8 พ.ค. 2021 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
"ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย!"
คดีสุดอื้อฉาวในอดีต 'Chicago 7' เมื่อศาลเอียงขวาจนหัวแทบปักดิน
ย้อนกลับไปในอดีต ได้มีคดีดังจากประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นที่รู้จักกันในชื่อ 'ชิคาโก้ 7' เมื่อรัฐบาลสหรัฐต้องการที่จะเอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งในการตัดสินคดีครั้งนั้น ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวมากมายจนกลายเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ มันเกิดอะไรขึ้น? วันนี้ผมขอมาเรียบเรียงมาให้ได้อ่านกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงบทสรุปครับ
(เหตุการณ์นี้เคยถูกนำมาสร้างเป็นหนังในปี 2020 ด้วย ชื่อว่า 'The Trial of the Chicago 7' ผู้อ่านท่านใดที่สนใจสามารถไปหารับชมกันได้ครับ)
1
(กำเนิดอุดมการณ์)
ในสมัยของสงครามเวียดนามที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมนั้น ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกตํ่าและความยากจนอย่างกว้างขวางภายในประเทศ ผู้คนต่างถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในสงคราม ประชาชนบางกลุ่มจึงเกิดความไม่พอใจในการตัดสินใจทำสงครามของรัฐบาล
"ทำไมเราต้องทำสงคราม? สงครามไม่เคยก่อให้เกิดผลดี ไหนจะปัญหาเศรษฐกิจตกตํ่าเพราะต้องทุ่มทรัพยากรจำนวนมากไปกับมัน แล้วยังรวมไปถึงทหารบางส่วนที่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งอีก"
จึงได้เกิดการแนวคิดที่จะต่อต้านสงครามครั้งนี้และดึงทหารกลับมาประเทศของตนทั้งหมด จากแนวคิดเล็กๆได้กลายเป็นกลุ่มก้อน และจากกลุ่มก้อนได้กลายเป็นอุดมการณ์ นั่นจึงทำให้กระบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามเกิดขึ้น
(ก่อนการชุมนุม)
ประธานาธิบดีในสมัยนั้นอย่าง 'ลินดอน จอห์นสัน' ตัดสินใจว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสมัยหน้า นั่นจึงทำให้พรรคจำเป็นจะต้องหาผู้แทนคนใหม่
ในปี 1968 พรรคเดโมแครต ได้วางแผนจัดงานประชุมพรรคที่เรียกว่า 'Democratic National Convention' ณ เมืองชิคาโก้ เพื่อหาว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรคในการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมไปถึงการหารือในเรื่องต่างๆโดยเฉพาะนโยบายทางการทหารในสงครามเวียดนามของแต่ละตัวแทน
นั่นจึงทำให้กลุ่มคนที่ต้องการจะต่อต้านสงครามเวียดนาม ได้นัดแนะกันว่าจะมาชุมนุมเพื่อแสดงออก และกดดันให้ทางพรรคเดโมแครตเลือกผู้แทนที่มีนโยบายต่อต้านสงครามเวียดนาม
ผู้ประท้วงมีการยื่นคำร้องขอใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุม ถึงแม้ว่าทางการนั้นจะปฏิเสธ แต่สุดท้ายแล้วการชุมนุมก็เกิดขึ้นอยู่ดี
(เริ่มต้นการชุมนุม)
การชุมนุมนั้นเกิดขึ้นที่สวนสาธารณะ 'ลินคอร์น ปาร์ค' มีผู้ชุมนุมราวๆ 1 หมื่นคนที่มาจากหลายๆกลุ่มด้วยกัน ในสวนสาธารณะแห่งนี้จะมีช่วงเวลาเคอร์ฟิวอยู่ซึ่งก็คือ 5 ทุ่มของทุกวัน นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาอยู่ชุมนุมกันเกิน 5 ทุ่ม ก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะโดนเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายได้
นายกเทศมนตรีของเมืองชิคาโก้ในขณะนั้น 'ริชาร์ด โจเซป ดาลีย์' ก็ได้เตรียมกำลังตำรวจและทหารเกือบ 2 หมื่นกว่านาย เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น
ขนเจ้าหน้าที่มาเยอะขนาดนี้ เรียกได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ้าหน้าที่รัฐก็พร้อมที่จะ'เดินหน้าแล้วฆ่ามัน'เลยทีเดียว (รบกับประชาชนเก่งเหมือนแถวๆนี้เลย)
1
Lincoln Park (1968)
(สู่การเผชิญหน้า)
[วันที่ 25 สิงหาคม 1968]
หลังจากที่เข้าสู่ช่วงเวลาเคอร์ฟิว(หลัง 5 ทุ่ม) เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการตั้งแถวเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสลาย
ผู้ชุมนุมได้ตะโกนสวนกลับไปว่า "ขี้ข้าเผด็จการ!" (เอ้ยผิด! เอาใหม่ๆ)
ผู้ชุมนุมได้ตะโกนสวนกลับไปว่า "Peace now! Peace now!" เพื่อเป็นการบอกว่า"เรามาอย่างสันติ เราไม่ต้องการความรุนแรง" แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล หลังจากที่เสียงของระเบิดแก๊สนํ้าตาดังขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำการเคลื่อนพลเข้าประชิด ก่อนที่จะใช้กระบองไล่ฟาดผู้ชุมนุม เพื่อผลักดันให้ผู้ชุมนุมนั้นออกจากพื้นที่โดยทันที
(วีดีโอประกอบการโดนสลายการชุมนุม --> ถ้าทนดูไม่ไหวก็ข้ามไปนะครับ)
[วันที่ 26 สิงหาคม 1968]
ผู้ชุมนุมกลับมาชุมนุมกันอีกครั้งที่สวนสาธารณะ'แกรนท์ ปาร์ค'
[วันที่ 28 สิงหาคม 1968]
ในช่วงบ่ายของวันนั้น มีการเดินขบวนเกิดขึ้น แต่สุดท้ายผู้ชุมนุมก็ไปไม่ถึงจุดหมายของการเดิน เนื่องจากสิ่งที่ขวางพวกเขาไว้ก็คือ กองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธครบมือ ปืนกลหนัก รถขังนักโทษ และ รั้วลวดหนาม ผู้ชุมนุมจึงต้องถอยหลังกลับไปที่แกรนท์ ปาร์คตามเดิม
Grant Park (1968)
แต่ผู้ชุมนุมนั้นก็ต้องแปลกใจ เมื่อแกรนท์ ปารค์ ณ ตอนนี้ถูกยึดไว้โดยพวกตำรวจหมดแล้ว จากการยั่วยุกันไปๆมาๆ กลายเป็นการเปิดฉากการต่อสู้ ฝั่งตำรวจเปิดฉากก่อนด้วยการยิงแก๊สนํ้าตา ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 17 นาที สำนักข่าวสามารถจับภาพการต่อสู้ไว้ได้และได้ถ่ายทอดสดออกไปทั่วประเทศ เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกเรียกว่า 'The Battle of Michigan Avenue'
หนึ่งในภาพที่น่าสลดที่สุดคือการที่ตำรวจกำลังรุมกระทืบผู้ชุมนุมคนหนึ่ง ที่กำลังตะโกนว่า "The whole world is watching!" (ทั้งโลกกำลังจับตามอง!)
การต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของผู้ชุมนุมอย่างยับเยิน พวกเขาถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 600 คน เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บจากฝั่งผู้ชุมนุม 100 ราย และฝั่งตำรวจ 119 ราย
The Battle of Michigan Avenue
หลังจากการเข้าสลายการชุมนุมจบลง ตำรวจได้ทำการบุกไปยังโรงแรมใกล้เคียงเพื่อ'กระทืบ'ผู้ให้การสนันสนุนผู้ชุมนุมคนอื่นๆที่ยังเหลืออยู่ โดยในภายหลังผู้ถูก'กระทืบ'เปิดเผยว่า สัญญาณโทรศัพท์ในโรงแรมถูกตัดก่อนที่จะโดนบุก'กระทืบ'ครึ่งชั่วโมง ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถขอความช่วยเหลือใดๆได้เลย
2
(วีดีโอประกอบการสลายการชุมนุม --> เหตุการณ์วันที่ 28 จะอยู่ตอนนาทีที่ 1:30)
(การสอบสวน)
เมื่อมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องสอบสวนถึงข้อเท็จจริง
ทางเมืองชิคาโก้นั้นรายงานกล่าวโทษผู้ชุมนุมว่าเป็น'ผู้ก่อความไม่สงบ' ซึ่งมีจุดประสงค์ที่อยากจะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ร่างกายอยากปะทะนั่นแหละ)
คณะกรรมการสภากิจกรรมรายงานว่าผู้ชุมนุม'อาจมี'ความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ (คล้ายๆไอ้ "นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์"เลย แม่งเอ้ย!)
1
กระทรวงยุติธรรมนำโดยอัยการสูงสุดสมัยนั้น 'แรมซี่ย์ คลาร์ก' รายงานว่าไม่พบเหตุที่จะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และขอให้ทางเมืองชิคาโก้สอบสวนถึงความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ
คณะกรรมาธิการแห่งชาติ สรุปรายงานจากฝั่งตัวเองว่า "ความรุนแรงเกิดขึ้นมาจากฝั่งตำรวจ" และขอให้ดำเนินคดีกับตำรวจที่ใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจ แต่ก็ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนนั้นมีการยั่วยุเจ้าหน้าที่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่มีเจตนาที่แสดงออกทาง'สันติวิธี'
Ramsey Clark อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น
(รัฐบาลเดินหน้าลุยฟ้อง)
ในช่วงหนึ่งของการสอบสวนนั้น หัวหน้าผู้พิพากษาจากรัฐอิลลินอยส์ได้ทำการประชุมคณะลูกขุนใหญ่ เพื่อสอบสวนว่าผู้ชุมนุมนั้นได้ทำผิดหลักกฎหมายหรือไม่ และเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมหรือเปล่า
ระหว่างที่กำลังเก็บหลักฐานพยานอยู่นั้น ประเทศก็ได้เข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งก็คือ 'ริชาร์ด นิกสัน' จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเขาก็มีนโยบายเดิมคือ'คงกำลังทหารไว้ที่เวียดนาม'
ริชาร์ด นิกสันทำการแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่ขึ้นมาแทนที่แรมซี่ คลาร์ก นั่นก็คือ 'จอห์น มิทเชล' ด้วยความตั้งใจที่ว่าจะเอาผิดผู้ชุมนุมให้ได้
และเมื่อได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลและอัยการสูงสุดคนใหม่ สุดท้ายคณะลูกขุนและอัยการได้ตัดสินใจฟ้องผู้ชุมนุมจำนวน 8 คน (ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำ 7 คน และผู้เข้าร่วมอีก 1 คน) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 8 คน
ผู้พิพากษา 'จูเลียส ฮอฟฟ์แมน' ได้รับการสุ่มเลือกให้ตัดสินคดีในครั้งนี้
(ผมจะโฟกัสไปที่ผู้ชุมนุมนะครับ ท่านใดที่สนใจในเคสของเจ้าหน้าที่ตำรวจลองไปหาอ่านดูได้)
Julius Hoffman (ซ้ายในหนัง ขวาตัวจริง)
(ข้อหาของผู้ชุมนุม)
ผู้ชุมนุมทั้ง 8 คน ถูกฟ้องในข้อหา "สมคบกันใช้การค้าระหว่างรัฐโดยมีเจตนาปลุกระดมให้เกิดการจราจล"
6 ใน 8 คน ถูกตั้งข้อหาเพิ่มว่า "เดินทางข้ามรัฐโดยมีเจตนาปลุกระดมให้เกิดจราจล"
อีก 2 คนที่เหลือถูกตั้งข้อหาเพิ่มว่า "สอนผู้ชุมนุมสร้างอุปกรณ์อันนำมาซึ่งความไม่สงบ"
(เริ่มต้นการพิจารณาคดี)
การพิจารณาคดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1969
ผู้ชุมนุมทั้ง 8 คนที่ถูกนำตัวขึ้นศาลนั้น ถูกขนานนามว่า 'The Chicago 8'
มีผู้สนับสนุนเดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุมทั้ง 8 คนหน้าศาล ผู้สนับสนุนที่เดินทางมานั้นต่างตะโกนโห่ร้องกดดันศาลว่า "ปล่อยเพื่อนเรา!(ทั้ง 8 คน)"
หลักฐานส่วนใหญ่ของฝั่งอัยการที่นำมาเสนอต่อศาลนั้น มีแต่คำให้การของพยานที่ได้แฝงตัวปะปน(เป็นสายลับ)ไปกับพวกแกนนำ หรือจะเป็นคำให้การของเจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างเช่น เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง ที่แฝงตัวนอกเครื่องแบบไปกับบรรดาแกนนำ ได้ให้การว่า "ผมได้ยินบรรดาแกนนำพูดว่า 'ถ้าพวกเขา(ตำรวจ) ไล่พวกเราออกจากสวนในคืนนี้ เราจะพังกระจกแถวนี้แม่งให้หมด' แถมพวกเขายังปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ใช้ความรุนแรงอีก"
เจ้าหน้าที่รัฐอีกรายที่ได้แฝงตัวเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้เปิดเผยว่า "แกนนำทั้งหมดมีเจตนาที่จะยุยงให้เกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจ แถมอีก 2 คน ยังเคยพูดว่าจะใช้ระเบิดเคมีด้วย"
(บ๊อบบี้ ซีล ชายผู้โดนอัยการจับยัดข้อหา)
อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ผมจั่วหัว 'The Chicago 7' ในตอนแรก แล้วทำไมมันกลายเป็น 'The Chicago 8' ไปได้ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ
'บ๊อบบี้ ซีล' ชายชาวผิวดำเพียงหนึ่งเดียวในหมู่ผู้ชุมนุมที่ถูกนำตัวขึ้นศาล แต่เดิมเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รู้จักกันในนาม 'Black Panther'
ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาคดีการชุมนุมได้ไม่นาน ซีลและพวกเคยถูกฟ้องร้องข้อหาสมคบกันสังหารพยานในคดีอื่น นั่งจึงทำให้เขาเป็นคนเดียวที่ถูกขังคุกก่อนการพิจารณาคดีการชุมนุมจะเริ่ม
เขายังเคยไปปรากฎตัวบนเวทีการชุมนุมเพื่อต่อต้านสงครามมาแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาถูกฟ้องร้องในคราวนี้ไปด้วย
ฺBobby Seale (ซ้ายในหนัง ขวาตัวจริง)
ซีลนั้นมีทนายประจำตัวอยู่แล้ว แต่ทนายของเขาดันเข้ารับการผ่าตัดและไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ทันการพิจารณาคดี ซีลได้ขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน แต่ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนนั้นปฏิเสธ โดยได้ให้เหตุผลว่า 'วิลเลี่ยม คันส์เลอร์' (หนึ่งในทนายความของผู้ชุมนุมอีก 7 คน) เคยลงนามขอเยี่ยมซีลในคุกไปแล้ว ให้ถือว่าวิลเลี่ยมเป็นทนายของซีลไปเลย
ซีลนั้นกำหมัด(ไม่พอใจ)เป็นอย่างมาก เขาประท้วงว่าการกระทำของผู้พิพากษานั้นไม่เพียงแต่ขัดกับหลักกฎหมาย แต่ยังเหยียดผิวอีกด้วย
"ถ้าผมยังถูกปฏิเสธในสิทธิการแก้ต่างทางกฎหมายของผม ผมก็คงมองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากตัวของท่านผู้พิพากษาเป็นพวกเหยียดผิว!"
1
ซีลนั้นปรากฎตัวอยู่ในเมืองชิคาโก้ในช่วงชุมนุมน้อยกว่า 24 ชั่วโมงเสียอีก และหลักฐานที่นำมาเล่นงานเข้าในชั้นศาลก็มีแค่คำให้ต่างของตำรวจนอกเครื่องแบบที่บอกว่า "ซีลเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมทำ 'บาร์บีคิวหมู' และตามความเห็นของผม ผมคิดว่า'หมู'ที่ซีลพูดถึงคือตำรวจ" (จะให้จับตำรวจมาเผา) ซึ่งตัวของซีลเองก็ไม่ได้รับอนุญาติให้สามารถแก้ต่างใดๆทั้งสิ้นจากผู้พิพากษา
ซึ่งก็แน่นอนว่านี่เป็นหลักฐานเดียวที่ฝั่งอัยการนำมาเสนอต่อศาลเพื่อชี้มูลความผิดให้กับตัวของซีล เพราะที่ผ่านมาพวกเขาหาหลักฐานเชื่อมโยงซีลกับคนอื่นๆไม่ได้เลย
ความน่ากำหมัดยังไม่หมดแค่นี้ ซีลเคยน๊อตหลุดในการพิจารณาคดีถึงขั้นที่เรียกผู้พิพากษาว่า "ไอ้หมูเน่า! ฟาสซิสต์ขี้โกหก!" นั่นจึงทำให้ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนเอ่ยว่า "บันทึกเสียงนั่นไว้ด้วย!" (จะเอาไว้เล่นงานซีลในภายหลัง)
1
แต่ตัวของซีลเองก็ได้ตอบกลับไปว่า "ผมจะพูด! ในนามสิทธิของการมีทนายความ และเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ท่านปฏิเสธสิทธิ์นั้นของผม! ผมมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ ผมมีสิทธิ์ที่จะพูดตามรัฐธรรมนูญ และถ้าหากท่านยังพยายามระงับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผม ผมก็คงเห็นท่านเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากพวกไดโนเสาร์!(หัวดื้อ) เหยียดผิว! และคลั่งฟาสซิสต์! และผมก็เคยพูดแบบนี้มาแล้ว และถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน!"
1
และเพราะเหตุนี้เอง ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนสั่งให้ปิดปาก มัดมือมัดเท้า แล้วล่ามโซ่ตัวของซีลติดไว้กับเก้าอี้
2
คณะลูกขุนที่เห็นสภาพของซีลนั้น ถึงกับรับไม่ได้อย่างรุนแรงในการกระทำครั้งนี้ของผู้พิพากษา และบางคนถึงขั้นร้องไห้ไปเลย
เป็นเวลากว่า 3 วัน ที่ซีลถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในสภาพแบบนั้น จนสุดท้ายทนายความฝั่งของผู้ชุมนุมถึงขั้นยืนกรานต่อผู้พิพากษาว่า "นี่ไม่ใช่การตัดสินคดีอีกต่อไปแล้ว แต่นี่มันคือห้องทรมาณแบบในยุคกลาง"
1
เมื่อได้รับแรงกดดันมากๆเข้า ผู้พิพากษาจึงตัดสินว่าการนำตัวของซีลมาพิจารณาในคดีนี้เป็นความผิดพลาด ให้แยกไปพิจารณาคดีอื่นๆในภายหลัง ซีลจึงถูกนำตัวออกไปจากการพิจารณาในคดีนี้
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จึงได้เกิดมุมมองขึ้นมาแบบหนึ่งว่า อัยการจับซีลขึ้นศาลพร้อมกับผู้ชุมนุมอีก 7 คน เพียงเพราะจะทำให้อีก 7 คนที่เหลือดูมีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว (เพราะซีลเป็นคนเดียวที่ผิวดำ แถมยังมีคดีฆาตกรรมติดตัว)
นั่งจึงทำให้ 'The Chicago 8' ได้กลายมาเป็น 'The Chicago 7' ในที่สุด
(การโต้กลับของฝั่งผู้ชุมนุม)
การพิจารณาคดีนั้นถูกดำเนินไปเรื่อยๆ ระหว่างพิจารณาคดี ฝั่งของผู้ชุมนุมได้รับการยั่วยุจากอัยการเอง หรือแม้กระทั่งจากผู้พิพากษาเอง เมื่อฝั่งของผู้ชุมนุมพยายามที่จะเถียงสู้ พวกเขาก็โดนข้อหาหมิ่นศาลกันเป็นว่าเล่น
แน่นอนว่าเมื่อเจอแบบนี้ก็ย่อมมองออกในทันที "ศาลตัดสินให้เราผิดไปแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เริ่มพิจารณาคดีด้วยซํ้า!" ความในใจของผู้ชุมนุม
แต่แล้ววันหนึ่ง พวกผู้ชุมนุมก็ได้พยานปากสำคัญที่สามารถพลิกชะตาชีวิต และสามารถทำให้พวกเขาชนะคดีได้เลย เมื่ออดีตอัยการสูงสุดอย่าง 'แรมซีย์ คลาร์ก' นั้นตกลงที่จะขึ้นให้การในชั้นศาล และจะ'แฉ'ความลับของรัฐบาลต่อคดีนี้
Ramsey Clark อดีตอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (ซ้ายในหนัง ขวาตัวจริง)
แต่สุดท้ายผู้พิพากษาไม่อนุญาติให้คลาร์กขึ้นให้การต่อหน้าคณะลูกขุนซะงั้น คลาร์กจึงทำได้แค่ให้การลอยๆโดยไม่มีคณะลูกขุนรับฟัง
(อันนี้เป็นเนื้อหาจากในหนัง ซึ่งผมไม่สามารถหาคำให้การของจริงได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะต่างจากของจริงซักเท่าไหร่)
"ผมได้คุยกับประธานาธิบดีลินดอร์น จอห์นสัน(อดีตประธานาธิบดีในสมัยที่เกิดการชุมนุมขึ้น)หลังจากเหตุปะทะในการชุมนุม เขาโทรมาถามผมว่าคิดจะฟ้องเอาผิดผู้ชุมนุมหรือไม่ ผมก็เลยตอบไปว่า 'ไม่' เนื่องด้วยจากการสืบสวนของเราแล้ว พวกเราได้ข้อสรุปว่า ความรุนแรงทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากฝั่งของ'เจ้าหน้าที่รัฐ' ไม่ใช่ฝั่งของผู้ชุมนุม"
แน่นอนว่านี่เป็นคำให้การที่มีนํ้าหนักมากๆ ถ้าคณะลูกขุนได้ฟังคำให้การของคลาร์กเข้า อาจจะทำให้ผู้ชุมนุมนั้นชนะคดีได้เลย เพียงแต่ว่าผู้พิพากษานั้นก็รับรู้และแก้เกมได้ทัน
ในสมัยของรัฐบาลและอัยการชุดเก่านั้น พวกเขาตัดสินใจที่จะไม่สั่งฟ้องเนื่องจากพบว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้'ถูกกระทำ' แต่พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลและอัยการชุดใหม่ พวกเขาตัดสินใจฟ้องเอาผิดผู้ชุมนุมซะงั้น จุดนี้เองที่กลายเป็นคำครหาให้กับรัฐบาลชุดใหม่ว่า 'แค่อยากจะเอาผิดผู้ชุมนุมให้ได้' ก็เท่านั้น
เมื่อถูกตัดแข้งตัดขามากๆ และมองไม่เห็นถึงหนทางชนะคดี ฝั่งผู้ชุมนุมเองก็ตัดสินใจที่จะ'ทำตัวบ้าๆ'ไปเลย จะได้เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ ผู้คนจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในการพิจารณาคดี
อย่างบางคนนั้นแต่งตัวใส่ชุดคลุมเลียนแบบผู้พิพากษา พอโดนสั่งให้ถอดออก ข้างในก็ดันใส่ชุดตำรวจอีกที เรียกเสียงฮาของคนภายในศาลได้เป็นอย่างดี หรือจะเป็นการนำธงเวียดนามฝั่งใต้มาวางประดับไว้บนโต๊ะ หรือที่พีคที่สุดบางคนนั้นก็เปิดหน้าฉะกับผู้พิพากษาตรงๆจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว
2
"เด็กทุกๆคนในโลกนี้เกลียดท่านเพราะสิ่งที่ท่านเป็น แล้วรู้ไหมท่านเป็นอะไร? ท่านเป็นเหมือนร่างทรงของ 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์'" หนึ่งในคำพูดของฝั่งผู้ชุมนุมที่เปิดหน้าแลกกับผู้พิพากษาตรงๆ
1
(ผลการตัดสิน)
เมื่อผู้พิพากษาปักธงเชื่อไปตั้งแต่แรกแล้วว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้กระทำผิด มันก็ยากที่จะพลิกสถานการณ์ใดๆได้สำหรับฝั่งของผู้ชุมนุม
หลังจากพิจารณาคดีอยู่หลายเดือน สุดท้ายแล้วผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนก็ได้ตัดสินว่าพวกผู้ชุมนุมทุกคน'มีความผิด' ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1970
และถ้าพ่วงด้วยข้อหาหมิ่นประมาทศาลแล้ว ที่รวมกันมากกว่า 159 ครั้ง (ใช่ครับ ฝั่งผู้ชุมนุมและทนายความของพวกเขา โดนข้อหาหมิ่นประมาทศาลไปรวมกัน 159 ครั้ง) แต่ละคนจะต้องติดคุกเพิ่มตั้งแต่ 2 เดือน ไปจนถึง 48 เดือน (4 ปี) ซึ่งนับว่าต้องติดคุกหัวโตกันเลยทีเดียว
1
จากผลการตัดสินคดีในครั้งนี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความ'อยุติธรรม'ที่เกิดขึ้น และนั่นได้นํามาสู่แรงกดดันจากมวลชนมหาศาลถึงความ'โปร่งใส'ของกระบวนการยุติธรรมและขององค์กรอิสระ
"ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย!"
1
"ปล่อยเพื่อนเรา(ทั้ง 7 คน)ได้แล้ว ไอ้เ%ี้ย!!"
1
(เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน)
เมื่อได้รับแรงกดดันจากมวลมหาประชาชนมากๆเข้า สุดท้ายศาลอุทธรณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้'กลับคำตัดสิน'ของการพิจารณาคดีครั้งนั้นในอีก 2 ปีต่อมา
ผู้ชุมนุมที่เคยถูกตัดสินให้มีความผิดและต้องโทษจำคุกอยู่ ได้พ้นจากความผิดทุกข้อกล่าวหา และได้กลายเป็นผู้มิใดมีมลทินมัวหมองแต่อย่างใด
1
อัยการสหรัฐได้ล้มเลิกความคิดที่จะเอาผิดผู้ชุมนุมอีก
1
ศาลอุทธรณ์นั้นยังค้นพบอีกว่า ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนมีทัศนคติที่ตรงกันข้ามกับผู้ชุมนุม และประพฤติตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ชุมนุมตลอดการพิจารณาคดี ดังนั้นฮอฟฟ์แมนจึงไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในฐานะผู้พิพากษาของการพิจารณาคดีในครั้งนั้น
1
หนำซํ้า จากการทำแบบสำรวจ ทนายความกว่า 78% ที่ประจำเมืองชิคาโก้ โหวตให้ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนนั้น 'ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้พิพากษา'
1
สุดท้ายแล้ว การต่อสู้ในครั้งนี้จึงได้กลายมาเป็นชัยชนะของประชาชนในที่สุด..
"เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร.."
" For the People "
(บทส่งท้าย)
ผมเคยเขียนเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว แต่จะเขียนเจาะไปที่ตัวหนังเป็นหลัก เลยไม่สามารถบ่นอะไรได้มากมายกลัวว่าจะสปอยผู้อ่าน แต่ครั้งนี้ผมอยากเขียนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นบ้าง จึงได้เขียนจัดไปแบบยาวๆ ถ้าชอบฝากกดติดตามด้วยนะครับผม
=/\= (ยกมือไหว้)
ตัวอย่างหนัง (เผื่อใครสนใจจะไปดูเอง)
โฆษณา