3 พ.ค. 2021 เวลา 14:28 • สุขภาพ
งานวิจัยพบว่าผู้ที่กินอาหารเสริมบางชนิดเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 ได้มากกว่า โดยเฉพาะในเพศหญิง
การกินอาหารเสริมได้รับความนิยมสูงขึ้นตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เพราะเชื่อกันว่ามันจะช่วยป้องกันหรือแม้แต่ช่วยบรรเทาอาการจาก COVID-19 ได้ แค่เฉพาะที่สหราชอาณาจักรที่เดียว ก็มียอดขายวิตามินซีเพิ่มขึ้นถึง 110% ส่วนวิตามินรวมก็เพิ่มขึ้น 93% นับตั้งแต่มีการประกาศล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน
แม้จะเข้าใจกันดีว่าอาหารเสริมช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ แต่เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามันจะช่วยป้องกันความเสี่ยงของการติด COVID-19 ได้หรือเปล่า
เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยนี้ ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาแอพ COVID-19 Symptom Study ขึ้นมา แล้วเปิดให้ user ที่สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ดาวน์โหลดไปใช้งาน โดย user จะต้องเข้ามารายงานข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้แอพได้ติดตามพฤติกรรมการกินอาหารเสริมและการติดโรค COVID-19 ของแต่ละคน
ข้อมูลที่ต้องรายงานเริ่มจากข้อมูลที่อยู่ อายุ และปัจจัยความเสี่ยงสุขภาพ จากนั้นแอพจะขอให้ user ทุกคนช่วยอัพเดทผลตรวจ COVID-19 และการดูแลสุขภาพแบบต่างๆ โดยมีผู้ใช้งานแอพจำนวน 372,720 คน ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดระลอกแรกในสหราชอาณาจักร
ใน user ทั้งหมด มีผู้ที่กินอาหารเสริมเป็นประจำจำนวน 175,652 คน และมี user ที่ติด COVID-19 จำนวน 23,521 คน หรือประมาณ 6.31% ของทั้งหมด
เมื่อเอามาแปรผลร่วมกับพฤติกรรมการกินอาหารเสริมของแต่ละคนแล้วพบว่า การกินโปรไบโอติกส์, กรดไขมันโอเมก้า-3, วิตามินรวม หรือวิตามิน D จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ ในอัตราส่วน 14%, 12%, 13%, และ 9% ตามลำดับ โดยได้นำเอาปัจจัยต่างๆ มาคำนวณร่วมด้วยแล้ว เช่น สภาวะสุขภาพปัจจุบันและอาหารที่กินอยู่ แต่เรากลับไม่เห็นผลของการป้องกันดังกล่าวจากการกินวิตามิน C, ธาตุสังกะสี, และกระเทียม
ตัวเลขข้างบนได้มาจาก user ในสหราชอาณาจักร ส่วนผลที่ได้จาก user ในสหรัฐอเมริกากับสวีเดนก็ไม่ต่างกันนัก อาจจะมีประสิทธิภาพมากน้อยต่างกันไปบ้างแต่ไม่มาก ระหว่างอาหารเสริม 4 ตัวนี้ ได้แก่ โปรไบโอติกส์, กรดไขมันโอเมก้า-3, วิตามินรวม, และวิตามินดี
และเมื่อลองเอาปัจจัยด้านเพศ อายุ และน้ำหนัก มาพิจารณาด้วยแล้ว ทั้ง โปรไบโอติกส์, กรดไขมันโอเมก้า-3, วิตามินรวม, หรือวิตามิน D จะให้ผลดีกับเพศหญิงมากกว่า ไม่ว่าจะมีอายุหรือน้ำหนักเท่าไรก็ตาม แต่กลับไม่เห็นผลที่ชัดเจนในผู้ชาย
แต่นี่เป็นเพียงงานวิจัยจากการรวบรวมข้อมูลเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเพราะเป็นการทำแบบสำรวจแบบที่ user ต้องรายงานผลด้วยตนเอง ยังไม่ได้ศึกษาลงไปถึงกลไกในการทำงานของอาหารเสริมแต่ละตัวที่มีผลในการป้องกัน COVID-19
แม้เราจะทราบกันดีว่า micronutrient อย่างวิตามินดีนั้นจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงอาจจะช่วยป้องกันหรือรักษาอาการติดเชื้อได้ แต่ก็ยังมีหลักฐานไม่มากพอว่ามันจะดีไปกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยตัวเราเองหรือไม่
ก็ได้แต่หวังว่านี่จะเป็นงานวิจัยนำร่องก่อนที่เราจะรู้ว่าอาหารเสริมตัวไหนสามารถลดความเสี่ยงจากการติดโรค COVID-19 ได้จริงๆ แต่ที่ดีที่สุดที่เราทำได้ตอนนี้คือการดูแลตนเอง ลดการเดินทาง และเว้นระยะห่างเท่าที่จะเป็นไปได้
โฆษณา