4 พ.ค. 2021 เวลา 13:30 • สุขภาพ
ฝึกหายใจ สู้!โควิด
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทย ณ ตอนนี้เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นทุกวัน มีทั้งผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ และแสดงอาการ ซึ่งหนึ่งในอาการที่แสดงออกมาคือ หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มอิ่ม หอบเหนื่อยง่าย เนื่องจากมีการติดเชื้อที่ปอดจนทำให้ปอดอักเสบ และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนแก๊สในถุงลมปอดลดลง
ดังนั้น การรักษาทางกายภาพบำบัด จึงมีเทคนิคการฝึกหายใจ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของปอดและทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิดก็สามารถฝึกหายใจตามได้ โดยประโยชน์ของการฝึกหายใจคือ
1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด เพิ่มการระบายอากาศภายในปอด ทำให้ปอดสามารถแลกเปลี่ยนแก๊สในถุงลมได้ดียิ่งขึ้น
2. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ เป็นการลดแรงที่ใช้ในการหายใจ ช่วยให้หายใจง่ายขึ้น หายใจเต็มอิ่มขึ้น
3. เพิ่มการเคลื่อนไหวของทรวงอก ซึ่งเป็นที่อยู่ของปอด
4. ป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ
เทคนิดที่ใช้ในการฝึกหายใจ
1. การฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragmatic breathing) สามารถทำได้ทั้งท่านอนและท่านั่ง ในท่านอนให้นอนหงาย ชันเข่าขึ้น จัดตำแหน่งเชิงกรานหมุนให้หลังแนบพื้น ส่วนในท่านั่ง ให้นั่งตัวตรงชิดติดพนักพิง เท้าวางบนพื้อทั้ง 2 ข้าง จากนั้นนำมือข้างหนึ่งวางบนหน้าอก มืออีกข้างวางบนหน้าท้อง
สูดลมหายใจเข้าลึกทางจมูก ให้ท้องป่องดันมือขึ้นมา แลัวผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆจนท้องยุบลง
2. การฝึกหายใจโดยเพิ่มการขยายตัวของปอดส่วนล่าง (Lower costal breathing) สามารถทำได้ทั้งท่านอนและท่านั่ง เช่นเดียวกับการฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม ให้นำมือทั้ง 2 ข้างวางประกบที่ชายโครง
สูดลมหายใจเข้าลึกทางจมูก ให้ซี่โครงขยายตัวดันมือออกมา แลัวผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆจนซี่โครงยุบกลับตามเดิม
3. การฝึกหายใจร่วมกับการเคลื่อนไหวทรวงอก (Chest mobilization technique)
ท่าที่ 1 ยืดทรวงอกส่วนบน โดยนั่งตัวตรง หมุนจัดตำแหน่งเชิงกรานไม่ให้หลังค่อมหรือแอ่นจนเกินไป นำมือทั้ง 2 ข้างประสานท้ายทอย สูดลมหายใจเข้าลึกทางจมูกพร้อมกับกางศอกทั้ง 2 ข้างออก และผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆพร้อมกับหุบศอกเข้า
ท่าที่ 2 ยืดทรวงอกด้านข้าง โดยนั่งยกแขนขึ้นหนึ่งข้าง สูดลมหายใจเข้าลึกทางจมูกพร้อมกับเอียงตัวไปด้านตรงข้ามกับแขนข้างที่ยกขึ้น และผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆพร้อมกับขยับตัวกลับมาตรงกลาง ทำทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
ท่าที่ 3 ยืดทรวงอกด้านหน้าและหลัง สูดลมหายใจเข้าลึกทางจมูกพร้อมกับยกแขนทั้ง 2 ข้างชูขึ้นเหนือหัว และผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆพร้อมกับก้มตัวลง การฝึกหายใจท่านี้ควรระวังในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ให้ก้มและเงยตัวช้าๆ ไม่รีบทำ
4. การฝึกหายใจแบบเป่าปาก (Pursed-lip breathing) เป็นเทคนิคการหายใจที่มัก ใช้ฝึกร่วมกับการหายใจเทคนิคอื่น โดยขณะหายใจออกจะให้ทำปากเป็นรูปตัวโอ ‘O’ และผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ และนานเท่าที่ทำได้ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถช่วยลดการตีบแคบของทางเดินหายใจได้อีกด้วย
การฝึกหายใจแต่ละเทคนิค ต้องระวังขณะหายใจเข้า ไม่ควรพยายามหายใจเข้าลึกและแรงมากจนเกร็งคอ ยักไหล่ หรือยกหน้าอกขึ้นมา เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ตามมาได้ ให้หายใจเข้าลึกแบบสบายๆ เท่าที่ทำได้ และไม่ควรหายใจออกมาแรงๆ ควรแบ่งการฝึกหายใจเป็นชุด เริ่มต้นชุดละ 3-5 รอบของการหายใจ มากสุดไม่เกิน 10 รอบของการหายใจ และจัดให้มีการพักระหว่างชุด สามารถฝึกซ้ำได้ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
1
ระหว่างการฝึกหายใจ หากมีอาการ หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น ให้พยุดพัก หากหยุดพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ทันที
ยืดเหยียดสันหลังยาว by Mint physiotherapist ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤต Covid-19 นี้ไปให้ได้ค่ะ ❤️
อ่านบทความย้อนหลัง “หายใจผิด ชีวิตเปลี่ยน” ได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/6033c00d72e4040834239da4
โฆษณา