2 พ.ค. 2021 เวลา 08:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภารกิจพิชิตไข้เลือดออก ด้วยยุงลายดัดแปลงพันธุกรรม
ไข้เลือดออก (dengue fever) เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (dengue virus) ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 390 ล้านคน ขณะที่มีผู้ป่วยหนักต้องรับการรักษาประมาณ 96 ล้านคน ประชากรกว่าครึ่งโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการติดเชื้อ ซึ่ง 70% อยู่ในเอเชีย ส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ 8.9 พันล้านเหรียญต่อปี โดยค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลประมาณ 70.10 เหรียญ แต่ในรายที่มีอาการหนักค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 7.58 - 8.47 หมื่นเหรียญ แม้ในรายที่มีอาการน้อยก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 12.94 เหรียญ
จากข้อมูลข้างต้น การจะลดอัตราการติดเชื้อจะต้องทำการควบคุมประชากรยุงลายซึ่งเป็นพาหะ แม้จะมีการรณรงค์ กำจัด ทำลาย แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ไม่ได้แก้ปัญหาการติดเชื้อ ดังนั้น Oxitec จึงเสนอไอเดียการควบคุมยุงลายผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม
Oxitec ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2002 ด้วยความช่วยเหลือของ Oxford University Innovation เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมมาช่วยควบคุมแมลงที่เป็นพาหะนำโรคและแมลงศัตรูพืช โดย Oxitec ทำการดัดแปลงพันธุกรรมของยุงเพศผู้ด้วยการนำยีนที่เรียกกว่า self-limiting gene ใส่ลงไปในรหัสพันธุกรรม การที่มุ่งเป้าดัดแปลงยุงเพศผู้ เนื่องจากยุงเพศผู้ไม่ใช่ยุงที่ดูดเลือดคนจึงจะไม่ทำอันตรายกับคนนั่นเอง จากนั้นทดลองปล่อยยุงเพศผู้เหล่านี้ผสมพันธุ์กับยุงเพศเมียในธรรมชาติ ซึ่งลูกที่ออกมาจะได้รับการถ่ายทอดยีนชนิดนี้ไปด้วย ยีนที่ได้รับไปจะส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนของโปรตีนอย่างรวดเร็วภายในตัวของยุงทำให้ตายก่อนระยะตัวเต็มวัย นอกจากนี้ยังสามารถติดตามค้นหายุงที่มียีนดัดแปลงเนื่องจากมีการใส่ยีนฟลูออเรสเซนต์ควบคู่กันไปด้วย ยุงที่มียีนดัดแปลงจึงสามารถเรืองแสงได้กับแสงจำเพาะ
Oxitec ได้ทำการทดสอบภาคสนามในบราซิลด้วยการนำแคปซูลบรรจุไข่ตัวอ่อนเพศผู้ดัดแปลงพันธุกรรม ละลายในแหล่งน้ำธรรมชาติ และติดตามผล โดยภายใน 13 สัปดาห์ สามารถลดประชากรยุงลายลงได้ถึง 95% ซึ่งไข่บรรจุในแคปซูลต้นทุนต่ำ ง่ายต่อการใช้ การขนส่ง ทางบริษัทก็ได้ให้ความมั่นใจว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมและ self-limiting gene จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งล่าสุดก็ได้รับอนุมัติจากรัฐฟลอริดา ให้ปล่อยยุงจำนวน 1.5 แสนตัว เพื่อทดลองควบคุมประชากรยุง เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้แล้วบริษัทยังตั้งเป้าดำเนินการดัดแปลงแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (fall armyworm), หนอนคืบถั่วเหลือง (soybean looper), แมลงวันผลไม้ (medfly), แมลงหวี่ (spotted-wing drosophila), หนอนใยผัก (diamondback moth) เพื่อลดปัญญาศัตรูพืช และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตร รวมถึงลดการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลง
Oxitec เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากบิล เกตส์ ได้รับทุนสนับสนุนรวม 47 ล้านเหรียญ จนในปี ค.ศ. 2015 ได้ถูกซื้อโดย Intrexon Corporation (NASDAQ:XON) หนึ่งในผู้นำด้านชีววิทยาสังเคราะห์ จำนวน 160 ล้านเหรียญ โดยงบสนับสนุนล่าสุด 6.8 ล้านเหรียญ มาจาก Wellcome Trust เพื่อขยายกำลังผลิตยุงดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งความสำเร็จของ Oxitec ก็จะเป็นการชี้ช่องให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมปล่อยสู่ธรรมชาติเพิ่มขึ้น อย่างเช่น นักวิจัยจาก Imperial College London ก็ประสบความสำเร็จในการดัดแปลงยีนของยุงก้นปล่องให้สามารถส่งต่อยีนต้านมาลาเรียไปสู่รุ่นลูก
จากผลกระทบของเทคโนโลยี จึงสามารถคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกจะลดลง รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่การลดจำนวนของแมลงพาหะนำโรคหรือแม้กระทั่งแมลงศัตรูพืชจนถึงจุดที่เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศน์อย่างไร คำถามนี้คงจะเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป
Dengue and severe dengue
…………………………….
Productivity costs from a dengue episode in Asia: a systematic literature review
…………………………….
The global economic burden of dengue: a systematic analysis
doi:10.1016/s1473-3099(16)00146-8
…………………………….
A Company Just Released 150K Genetically Modified Mosquitoes in the United States
…………………………….
‘Just Add Water’ GM Mosquitoes Suppress Wild Population by 95%
…………………………….
Oxitec Official Website
…………………………….
Biotech spin-out to be sold for $160 million
…………………………….
#BiotechAnalyst #FutureIsNow #TheFuturist #DengueFever #Oxitec #Mosquitoes
โฆษณา