7 พ.ค. 2021 เวลา 12:03 • หนังสือ
อะไรก็ตามที่ฆ่าคุณไม่ตายย่อมทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น คำพูดนี้เป็นจริงหรือไม่
งานวิจัยที่เกี่ยวกับบาดแผลในจิตใจ (Trauma) พบว่า ยิ่งคุณได้รับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมากเท่าไหร่ คุณก็มีโอกาสมีความทุกข์จากการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตมากขึ้น แต่ว่าการผ่านชีวิตโดยไม่มีความเครียดเลยนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะมีผลร้ายต่อสุขภาพจิตและร่างกาย เลวร้ายพอๆ กับคนที่ได้รับความเครียดในวัยเด็กสูง
งานวิจัยเรื่อง ข้อดีของความทุกข์ ของ ดร.มาร์ค ดี. เซียรี รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ศึกษาว่าคนที่ประสบความเครียดบ้างจะทำให้คนเราแข็งแกร่งในระยะยาวหรือไม่ โดยสอบถามจากผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังรุนแรง จำนวนหลายร้อยคน พบว่า ทั้งคนที่มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างสูงและอย่างต่ำ กลับมีผลสะท้อนมายังร่างกายในปัจจุบันเท่าๆ กัน อย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้น จุดที่เหมาะสมและพอดีก็คือ การที่ได้รับความเครียดหรือความทุกข์ในระดับเหมาะสมกับเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งจะไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะความเครียดมีส่วนดีก็คือ ทำให้เราได้ปรับตัว และเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหา สร้างความทรหดอดทน เปลี่ยนแปลงทัศนคติ อันส่งผลต่อการเติบโต เพื่อใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่
คนที่ได้รับผลการทดสอบว่ามีความเครียดในระดับปานกลาง พบว่าเป็นคนอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าคนที่ได้รับความเครียดสูงและต่ำ อีกทั้งยังมีความพึงพอใจกับชีวิตตนเองในระดับสูง ดูเหมือนว่าเขารู้สึกว่าเวลาเกิดเรื่องแย่ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเลวร้ายอะไร แม้มันจะทำให้เขาโอนเอนแต่ไม่ถึงกับทำให้ล้มลง เพราะเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตช่วยเปลี่ยนให้เขามีความอดทนต่อปัญหาในอนาคตได้มากขึ้น
ดังนั้น หากวันนี้ อาจต้องเจอเรื่องราววุ่นวาย สับสน ก่อให้เกิดความเครียด เราลองหยุดหายใจเข้าลึกๆ แล้วมองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา เราจะพบว่าประสบการณ์ด้านลบในชีวิตสอนให้เราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เราจัดการกับปัญหาในอนาคตได้ดีขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรื่องยุ่งยากได้ดีกว่าคนอื่น :)
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เกินกว่าเจ็บปวด” เขียนโดย ดอนน่า แจ็คสัน นะกะซะวะ
โฆษณา