3 พ.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
เรื่องเล่า...จากภาพถ่าย 🖇📎🖇
กาแฟ หรือโอวยั้ว ในสมัยก่อน
วันนี้ ฝนตกพร่ำๆ ทำให้บรรยากาศเก่า มาร้องเรียกหา จึงสนองอารมณ์ ด้วยการค้นหาเรื่องเก่าๆ มาเล่าให้อมยิ้ม
คนสมัยเมื่อสัก 30-40 ปีมาแล้ว เห็นภาพเหล่านี้ ก็คงนั่งคิดถึงอดีต แต่คนยุคใหม่ บางคนอาจจะไม่รู้จัก สิ่งของในภาพแต่ละภาพ ก็อาจเป็นได้ บางคนอาจตั้งคำถามว่า มันคืออะไร ใช้อย่างงัย ผู้เขียน จึงขอมาสาธยาย รายละเอียด พอสังเขป ให้ร้องอ๋อ ให้ฟังกันบ้าง ไม่มากก็น้อย
🗝 ภาพด้านบน คือภาชนะ บรรจุ กาแฟร้อน สมัยที่สตาร์บัค ยังไม่กำเนิดเกิดบนโลกนี้ ดังนั้นหากใคร ต้องการสั่งกาแฟร้อน กลับบ้าน ทางร้านจะชง แล้วใส่ กระป๋องนม ตามภาพ พร้อมเชือกหิ้ว กลับบ้านใครบ้านมันได้เลย
แม้กระทั่ง ตามชานชลารถไฟ พอรถจอดตามสถานีย่อย ก็จะมีเจ้ากาแฟร้อน ใส่กระป๋องหูหิ้วเป็นพวง วิ่งขึ้นมาขายคู่กับปลาท่องโก๋ ให้ผู้โดยสาร กันอย่างคุ้นตา
หลายคนอาจสงสัย ว่าทำไมต้องใส่กระป๋องแบบนี้ด้วย สาเหตุก็เพราะในตอนนั้น แก้วพลาสติกยังไม่มีผลิต ถ้าจะมีก็เป็น แก้วกระดาษเคลือบไข เท่านั้น ที่พอจะเห็นได้ในยุคนั้น
โม่หิน
🗝 ภาพด้านบน ตามต่างจังหวัดห่างไกล น่าจะพอหลงเหลือ นำมาใช้งานกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ จะเก็บเข้ากรุกันหมดแล้ว เด็กๆ Gen ใหม่คงงง ว่าอะไรนั่น หน้าตาประหลาด มันก็ดูประหลาดจริงๆด้วย หากไม่เคยใช้งาน
ก็จะเดาไม่ออกเหมือนกัน
มันเรียกว่าเครื่องโม่แป้ง ที่เคยใช้ เพราะยายจะทำขนมครก เริ่มต้นด้วยเอาข้าวแช่น้ำ แล้วหยอดลงไปในรู ด้านบน แล้วก็หมุนๆๆ จะมีน้ำแป้งที่ถูกบด ออกมาตามรางด้านหน้า โดยเราจะต้องเอาภาชนะรองรับน้ำแป้งไว้
แต่ในสมัยนี้ จะเอาแป้งชนิดไหนล่ะ ไปเลือกหยิบๆตาม shelf ฉีกถุง ก็ทำขนมได้แล้ว เจ้าโม่หน้าตาพิลึก จึงถูกเก็บเป็นที่ระลึกไป
เชี่ยนหมาก
🗝 ภาพด้านบน น่าจะพอมีใช้งานอยู่บ้าง หากบ้านนั้นมียายอายุใกล้ร้อย ที่ยังทานหมากอยู่ มันคือ อุปกรณ์การเตรียมหมาก ของบรรดาย่าๆยายๆ ที่จะต้องมีชุดนี้ วางประจำอยู่ใกล้ๆตัว ในชุดประกอบด้วย ชุดตระบันหมาก สีเสียด พลู หมากสด ยาเส้น พิมเสน และตลับสีผึ้ง
เราจะคุ้นชินมาก เพราะยายจะใช้ ตำหมากเป็นคำ จัดใส่ตลับ เวลาก่อนจะไปวัด อยู่บ่อยๆ วิธีใช้งานคือจะเห็นแท่งสีทองๆ วางอยู่ นั่นแหละเขาเรียกว่าตระบันหมาก มันเป็นแท่งทรงกระบอก ก้นกลวง ลักษณะการใช้งานคล้ายกับครก ที่ด้านล่างจะมีไม้ก้อนกลมๆ อุดอยู่ ซึ่งสามารถ กระทุ้งยัอนกลับ ออกมาด้านปากได้
ดังนั้นพอจะใช้งาน ให้ใส่ไม้กลม ปิดก้นลงไปก่อน ตามด้วยพลูที่ป้ายปูนแดง หมากสดหั่นชิ้นเล็กๆ ตามด้วยสีเสียด เป็นเปลือกไม้ฝอยๆ หลังจากใส่ทุกอย่างครบแล้ว ใช้ไม้แท่งๆเปรียบเสมือนสาก ตำให้มันน่วมๆ พอคำ เสร็จแล้วจะมี เหล็กแหลม หัวมนๆ ใช้สำหรับกระทุ้ง ตรงก้นออก ก็จะได้หมากเป็นคำๆ คล้ายๆเมี่ยงคำ. ออกมาทันใด
ตอนทำครั้งแรกๆ ก็อยากรู้ อยากลอง เพราะเห็นยายเอร็ดอร่อยมากๆ กับไอ้เจ้าหมากก้อนๆนี้ เราเลยตำและลองเองสักคำ พอยัดใส่ปาก แทบพ่นออกมาไม่ทัน เพราะรสชาดมันแย่ ถึงแย่ที่สุด เราจึงอยากตะโกนถามยายในใจดังๆทุกครั้ง เวลาถูกใช้ให้ตำหมาก ว่ายายกินเข้าไปได้ยังงัย
เตารีดถ่าน
🗝 ภาพด้านบน คงคุ้นตาคุณป้า คุณลุง แต่รุ่นหลานๆ ก็อาจจะงง กับวิธี ใช้งานของมันแน่ๆ บอกเลย เกิดมายุคนี้มันดีสุดๆแล้ว
เตารีด รีดผ้า ที่มีตัวไก่อยู่ด้านหน้า จุดนั้นคือตัวเปิดล๊อก ให้เปิดฝา ยกพับไปด้านหลัง สำหรับใส่ถ่านไฟแดงๆ ที่คีบออกมาจากเตาถ่าน พอใส่จนมากพอแล้ว ให้ปิดฝาแล้วบิดตัวล๊อค ให้แน่นสนิท เพราะถ้าล๊อกไม่สนิท เวลายกเตารีดขึ้นแล้วฝาเปิดออก ความวิบัติ จะมาเยี่ยมเยือน. เพราะถ่านข้างใน จะหกออกมา ใส่แขน ใส่ขา หรือใส่เสื้อผ้าให้ไหม้ได้
หลังจากเตรียมจนเรียบร้อยแล้ว เราต้องเอาใบตองสด มาพับเป็นพับๆ สำหรับวางเตารีด เพื่อทดสอบความร้อน ก่อนที่จะไปรีดที่ผ้าจริงๆ และใบตอง จะช่วยให้หน้าเตารีด ลื่น รีดง่ายขึ้น
อุปสรรคของการรีดผ้าแบบนี้ พูดเลย ยุ่งยากมากๆ เพราะต้องคอยเปิดใส่ถ่านเพิ่ม เป็นระยะๆ เพื่อจะเพิ่มหรือลดความร้อน แถมหาก ถ่านที่ใช้ มันแตก จะมีลูกไฟเล็กๆ กระเด็นทะลุ รูรอบๆ ที่ถูกเจาะให้อากาศเข้าไปด้านใน แล้วละก้อ ไม่กระเด็นถูกมือผู้รีด ก็อาจกระเด็นใส่ผ้าที่กำลังรีดอยู่ได้ ผลของมันคือเสื้อจะไหม้ เป็นรูๆ
กระต่ายขูดมะพร้าว
🗝 อันนี้หากใครดูหนังเรื่องแม่เบี้ย คงจะเห็นภาพประกอบ การใช้เจ้ากระต่ายนี้เป็นอย่างดี แต่หากไม่เคยดู จะเล่าการใช้งานให้เข้าใจการใช้ ดังนี้
ด้านหัว ที่มีเหล็ก ตีแบนๆ เป็นรอยหยัก แหลมคมอยู้ด้านหน้า เมื่อใช้มะพร้าว ที่ปลอกเปลือกและผ่าครึ่ง ไปสวมคว่ำส่วนคมๆ พร้อมเพิ่มแรงกดมะพร้าวลงไป แล้วขูดขึ้นลง โดยตัวคนขูด นั่งลงไป ที่ตัวกระต่าย ที่สำคัญจะต้องไม่ลืมเตรียม ภาชนะ รองรับมะพร้าว ที่ขูดแล้ว เพื่อเก็บใส่ในภาชนะนั้นๆ จนกว่าเนื้อมะพร้าว ในกะลา จะหมด
สมัยนี้จะเห็นว่า มีกะทิกล่อง กะทิผง หรือแม้กระทั่ง มะพร้าวขูดที่ใช้เครื่องขายเป็นกิโลๆ กันแล้ว จึงอยากจะบอกว่าเด็กยุคใหม่นี่แหละ โชคดีเหลือเกิน ที่ไม่ต้องหลังคดหลังแข็ง เมื่อแม่ต้องการจะใช้กะทิ
ที่ล้างเท้า
🗝. ภาพด้านบน ในบ้านสมัยนี้ ไม่น่าจะใช้กันแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ ถนนหนทางบ้านเราดีมากๆ เวลาเราเดินไปที่ไหนๆ เท้าจึงไม่ค่อยสกปรก เหมือนในสมัยก่อน ที่ถนนก็ยังเป็นลูกรัง และคนสมัยก่อนมักจะเดินเท้าเปล่า หรือดีหน่อย ก็ใส่รองเท้าหูคีบ ประมาณรองเท้าตราช้างดาว คงเคยรู้จักกันบ้าง จึงทำให้เท้าอาจจะเลอะฝุ่น เลอะโคลน
จากภาพจะเห็นปูนสี่เหลี่ยม ตรงกลางภาชนะ ที่หล่อด้วยน้ำ ชึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นจุดที่เราต้องลงไปยืน แล้วใช้เท้าที่ละข้าง วักน้ำในอ่าง มาที่เท้า และใช้เท้ากูเท้าไปมา จนดูสะอาดแล้ว จึงเดินออกไปเช็ดเท้า ให้แห้งก่อน เข้าในชายคาบ้าน
จะว่าดูรักษาความสะอาดดีก็ใช่ แต่ใช้ไม่ได้กับเด็กและผู้ใหญ่ที่ขี้เกียจ เพราะหากล้างเท้าไม่เอี่ยม และเช็ดเท้าไม่แห้ง พอเดินเข้าบ้าน จะเป็นรอยบาทา เป็นเทือก หรือเปียกไปตลอดทางที่เดิน
ขมิ้นพอกผิว
🗝 ภาพด้านบน คืออุปกรณ์ประกอบการอาบน้ำ เพราะคนสมัยก่อน ไม่มีสบู่ใช้หรอก และเนื่องจากชีวิตไม่ต้องเร่งรีบ จะอาบน้ำอาบท่า ขั้นตอนก็จะเยอะ ที่ผู้เขียนรู้ซึ้ง ไม่ได้กรีดกรายทำเองเลย แต่เพราะเป็นเด็ก ที่สักแต่ว่า จะเอาน้ำราดๆตัว ให้รู้ว่าอาบน้ำเท่านั้น จึงมักต้องถูกยาย มาช่วยอาบให้ อยู่บ่อยครั้ง
ขั้นตอนสุดจะแสบๆคันๆ ในการขัดสีฉวีวรรณจากยาย ยายจะมีภาชนะดินเผาตามรูป ขมิ้นสด มะขามเปียก ดินสอพอง นำมาฝนกับภาชนะ ใส่น้ำเล็กน้อย จะได้ส่วนผสม ข้นๆ สีเหลืองจัด
เริ่มพิธีกรรม โดยเอาน้ำราดให้ตัวพอเปียก จากนั้นเริ่มด้วยเยื่อมะขาม ที่เป็นใยๆ ผสมกับเนื้อ นำมาทาผิวทั่วตัว แล้วเอาใยบวบ ที่ทำจากบวบแก่ตากแห้ง แล้วนำมาทุบให้นุ่ม เหมาะมือ ค่อยๆขัด ไม่หนัก ไม่เบา แต่ถ้าหาก ขยุกขยิกมาก ก็จะเจอแบบแรงๆทันที่ ผลก็จะออกมาแสบๆทั่วตัว
หลังจากขัดด้วยมะขามแล้ว ล้างคราบออกให้สะอาด ตามด้วยน้ำขมิ้นดินสอพอง จนเหลืองทั่วตัว แล้วนั่งรอจนกว่าส่วนผสมนั้นเริ่มแห้งหมาดๆ จึงค่อยๆ ล้างออกให้หมดจด เช็ดตัวให้แห้ง ตบท้ายด้วยน้ำมันมะกอก พอชุ่ม จนทั่วตัวเป็นอันว่าเสร็จพิธีการ
ตั้งแต่จากยายมา ก็อาบน้ำแบบวิ่งผ่านดังเดืม จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ บ้างครั้งพอเวลาอาบน้ำอยู่ บางแว่บ ก็จะคิดถึง พิธีกรรมของยาย
🗝 ภาพด้านบน ยังมีบ้างในชนบท ห่างไกลตัวเมือง ที่ยังเก็บน้ำไว้ในตุ่มดินเผาแบบนี้ ของแท้ ต้องมีกระบวยวางคู่ แทนขันแบบในรูป อันนี้ไม่ต้องมีคำบรรยาย วิธีใช้งาน เพียงแต่อยากให้เห็นภาพ จริงๆยามนั้น ต้องใช้กระบวย ที่ทำจากกะลามะพร้าว ตักน้ำอาบ เท่านั้นเอง
คณโฑ
🗝 ภาพด้านบน มันคือเหยือกน้ำสมัยก่อน ที่เขามีชื่อว่าคณโฑ แทบทุกบ้าน จะมีเจ้าภาชนะนี้ไว้ใส่น้ำดื่ม
และเนื่องมาจากภาชนะนี้ ทำมาจากดินเผา ซึ่งเป็นตัวช่วย ให้น้ำที่ใส่ไว้เย็นลง เมื่อเทน้ำออกมาดื่มจึงเย็นสดชื่นนั่นเอง
เหตุผลที่ใช้ภาชนะนี่ช่วยให้น้ำเย็น เพราะสมัยนั้น บ้านคนรวยมากๆ เท่านั้น ที่จะมีตู้เย็นอยู่ในบ้าน เพื่อทำน้ำเย็น ส่วนคนยากยนๆ ก็ต้องพึ่งคณโฑ
เว็จ หรือส้วม
🗝 ภาพนี้ บางคนอาจไม่ทันได้สัมผัสแล้ว แต่ผู้เขียนยังทันได้ใช้ เพราะบ้านอยู่บ้านนอกมาก จึงได้รู้จักมันมาพักนึง
ในรูปนี้ เลือกภาพที่ดูสะอาดสะอ้านตา มาให้ชม นี่ถือว่า เป็นการยกระดับเว็จ ขึ้นมาแล้ว ให้ดูหรูเหมือนเว็จ 5 ดาวแล้ว เพราะบ้านที่จนสุดๆ ยังใช้การวิ่งไปท้องทุ่ง เพื่อถ่ายหนัก ถ่ายเบา
เชื่อว่ามองภาพประกอบแล้ว คงเดาไม่ยาก ว่าภาพๆนี้ มีการใช้งาน อย่างไร แต่ท้ายแล้ว อยากจะบอกว่า ซากอารยะธรรมด้านล่าง ไม้สองแผ่นนั่นหน่ะ มัน Original มากๆ ไม่ต่างเท่าไหร่ กับส้วมจีน ที่เราเคยแหวะกันทีเดียว
หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ
🗝 ภาพด้านบน เชื่อว่าบางบ้านในชนบทยังพอมี ใช้วิธีนี้หุงข้าวอยู่ ผู้เขียน เคยหุงแบบนี้ตอนเด็กมากๆ อย่างที่รู้ๆ คือซาวข้าวให้สะอาด แล้วใส่น้ำเยอะหน่อย ตั้งบนเตาให้เดือด คอยคน ไม่ให้ด้านล่างติดหม้อ และคอยตักเม็ดข้าว มาเช็คดูว่านุ่ม พอได้หรือยัง
พอนุ่มได้ที่ ก็เอาไม้มาขัดหม้อ เพื่อไม่ให้ฝาหม้อเปิดออกได้ เมื่อรินน้ำข้าวซึ่งไม้ขัดหม้อเนี่ย นอกจากใช้ในกรรมวิธีหุงข้าวแล้ว ก็มักจะเป็นอาวุธ สำหรับตีเด็กดื้อ ประจำๆอีกด้วย
ตามภาพ น้ำข้าวที่รินออก ไม่ได้ทิ้งไปไหน จะใส่ถ้วยเตรียมไว้ นำมาเหยาะน้ำปลาลงไปหน่อยๆ นั่งวิดเข้าปากก็เพลินดี
หลังจากรินน้ำข้าวออกหมดแล้ว ให้เขย่าหมอเล็กน้อยเพื่อให้ข้าว ไม่ติดก้นหม้อ แล้วเอาหม้อกลับไปอังที่เตา หมุนไป หมุนมา จนไอน้ำออกจนเกือบหมด ขั้นตอนนี้ควรใช้ไฟอ่อนๆ เพราะไม่งั้น จะทำให้ข้าวไหม้ได้ ขั้นตอนนี้เขาเรียกว่าดงข้าว เป็นอันว่าเสร็จ วางทิ้งไว้สักครู่ แล้วจึงเปิดออกรับประทาน
จะเห็นได้ว่า ทุกๆภาพ เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ประกอบการดำรงชีวิต ในยุคก่อน ซึ่งดูยุ่งยาก น่าขัดใจ แต่ว่าก็ดูคลาสสิคดี แต่เมื่อชีวิต ต้องย้ายข้ามมาอยู่ในยุคปัจจุบัน จึงได้รู้ว่า มนุษย์ นี่แสนฉลาด ช่างผลิต ค้นคว้า หาเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มาลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวกสบาย แค่ปลายนิ้ว
แต่ทว่า บนความสะดวกสบาย ดูเหมือนทักษะชีวิต การเอาตัวรอด ก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยตามไปด้วยเช่นกัน เพราะไม่แน่ หากในกาลข้างหน้า เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดสูญหายไป อุปกรณ์ปุ่มกด สนองความต้องการไม่ได้ คงไม่ง่ายเท่าไร กับการใช้ ทักษะพื้นฐานเพื่อเอาตัวรอด แบบเดิมๆดิบๆ
🎈อดีต คือสิ่งที่สวยงามในภาพทรงจำ
โฆษณา