Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่ายานยนต์
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2021 เวลา 08:20 • ยานยนต์
#EP14 การเลือกน้ำมันเกียร์อัตโนมัติให้เหมาะกับรถคุณ
น้ำมันเกียร์เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่จะหล่อเลี้ยงดูแลชุดเกียร์ให้มีการทำงานที่ถูกต้องแม่นยำ ให้ความรู้สึกที่ดีในการขับรถ แต่ถ้าน้ำมันเกียร์ถูกเลือกใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของเกียร์แล้ว ผลที่ตามมาจะเกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะเกียร์นั้นมีผลต่ออัตราเร่ง การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง กำลังเครื่องยนต์ และที่สำคัญที่สุดอาจถึงขั้นเกียร์ชำรุด เกียร์ไม่ยอมเปลี่ยนเลยครับ
เกียร์อัตโนมัติแบบธรรมดาทั่วไปในปัจจุบันนี้มีใช้อย่างแพร่หลายในรถ Pickup, PPV และรถเก๋งนั่ง แต่จะแตกต่างกันที่จำนวน Speed ของอัตราทดกำลัง โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นกันที่ 4-5 Speed แต่ถ้ารถที่เน้นสมรรถนะและมีราคาแพงขึ้นมาอีกระดับแล้วจะใช้เกียร์ที่ 6-8 Speed ในปัจจุบันรถ Ford Ranger และ Ford Everest ใช้เกียร์แบบ 10 Speed ครับ จุดเด่นของเกียร์ประเภทนี้คือโครงสร้างไม่ซับซ้อน ส่วนประกอบหลักๆประกอบด้วย Torque converter, Planetary gears, Clutch & Brake bands และ Hydraulic system
น้ำมันเกียร์สำหรับเกียร์แบบ AT(Automatic Transmission)จะเรียกว่า “ATF” (Automatic Transmission Fluids) จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถดูแลอุปกรณ์ต่างๆได้ดีนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
• มีค่าดัชนีความหนืดสูง(High viscosity index)
• มีค่าความฝืดที่เหมาะสม(Friction characteristics)
• ป้องกันการสึกหรอและรับแรงกดอัด(Load carrying and EP & anti-wear)
• ป้องกันการกัดกร่อน(Corrosion control)
• ป้องกันการเกิดฟอง(Anti-foam)
• ป้องกันการเกิดยางเหนียว(Thermal and oxidative stability)
• ไหลที่อุณหภูมืต่ำ ๆได้ดี(Low temperature fluidity)
เกียร์แบบ CVT มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ Primary Pulley, Secondary Pulley, Pushing V-Belt, Final drive gearing, Hydraulic pump, Forward/Reverse clutch packs ซึ่งสายพาน(V-Belt) จะทำด้วยแผ่นเหล็กอัดซ้อนกัน เมื่อมีการส่งกำลังขับผ่านชุดสายพานและพูลเลย์นั้นจะเกิดความร้อนและการสึกหรอมากที่สุดที่บริเวณผิวสัมผัสของชิ้นส่วนทั้งสอง
น้ำมันเกียร์ที่เกียร์แบบ CVT นั้นจะเรียกว่า “CVTF” (Continuously Variable Transmission Fluids) โดยจะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถดูแลอุปกรณ์ต่างๆได้ดีนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
• ไม่กัดกร่อนซีล(Seal compatibility)
• มีค่าความฝืดที่เหมาะสม(Friction characteristics)
• ป้องกันการสึกหรอและรับแรงกดอัด(Load carrying and EP & anti-wear)
• ป้องกันการกัดกร่อน(Corrosion control)
• ป้องกันการเกิดฟอง(Anti-foam)
• ป้องกันการเกิดยางเหนียว(Thermal and oxidative stability)
• ไหลที่อุณหภูมืต่ำ ๆได้ดี(Low temperature fluidity)
ส่วนประกอบหลักของเกียร์แบบ DCT คือ Clutch pack Inner/Outer, Outer Transmission gear shaft, Inner Transmission gear shaft, Hydraulic system control
เกียร์แบบ DCT มีสองแบบคือแบบแห้ง(Dry) และแบบเปียก(Wet) ซึ่งแบบแห้งนั้นจะไม่มีน้ำมันแช่ในชุดคลัตช์คู่(Dual clutch) ทำให้น้ำมันเกียร์จะทำหน้าที่หล่อลื่นเฉพาะชุดเฟืองเกียร์และระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่เป็นไฮดรอลิก แต่ถ้าเป็นเกียร์ Dual Clutch แบบเปียก(Wet) น้ำมันเกียร์จะเข้าไปหล่อลื่นและช่วยระบายความร้อนในชุดคลัตช์ทั้งสองชุดด้วย
น้ำมันเกียร์ที่ใช้ในเกียร์แบบ DCT นั้นจะเรียกว่า “DCTF” (Dual Clutch Transmission Fluids) จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถดูแลอุปกรณ์ต่างๆได้ดีนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
• มีค่าดัชนีความหนืดสูง(High viscosity index)
• ไม่กัดกร่อนซีล(Seal compatibility)
• มีค่าความฝืดที่เหมาะสม(Friction characteristics)และลดเสียงดัง(Anti-shudder)
• ป้องกันการสึกหรอและรับแรงกดอัด(Load carrying and EP & anti-wear)
• ป้องกันการกัดกร่อน(Corrosion control)
• ป้องกันการเกิดฟอง(Anti-foam)
• ป้องกันการเกิดยางเหนียว(Thermal and oxidative stability)
• ไหลที่อุณหภูมืต่ำ ๆได้ดี(Low temperature fluidity)
จากตารางเปรียบเทียบความต้องการคุณสมบัติด้านต่างๆในการดูแลรักษาชิ้นส่วนในเกียร์แต่ละประเภทนั้นพบว่า
• น้ำมันเกียร์ DCTF นั้นโดดเด่นมากในเรื่องความต้องการการดูแลรักษาแผ่นคลัตช์ให้ทนทาน(Durability)และการลดเสียงดัง/สะท้าน(Anti-Shudder)***, ความเสถียรของแผ่นคลัตช์ให้มีความฝืดคงที่(Stable Shifting Clutch Friction), ฟิล์มน้ำมันมีความทนทานต่อแรงเฉือน(Shear Stability), ทนทานต่อความร้อน ลดการเกิดยางเหนียว(Thermal/Oxidation Stability), ลดการสึกหรอของเฟืองเกียร์(Anti-wear)และไหลได้ดีที่อุณหภูมิเย็น(Low Temperature)
• น้ำมันเกียร์ CVTF นั้นโดดเด่นมากในเรื่องต้องการการดูแลรักษาแผ่นคลัตช์ให้ทนทาน(Durability)และการลดเสียงดัง/สะท้าน(Anti-Shudder)**, ฟิล์มน้ำมันมีความทนทานต่อแรงเฉือน(Shear Stability), ลดการสึกหรอของเฟืองเกียร์(Anti-wear)และลดการเกิดฟอง(Inhibiting Foam)
• น้ำมันเกียร์ ATF นั้นโดดเด่นมากในเรื่องต้องการการดูแลรักษาแผ่นคลัตช์ให้ทนทาน(Durability)และการลดเสียงดัง/สะท้าน(Anti-Shudder)**, ทนทานต่อความร้อน ลดการเกิดยางเหนียว(Thermal/Oxidation Stability)และไหลได้ดีที่อุณหภูมิเย็น(Low Temperature)
1
ความหนืด(Viscosity)ของน้ำมันเกียร์เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่ออัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์และความสามารถในการส่งถ่ายกำลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์ ดังนั้นมาตรฐานน้ำมันเกียร์รุ่นใหม่ๆ จึงเน้นไปที่ค่าความหนืด(Viscosity)ให้มีค่าใสลงมากๆ เช่น
• เดิมน้ำมันเกียร์อัตโนมัติทั่วๆไป(Conventional ATF) จะมีค่าความหนืดอยู่ที่ KV 7-8 cSt @100C หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนมาตรฐานความหนืดเป็นแบบ Low Viscosity ATF โดยลดค่าความหนืดลงมาที่ KV 5.5-6.2 cSt @100C ตัวอย่างมาตรฐานกลุ่มนี้คือ Dexron VI, Mercon LV, Toyota WS, Honda DW-1, Nissan Matic S, Mitsubishi SP-IV, MB 236.14, ZF Lifeguardfluid8 และล่าสุดมีการกำหนดมาตรฐานค่าความหนืดเป็นแบบ Ultra Low Viscosity ATF กำหนดค่าความหนืดให้เหลือเพียง KV 4.3 cSt@100C เท่านั้น ตัวอย่างมาตรฐานกลุ่มนี้คือ MB 236.15 และ MB 235.16
• ค่าความหนืดของน้ำมันเกียร์แบบ Dual Clutch (DCTF) จะมีค่าความหนืดอยู่ในช่วง KV 6.4-7.5 cSt@100C
• ค่าความหนืดของน้ำมันเกียร์แบบ CVT (CVTF) จะมีสองมาตรฐานคือมาตรฐานดั้งเดิมจะมีค่าความหนืด KV 7.2 cSt@100C และมาตรฐานใหม่จะมีค่าความหนืดอยู่ในช่วง KV 5.3-6.2 cSt@100C ตัวอย่างมาตรฐานกลุ่มนี้คือToyota FE และ Nissan NS-3
1
อเมริกามีค่ายรถหลักๆ อยู่สามค่าย ที่ใหญ่สุดคือ ค่าย GM รองลงมาคือ ค่าย Ford และค่าย Chrysler(Jeep) มาตรฐานน้ำมันเกียร์อัตโนมัติในเมืองไทยเราที่คุ้นเคยกันดีนั้นจะเป็นมาตรฐานน้ำมันเกียร์ของค่าย GM ซึ่งชื่อที่ติดหูช่างมากที่สุดคือมาตรฐาน “DEXRON” ถ้าดูจาก Timeline แล้วมาตรฐานล่าสุดของค่าย GM คือมาตรฐาน “DEXRON VI” ซึ่งมาตรฐานนี้จะมีค่าความหนืดใสมากประมาณ KV 6.4 max. cSt@100C แต่ถ้าเป็นมาตรฐาน “DEXRON IIIH” ซึ่งเป็นมาตรฐานเก่ากว่าจะมีค่าความหนืดมากกว่าคือ KV 6.8 min. cSt@100C
ส่วนค่าย Ford จะใช้ชื่อมาตรฐานน้ำมันเกียร์ว่า “MERCON” โดยมาตรฐานนี้จะแตกย่อยออกไปหลายค่าความหนืด เช่น
• Mercon SP มีค่าความหนืด KV 5.5-6.0 cSt@100C
• Mercon LV มีค่าความหนืด KV 6.0 cSt@100C
• Mercon V มีค่าความหนืด KV 6.8 min. cSt@100C
และสุดท้ายค่าย Chrysler(Jeep)จะใช้ชื่อมาตรฐานน้ำมันเกียร์ว่า “ATF+4” โดยจะมีค่าความหนืดอยู่ในช่วง KV 7.3-7.8 cSt@100C
ทางฝั่งยุโรปนั้นประเทศเยอรมันถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการผลิตเกียร์ส่งกำลังมากที่สุด ฉะนั้นผู้ผลิตหลักๆจะประกอบไปด้วย “ZF” เป็นบริษัทที่ผลิตเกียร์เป็นสินค้าหลักมีค่ายรถชั้นนำในยุโรปหลายๆค่ายเลือกที่จะใช้เกียร์ของ ZF ไปใส่ในรถของพวกเขาเยอะมาก. เกียร์ “Voith” เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ผลิตเกียร์ขนาดใหญ่โดยเน้นนำไปใช้ในรถเพื่อการพาณิชย์. ส่วนค่ายรถ “Mercedes Benz” จะมีแผนกหนึ่งทำหน้าที่พัฒนาเกียร์เพื่อใช้เองโดยนำไปใช้ในรถยนต์นั่งทั่วไปเป็นหลัก และ ค่ายรถ “MAN” เป็นอีกค่ายหนึ่งที่พัฒนาเกียร์เพื่อใช้กับรถเพื่อการพาณิชย์ของตนเอง
ทางญี่ปุ่นเองได้แบ่งมาตรฐานน้ำมันเกียร์ออกเป็นสองมาตรฐานคือมาตรฐานกลาง(Industrial specification)และมาตรฐานผู้ผลิตรถ(OEM specification) มาตรฐานกลางนั้นเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือกันของกลุ่มผู้ผลิตรถ(Auto markers), JAMA, ผู้ผลิตเกียร์(AT supplier), ผู้ผลิต Additives, ผู้ผลิตคลัตช์(Clutch supplier)และผู้ผลิตน้ำมัน(Oil company) ร่วมกันกำหนดมาตรฐานกลางขึ้นมาเรียกว่า มาตรฐาน “JASO 1A”
มาตรฐานกลาง “JASO 1A” นี้ได้แบ่งค่าความหนืดออกเป็นสองค่าคือ
1. มาตรฐาน “JASO 1A” จะมีค่าความหนืด เท่ากับหรือมากกว่า 6.5 mm2/s
2. มาตรฐาน “JASO 1A-LV” จะมีค่าความหนืด เท่ากับหรือน้อยกว่า 6.5 mm2/s
นอกจากมาตรฐานกลาง JASO 1A และ JASO 1A-LV แล้ว ค่ายรถญี่ปุ่นยังได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานน้ำมันเกียร์อัตโนมัติของตัวเอง(OEM specification)ขึ้นมาอีกมากเลยทีเดียวครับ โดยมีการอ้างอิงค่ากลางไว้เหมือนกันคือ ค่าความหนืดสูงกว่า 6.5 mm2/s (JASO 1A) กับ ความหนืดต่ำกว่า 6.5 mm2/s(JASO 1A-LV) จากภาพด้านบน
• มาตรฐานในอักษร ”สีดำ” จะมีค่าความหนืดสูงหรือเทียบเท่ากับมาตรฐาน JASO 1A
• มาตรฐานในอักษร ”สีแดง” จะมีค่าความหนืดต่ำหรือเทียบเท่ากับมาตรฐาน JASO 1A-LV นั้นเองครับ
เมื่อนำเอามาตรฐานน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ(ATF)ทั้งหมดมายำรวมกันแล้ว จะดูซับซ้อนมากเลยใช่ไหมครับ ผมขอแนะนำให้ดูในกรอบสีแดงก่อนนะครับในกรอบสีแดงนี้จะเป็นน้ำมันเกียร์ 5 ตัวทั้งหมดนี้จะมีค่าความหนืดใสกว่า KV 6.4 cSt. @100C ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในรถรุ่นใหม่ที่เน้นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ในส่วนของน้ำมันที่เหลือนั้นจะมีค่าความหนืดมากกว่า KV 6.5 cSt. @100C ซึ่งเป็นความต้องการของรถรุ่นเก่าๆครับ เข่น Toyota นั้นมาตรฐานเดิมคือ Toyota T-IV มีค่าความหนืด KV 7.1 cSt. @100C หลังจากนั้น Toyota ได้ออกมาตรฐานใหม่ออกมาเป็นมาตรฐาน Toyota WS (World Standard) กำหนดค่าความหนืดใสลงเหลือ KV 5.4 cSt. @100C ถามว่าถ้าเอาน้ำมันมาตรฐานเก่าคือ Toyota T-IV มาใส่ในรถ Toyota Altis ที่ต้องการมาตรฐาน Toyota WS จะได้หรือไม่? คำตอบคือไม่แนะนำให้ใช้แทนกันนะครับเพราะเกียร์รุ่นที่ตัองการน้ำมันเกียร์ที่ใส เช่น มาตรฐาน Toyota WS นั้นจะมีช่องทางไหลของน้ำมันและการหล่อลื่นแผ่นคลัตช์นั้นต้องการความหนาของฟิล์มน้ำมันน้อยหรือบางนั่นเอง เมื่อเราเอาน้ำมันที่หนืดกว่าฟิล์มหนากว่ามาใส่แทนย่อมมีผลทำให้ความเร็วในการสั่งการของชุดไฮดรอลิกควบคุมนั้นจะทำงานหน่วงช้าลง และที่สำคัญที่สุดความหนาของฟิล์มน้ำมันที่แทรกอยู่ระหว่างแผ่นกดคลัตช์และแผ่นคลัตช์นั้นจะหนา ทำให้ค่าความฝืดเปลี่ยนไป รถวิ่งไม่ออก กำลังตกและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงครับ
รถยุโรปที่ขายกันในบ้านเราตอนนี้มักจะขายพ่วงโปรแกรมดูแลรักษามาด้วย เวลาเข้าศูนย์จึงพยายามยืดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายสารหล่อลื่นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำยาหม้อน้ำ น้ำมันเบรกออกไปให้ยาวที่สุดเพื่อลดต้นทุน ในกรณีน้ำมันเกียร์นั้นในคู่มือรถบางรุ่นอาจระบุไว้ว่า “Fill for Life” หรือหมายถึงใช้ได้ตลอดอายุการใช้งานของรถ ซึ่งในรถบางคันสามารถทำได้ครับเช่นในรถที่เป็นเกียร์ Dual Clutch แบบแห้ง(Dry)หรือเกียร์มือ(Manual Transmission)สามารถใช้น้ำมันเกียร์ได้ยาวๆเลยครับเพราะเกียร์ทั้งสองแบบนั้นไม่มีแผ่นคลัตช์ให้น้ำมันเกียร์เข้าไปหล่อลื่น เศษผงที่หลุดออกมาจากแผ่นคลัตช์จึงไม่มีให้กำจัดทิ้ง จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายครับ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งก็คือในกรณีเกียร์ของ ZF นั้นบอกว่าถ้าใช้งานปกติแล้วสามารถใช้ได้ยาวๆเลย คือ “Fill for Life” แต่ถ้าใช้งานหนัก “Under severe operation” ต้องเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 80,000-120,000 kms. ผมจึงอยากจะฝากให้ท่านที่ใช้รถยุโรปแล้วศูนย์แนะนำว่าไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์นั้น ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีๆนะครับว่าเข้าเงื่อนไขใดบ้างที่ผมเล่ามา
ในรถบางรุ่นคู่มือจะใช้คำว่า “Lifetime” ถ้าจะตีความหมายกันก็คงหมายถึงใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน อะไรทำนองนั้นใช่ไหมครับ แต่เดี๋ยวก่อนนะครับในอเมริกานั้นมีคำอธิบายว่าในห้องเกียร์ส่งกำลังนั้นเป็นห้องปิดมิดชิด จะมีรูที่สามารถนำความชื้น ฝุ่นละอองเล็ดรอดเข้าไปได้คือช่องตรวจสอบระดับน้ำมัน ถ้าเราไม่เปิดรูนี้เลย อากาศภายในชุดเกียร์จะมีอ็อกซิเจนอยู่ประมาณ 21% และมีไนโตรเจนอยู่ 78% เมื่อเกียร์ทำงานเกิดความร้อน อ็อกซิเจนจะถูกดึงไปทำปฏิกิริยาได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าไนโตรเจน(แก็สเฉื่อย) ฉะนั้นอ็อกซิเจนที่มีปริมาณจำกัดจึงไม่เหลือออกมาทำอันตรายกับเกียร์เราได้ ในอเมริกาจึงยืดระยะเวลาการตรวจสอบระดับของน้ำมันเกียร์ออกไปนานๆครับ (ระดับน้ำมันอาจต่ำลงได้จากการรั่วซึม)
ส่วนในแถบยุโรปนั้นคู่มือรถจะกำหนดไว้ว่า “Lifetime” นั้นจะหมายถึงให้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ที่ระยะทุกๆ 180,000-112,000 kms.ครับ
ส่วนมากในศูนย์บริการของรถญี่ปุ่นจะมีน้ำมันเกียร์แท้(Genuine oil)กำหนดเป็นเงื่อนไขในการรับประกันความเสียหายของเกียร์ สาเหตุเนื่องมาจากความต้องการคุณสมบัติของน้ำมันเกียร์นั้นมีความต้องการที่แตกต่างกันมาก ในมุมของผู้ผลิตรถต้องการให้ผู้ใช้รถได้สัมผัสสมรรถนะของรถที่ออกมาได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด คู่มือจึงต้องระบุให้ใช้น้ำมันเกียร์แท้เท่านั้น ถ้าเรายังฝืนไปใช้น้ำมันที่ไม่ตรงรุ่นหรือไม่ตรงตามคู่มือรถกำหนดไว้ เราอาจต้องสูญเสียเงื่อนไขการรับประกันนั้นด้วย ดังนั้นเราจะต้องเลือกใช้น้ำมันเกียร์ CVTF ให้ตรงรุ่นรถและมาตรฐานน้ำมันเกียร์ยี่ห้อนั้นๆด้วยนะครับ
เราสามารถตรวจสอบดูได้ว่ามาตรฐานน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ(ATF)ของอเมริกานั้น รถญี่ปุ่นบางรุ่นใช้อ้างอิงไว้เช่นกัน เช่น Toyota Mazda ถ้าเป็นมาตรฐานใหม่ๆของอเมริกาก็จะเป็น DEXRON ULV และ MERCON ULV มาตรฐาน “MERCON ULV” นั้นมีกำหนดไว้ในคู่มือรถ Ford ที่มี 10 Speed เช่น ในรถ Ford Ranger, Ford Everest, Ford Ranger Raptor เป็นต้น
ค่ายรถญี่ปุ่นในปัจจุบัน เปลี่ยนไปใช้เกียร์แบบ CVT กันเยอะจึงเหลือรถบางยี่ห้อบางรุ่นที่ยังคงใช้เกียร์แบบ AT แบบดั้งเดิมอยู่ซึ่งได้แก่รถกลุ่ม Pickup และ PPV ในส่วนของรถ Mazda รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี่ SKYACTIV ทุกรุ่นยังคงใช้เกียร์แบบ Automatic Step type อยู่ครับ แต่ทาง Mazda เองได้มีการพัฒนาระบบเกียร์ขึ้นมาใหม่หมดให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ Mazda ได้กล่าวเอาไว้ว่าเกียร์แบบ SKYACTIV-Drive นั้นสามารถรวมเอาจุดเด่นของเกียร์ทั้ง 3 แบบมารวมอยู่ในเกียร์แบบ SKYACTIV-Drive จุดเด่นนั้นคือ
1. ความประหยัดเชื้อเพลิง(Fuel efficiency)จากเกียร์แบบ CVT
2. การเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วฉับไว(Direct/quick shift)จากเกียร์แบบ Manual/Dual Clutch
3. การเปลี่ยนเกียร์และอัตราเร่งที่ราบเรียบนุ่มนวล(Smooth acceleration and gear shift)จากเกียร์แบบ Conventional Auto
มาตรฐานน้ำมันเกียร์ที่ Mazda SKYACTIV-Drive ต้องการคือ “Mazda FZ fluid”
1
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share กด Follow ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
FB :
https://www.facebook.com/lubeguru03
Blockdit :
https://www.blockdit.com/pages/5fabe66d74565b072b4dfe94
มีคำเสนอแนะหรือคำถามสามารถ คอมเม้นด้านล่างมาพูดคุยได้ครับ
8 บันทึก
4
1
12
8
4
1
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย