4 พ.ค. 2021 เวลา 12:30 • สุขภาพ
ฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19? เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน
2
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่าน 3 ช่องทางคือ
2
1. LINE OA / แอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’
2. โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา
3. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่
4
โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรก คือ
2
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (นับถึง 1 มกราคม 2565)
- ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนัก >100 กิโลกรัมหรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
4
ถึงแม้จะได้ยินกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงแผนการจัดหาวัคซีน ได้ยินแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาสนับสนุนให้ฉีดวัคซีน ฟังเพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงานพูดถึงวัคซีนมาตลอด แต่สิ่งที่หลายคนกำลังตัดสินใจอยู่ตอนนี้คือ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ จะฉีดวัคซีนหรือไม่ รวมถึงจะให้พ่อแม่ของเราฉีดหรือไม่
10
เปรียบเทียบกับ ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’
เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติในประเทศไทยยังใช้กับผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนที่ผู้ใหญ่คุ้นเคยกันมากที่สุดน่าจะเป็น ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ เพราะมีการรณรงค์ให้ฉีดเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ >65 ปี ผู้มีโรคประจำตัว
5
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่คือ
1. ป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อ โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 40-60% ในปีที่สายพันธุ์ในวัคซีนกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงกัน เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ง่ายทำให้มีความหลากหลายของสายพันธุ์
2
2. ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันอาการป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวถึงข้างต้น
2
3. สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มักจะพูดถึงในระดับของครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยงหรือบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าในระดับของประเทศ ซึ่งไม่สามารถฉีดได้เพียงพอ
1
คนอายุ 30 ปีขึ้นไป น่าจะจำการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ (ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) ตอนนี้สายพันธุ์นี้ก็ยังหมุนเวียนอยู่ทั่วโลก เพียงแต่เรามี ‘วัคซีน’ และ ‘ยาต้านไวรัส’ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ต้องกลัวการระบาดอีกต่อไป
1
‘ข้อดี’ ของการฉีดวัคซีนโควิด-19
กลับมาที่วัคซีนโควิด-19 ประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีนก็เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 ข้อ เพียงแต่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในข้อ 3 มีเป้าหมายถึงระดับประเทศ เดิมกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้า 50% ภายในปีนี้ แต่เพิ่งเปลี่ยนเป็น 70% เมื่อมีการระบาดระลอกเมษายนนี้
4
เนื่องจากวัคซีนหลักในแผนการจัดหาวัคซีนของไทย คือวัคซีน AstraZeneca (จำนวน 61 ล้านโดส = 61%) ผมจึงขอพูดถึงประโยชน์ 3 ข้อของวัคซีนบริษัทนี้เป็นหลัก
1
1. ป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อ
ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ทดลอง และระยะเวลาที่มีการติดตามอาสาสมัคร ถ้าอ้างอิงจากผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามี
1
ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเท่ากับ 66.7%
ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบ (รวมการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ) 54.1%
ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 2 เพิ่มขึ้นจาก 55.1% เป็น 81.3% ถ้าเว้นระยะห่างระหว่างเข็มนานขึ้นจาก <6 สัปดาห์ เป็น >12 สัปดาห์ (3 เดือน)
นอกจากนี้ยังพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรก หลังฉีดไปแล้ว 3 สัปดาห์-3 เดือนเท่ากับ 76.0%
5
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในประเทศแอฟริกาใต้ค่อนข้างต่ำ ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร New England พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง 21.9% และเมื่อวิเคราะห์เฉพาะสายพันธุ์ B.1.351 พบว่ามีประสิทธิภาพ 10.4%
2
2. ลดความรุนแรงของโรค
ปัจจุบันอัตราป่วยเสียชีวิตของโควิด-19 ทั่วโลกเท่ากับ 2.1% หมายถึงผู้ติดเชื้อทุกๆ 100 รายจะมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่วนประเทศไทยในระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 มีอัตราป่วยเสียชีวิต 0.4% แต่ตัวเลขอาจมากกว่านี้หากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข
2
ความรุนแรงของโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามอายุและโรคประจำตัว โดยจากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าปัจจัยต่อไปนี้เพิ่ม ‘ความเสี่ยง’ ต่อการนอนโรงพยาบาลด้วยโควิด-19 เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 6.31 เท่า
โรคไต 7.43 เท่า
สูบบุหรี่ 5.12 เท่า
เบาหวาน 3.36 เท่า
โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.15 เท่า
โรคปอด 2.38 เท่า
ภาวะอ้วน 2.04 เท่า
แต่จากผลการศึกษาประสิทธิภาพที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet รอบเดียวกัน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% โดยกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลทั้งหมด 15 ราย
7
ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่าการฉีดวัคซีนนี้จะสามารถป้องกันอาการป่วย (ประสิทธิภาพประมาณ 70%) และอาการรุนแรงได้ โดยการแปลผลที่ถูกต้องคือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถ ‘ลด’ อาการป่วยจากการติดเชื้อได้ 70% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ‘ไม่ไช่’ ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ 30%
3
3. สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
โดยทฤษฎีแล้วระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะสามารถหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้คือ 50-66.6% (คำนวณจากค่า R 2.0-3.0) จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลดลงในประเทศอิสราเอล ซึ่งฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม มากกว่า 50% ของประชากรทำให้ทุกคนมีความหวังเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่
ส่วนสหราชอาณาจักรมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 50% (ส่วนใหญ่เป็นวัคซีน AstraZeneca) ก็มีจำนวนผู้ป่วยลดลงเช่นกัน โดยมีผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ทั้งวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca สามารถ ‘ลด’ การแพร่เชื้อให้กับสมาชิกในบ้านเดียวกันได้ถึง 40-50%
1
‘ข้อเสีย’ ของการฉีดวัคซีนโควิด-19
ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะตัดสินใจฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ไปแล้ว แต่ผู้ที่จะฉีดวัคซีนหรือกำลังตัดสินใจอยู่ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านว่าวัคซีนมีข้อดี-ข้อเสียในระดับ ‘บุคคล’ อย่างไร เพราะแน่นอนว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ในระดับ ‘ประเทศ’
4
ข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (MHRA) สหราชอาณาจักรระบุว่า วัคซีน AstraZeneca ใช้สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีข้อห้ามฉีดคือ
1
- มีภาวะแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน
- เคยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีน (VITT) หรือจากยาเฮพาริน (HIT)
2
ผลข้างเคียงของวัคซีน AstraZeneca ที่พบระหว่างการทดลองเฟส 3 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1
- พบบ่อยมาก (มากกว่า 1 ใน 10 คน) ปวดบริเวณที่ฉีด, อ่อนเพลีย, ไข้/หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ปวดกล้ามเนื้อ/ข้อ
- พบบ่อย (1 ใน 10 คน) บวม/แดงบริเวณที่ฉีด, อาเจียนหรือท้องเสีย, อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง, เจ็บคอ, น้ำมูกไหล, ไอ
- พบไม่บ่อย (1 ใน 100 คน) เวียนศีรษะ, เบื่ออาหาร, ปวดท้อง, ต่อมน้ำเหลืองโต, เหงื่อออก, ผื่นคัน
- ยังไม่ทราบแน่ชัด (ไม่มีข้อมูล) ภาวะแพ้รุนแรง
6
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมักไม่รุนแรง ตามธรรมชาติของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน และสามารถรับประทานยาบรรเทาอาการได้
ส่วนภาวะ VITT พบน้อยมาก จากรายงานในสหราชอาณาจักรพบ 4 รายต่อวัคซีน 1 ล้านโดส และพบในผู้มีอายุน้อย เมื่อพิจาณาประโยชน์-โทษจากวัคซีนแล้ว คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (JCVI) จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ฉีด ‘วัคซีนทางเลือก’ ถ้าเป็นไปได้
2
ภาพเปรียบเทียบ ‘ข้อดี’ ของวัคซีนคือการป้องกันอาการรุนแรงจนต้องรักษาในห้อง ICU (สีฟ้า) กับ ‘ข้อเสีย’ รุนแรงของวัคซีน (สีส้ม) ตามกลุ่มอายุ ซึ่งพบว่าวัคซีนมีประโยชน์มากอย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป (อ้างอิง: MHRA)
‘วัคซีนโควิด-19’ ที่ดีที่สุดคือวัคซีน…
ผลการสำรวจของกรมควบคุมโรค (DDC Poll) ในเดือนเมษายน 2564 พบว่าประชาชน 54.2% ต้องการฉีดวัคซีน สิ่งที่รัฐบาล/กระทรวงสาธารณสุขต้องทำคือจัดหาวัคซีนที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งแผนการจัดหาวัคซีนล่าสุด (27 เมษายน 2564) จะมี
วัคซีนที่จัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งน่าจะฉีดครบก่อนมิถุนายนนี้ และวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดสจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่จะส่งมอบในเดือนมิถุนายนนี้
วัคซีนที่กำลังจัดซื้อเพิ่มเติม ได้แก่ วัคซีน Pfizer, Sputnik V, Johnson & Johnson และ Sinovac อีกบริษัทละ 5-10 ล้านโดส
การตัดสินใจ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ ควรอยู่บนหลักการประเมินข้อดี-ข้อเสียของวัคซีนนั้นๆ ซึ่งสำหรับผมวัคซีนที่ดีที่สุดคือนอกจากจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียแล้ว ต้องเป็นวัคซีนที่จะได้รับเร็วที่สุดด้วย เพราะยิ่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้เร็วเท่าไร เราก็จะดำเนินชีวิตตามปกติและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นเท่านั้น
แต่ต้องยอมรับว่าวัคซีนทุกบริษัทในขณะนี้มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่จำกัด เพราะปกติแล้ววัคซีนจะต้องผ่านการติดตามในการทดลองเฟส 3 อย่างน้อย 2 ปี แต่วัคซีนโควิด-19 ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด เราจึงยังต้องติดตามผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนต่อไป
1
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
เรื่อง: นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก
อ้างอิง:
- Safety and efficacy of the ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222) against SARS-CoV-2: an interim analysis of four randomised controlled trials in Brazil, South Africa, and the UK https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)32661-1/fulltext
- Single-dose administration and the influence of the timing of the booster dose on immunogenicity and efficacy of ChAdOx1 nCoV-19 (AZD1222) vaccine: a pooled analysis of four randomised trials https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)00432-3/fulltext
- Efficacy of the ChAdOx1 nCoV-19 Covid-19 Vaccine against the B.1.351 Variant https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2102214
- One dose of COVID-19 vaccine can cut household transmission by up to half https://www.gov.uk/government/news/one-dose-of-covid-19-vaccine-can-cut-household-transmission-by-up-to-half
- New SARS-CoV-2 Variants — Clinical, Public Health, and Vaccine Implications https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMc2100362
- Risk Factors for Hospitalization and Mortality due to COVID-19 in Espírito Santo State, Brazil https://www.ajtmh.org/view/journals/tpmd/103/3/article-p1184.xml
- MHRA issues new advice, concluding a possible link between COVID-19 Vaccine AstraZeneca and extremely rare, unlikely to occur blood clots https://www.gov.uk/government/news/mhra-issues-new-advice-concluding-a-possible-link-between-covid-19-vaccine-astrazeneca-and-extremely-rare-unlikely-to-occur-blood-clots
2
โฆษณา