7 พ.ค. 2021 เวลา 12:48 • ข่าว
มาส่งผู้วายชนม์...ด้วยการลอยเถ้าอังคารค่ะ
1
พิธีลอยอังคารที่ปากอ่าว สมุทรปราการ
คำว่า  “อังคาร”  นั้น มีความหมายว่า ถ่านเผา ถ่านไม้ถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่ 
..
.
แต่ในคำของวัด " อังคาร " นั้นหมายถึง " เถ้าถ่านของศพ " ที่เผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พิธีการเก็บอัฐิและเถ้าอังคาร
อัฐิ หรือ เถ้ากระดูกของผู้วายชนม์ที่ทำพิธีเผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทางวัดจะได้นำมาส่งมอบให้ญาติ ๆ ได้นำอัฐิ ไปทำพิธีทางศาสนาและตามความเชื่อของแต่ละบ้าน
หลายครอบครัวก็เลือกเก็บอัฐิไว้ที่วัด และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ บางครอบครัวก็เก็บอัฐิไว้ที่บ้าน และก็มีอีกหลายครอบครัวที่เลือกพิธีลอยอังคาร
..
ในสมัยนี้ ญาติ ๆ ของผู้ล่วงลับมักนิยมรวบรวมเถ้าอังคาร และห่อด้วยผ้าขาว ใส่โถหรือภาชนะที่ดูเหมาะสม แล้วห่อด้วยผ้าขาว และนำไปล่องเรือตรงจุดที่แม่น้ำหรือทะเล ...ตรงจุดที่มีร่องน้ำลึก
แล้วปล่อยเถ้ากระดูกของผู้วายชนม์ลงไปในทะเล
เรือบริการทำพิธีลอยอังคาร
ด้วยหลายคนมีความเชื่อว่า จะทำให้ผู้ล่วงลับได้อยู่ในสถานที่เย็น ๆ สงบ ๆ โดยไม่มีใครรบกวนอีกต่อไป
การทำพิธีกรรมแบบนี้เรียกว่า " พิธีลอยอังคาร "
..
.
พิธีลอยอังคาร จึงเป็นพิธีการที่ญาติมิตรจะดำเนินการให้ผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี และสงบร่มเย็นเหมือนดั่งสายน้ำนั้นเองค่ะ
1
พิธีลอยอังคาร
พิธีลอยอังคารนี้ แต่ดั้งเดิมไม่ใช่ประเพณีของคนไทย หากแต่สันนิษฐานว่าคนไทยได้รับคตินิยม ความคิด ความเชื่อมาจากประเทศอินเดีย นั่นเองค่ะ
.
เพราะพิธีดั้งเดิมของชาวอินเดีย จะมีการเผาศพและลอยเถ้าถ่าน ลงในแม่น้ำคงคา
.
ซึ่งคนอินเดียเชื่อว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์และสามารถชำระล้างบาปได้
แม้ในปัจจุบันชาวอินเดียก็ยังคงเชื่อ และทำพิธีนี้อยู่
..
และพิธีการลอยอังคาร เชื่อว่าน่าจะมาจากชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลักด้วยค่ะ
.
เพราะถ้าเป็นคติความเชื่อทางศาสนาพุทธแล้ว
มักจะนิยมเผาศพแล้วนำเอาอัฐิธาตุ หรือ กระดูกฝังและก่อกองดินหรือกองหินตรงจุดที่ฝังศพนั้น
และคนอินเดีย เรียกกองดิน กองหิน ตรงจุดที่ฝังศพนั้นว่า “สถูป ”
.
ดังนั้นประเทศไทย ซึ่งเปิดกว้างทางด้านความคิด ความเชื่อ ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมประเพณีนี้มาจาก
ทั้งสองศาสนา คือ ทั้งฮินดูและพุทธ 
..
สำหรับทางพุทธ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็จะก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ
ถ้าเป็นคนชั้นล่างก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุหรือเอาไปวางทิ้งไว้โคนต้นไม้
ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ ก็จะเชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำตามคติความเชื่อทางฮินดู ค่ะ
แม่น้ำเจ้าพระยาออกปากอ่าวที่สมุทรปราการ
วัฒนธรรมของประเทศไทยนั้น ได้มีการผสมผสาน ความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมมาจากศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
ที่มีความเชื่อที่ว่า ...
..
ร่างกายของมนุษย์เกิดจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อร่างกายของมนุษย์แตกดับ ร่างกายนั้นก็ควรกลับสู่สภาพเดิม คือ คืนสู่ธรรมชาติ
และสำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดาร ที่ได้กล่าวถึงพิธีการลอยอังคารเอาไว้
.
โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่าง ๆ ที่ได้บันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน
และพิธีการลอยพระอังคารได้ทำสืบเนื่องมาอย่างยาวจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้าพิธีบนเรือจะคอยแนะนำวิธีลอยเถ้าอังคาร
การเตรียมตัวไปทำพิธีลอยอังคาร
สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะสมัยนี้ มีบริการแบบครบวงจรโดยที่เราไม่ต้องเตรียมอะไรไปเลยนอกจาก อัฐิและเถ้าอังคาร
บนเรือจะมีเจ้าพิธี คอยแนะนำและทำพิธีนำส่งดวง
วิญญานของผู้วายชนม์ คืนสู่ธรรมชาติ
..
.
เรือที่ให้บริการ ทำพิธีลอยอังคาร มีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สามารถโทรจองล่วงหน้า ได้เสมอ
.
การแต่งกายก็ใช้ สีขาว-ดำ หรือสีสุภาพ เป็นหลัก
...
สถานที่ ที่มีคนนิยมไปทำพิธีลอยอังคารมาก ๆ ก็ตามนี้เลยค่ะ
6
พิธีโปรยดอกไม้
1. กรุงเทพฯ ที่ปากคลองดาวคะนอง ลอยอังคารที่ หน้าวัดบุคคโล หรือ สะพานกรุงเทพ มีจุดลงเรือที่: ท่าวัดราชสิงขร, ท่าวัดวรจรรยาวาส, ท่าสาทร
2. กรุงเทพฯปากคลองอ้อม ลอยอังคารที่ หน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ หรือ สะพานมหาเจษฎาบดินทร์ มีจุดลงเรือที่: ท่านนทบุรี ท่าวัดสลักใต้
3. ปากคลองลัดเกร็ด ลอยอังคารที่ หน้าวัดปรมัยยิกาวาส หรือ หน้าองค์หลวงพ่อโตวัดบางจาก หรือ ปากด่านหน้าพุทธสถานเชิงท่า มีจุดลงเรือที่: ท่าปากเกร็ด ท่าวัดกลางเกร็ด (เรือด่วนเจ้าพระยา)
4. ปากน้ำ ปากอ่าว (ป้อมพระจุล) จ.สมุทรปราการ จุดลงเรือที่: ท่าน้ำวัดบางนางเกรง
5. หน้าวัดหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
6. ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี
อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี ลอยอังคาร แบ่งเป็น 3 ชุด โดยทางผู้ให้บริการทางเรือจะจัดเตรียมไว้ให้ มีดังนี้
1. เครื่องไหว้แม่ย่านาง
-ดอกไม้สด 1 กำ หรือพวงมาลัย 1 พวง
-ธูป 7 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม
-พานเล็ก 1 ใบ สำหรับใส่ดอกไม้ธูปเทียน
-เชือก 1 เส้น สำหรับมัดธูปและดอกไม้ ไว้ที่เสาหัวเรือ
2. เครื่องบูชาเจ้าแม่นทีและท้าวสีทันดร
-กระทงดอกไม้ 7 สี 1 กระทง
-ธูป 7 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม
-พานโตก ขนาดกลาง 1 ใบ สำหรับใช้วางกระทงดอกไม้ 7 สี
3. เครื่องไหว้อังคารบนเรือ
ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง
พวงมาลัย 1 พวง
ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร
ดอกกุหลาบ เท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี
น้ำอบไทย 1 ขวด
ธูปเทียนเครื่องทองน้อย 1 ชุด (หรือธูป 1 ดอก เทียนหนัก 1 บาท 1 เล่ม พร้อมกระถางธูปเชิงเทียน 1 ชุด)
พานก้นลึกขนาดเล็ก 1 ใบ สำหรับใส่ดอกไม้ต่าง ๆพานก้นตื้น 1 ใบ สำหรับใส่เงินเหรียญ
เตรียมเหรียญ 7 เหรียญเพื่อซื้อที่ให้ผู้วายชนม์
สิ่งที่ผู้ใช้บริการจะต้องเตรียมมา
1.เงินเหรียญบาทจำนวน 7 เหรียญ
2.รูปถ่ายผู้วายชนม์ ที่ใช้ตั้งในงานศพ
3.อัฐิและอังคาร
พิธีลอยอังคารมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้คือ…
1. บูชาแม่ย่านางเรือ
มวลหมู่ญาติมิตรของผู้ล่วงลับนำเถ้าอังคาร เถ้าถ่านของผู้วายชนม์ที่เผาแล้ว ไปสู่ท่าเทียบเรือที่จองเอาไว้ จากนั้นพิธีกรนำประธานในพิธี หรือญาติอาวุโสลงเรือแล้วจึงนำดอกไม้สดและธูปเทียนที่ใส่รวมไว้ในพานจุดบูชาแม่ย่านางที่หัวเรือ เพื่อกล่าวบูชาและขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยประธานกล่าวเองหรือพิธีกรกล่าวนำ เมื่อทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือเสร็จแล้ว คณะญาติมิตรของผู้ล่วงลับจึงนำเถ้าอังคารลงเรือและออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร
พิธีบูชาแม่ย่านางเรือ
2. ไหว้เถ้าอังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยน้ำ
เมื่อเรือแล่นมาถึงจุดที่จะทำพิธีลอยอังคารแล้ว เรือจะหยุดเรือลอยลำ จากนั้นพิธีกรจึงเปิดลุ้ง ภาชนะดินปั้นที่ใส่เถ้าอังคาร เพื่อจัดเครื่องไหว้ให้ประธานในพิธี หากมีพระสงฆ์มาร่วมพิธีกรรมให้พระสงฆ์นำสวดก่อน จากนั้นเจ้าพิธีจะจุดธูปเทียนให้ประธานจุดไหว้เถ้าอังคารและสรงเถ้าอังคารด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ และดอกไม้อื่น ๆ
เมื่อทุกคนไหว้เถ้าอังคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพิธีการจึงห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาวที่มีขนาดความยาวและกว้างประมาณครึ่งเมตรแล้วรวบด้วยสายสิญจน์ทำเป็นจุกข้างบนและสอดพวงมาลัยเข้าไปในถุงของลุ้งเถ้าอังคาร
พิธีไหว้เถ้าอังคารบนเรือ
3. บูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร
เจ้าพิธีการจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรให้แก่ประธาน จากนั้นประธานจุดเทียน 1 เล่ม และธูป 7 ดอกที่กระทงดอกไม้ 7 สี แล้วจึงกล่าวบูชาและฝากเถ้าอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร
บูชาเจ้าแม่นที- ท้าวสีทันดร
4. เริ่มพิธีลอยอังคาร
เมื่อประธานหรือเจ้าพิธีการกล่าวคำบูชา และกล่าวฝากเถ้าอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดรเสร็จแล้ว เจ้าพิธีการจึงเชิญญาติทุกคนยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที จากนั้นประธานจึงนำเหรียญใส่พานถวายกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียมแล้วลงบันไดเรือทางกาบซ้าย เพื่อลอยกระทงดอกไม้เจ็ดสี โดยใช้มือประคองค่อย ๆ วางบนผิวน้ำแล้วจึงอุ้มประคองลุ้งอังคารค่อย ๆ หย่อนว่างลงไปบนผิวน้ำ ขั้นตอนนี้ ห้ามโยนลงไปในน้ำโดยเด็ดขาด และเมื่อห่อลุ้งเถ้าอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้วให้โรยกลีบกุหลาบ ดอกไม้ตามลงไป รวมไปถึงสิ่งของที่เหลือจากการไหว้บูชา ทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย จากนั้นก็ให้แล่นเรือวนซ้ายทั้งหมด 1 - 3 รอบ เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีลอยอังคาร
และเมื่อทำพิธีลอยเถ้าอังคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จะมีอีกพิธีกรรมหนึ่ง เป็นพิธีที่สำคัญ ที่ญาติมิตรทั้งหลายจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ
.
เมื่อถึงวันครบรอบการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับที่จากไปครบ 49 วัน หรือครบ 100 วันแล้ว
.
..
ก็… อย่าลืมทำ “พิธีทำบุญครบรอบวันตายครบ 49 วันและครบ 100 วัน” ด้วยนะคะ
.
เพราะการทำบุญครบ 49 วัน 50 วัน หรือทำบุญครบ 100 วัน ถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับผู้ล่วงลับอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญส่วนกุศลและยังเป็นพลวปัจจัย เพื่อส่งให้ผู้ล่วงลับได้เดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะ
1
ผู้เขียนขอจบบทความเรื่องเกี่ยวกับพิธีการลอยอังคารเพียงเท่านี้
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
..
..
แล้วพบกันใหม่ ในโอกาสต่อไปค่ะ
#Nannisa Maneepradit
โฆษณา