอัพ มีความแตกต่างจากเอสเอ็มอีที่ชัดเจน โดยการเติบโตของธุรกิจลักษณะนี้คือการระบบการจัดการธุรกิจที่สามารถทำให้เติบโตได้เรื่อยๆ และก้าวกระโดดต่อไปได้เอง โดยไม่ต้องขยายกิจการหรือลงทุนใหม่ ซึ่งสตาร์ทอัพมักจะมีตัวชี้วัดผลงานที่สะท้อนความสำเร็จในขั้นต่างๆ และไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผลประกอบการของธุรกิจเสมอไป
เอสเอ็มอี: การเติบโตของเอสเอ็มอี จะเป็นการเติบโตแบบคงที่ โดยแนวโน้มการเติบโตมักเป็นไปตามการขยายกิจการ เพิ่มสาขา เพิ่มจำนวนบุคลากร เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าธุรกิจจะเติบโตตามความนิยมจากผู้ซื้อหรือผู้ใช้สินค้าและบริการ โดยดัชนีชี้วัดการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี คือรายได้และผลกำไร
จุดที่ 3 : แนวคิดในการทำธุรกิจ
สตาร์ทอัพ: แนวคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นมาจากการต้องการแก้ปัญหาบางอย่างในสังคม ต้องการลดเพนพ้อยต์ที่ตัวเองประสบปัญหา หรือหาโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจที่มีอยู่เพื่อให้กลายเป็นบริการที่สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น เป็นแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ เป็นระบบที่ซ่อนอยู่ในบริการต่างๆ เป็นต้น โดยมีสร้างรายได้จากการให้บริการที่ต่อเนื่อง
2
เอสเอ็มอี: แนวคิดของธุรกิจของเอสเอ็มอี คือการทำรายได้จากสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ ซึ่งยิ่งสินค้าและบริการได้รับความนิยมมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสสร้างรายได้มากตามไปด้วย
จุดที่ 4 : เงินทุนที่ใช้ในการสร้างและหมุนเวียนในธุรกิจ
สตาร์ทอัพ: จุดเด่นของสตาร์ทอัพ คือมีแหล่งเงินทุนจากการระดมเงินทุน (Crowdfunding) จากบุคคลหรือบริษัทที่สนใจในไอเดียธุรกิจที่มีอยู่ โดยนำเงินที่ระดมทุนได้มาดำเนินการตามแผนที่ตั้งไว้ เช่น ลงทุนในระบบต่างๆ จ้างคนช่วยทำระบบ ซึ่งจุดหมายปลายทางคือทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ก่อนปันผลคืนผู้ที่ลงทุนเมื่อทำกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกลุ่มนี้มีสัดส่วนของคนที่ประสบความสำเร็จต่ำมาก นั่นหมายความว่าผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงสูงได้ และเข้าใจการทำงานของธุรกิจที่จะลงทุนอย่างมากด้วย
เอสเอ็มอี: เงินทุนเริ่มต้นกิจการของเอสเอ็มอี มักจะมีแหล่งที่มาสินเชื่อ เครดิต จากสถาบันการเงิน หรือเป็นเงินลงทุนจากเงินส่วนตัว หรือหุ้นส่วน เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจแล้วค่อยแบ่งผลประโยชน์ให้หุ้นส่วนที่ร่วมลงทุน
จุดที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ
สตาร์ทอัพ: ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในการตอบสนองแนวคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ หรือความต้องการของผู้คนให้เกิดขึ้นได้จริง เช่นเทคโนโลยี IoT (Internet of Things), AI, Machine Learning ฯลฯ
เช่น Uber เป็นบริษัท Startup ผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน เรียกรถแท๊กซี่ ที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกาที่ค่อยๆ ขยายไปทั่วโลก ซึ่ง Uber ใช้เวลา 6 ปีในการพัฒนาธุรกิจ จนเป็นแอพพลิเคชั่นรถแท๊กซี่อันกดับหนึ่งของโลก ที่ได้รับการประเมินว่า มีมูลค่าธุรกิจสูงกว่า 68,000 ล้านดอลลาร์
เอสเอ็มอี: ใช่ว่าจะใช้เทคโนโลยีแล้วธุรกิจจะจัดไปอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพเสมอไป กลุ่มเอสเอ็มอีก็มีการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน แต่จะใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่เป็นจุดขาย เช่น นำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการระบบคิวให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ในเทคโนโลยีในการสื่อสารมาช่วยประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ามาช่วยทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น และผลิตได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น
แม้ธุรกิจทั้ง 2 รูปแบบจะมีจุดที่ต่างกันอยู่มาก แต่ "Start-Up" และ "SMEs" ก็มีสิ่งที่เหมือนกัน และเป็นจุดที่สำคัญเอามากๆ นั่นคือใครก็ตามที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจทั้ง 2 รูปแบบนี้จะต้องมีทักษะของการเป็น "ผู้ประกอบการ" หรือ "Entrepreneur" ที่ไม่ใช่แค่มีไอเดีย สินค้า หรือบริการ แต่ต้องมีความพยายาม ความอดทน ความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่ช่วยจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและเข้าใกล้ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งใจไว้ได้
โฆษณา