6 พ.ค. 2021 เวลา 09:23 • ท่องเที่ยว
"ทัชมาฮาล" อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
เมื่อมาถึงอินเดียแล้ว ถ้ายังไม่ได้เยี่ยมชมความงามของ ทัชมาฮาล 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก คงจะเสียดายอย่างแน่นอน ดังนั้นการทัศนศึกษาที่ผู้เขียนมาในครั้งนี้ จึงได้มาชม ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่นี้ด้วย
เครดิตภาพ: Dr. TC
ประวัติ ทัชมาฮาล
ทัชมาฮาล หรือ ตาชมหัล (Taj Mahal) แปลว่า มงกุฏของวัง เป็นอาคารฝังศพสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวงาช้าง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำทางใต้ของแม่น้ำยมุนา ในเมืองอัครา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
ทัชมาฮาล มีขนาดใหญ่ถึง 42 เอเคอร์ หรือประมาณ 107 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 22 ปี เริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1632 โดยความรักของ สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ จาฮาน กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ โมกุล (ครองราชย์ ค.ศ.1628 ถึง 1658) ที่มีต่อพระนางมุมตัซ มะฮาล พระมเหสีของพระองค์ เพื่อใช้เป็นอนุสาวรีย์ฝังศพของพระมเหสีนั่นเอง
ในวัยเด็กของพระเจ้าชาห์ จาฮาน นั้นเป็นเด็กที่เงียบขรึม สร้างความไม่สบายพระหฤทัยให้กับพระราชบิดาคือ กษัตริย์ญะฮางีร์ เป็นอย่างมาก จนวันหนึ่ง ขณะที่เสด็จประพาสตลาด ได้พบกับเด็กหญิงสาววัย 14 ปี ชื่อว่า “อรชุนด์ พาโน เพคุม” เป็นบุตรสาวของ ฮะซีฟ ข่าน มีเชื้อสายเปอร์เซีย เพียงได้พบกันครั้งแรก เจ้าชายชาห์ จาฮานก็เกิดรักแรกพบขึ้นที่ตลาดในทันที
หลังจากนั้นก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเจ้าชายที่มีความสดใสร่าเริง สามปีต่อมา พิธีอภิเษกสมรสก็ได้ถูกจัดขึ้น ในปี ค.ศ. 1612 และได้พระราชทานนามใหม่ให้กับ อรชุนด์ พาโน เพคุม ว่า “มุมตัซ มะฮาล” ซึ่งแปลว่า อัญมณีแห่งปราสาท
ตลอดเวลาทั้งสองไม่เคยแยกห่างจากกันเลย จนในปี ค.ศ. 1628 เจ้าชายชาห์ จาฮาน เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์ ก็มีพระนางมุมตัซ มะฮาล เป็นพระมเหสี ทรงเป็นที่ปรึกษา และมีส่วนในการปกครองบ้านเมือง ช่วยทรงงานต่างๆ และทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป
พระนางมุมตัซ มะฮาล ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 14 พระองค์ หลังจากทรงให้กำเนิดพระราชโอรสองค์สุดท้าย ได้เสด็จร่วมทัพกับพระสวามี แต่ระหว่างทางที่เสด็จกลับ พระนคร พระนางมุมตัซ มะฮาลทรงประชวรหนัก และทรงสิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จกลับ
การเคลื่อนพระศพสู่พระนครนั้นถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ประชาชนผู้ที่อาลัยรักต่างมาร่วมขบวนตลอดเส้นทางจนเป็นขบวนแห่พระศพที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร ตลอดเส้นทางมีการโปรยทานแก่คนยากจน มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เลี้ยงอาหารอย่างเต็มที่เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพระนางมุมตัซ มะฮาล
พระเจ้าชาห์ จาฮาน ทรงตรอมพระหฤทัยเป็นอย่างมาก ไม่เป็นอันทำอะไรเลย และทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์แห่งความรักและคิดถึงขึ้นมา บริเวณหลุมพระศพ ริมฝั่งแม่น้ำ “ยมุนา” ซึ่งในการก่อสร้างนั้น พระเจ้าชาห์ จาฮานทรงโปรดให้ระดมช่างฝีมือ ศิลปิน สถาปนิก ฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด จากหลายๆ ที่ โดยสถาปนิกที่คุมการก่อสร้างคือ “อุสตาด ไอซา” [Ustad Isa]
ใช้ผู้ร่วมออกแบบ ช่างเขียนลวดลาย ช่างแกะสลัก ช่างอิฐ ช่างปูน ช่างตกแต่งต่างๆ รวมประมาณ 20,000 คน ส่วนที่เราเห็นกันโดยทั่วไปนั้นเป็นบริเวณหลุมพระศพของพระนางมุมตัซ มะฮาล ถูกสร้าง โดยใช้หินอ่อนสีขาวนวลบริสุทธิ์ จากเมืองมะครานา
หินอ่อนสีแดง จากฟาตีปุระ เพชรตาแมวจากแบกแดด ประการังและหอยมุกในมหาสมุทรอินเดียและเครื่องประดับต่างๆ มากมายจากมิตรประเทศทั่วทุกสารทิศ ได้รับการยอมรับกันว่าถูกสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่ถูกต้องวิจิตรงดงามที่สุด
นอกจากหลุมพระศพแล้วยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด ขนาดใหญ่ หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกโดยรอบ ทั่วบริเวณจัดเป็นสวนสวยงาม ใช้เวลาก่อสร้างถึง 22 ปี ส่วนสถาปนิกที่คุมการก่อสร้างถูกประหารชีวิต เพราะไม่ต้องการให้ไปออกแบบสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยกว่านี้ได้อีกต่อไป
การสร้างทัชมาฮาลนั้นใช้เงินอย่างมากมายมหาศาล และยังมีการคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งเพื่อเป็นสุสานของตัวเองด้วยหินอ่อนสีดำ ตั้งอยู่อีกฝั่งของ แม่น้ำยมุนาตรงข้ามกับทัชมาฮาล แต่ว่ายังไม่สำเร็จ พระราชโอรสองค์ที่ 3 “ออรังเซป” เห็นว่าถ้าปล่อยต่อไปเงินต้องหมดท้องพระคลังแน่ จึงตั้งตนขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทน
และได้จับ พระเจ้าชาห์ จาฮาน ขังไว้ที่ “อักรา ฟอร์ท” [Agra Fort] ซึ่งสามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ และได้สิ้นพระชนม์ลงที่นี่ ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ.1666 ซึ่งถูกขังอยู่ถึง 8 ปี โดยในแต่ละวัน พระเจ้าชาห์ จาฮาน ก็จะทรงยืนทอดพระเนตรทัชมาฮาล จนวาระสุดท้าย
ส่วนพระศพได้ถูกนำไปฝังไว้เคียงข้างพระมเหสี ตามพระประสงค์ที่ต้องการจะอยู่เคียงข้างกันตราบชั่วนิรันดร์ เล่ากันว่าตอนกษัตริย์ชาห์ จาฮาน ถูกขังอยู่ที่ป้อมอัครา มีพระธิดาองค์หนึ่งคอยปรนนิบัติ อยู่ ก่อนสิ้นใจได้ตรัสให้พระธิดาช่วยประคองพระเศียรขึ้นดูทัชมาฮาลก่อนสวรรคตด้วย
ทัชมาฮาลได้รับสถานะเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี ค.ศ.1983 ในฐานะ "เพชรน้ำเอกของศิลปะมุสลิมในอินเดีย และเป็นหนึ่งในงานชิ้นเอกที่ได้รับการชื่นชมในระดับสากล" และได้รับพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ.2550) ด้วยการโหวตจากประชาชนทั่วโลก กว่า 100 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่มากกว่าปีละ 7 ล้านคน
ซุ้มประตูหน้าทางเข้าทัชมาฮาล    เครดิตภาพ: Dr. TC
การเข้าแถวเพื่อเข้าชมทัชมาฮาล เครดิตภาพ: Dr. TC
การเข้าชมทัชมาฮาลนั้นต้องผ่านการตรวจตราพอสมควรค่ะ ใช้เวลา จึงแนะนำให้ไปแต่เช้า การเข้าชมถ่ายภาพจะได้ไม่ติดคน โดยจุดแรกที่ควรเก็บภาพ คือ ภาพทัชมาฮาล ถ่ายจากทางเข้าหน้าซุ้มประตูใหญ่โดยมีสระน้ำเป็นแนวยาวตรงกลางตรงไปถึงทัชมาฮาล การเดินเข้าในตัวอาคาร ต้องถอดรองเท้า ในภาพจะเห็นคนต่อแถวยาวเพื่อเข้าชมทัชมาฮาลมากเลยค่ะ
เมื่อเราเข้าไปในใจกลางของอาคารทัชมาฮาล จะเป็นสุสานพระศพของพระนางมุมตัซ มะฮาล และพระเจ้าชาห์ จาฮาน เมื่อเข้าบริเวณด้านในห้ามถ่ายรูป ด้านในมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ตรงกลางมีแท่นพระศพตั้งอยู่ ล้อมรอบด้วยฉากแกะสลักจากหินอ่อน ประดับประดาด้วย อัญมณี หลากหลายอย่างสวยงาม
เราสามารถชื่นชมความสวยงามของแท่นพระศพได้ด้วยการมองผ่านฉากที่ล้อมรอบไว้เท่านั้น และที่เห็นนั้นมีแต่หีบศพ ส่วนพระศพจริง ตั้งอยู่ภายในอุโมงค์ด้านล่าง
เมื่อออกมาจากทัชมาฮาล สามารถเดินเที่ยวชมบริเวณรอบๆ ที่จัดเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ได้ค่ะ
ป้อมอัครา      เครดิตภาพ: Dr. TC
เครดิตภาพ: Dr. TC
การเที่ยวชมทัชมาฮาล ต้องไปที่ ป้อมอัครา [Agra Fort] หรือพระราชวังอัครา ด้วย จึงจะครบรส ป้อมอัครา เป็นจุดที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮาน ที่สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ในระยะไกล
พระราชวังอัครา ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการทางการทหาร ซึ่งเป็นป้อมหินทรายสีแดงสุดยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่ห่างจากทัชมาฮาลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 2.5 กิโลเมตร บริเวณกำแพงของป้อมอัครามีความสูงถึง 20 เมตร ยาว 2.5 กิโลเมตร มีความยิ่งใหญ่อลังการมาก ภายหลังได้บูรณะเพิ่มเติมให้เป็นพระราชวังโดยพระเจ้าอักบาร์
ภายในเขตพระราชฐานเต็มไปด้วยศิลปะการแกะสลักอันสวยงาม ทั้งแบบฮินดู เปอร์เซียและพุทธ บริเวณด้านในสุดริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของตำหนัก ดอกมะลิ (Jasmin Palace) สถานที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮาน
สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลัก และประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดาที่มาจากทัชมาฮาล โดยระเบียงจากห้องนี้เองที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันได้ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตในการทอดพระเนตรไปยังทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักที่มีต่อพระมเหสีของพระองค์
เราหวังว่า เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง พวกเรานักท่องเที่ยวคงจะได้ไปสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ สวยงาม อลังการของทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อีกครั้งค่ะ
โฆษณา