10 พ.ค. 2021 เวลา 02:20 • ธุรกิจ
BEM ธุรกิจทางด่วน รถไฟฟ้า กำลังเจอความท้าทาย เมื่อผู้คนไม่ออกนอกบ้าน
แม้วิกฤติโควิด 19 จะทำให้บางธุรกิจได้ประโยชน์
จากการที่คนจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้านกันมากขึ้น
เช่น ธุรกิจขายอุปกรณ์ไอที และธุรกิจฟูดดิลิเวอรี
แต่ก็มีหลายธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่คนออกนอกบ้านได้น้อยลงในช่วงนี้
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
อย่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
1
แล้วความท้าทายของ BEM ในปัจจุบันและอนาคต มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ลองมาดูธุรกิจของ BEM กันคร่าว ๆ โดยจะสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ
1. ธุรกิจให้บริการทางพิเศษ โดย BEM ได้รับสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการก่อสร้างและบริหารทางพิเศษรวม 3 สายทาง
- ทางพิเศษอุดรรัถยา
- ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
- ทางพิเศษศรีรัช (ส่วนเอบี ส่วนซี และส่วนดี)
โดยทั้ง 3 เส้นทาง มีความยาวรวมกันทั้งหมด 87 กิโลเมตร
1
2. ธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดย BEM ได้รับสัมปทานการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 2 โครงการ
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน (บางแค-หัวลำโพง-บางซื่อ)
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ)
 
3. ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์และอื่น ๆ
โดยมีรายได้จากการทำโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ในรถไฟฟ้าและในสถานีรถไฟฟ้า การให้เช่าพื้นที่ร้านค้า และบริการดูแลรักษาอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมในสถานีรถไฟฟ้า
รวมไปถึงการไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2
Cr. Logisticstime Magazine
แล้วแต่ละธุรกิจที่ว่ามานี้ มีสัดส่วนรายได้เท่าไรกันบ้าง ?
- ธุรกิจให้บริการทางพิเศษ 57%
- ธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้า 32%
- ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์และอื่น ๆ 11%
สรุปแล้ว รายได้ประมาณ 89% เป็นรายได้ที่เกิดจากธุรกิจให้บริการทางพิเศษ และธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งธุรกิจลักษณะนี้ ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ รายได้จากส่วนนี้น่าจะมั่นคงพอสมควร
เราลองนึกภาพว่า ถ้าเราขับรถไปทำงานและจำเป็นต้องใช้ทางด่วน เราก็มักจะใช้เส้นทางเดิม ๆ หรือแม้แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เราก็จะขึ้น-ลง ที่สถานีเดิม ๆ ทุกวัน
ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทำเป็นประจำและสม่ำเสมอแบบนี้ ทำให้ธุรกิจให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมักจะมีความแน่นอนในแง่ของรายได้ในระดับหนึ่ง
1
แต่แล้วพฤติกรรมของผู้ใช้บริการก็ต้องเปลี่ยนไปในตอนนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ขึ้น ทำให้เกิดหลายเหตุการณ์ที่กระทบต่อธุรกิจของ BEM
- บริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการหลายแห่งขอความร่วมมือให้งดเดินทาง และให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน
- สถานศึกษาหลายแห่งหันไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
- การปิดประเทศไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติถือเป็นลูกค้าอีกกลุ่ม ที่นิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร
โดยในปี พ.ศ. 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร มีจำนวนกว่า 22 ล้านคน และแทบจะหายไปทั้งหมด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา
ลองมาดูสถิติที่น่าสนใจ ของธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ BEM
ปริมาณการจราจร (ทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวน และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด)
ปี 2562 จำนวน 1,237,200 เที่ยวต่อวัน
ปี 2563 จำนวน 1,049,900 เที่ยวต่อวัน
 
รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ย (ทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวน และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด)
ปี 2562 จำนวน 28.23 ล้านบาทต่อวัน
ปี 2563 จำนวน 23.33 ล้านบาทต่อวัน
 
จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ปี 2562 จำนวน 336,800 เที่ยวต่อวัน
ปี 2563 จำนวน 260,500 เที่ยวต่อวัน
 
รายได้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ปี 2562 จำนวน 8.67 ล้านบาทต่อวัน
ปี 2563 จำนวน 7.14 ล้านบาทต่อวัน
1
จากสถิติที่ดูแย่ลงในทุกด้านในปีที่ผ่านมา
ก็ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ BEM ได้รับผลกระทบพอสมควร
 
รายได้และกำไรของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ปี 2562 รายได้ 20,221 ล้านบาท กำไร 5,435 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 14,316 ล้านบาท กำไร 2,051 ล้านบาท
และสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคงไม่จบลง และน่าจะยังอยู่กับเราและคนทั่วโลกไปอีกระยะหนึ่ง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการของ BEM ไปอีกระยะหนึ่ง
Cr. Thairath Online
หลายคนตอนนี้น่าจะมองว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น จะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ที่คงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอนาคต และผลกระทบที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและตอนนี้ ก็น่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น และคงกลับมาดีเหมือนเดิมหากทั่วโลกเอาชนะโรคระบาดได้อย่างสมบูรณ์
แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยอาจยังมีความกังวลกับการใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ แม้ว่าสถานการณ์ในอนาคตเริ่มคลี่คลายลง
และที่ลืมไม่ได้ก็คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่บางส่วนอาจจะเปลี่ยนไป จนอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก
อย่างเช่นที่เราเคยได้ยินว่า บางงาน บางตำแหน่ง ในบางบริษัทในหลายประเทศ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแล้ว
ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ก็คือความท้าทายที่ต้องติดตามกันต่อไป
ของธุรกิจที่มีรายได้หลัก มาจากการออกนอกบ้านของผู้คน อย่าง BEM
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา