ในบทแรกผู้เขียนพูดถึง กฎพื้นฐานของ Output
Input คือการอ่าน ฟัง ส่วนของ Output คือการเขียน และการปฏิบัตินั่นเอง เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเป็น Input และการทำแบบฝึกหัดเป็น Output ซึ่ง Input ทำให้โลกในสมองเปลี่ยนไป แต่ Output เปลี่ยนแปลง “โลกในความเป็นจริง” ได้ คือให้เราลงมือปฏิบัตินั่นเอง หากเราอยากเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า เราต้องพูด เขียน และปฏิบัติให้มาก
คนอ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม กับคนอ่านหนังสือเดือนละ 10 เล่ม ใครพัฒนามากกว่ากัน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ Input แต่อยู่ที่ปริมาณ Output ต่างหาก เมื่อหยิบหนังสือที่เคยอ่านขึ้นมาแล้วถามถึงเนื้อหาในหนังสือจากการทดสอบมีเพียง 10% เท่านั้นที่พอจะจำเนื้อหาในหนังสือได้ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าตนเองรู้
การขยับกล้ามเนื้อเป็นตัวกระตุ้นจากประสาทสั่งการ เช่นการพูด เขียน ให้เปลี่ยนมาเป็นการจดให้จำ อ่านออกเสียง ก็จะกลายเป็นความจำของกล้ามเนื้อได้ เช่นเดียวกับการขี่จักรยาน ที่เมื่อเราขี่เป็นแล้ว แม้ว่าจะทิ้งการขี่นั้นไปหลายปี กล้ามเนื้อของร่างกายก็ยังจดจำการขี่จักรยานนั้นได้อยู่ เมื่อกลับมาขี่อีกครั้งก็สามารถขี่ได้เลย
กฎพื้นฐานของ Output คือ ข้อมูลจะถูกป้อนสู่สมองที่เป็นส่วนเก็บชั่วคราว “ฮิปโปแคมปัส” ซึ่งจะอยู่ชั่วคราว 2-4 สัปดาห์ หากมีการใช้ซ้ำในช่วงนี้จะถูกนำไปเก็บในส่วนความจำระยะยาว จะทำให้ลืมยากขึ้น หากเรา Output อย่างน้อย 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ จะทำข้อมูลกลายเป็นความจำระยะยาวได้ง่าย
การทำ Input และ Output สลับวนไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราพัฒนาตนเอง
อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input และ Output คือ 3:7 คนโดยส่วนใหญ่มาเน้นที่ Input มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงเราควรให้เวลากับ Output เป็น 2 เท่าของ Input และเมื่อผลลัพธ์ออกมาแล้ว เราจำเป็นที่ต้องตรวจสอบ Output ที่ออกมาด้วยการ Feedback นั่นเอง เพื่อหาข้อผิดพลาด แก้ไขพร้อมทั้งปรับปรุงพัฒนาปรับทิศทางต่าง ๆ เพื่อให้เราพัฒนาไปมากกว่าแต่ก่อน หากไม่มี Feedback จะทำให้เราทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ไม่เป็นการส่งผลดีต่อการพัฒนาตนเอง ควรศึกษาเนื้อหาสิ่งที่อยากรู้ในแนวขยายก่อน “ขยายให้กว้าง” หากสนใจในเรื่องนั้นจึงค่อยค้นหาในเชิงลึก “เจาะให้ลึก” ต่อไป พร้อมทั้งหาผู้ที่มีความรู้ช่วยแนะนำเราจากประสบการณ์ของผู้รู้ เพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่องจะทำให้ส่งผลดีต่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดต่อไปได้
INPUT – OUTPUT -- FEEDBACK
บทที่2 TALK วิธีการพูดสื่อสารโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์
ในบทนี้ผู้เขียนเน้นเรื่องของการพูดในลักษณะต่าง ๆ เนื่องจากการพูดเป็น Output ที่ง่ายที่สุด การพูดความเห็นออกไป ทำให้สมองได้ทำงาน ความจำเพิ่มขึ้น และนานขึ้น เทคนิคการพูดก็คือการรีวิวหรือการพูดความคิดเห็นของตัวเองใส่ความเป็นตัวตนของเราเองลงไปอย่างชัดเจน จะทำให้เรื่องมีคุณค่ามากขึ้น
ในเชิงจิตวิทยา เพียงแค่เราปรับสมดุลในแง่บวก ลบ ในชีวิต การทำงาน การดำเนินชีวิต หรือการใช้ชีวิตคู่จะดีขึ้นได้ จากการใช้คำพูดแง่บวกทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ ได้มีการทำวิจัยออกมาว่าคนที่พูดคุยกันในแง่บวกมากกว่าอัตรา 3:1 มีผลกำไรทางธุรกิจสูงกว่าคนที่มีผลการทำงานดีที่สุดมีอัตราการพูดแง่บวกถึง 6:1 ดังนั้นเราสามารถสร้างความสำเร็จจากการพูดในแง่บวกให้มากขึ้นได้
การพูดว่าร้ายคนอื่นส่งผลต่อความเครียดของตนเอง เนื่องจากมีการหลั่งสารฮอร์โมนความเครียดออกมา
แม้ว่าเราจะเป็นกังวลต่อการพูด บางครั้งเราพยายามหาคำพูดเพื่อพูดออกมาต่าง ๆ นานา ยังเทียบไม่ได้กับการที่เราพูดออกไปอย่างฉะฉานกลับเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับสิ่งที่เห็นก่อนถึง 55% รองลงมาคือการฟัง ความดังของคำพูดการใช้เสียง 38% และเนื้อหาที่จะพูดเพียง 7% เท่านั้น ดังนั้นแม้จะไม่มั่นใจในเนื้อหาที่พูด แต่ก็ควรพูดออกไปอย่างมั่นใจและด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มเสมอ
- หากเราต้องการพูดและเขินอาย เราสามารถมองไปที่หว่างคิ้ว หรือบริเวณจมูกของอีกฝ่ายได้
- สบตา 1 วินาที เมื่อต้องการเน้นว่าเราต้องการสื่อถึงคำนั้น ๆ
- ดวงตาที่แสดงความรู้สึกและอารมณ์
- การพูดที่มีการให้ความสนใจหรือการทำการพยักหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกกับคู่สนทนา
การพูดเกริ่น เป็นศิลปะการพูดที่เข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ดีทีเดียว ในส่วนของ GO ON ชอบวิธีการนี้และถือเป็นวิธีที่เราเลือกที่จะพูด โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของผู้สนทนา มีอยู่ 3 วิธีคือ
- การพูดให้ใช้วิธี Yes but แทน วิธี No but คือการเกริ่นพูดด้วยเรื่องที่เป็นแง่บวกก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศ แล้วจึงพูดข่าวร้าย หรือสิ่งที่ต้องให้แก้ไขปรับปรุง เพื่อลดแรงกระเทือนทางจิตใจ
- Yes and คือการพูดเรื่องแง่บวก เพิ่มไปบน เรื่องในแง่บวก เช่น “พักนี้ยอดขายดีมากเลยนะ ถ้ารักษาเวลาการเข้างานด้วยจะดียิ่งขึ้นอีกมากเลยนะ” ก็ทำให้ดูนุ่มนวลมากยิ่งขึ้นได้ โดยส่วนตัววิธีนี้ไม่แน่ใจว่าจะดูนุ่มนวลหรือบางคนอาจฟังดูประชดก็ได้ อันนี้อาจต้องไปปรับใช้ดูนะคะ
- Yes how วิธีนี้เป็นวิธีที่นุ่มนวลมากยิ่งขึ้น เช่น “พักนี้ยอดขายคุณเพิ่มขึ้น พยายามได้ดีมาก เรามาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก” โดยสรุปคือการใช้วิธีตั้งคำถามให้ผู้ฟังคิดนั่นเอง
โดยส่วนตัวมองว่า เราอาจจะฝึกจากวิธีที่พูดเชิงบวกก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุยและเปิดใจ แล้วจึงพูดเรื่องอื่น ๆ ถัดไปจากการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ฟังได้ตอบเลย ก็เป็นวิธีที่ง่ายขึ้น ลองดูนะคะ
ทฤษฎีของไซแอนท์ กล่าวว่า สิ่งที่เราคุยสัพเพเหระไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาแต่อยู่ที่จำนวนครั้ง ดังนั้นอย่ากังวลถึงเนื้อหาที่จะคุยจนเกินไป เขาได้ทำการทดลอง โดยให้คนดูภาพ จำนวนแตกต่างกันออกไป โดยสรุปคือ ภาพที่ยิ่งดูบ่อยครั้งยิ่งจะได้รับความชื่นชอบ จากกลุ่มทดลองมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึง ยิ่งเพิ่มการพบปะพูดคุยให้บ่อยขึ้นกับคนที่เราต้องการ ความรู้สึกชอบก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง (ปรากฏการณ์เพียงแค่ได้เจอ) น่าสนใจเอาไปลองใช้ดูนะคะ แต่ถ้า ยิ่งเจอยิ่งเหม็นหน้าอันนี้ก็ตัวใครตัวมันค่ะ ^^
การตั้งคำถามกับตัวเอง ช่วยให้สมองของเราทำงานอย่างแข็งขันและมีการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นอีกด้วย ลองตั้งคำถามว่าเราอยากเรียนรู้อะไรมากที่สุด นอกเหนือจากนั้น Go ON มองว่า เมื่อตั้งคำถามแล้วสิ่งสำคัญคือ การมีเวลาอยู่กับคำถามนั้นให้เพียงพอและค่อย ๆ ตอบคำถามค่ะ อยู่กับตัวเองให้นาน เพราะบ่อยครั้งที่เมื่อตั้งคำถามแล้ว ยังไม่ได้คำตอบเราก็ถอยออกจากคำถามไปซะก่อน ให้ความสำคัญกับคำถามนะคะ ใจจะตอบใจ ทุกคำถามมีคำตอบจากหลากหลายด้าน จากการหาข้อมูลให้มากและหากเป็นด้านจิตใจ ใจเราสามารถตอบใจเราเองได้ค่ะ สมองคนเรามีวิธีที่เรียกว่า “สมาธิเลือกสรร” หรือ “Cocktail Party Effect” คือสมองสามารถเลือกสรรข้อมูลขนาดใหญ่จากรอบด้านออกมา เพื่อให้เราเลือกใช้ การที่จะส่งผลให้วิธีการนี้ทำงานได้ดีคือการตั้งคำถามกับทุกอย่างก่อนเสมอ เช่นเราซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง เขียนลงกระดาษก่อนว่า “เราอยากเรียนรู้อะไรจากหนังสือเล่มนี้มากที่สุด” “เพราะเป็นคนเขียนไม่เก่ง จึงอยากฝึกเขียนให้เก่ง” อีกคำถามของ Go ON “หลายครั้งที่อ่านหนังสือแล้วเราต้องการให้ความรู้นั้นยังอยู่กับเราและกลับมาเป็นแหล่งความรู้ เพื่อต่อยอดพัฒนาตนเองและสร้าง Output ต่อไปได้” หรือคำถามอื่น ๆ ที่ท่านต้องการ สมองจะทำการค้นหาคำตอบจากหนังสือ ดังนั้นก่อนจะเรียนรู้สิ่งใด ให้เวลาสัก 10 วินาทีตั้งคำถามก่อนนะคะ เทคนิคในการตั้งคำถามคือ
- ฟังพลางคิดคำถามไปด้วย
- ถามโดยคำนึงถึง “สิ่งที่ผู้พูดน่าจะอยากพูด”
- ตั้งคำถามที่คิดว่าคนอื่นก็อยากรู้เช่นเดียวกัน
- ตั้งคำถามที่คิดว่าเป็นข้อถกที่ทำให้ปัญหาเข้มข้นขึ้นได้
แค่นี้คุณจะกลายเป็นนักข่าวหัวเห็ดในในวงสนทนาเลยทันที
นอกเหนือจากการตั้งคำถามแล้ว การปฏิเสธก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เราได้ใช้เวลาหรือพลังงานไปกับสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ คนปฏิเสธกลับเป็นคนที่ไม่มีความสุข โดยการจะปฏิเสธ ควรกำหนดความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของเราก่อน ใน 1วัน 1 สัปดาห์ 1ปี เราต้องการจะทำอะไร และอะไรเป็นเป้าหมาย หากอะไรที่ไม่สอดคล้องกันก็เท่ากับเป็นการเสียเวลาที่จะทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นการให้เวลากับครอบครัว หากมีสิ่งใดมารบกวน เราจะปฏิเสธได้อย่างไม่ลังเล ทำให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงการยึดมั่นในความคิดและหลักการของเราและควรทำอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน อย่าได้ใจอ่อนกับคำว่าครั้งนี้ครั้งเดียว หรือขอร้อง ซึ่งเรียกว่าการตัดสินใจแบบ “Case by case” โดยการปฏิเสธก็มีรูปแบบเช่นเดียวกันคือ “ขอโทษ (ขอบคุณ) + เหตุผล + ปฏิเสธ + ข้อเสนอ ดังนั้นการปฏิเสธ อย่าลืมให้ความสำคัญกับกฎของตัวเองมากกว่าความสะดวกของคนอื่นนะคะ
เคยได้ยินกันไหมคะว่า การมีความเครียดทำให้เรามีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น และการมีความเครียดน้อยหรือมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อการทำงานเช่นเดียวกัน หากเรา ตื่นเต้น ในระดับที่พอเหมาะจะช่วยทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น ความตื่นเต้นไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเพื่อนต่างหาก หากเราตื่นเต้น ให้บอกตัวเองว่า “เราทำงานได้ดีขึ้นแล้ว” ความตื่นเต้นยังเป็นผลดีต่อการที่เราต้องนำเสนองาน Presentation ต่าง ๆอีกด้วยค่ะ
การถกเถียงถือเป็นอีกหนึ่งทักษะของการเตรียมตัวให้พร้อมและเราจำเป็นต้องมีความกล้าเล็กน้อย วิธีการพัฒนาการถกเถียงเป็นเรื่องที่ฝึกได้ค่ะ
- ไม่ว่าใครก็พัฒนาการถกเถียงได้นะคะ สามารถเริ่มได้จากการเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานก่อนได้ เรื่องอะไรก็ได้ค่ะ ภาพยนตร์ หนังสือ อาหาร ละคร
- ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาปะปน ต้องฝึกไม่เอาอารมณ์มาเกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายของการถกเถียงก่อน เช่น ทำเพื่อบริษัท ทำเพื่อครอบครัว ให้แยกออกจากกัน
- คาดการณ์ถึงแนวทางการถกเถียง ฝึกคาดการณ์ประเด็นต่าง ๆ หรือคำถามและวิธีการรับมือไว้ก่อนย่อมดีกว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมข้อมูล คนที่ไม่ถนัดเรื่องนี้จะไม่เตรียมข้อมูลมาทำให้แนวทางเฉไฉได้
- รวบรวมคำถาม คำตอบไว้ล่วงหน้า ซึ่งกฎ 10-30-100 คือ
o คำถาม 10 ข้อ จะครอบคลุมเนื้อหา 70%
o คำถาม 30 ข้อ จะครอบคลุมเนื้อหา 90%
o และคำถาม 100 ข้อ จะครอบคลุมเนื้อหา 99%
ดังนั้นกลับมาที่การตั้งคำถามกันดูค่ะ ฝึกตั้งคำถามซึ่งจะมาเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ได้ ทำให้ทักษะ Output ของเรานั้นพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
o แสดงความคิดเห็นออกไปเป็นคนแรก ซึ่งจะทำให้ความเห็นนั้นทรงพลังขึ้นมาทันทีค่ะ