7 พ.ค. 2021 เวลา 13:42 • สิ่งแวดล้อม
Author’s Talk: “หลังดู Seaspiracy จบ สิ่งที่ต้องทำคือ หยุดกินปลา.. จริงหรอ?”
หลังจากที่ในสัปดาห์ที่แล้ว เราได้พาทุกคนไปรู้จักกับปลาทูน่า ในวัน World Tuna Day (อ่านได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/tuna-day-2021) วันนี้เราอยากพาเพื่อน ๆ มาหาคำตอบนี้ผ่าน “ปลาทูน่า” กัน
เราเป็นคนหนึ่งที่เวลาเลือกกินโปรตีน จะเลือกกินทูน่ากระป๋อง (นอกจากอกไก่ที่กินประจำ) เพราะมีโปรตีนต่อน้ำหนักที่ต้องกินค่อนข้างสูง ราคาไม่แพง บรรจุในกระป๋องโลหะที่รีไซเคิลได้ เก็บไว้กินตอนไหนก็ได้ เลือกรสชาติได้ด้วย และด้วยความที่เป็นปลา เราคิดว่าอิมแพคมันน้อยกว่าเนื้อสัตว์อื่น ๆ
จนได้มาเจอ Eye opening media คือ “เปิดกระป๋องแบรนด์ทูน่าไทย” ที่ทำออกมาดีมากของ Greenpeace (https://tuna2020.greenpeace.or.th/) ที่ทำให้เราชะงักและกลับมาคิดว่า กระป๋องที่เราเลือกกินนี่ มันสร้างผลกระทบอะไรให้กับทะเลไปมากน้อยแค่ไหนนะ จนลดปริมาณการกินลงไปช่วงหนึ่ง
บวกกับพอได้มาดู Seaspiracy เลยไปพลิกกระป๋องดูอีกครั้งแล้วพบว่า เอ้า มีสัญลักษณ์ Dolphin Safe ที่ไม่เคยเห็นเลยแฮะ
พอคิดที่จะมาเขียนคอนเทนต์เรื่องเกี่ยวกับ Sustainable Fisheries ก็เห็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจว่าเจ้าทูน่านี่ก็เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวปัญหาในท้องทะเลได้นะ เลยอยากนำมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้รู้ไปด้วยกัน
ก่อนจะเป็นทูน่าที่เป็นอาหาร มันเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำตามธรรมชาติมาก่อน
ประเด็นที่น่าสนใจเวลาพูดถึงทูน่าคือ
1. Overfished หรือยัง?
Overfished คืออะไร?
ปกติแล้วท้องทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเอง ปลาหลายสายพันธุ์รวมถึงทูน่า สามารถออกลูกได้มากในหนึ่งครั้ง ทำให้เมื่อเราจับในเวลาและจำนวนที่เหมาะสม เราจะยังมีปลาอีกมากในทะเลให้จับกินได้เรื่อย ๆ แต่ Overfishing อาจจะเกิดเพราะเราจับมาเยอะเกินไป และ/หรือการที่เราจับเร็วกว่าที่ปลาจะถึงวัยสืบพันธุ์ เช่น ถ้ารอจับอีก 3 เดือนปลานี้จะออกลูกได้เป็นหมื่นตัว เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราแนะนำให้ลองดู แอนิเมชันอธิบายเรื่อง The Tragedy of the Commons แบบง่าย ๆ โดย TEDEd โดย Overfishing เป็นตัวการหลักที่ทำให้ปลาในท้องทะเลหายไปแบบฮวบฮาบ และหลายสายพันธุ์ถึงขั้นเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
มีรายงานว่าทูน่าหลายสายพันธุ์ในหลายพื้นที่ เช่น Bluefin หรือ Albacore ตอนนี้ overexploited แล้วและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์หากยังมีการจับด้วยอัตราเท่านี้อยู่ (สามารถดูได้ว่าปลาทูน่าพันธุ์ไหนที่ไหนมีสถานการณ์อย่างไรบ้างแล้วได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/tuna-day-2021
2. จับมาแบบไหน จะมี bycatch เยอะเท่าไหร่
วิธีการจับมีผลกับ bycatch ที่จะเกิดขึ้นมาก วิธีการจับทูน่าที่เรานำมาเล่ามีทั้งหมด 5 วิธีด้วยกัน มีทั้งแบบที่ยั่งยืน (มากกว่า) กับแบบที่ไม่ยั่งยืน
"การจับปลาทูน่าแบบที่ยั่งยืน (กว่าแบบอื่น)"
1) Pole and line
(cr. https://www.msc.org/what-we-are-doing/our-approach/fishing-methods-and-gear-types/pole-and-line)
เป็นการประมงแบบที่เราเห็นในภาพจำกันคือการยืนตกปลากัน การทำแบบนี้สามารถเลือกได้ว่าเราตกได้ปลาที่ต้องการหรือเปล่า โอกาสการเกิด bycatch น้อย แบบนี้ยั่งยืนที่สุด แต่ด้วยการที่ต้องใช้เวลาและคน ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่มีการจับปลาวิธีนี้เป็นหลักกัน เช่น มัลดีฟส์ http://tuna-fishing-maldives-stories.msc.org/
2) FAD-Free Purse Seine
(cr. https://vikaspedia.in/agriculture/fisheries/marine-fisheries/capture-fisheries/active-fishing-gears)
ส่วนมากจะใช้วิธีนี้กัน เพราะสามารถได้ปลาจำนวนมากในการจับแต่ละครั้ง โดยเป็นการล้อมตาข่ายขนาดใหญ่คลุมรอบกลุ่มปลาทูน่า มี bycatch ไม่มาก แต่บางครั้งมีการหาทูน่าจากการตามโลมา ทำให้จับได้โลมามาเป็น bycatch ด้วย เรือบางเจ้ามีการติดตั้ง FAD (Fish Aggregating Devices) หรือเครื่องล่อปลา ทำให้มี bycatch เป็นปลาชนิดอื่น เต่าทะเล รวมถึงปลาเด็กติดมาด้วยเป็นจำนวนมาก
บางทีมีการทำทั้ง FAD-Free และ FAD ในเรือลำเดียวกัน คือในเรือหนึ่งลำมีการติดตั้ง FAD ไว้ แต่ตอนตรวจสอบหรือตอนขึ้นทะเบียนลงทะเบียนไว้ว่าจับทูน่าด้วย FAD Free และใช้ FAD กับปลาชนิดอื่น ทำให้ตรวจสอบยากว่าสรุปแล้วมีการใช้ FAD หรือไม่ และต่อให้ใช้ FAD กับปลาชนิดอื่น ก็มีโอกาสจับได้ bycatch เช่นเดียวกัน
3) Surface Trolling
(cr. https://vikaspedia.in/agriculture/fisheries/marine-fisheries/capture-fisheries/active-fishing-gears)
คล้ายกับ Pole-and-line แต่เป็นการติดเบ็ดหลายตัวไว้ท้ายเรือ โดยอาจจะติดเหยื่อจริง/ปลอมไว้ เพื่อหลอกให้ปลาเข้าใจว่าเป็นเหยื่อดิ้นได้ ว่ายน้ำหนีได้ จะเลือกได้ว่าต้องการปลาชนิดไหน ถ้าจับผิด สามารถปล่อยได้เร็ว
"การจับปลาทูน่าแบบที่ไม่ยั่งยืน"
1) Longline
(Cr. https://galapagosconservation.org.uk/long-line-fishing-in-the-galapagos-archipelago/)
เป็นการติดตั้งเชือกยาว ๆ ไว้ พร้อมมีเชือกสั้น ๆ พร้อมตะขอและเหยื่อล่อตลอดแนว วิธีแบบนี้ได้ bycatch เยอะมาก และสัตว์ที่ติดมีโอกาสรอดน้อยมาก เพราะจะติดอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานาน อาจจะเป็นหลายเดือนก็ได้
2) FAD-Purse Seine
หลักการจับเหมือนกับ FAD-Free Purse Seine แต่มีการติดตั้ง FAD (Fish Aggregating Devices) หรือเครื่องล่อปลา ทำให้มี bycatch เป็นปลาชนิดอื่น เต่าทะเล รวมถึงปลาเด็กติดมาด้วยเป็นจำนวนมาก
"Seaspiracy บอกว่า Sustainable fisheries ไม่มีจริง เราต้องเลิกกินปลา"
1. ก่อนอื่น การบอกว่าอะไรยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย มีคำนิยามที่บอกไว้ว่า สำหรับเรา “ความยั่งยืนคือการทำให้สิ่งที่มีในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพเดิมหรือดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในช่วงเวลาของคนรุ่นต่อไป” เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเห็นผลแล้ว หรือเห็นความเป็นไปได้ที่ชัดเจน ถึงจะบอกได้
การบอกว่า “อะไรไม่ยั่งยืน” เห็นชัดกว่ากันเยอะ และอย่างน้อยก็ช่วยให้เราตัดตัวเลือกได้ และเลือกทำในสิ่งที่ “ยั่งยืนกว่า” พัฒนาให้มันเข้าใกล้ความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เร็วพอที่จะทำให้สถานการณ์ยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่า No-turning-back point ได้
2. เรื่องของการประมง เรามีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นมาก มีการควบคุมจัดการที่ดีขึ้น ถึงจะยังไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี การยุติอุตสาหกรรมการประมงอาจทำให้กว่า 820 ล้านคนต้องตกงาน และกว่า 72 ล้านคน ต้องขาดโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ จากปลา
3. การกินปลายังควรมีอยู่ เพราะผลกระทบจากปลา/อาหารทะเล ในปริมาณสารอาหาร (โปรตีน) ที่เท่ากัน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์บนพื้นดิน ดู Scorecard ได้ที่ https://sustainablefisheries-uw.org/seafood-101/cost-of-food/ ทั้งเรื่องของแก๊สเรือนกระจก (ที่ปลาต่างหากเป็นตัวช่วยดูดซับ CO2 แทนที่จะเป็นตัวปล่อย) พื้นที่ (ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติอย่างกว้างใหญ่) น้ำ (ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจืดที่มีอยู่น้อยนิดในการเลี้ยง) อาหารที่เลี้ยง (ไม่ต้องปลูกข้าวโพดที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ) และปลาหนึ่งตัวออกลูกได้เป็นจำนวนมากกว่าปศุสัตว์มาก ถ้าเราควบคุมการจับได้เหมาะสม ปลาจะเป็นอาหารที่ renewable ในรูปแบบหนึ่ง
ข้อสรุปคือเราควร..
1. แทนที่จะดูสัญลักษณ์ Dolphin safe ข้างกระป๋องที่บอกไม่ได้ว่าโลมาปลอดภัยแน่นอน 100% เปลี่ยนมาดูสายพันธุ์ แหล่งที่มา และวิธีจับ (ถ้าแบรนด์นั้นบอก) กันดีกว่า ซึ่งโดยทั่วไปสามารถดูได้บนฝากระป๋องหรือเข้าเว็บไซต์ของแบรนด์นั้น ๆ
2. ถ้าอยากเลิกกินปลา เลิกได้ แต่อยากให้เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเลิกกินปลาได้ และถ้ามีการจัดการที่ดี ปลายังเป็นสัตว์ที่มีสารอาหารหลักอย่างโปรตีน แต่ส่งผลกระทบน้อยกว่าเนื้อสัตว์บนบกมาก
3. สนับสนุนให้บริษัทที่เกี่ยวข้องนึกถึงผลประโยชน์ในระยะยาว คือความยั่งยืนของท้องทะเล เพื่อจะยังมีปลาให้จับได้อยู่
4. เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเส้นทางการได้มาของทูน่าและปลาอื่น ๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานอย่างโปร่งใส และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกบริโภค
ถ้าใครยังไม่ได้ดู และสงสัยว่าทำไมถึงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ลองไปดูแล้วมาบอกเล่ากันได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ทักมาพูดคุยกัน หรือจะแชร์ความเห็นกับ little big green ผ่านทางหน้าเพจ Facebook / Blockdit / Instagram ก็ได้ครับ
ส่วนคนที่ดู Seaspiracy จบแล้ว ตามไปอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้ที่ https://www.sarakadee.com/2021/04/27/seaspiracy/
ก่อนจากกัน เราขอแนะนำให้ดู Chasing Coral (Youtube/Netflix) ภาพยนตร์เชิงสารคดีคุณภาพดีที่จะพาให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปะการัง ผู้พิทักษ์ที่สวยงามแห่งท้องทะเล แต่กำลังตกอยู่ในวิกฤตของผลกระทบที่เรียกว่า Climate Change จากพวกเราทุกคน แล้วมาพูดคุยกันใหม่ครับ :) //บีม
โฆษณา