10 พ.ค. 2021 เวลา 09:45 • ประวัติศาสตร์
การปกครองสมัยพระเอกาทศรถ
3
รัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถมักไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะคนสนใจเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศมากกว่า และรัชกาลนี้มีระยะเวลาสั้นๆ ในช่วง พ.ศ. 2148-2153 (ค.ศ. 1605-1610) ประมาณ 5 ปีเท่านั้น แต่เมื่อศึกษาการปกครองของสมเด็จพระเอกาทศรถแล้วพบว่ามีเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของอาณาจักรอยุทธยาหลายอย่าง
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นคือการยุติการทำสงครามขยายอำนาจในรัชกาลสมเด็จพระนเรศที่ส่งผลให้อยุทธยาสามารถครอบครองประเทศราชกว้างขวางยิ่งกว่าในอดีต ทางตะวันตกครอบครองเมืองท่าฝั่งทะเลอันดามันคือ ทวาย มะริด ตะนาวศรี ไปจนถึงหัวเมืองมอญในอ่าวเมาะตะมะซึ่งเป็นประตูสู่การค้ากับมหาสมุทรอินเดียไปถึงยุโรป ทางตะวันออกถึงกัมพูชา ทางเหนือครอบครองล้านนา 57 หัวเมืองรวมถึงหัวเมืองไทใหญ่บางส่วน ทางใต้ถึงหัวเมืองในคาบสมุทรมลายู เช่น ปตานี
แผนที่กรุงศรีอยุทธยาและเมืองต่างๆ ในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุทธยาหมายเลข 6 อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23
ในสงครามครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศทรงตั้งพระทัยจะยกทัพไปตีเมืองตองอูครั้งที่สอง หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในสงครามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) แต่เมื่อทรงทราบว่าอังวะยกทัพมาตีเมืองนายที่เป็นประเทศราชของอยุทธยาแตก และเตรียมขยายอำนาจไปยังแสนหวี ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของรัฐชาน (Shan states) ที่ในเวลานั้นยอมสวามิภักดิ์อยุทธยาเช่นเดียวกัน ทำให้ทรงเปลี่ยนเป้าหมายไปตีเมืองอังวะแทน
จดหมายเหตุของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) ที่เรียบเรียงสมัยพระเจ้าปราสาททองระบุว่า สมเด็จพระนเรศทรงมีจุดประสงค์จะขยายอำนาจไปถึงเมืองตองอูในดินแดนพม่าตอนกลาง เมื่อก่อนสวรรคตมีรับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถสาบานว่าจะพิชิตเมืองตองอูให้ได้
ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะทรงมีจุดประสงค์ในการปราบปรามศูนย์อำนาจขนาดใหญ่ของพม่าคืออังวะและตองอูให้ราบคาบไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่ออยุทธยาอีกต่อไป โดยเฉพาะอังวะที่ในเวลานั้นสามารถยึดครองดินแดนพม่าตอนบนไว้อย่างมั่นคง และแผ่อิทธิพลไปยังหัวเมืองไทใหญ่ในรัฐชานจำนวนมากจนมีปริมณฑลอำนาจทับซ้อนกับอยุทธยาที่แผ่อิทธิพลอยู่ในรัฐชานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เป็นไปได้ว่าสมเด็จพระนเรศต้องการรักษาดินแดนรัฐชานไว้เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าทางบกไปสู่มณฑลยวิ๋นหนานของจีนด้วย
แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศประชวรสวรรคตระหว่างทางเสด็จไปอังวะ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงทรงยุติสงคราม มีพระราชโองการให้เรียกกองทัพกลับกรุงศรีอยุทธยาทั้งหมด ปล่อยให้อังวะยึดครองแสนหวีและดินแดนในรัฐชานไป
จิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงภาพการอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศกลับกรุงศรีอยุทธยา ผลงานของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การสวรรคตของสมเด็จพระนเรศที่เป็นจอมทัพอาจส่งผลต่อขวัญกำลังใจของไพร่พลอยุทธยา รวมถึงอาจเป็นโอกาสให้อาณาจักรอื่น ดินแดนประเทศราช หรือแม้แต่ขั้วอำนาจในราชสำนักอยุทธยาเองก่อความไม่สงบในช่วงผลัดแผ่นดินได้ บ้างวิเคราะห์ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถรวมถึงชนชั้นปกครองของอยุทธยาจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้ทรงสนับสนุนนโยบายการทำสงครามของสมเด็จพระนเรศ เป็นเหตุให้ทรงเปลี่ยนนโยบายทันทีที่ทรงขึ้นมามีอำนาจ
ทั้งนี้พิจารณาจากการที่อยุทธยาตกอยู่ในภาวะสงครามมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผลจากสงครามใหญ่ทั้งสองครั้งคือ สงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) และสงครามเสียกรุง พ.ศ. 2112 (ค.ศ. 1569) ทำให้ประชากรของอยุทธยาเบาบางเพราะล้มตายในสงครามและถูกกวาดต้อนไปหงสาวดีจำนวนมาก อยุทธยายังต้องรับมือจากการรุกรานของละแวก ถูกเรียกเกณฑ์ไพร่พลไปเข้าร่วมในสงครามของหงสาวดีอีกหลายครั้ง และนับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2127 (ค.ศ. 1584) มาจนสิ้นรัชกาลมีศึกสงครามแทบไม่ว้างเว้นทั้งสงครามป้องกันตนเองและสงครามขยายอำนาจ
ภาวะสงครามต่อเนื่องหลายปีส่งผลให้อยุทธยาศูนย์เสียไพร่พลและทรัพยากรไปมาก นอกจากนี้การเกณฑ์ไพร่พลไปทำสงครามเวลาหลายปีทำให้เรือกสวนไร่นาขาดผู้ดูแลรักษา อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สงครามช่วงหลังของสมเด็จพระนเรศมีปัญหาเรื่องเสบียง และอาจส่งผลกกระทบต่อชีวิดความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วไปด้วย จึงเข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระนเรศทรงหยุดทำสงครามไปประมาณ 4 ปีก่อนยกทัพไปตีอังวะครั้งสุดท้าย
ยังปรากฏหลักฐานว่าราษฎรไม่ได้มีแรงจูงใจในการเข้าร่วมสงครามของพระองค์ ฌาคส์ เดอ คูทร์ (Jacques de Coutre) ชาวเฟลมิชที่เคยรับราชการกับสมเด็จพระนเรศ ได้วิจารณ์การทำสงครามของพระองค์ว่า “เมื่อกษัตริย์องค์นี้เสด็จออกศึกสงคราม ทุกคนต้องโดยเสด็จพระราชดำเนินไปตลอดเส้นทาง ระหว่างทางพระมหากษัตริย์จะพระราชทานข้าวเป็นเสบียงให้พวกเขา ในการเสด็จแต่ละครั้งพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ยุ้งฉางนำข้าวใส่ถาดออกมาตั้ง ให้มีคนจำนวนมากพิทักษ์รักษาไว้ อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่กษัตริย์องค์นี้ไม่ทรงเห็นว่าราษฎรของพระองค์มีค่า [และเนื่องจากพวกเขา] มีจำนวนมากและขาดแรงจูงใจ ส่วนใหญ่จึงเสียชีวิตด้วยความอดอยากขาดเสบียงและโรคร้าย”
นอกจากนี้ ดินแดนประเทศราชที่อยุทธยาสามารถครอบครองก็กว้างใหญ่มากยิ่งกว่าที่เคยมีมาในอดีต ครอบครองเมืองท่าทางทะเลสำคัญหลายแห่งที่ส่งผลประโยชน์ทางการค้าขายแล้ว การขยายอำนาจต่อไปยังหัวเมืองพม่าที่ห่างไกลอาจให้ผลประโยชน์ได้ไม่คุ้มเสียและทำให้อยุทธยาสูญเสียกำลังพลมากขึ้น ต่อให้ยึดครองได้ก็ยากต่อการปกครอง ดังที่มีตัวอย่างคืออาณาจักรหงสาวดีที่ขยายอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลเกินไป ล่มสลายลงภายในชั่วคนเดียว เพราะพระเจ้านันทบุเรงไม่สามารถสร้างบารมีเหนือประเทศราชทั้งหลายเสมือนพระเจ้าบุเรงนองได้
ด้วยเหตุผลเหล่านี้อาจทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงมองไม่เห็นความจำเป็นที่อยุทธยาจะต้องทำสงครามขยายอำนาจไปมากกว่านี้ จึงหันมาจัดการระบบการปกครองภายในเพื่อสร้างเสริมราชสำนักส่วนกลางให้เข้มแข็งมากขึ้น
พระนเรศและพระเอกาทศรถ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคอวสานหงสา
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณีกิจของสมเด็จพระเอกาทศรถมากนัก ระบุเพียงแต่ว่า “ทรงพระกรุณาตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ แลส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด แลพระกัลปนาถวายเป็นนิตย์ภัตร แก่สังฆารามคามวาสีอรัญวาสีบูรณ์” แต่หลักฐานต่างประเทศคือจดหมายเหตุของฟาน ฟลีต ได้ให้รายละเอียดไว้มากพอสมควร ดังนี้
.
๏ การควบคุมประชากรไพร่
ฟาน ฟลีต ระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงมีนโยบายควบคุมประการไพร่ (ต้นฉบับใช้คำว่า ‘ทาส’ แต่พิจารณาจากเนื้อหาแล้วตรงกับไพร่ ทั้งนี้เอกสารของชาวยุโรปที่เข้ามาในสยามมักมองว่าไพร่เป็นทาสประเภทหนึ่ง ดังที่บันทึกของ ฌาคส์ เดอ คูทร์ และ ลา ลูแบร์ นิยามไพร่หลวงว่าเป็น ‘ทาสของกษัตริย์’) โดยมีพระราชกฤษฎีกาให้มูลนายของสยามและเมืองประเทศราชส่งบัญชีรายชื่อไพร่ในสังกัดเข้ามา จากนั้นจึงให้สำรวจสำมะโนประชากรไพร่ตามหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น (ยกเว้นปตานีที่ผู้ปกครองไม่ต้องการทำตาม) หากผู้ใดมีไพร่ในสังกัดมากกว่าที่แจ้งไว้ จะต้องถวายไพร่ที่ไม่ได้แจ้งชื่อให้พระเจ้าแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงมีไพร่หลวงจำนวนมาก
สาเหตุสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขุนนางที่เป็นแม่ทัพนายกองได้มีโอกาสสะสมไพร่ในสังกัดได้มากกว่าปกติจนอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อพระเจ้าแผ่นดินได้ ทำให้ต้องมีการควบคุมประชากรไพร่ให้เป็นระบบ เพื่อความมั่นคงของราชสำนักส่วนกลาง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าราชการส่วนกลางกรมกองต่างๆ ที่บังคับบัญชาไพร่หลวงมีกำลังมากขึ้น
สมเด็จพระเอกาทศรถยังทรงให้มีการจัดสรรประชากรไพร่ (เข้าใจว่าเป็นต้นแบบของ “พระไอยการบานผแนก” ที่เป็นกฎหมายแบ่งปันลูกหมู่ไพร่ว่าจะให้สังกัดฝ่ายทหารหรือพลเรือนในเวลาต่อมา) โดยกำหนดให้บุคคลที่เกิดในสยาม รวมถึงผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากในสยาม (แม้ว่าไม่ใช่ทาส) จะถูกแบ่งไปให้อยู่ภายใต้สังกัดของมูลนาย
เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดยังให้ข้อมูลว่า ผลจากสงครามของสมเด็จพระนเรศทำให้ชาวมอญและลาว (ล้านนา ล้านช้าง) ถูกกวาดต้อนเข้ามาในอยุทธยาจำนวนมากนับแต่นั้น สมเด็จพระเอกาทศรถจึงโปรดให้จัดสรรชาวมอญและลาวไปแจกจ่ายในราชการ “แล้วให้เลี้ยงช้างทั้งกรุงทั้งหมู่โขลงแล่น มียศทั้งสิ้น” ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานว่าชาวมอญและชาวลาวได้กลายเป็นประชากรหลักของอยุทธยาร่วมกับชาวไทย และต้องถูกเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ไม่ต่างจากชาวไทย
ฟาน ฟลีต วิจารณ์ว่า “ผลก็คือทำให้เกิดระบบข้าทาสอย่างมั่นคง ตั้งแต่นั้นมาไม่มีบุคคลใดที่เกิดมาแล้วจะมีอิสระพ้นจากการเป็นทาส และมีอิสระไม่ต้องอยู่ของนาย ไม่ว่านายจะสั่งอะไร ทาสก็ต้องทำตาม หรือมิฉะนั้นจะต้องนำสิ่งของมาชดใช้แทน การกระทำเช่นนี้ทำให้พวกขุนนางได้รับผลประโยชน์อย่างมาก ในขณะที่พวกสามัญชนและคนจนต้องแบกภาระไว้”
.
.
๏ การตั้งภาษีอากรใหม่
พระราชพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้ง “ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด” หมายถึง ส่วย คือ สิ่งของหรือเงินที่ไพร่ส่งให้รัฐแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน กับ อากร คือการเรียกเก็บส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการประกอบการของราษฎรหรือส่วนแบ่ง เข้าใจว่าหมายถึงการตั้งส่วยและภาษีอากรชนิดใหม่ๆ ขึ้น ในที่นี้กล่าวถึงเฉพาะอากรขนอน (เข้าใจว่าคือ ‘จังกอบ’ หรือภาษีผ่านด่านที่เรียกเก็บจากด่านขนอนตามเส้นทางการค้า) และ อากรตลาด (ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากร้านค้าและผู้ค้าในตลาด)
ฟาน ฟลีต ยังบันทึกว่า พระองค์ให้เก็บภาษีจากเจ้าของสวนที่ปลูกไม้ผล โดยให้มีการนับจำนวนไม้ผลทุกต้นทั่วอาณาจักร เช่น ต้นปาล์ม หมาก ส้ม ทับทิม มะนาว มะขาม ทุเรียน มะม่วง มังคุด ขนุน ฯลฯ แล้วเรียกเก็บภาษีรายต้น ทุกปีเจ้าของสวนต้องนำเงิน 1 เฟื้อง มอบให้เจ้าหน้าที่กรมพระคลังหรือผู้เก็บภาษี ภาษีนี้ภายหลังปรากฏเรียกว่า “อากรสวน” เป็นหนึ่งในภาษีอากรหลักของราชสำนักที่ยังมีมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยอยุทธยาตอนปลายสามารถเรียกเก็บอากรสวนได้ถึงปีละ 3,000 ชั่ง เท่ากับภาษีสำเภาขาเข้าต่อปี มากที่สุดในบรรดาภาษีอากรต่างๆ
การตั้งภาษีเหล่านี้สันนิษฐานว่า ราชสำนักต้องการงบประมาณแผ่นดินให้มากขึ้น เพื่อชดเชยความเสียหายและค่าใช้จ่ายในช่วงสงคราม แต่ในขณะเดียวกันเป็นการมอบอำนาจให้ข้าราชการมีช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ผ่านระบบภาษีอากร ทำให้สถานะของราชสำนักขุนนางมีความมั่งคั่งมากขึ้น
.
.
๏ บัญญัติกฎหมายลักษณะมรดก
ฟาน ฟลีต ระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงหาผลประโยชน์เข้าราชสำนักโดยบัญญัติกฎหมายว่า เมื่อขุนนางสิ้นหรือผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องพัทธยา (เครื่องยศ) เสียชีวิต ทรัพย์สมบัติ 1 ใน 3 จะต้องตกเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามปรากฏใน “พระไอยการลักษณมรดก” ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเนื้อหาเก่าสุดที่พบระบุว่าบัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612) รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม มีเนื้อหาว่าผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เสียชีวิตต้องคืนเครื่องสรรพาวุธช้างม้าเครื่องพัทธยาบ่าวไพร่ของหลวงและเรือยาว 7 วาขึ้นไปให้ราชสำนัก ทรัพย์สินที่เหลือให้แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งเข้าพระคลังหลวง ส่วนหนึ่งให้บิดามารดา ส่วนหนึ่งให้ญาติพี่น้องลูกหลาน ส่วนหนึ่งให้ภรรยา แต่ถ้าไม่มีบิดามารดาให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนหนึ่งให้พระคลังหลวง ส่วนหนึ่งให้ญาติพี่น้องลูกหลาน ส่วนหนึ่งให้ภรรยา สันนิษฐานว่าพระไอยการนี้อาจปรับปรุงมาจากกฎหมายในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ หรือไม่ ฟาน ฟลีตอาจบันทึกรัชกาลคลาดเคลื่อน
นอกจากนี้ ขุนนางผู้ใหญ่ เช่น ออกญาวัง ออกญาพิษณุโลก ออกญาพลเทพ ฯลฯ จะต้องถวายเงินบริจาคในหน่วยงานของตนเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
นโยบายเหล่านี้นอกจากเป็นการเพิ่มพูนพระราชทรัพย์แล้ว ยังเป็นการควบคุมไม่ให้ขุนนางสั่งสมความมั่งคั่งมากเกินไปจนอาจจะท้าทายพระเจ้าแผ่นดินได้ แต่ฟาน ฟลีต บันทึกว่าในทางปฏิบัติ การเรี่ยไรเงินแทบไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวของขุนนางเลย แต่ไปเรี่ยไรจากมูลนายและข้าราชการระดับรองลงไป ซึ่งจะต้องจ่ายเงินและช่วยแรงงานตามส่วนของตน และผู้ที่ต้องรับภาระมากที่สุดคือประชนชนทั่วไปที่เป็นชนชั้นใต้ปกครอง และชาวต่างประเทศที่อยู่ในสยามซึ่งถูกเกณฑ์แรงงาน
ตราสัญลักษณ์บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC)
การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ
ฟาน ฟลีต ระบุว่าทรงนำกฎข้อบังคับเกี่ยวกับชาวต่างประเทศที่บัญญัติขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี (เชษฐาธิราช) กลับมาใช้ใหม่โดยให้ข้าราชการกรมพระคลังที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศยึดถือปฏิบัติ เพื่อเป็นการดึงดูดชาวต่างประเทศให้หันมานิยมพระองค์มากขึ้น
รัชกาลนี้มีการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยมีการแลกเปลี่ยนคณะทูตกับรัฐบาลโชกุนตระกูลโทกุงาวะหลายครั้ง ทรงโปรดให้บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ตั้งสถานีการค้าที่อยุทธยาเป็นครั้งแรก และส่งคณะทูตไปเนเธอร์แลนด์เพื่อเข้าเฝ้าเจ้าชายเมาริตซ์แห่งออรังเย (Maurits van Oranje) องค์อธิปัตย์แห่งมณฑลฮอลแลนด์ใน พ.ศ. 2151 (ค.ศ. 1608) เป็นคณะทูตสยามชุดแรกที่ได้เดินทางไปถึงยุโรป จุดประสงค์เพื่อประเมินอำนาจและอิทธิพลทางการค้าของดัตช์ และสันนิษฐานว่าอยุทธยาต้องการจะอาศัยดัตช์เข้ามาคานอำนาจโปรตุเกสที่มีความขัดแย้งกับราชสำนักมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศ ส่งผลให้การค้าขายกับญี่ปุ่นและดัตช์ขยายตัวขึ้นในเวลาต่อมา
การขยายตัวทางการค้าต่างประเทศเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ขุนนางเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเอง โดยขุนนางอาจอาศัยตำแหน่งราชการของตนในการเรียกร้องค่าธรรมเนียม ของกำนัล หรือผลประโยชน์ต่างๆ จากพ่อค้าต่างประเทศแลกกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขุนนางหลายคนรับผิดชอบทำการค้าในราชสำนักในขณะที่ประกอบการค้าส่วนตัวของตนเองไปด้วย ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าชาวต่างประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบโดยระบบราชการของสยาม
โทกุงาวะ อิเอยาสุ (徳川家康) ผู้สถาปนารัฐบาลโชกุนตระกูลโทกุงาวะ และโชกุนคนแรกของสมัยเอโดะ ได้ส่งคณะทูตมายังสยามในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ
๏ การปกครองหัวเมืองและประเทศราช
อยุทธยายังรักษาหัวเมืองประเทศราชในรัชกาลสมเด็จพระนเรศไว้ได้พอสมควร แม้ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถจะไม่ได้ทำสงครามขยายอำนาจ แต่ก็มีดินแดนอื่นที่เกรงอิทธิพลของอยุทธยาในเวลานั้นหันมาสวามิภักดิ์มากขึ้น
ใน พ.ศ. 2148 (ค.ศ. 1605) ที่ขึ้นครองราชย์ ระหว่างทรงยกทัพกลับ มีคณะทูตจากเมืองไทร (เคดะห์) อัญเชิญหนังสือและเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายที่เมืองกำแพงเพชร
ปีถัดมารัฐอิสระคือตองอูและล้านช้างต่างส่งคณะทูตมาถวายบังคม สันนิษฐานว่าเพราะตระหนักถึงอิทธิพลของอยุทธยาที่กลายเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในเวลานั้น โดยเฉพาะกับตองอูอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงเนื่องจากต้องทำสงครามกับเมืองอังวะทางเหนือ เมืองแปรทางตะวันตก และมี ฟีลีปึ ดึ บรีตู อี นีโกตึ (Filipe de Brito e Nicote) เจ้าเมืองสิเรียม (Syriam) ที่มีอำนาจปกครองหัวเมืองมอญทางใต้โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรตุเกสเป็นหอกข้างแคร่ และตองอูอาจประเมินแล้วว่าสมเด็จพระเอกาทศรถไม่ได้ทรงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อตองอูเหมือนสมเด็จพระนเรศ จึงเลือกยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุทธยาเสียก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดศึกหลายด้าน และอาจมีจุดประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือจากอยุทธยาในการต้านทานเมืองแปรและเมืองอังวะด้วย โดยเฉพาะกับอังวะที่กำลังเข้มแข็งและตีเมืองแปรแตกใน พ.ศ. 2151 (ค.ศ. 1608)
หลักฐานชั้นต้นของดัตช์ระบุว่าใน พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609) พระเจ้าตองอูทรงส่งคณะทูตนำทับทิมเม็ดใหญ่มาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถเป็น “เครื่องราชบรรณาการสำหรับความช่วยเหลือต่าง ๆ” จึงเข้าใจว่าทรงเลือกใช้วิธีสนับสนุนทางการทหารแก่ตองอู แทนที่จะส่งกองทัพจากอยุทธยาเข้าไปขยายอำนาจในดินแดนพม่าโดยตรง แต่ในปีที่สมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต ตองอูก็ถูกอังวะยึดครอง
.
กัมพูชาในรัชสมัยสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณยอมอยู่ใต้อำนาจอยุทธยาอย่างเรียบร้อย พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. 1170 ระบุว่าอยุทธยาสนับสนุนสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณในการปราบกบฏใน พ.ศ. 2150 (ค.ศ. 1607) และยอมส่งพระศรีไชยเชษฐา โอรสสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณที่เป็นองค์ประกันในอยุทธยากลับไปช่วยเหลือ ทั้งสองอาณาจักรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการส่งคณะทูตติดต่อกันทุกปี จนกระทั่งสมเด็จพระศรีไชยเชษฐา โอรสพระศรีสุริโยพรรณแยกตนอิสระในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
สำหรับล้านนา ในอดีตสมเด็จพระเอกาทศรถทรงมีบทบาททำให้เจ้าเมืองล้านนาทั้งหลายยอมถวายบรรณาการสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุทธยาและให้ยอมรับนรธามังช่อ (နော်ရထာမင်းစော Nawrahta Minsaw) โอรสพระเจ้าบุเรงนองเป็นพระเจ้าเชียงใหม่อย่างถูกต้อง เมื่อสมเด็จพระนเรศสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกทัพกลับมาทางเชียงใหม่ ทรงนำ “พระทุลอง” หรือ “มังสาตุลอง” (မင်းသားတုလောင်း Mintha Tulaung) โอรสองค์ใหญ่ของนรธามังช่อซึ่งเป็นลูกเขยของสมเด็จพระนเรศลงไปที่กรุงศรีอยุทธยาด้วย และพระราชทานนามให้ชื่อว่า “พระศรีสุมหาธรรมราชา” มหาราชวงศ์ของพม่าระบุว่ามังสาตุลองได้เป็น “วังหน้า” หรือพระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุทธยาด้วย แต่เรื่องนี้อาจจะเกินจริงไป สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงต้องการใช้มังสาตุลองเป็นองค์ประกันความภักดีของเชียงใหม่ และต้องการสนับสนุนมังสาตุลองที่เป็นเครือญาติกับอยุทธยาให้ได้ปกครองเชียงใหม่ด้วย
เมื่อนรธามังช่อสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2150 มังสาตุลองจึงนำกองทัพจากอยุทธยาขึ้นไปรับราชสมบัติ อย่างไรก็ตามขุนนางเชียงใหม่กลับสนับสนุนมังรายทิปปะ (မင်းရဲဒိဗ္ဗ Minye Deibba) โอรสองค์รองของนรธามังช่อเป็นพระเจ้าเชียงใหม่แทน ฝ่ายมังสาตุลองได้แต่ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ จนมังสาตุลองประชวรสิ้นพระชนม์ หลักฐานชั้นต้นของดัตช์ที่เขียนใน พ.ศ. 2151 ระบุว่าปัญหาสืบราชสมบัติทำให้กองทัพอยุทธยารบพุ่งกับเชียงใหม่อยู่ถึง 7 เดือน แต่สุดท้ายเนื่องจากการเสบียงจึงถอยกลับไปหมด เสียการควบคุมเหนือล้านนาที่ตกอยู่ในภาวะจลาจลจากการชิงอำนาจหลายปีจนกระทั่งถูกอังวะยึดครองใน พ.ศ. 2157 (ค.ศ. 1614)
.
สมเด็จพระเอกาทศรถยังสานสัมพันธ์กับเจ้าหัวปากใต้ บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับสยามที่เรียบเรียงจากคำให้การของ วิคเตอร์ สปริงค์เกล (Victor Sprinckel) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ ประจำเมืองปัตตานีในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถพระราชทานนางสนมของพระองค์ให้แต่งงานกับบุตรชายของพญาพัทลุง (Coninckr Sone van Bordelon) ทรงจัดขบวนส่งนางสนมไปพัทลุงขนาดใหญ่มีคนถึง 14,000 คน ช้าง 900 เชือก รวมถึงพระราชทานข้าทาสให้ฝ่ายเมืองพัทลุงจำนวนมาก สปริงเกลได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานฉลองแต่งงานด้วย
พญาพัทลุงผู้นี้อาจเป็นบุคคลเดียวกับ 'ตาตุมะระหุ่ม' มุสลิมที่อพยพมาจากเมืองสาลัยในเกาะชวา ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์อยุทธยาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง โดยย้ายเมืองไปตั้งที่หัวเขาแดงปากน้ำเมืองพัทลุง หลังจากเมืองเดิมที่สทิงพระเสียให้โจรสลัดอุยงตะนะ เป็นบุคคลเดียวกับ ดาโต๊ะ โมกอล (Datoe Mogoll) ชาวเปอร์เซียผู้ก่อตั้งสิงขระนคร (สงขลา) ที่หัวเขาแดงซึ่งกลายเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญในภูมิภาค
สันนิษฐานว่าความเจริญทางการค้าของสิงขรนครทำให้ ดาโต๊ะ โมกอล ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์อยุทธยา (บางแห่งอ้างว่าคือสมเด็จพระเอกาทศรถ) ให้เป็นพญามหานครปกครองเมืองสงขลาและพัทลุง โดยแบ่งผลประโยชน์ทางการค้าให้ราชสำนัก
1
ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมจึงพบหลักฐานว่าสงขลาภายใต้การปกครองของ ดาโต๊ะ โมกอล เป็นเมืองขึ้นของอยุทธยา ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง บุตรชายคือสุลัยมานได้ประกาศตนเป็นอิสระ และสถาปนาตนเองเป็นสลุต่านแห่งสงขลา
แผนที่ราชอาณาจักรสยาม (Regnum SIAN) ผลงานของ โยฮานเนส เมเทลลุส (Johannes Metellus) ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เมืองโคโลญ (Cologne) เมื่อ ค.ศ. 1598 (พ.ศ. 2141) รัชกาลสมเด็จพระนเรศ
ฟาน ฟลีต วิจารณ์สมเด็จพระเอกาทศรถว่า เมื่อเทียบกับการปกครองอันเข้มงวดของสมเด็จพระนเรศแล้ว ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี มีพระปรีชาสามารถ และทรงตัดสินพระทัยดี ไม่ทรงทำสงครามเพื่อรุกรานหรือป้องกันอาณาจักร แต่เพราะการออกนโยบายเพื่อเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ของพระองค์ทำให้ ฟาน ฟลีต วิจารณ์ว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ “โลภ” มากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ
ปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) ลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เข้ามาเมืองปตานีในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมวิจารณ์ไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่โลภ แต่โปรดให้อาณาจักรของพระองค์สงบสุข (‘...the White King, who was a verye conveteous man butt injoyed his kingdome in peace, doing no other thing worthy of remenberence.’)
ฟาน ฟลีต ยังวิจารณ์สภาพการปกครองในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถว่าที่เป็นผลจากนโยบายของพระองค์ว่า
“...ในการสร้างปราสาทราชมณเฑียรใหญ่ๆ หยาดเหงื่อของคนจนและชาวต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเขาเหล่านั้นจะจดจำพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางไปนาน นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ชาวต่างประเทศโกรธมากที่ทุกคนได้แต่เรี่ยไร ขูดรีด และฉ้อฉลเท่าที่โอกาสจะอำนวย ใครก็ตามที่รู้จักรัฐบาลสยามดี ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็มีพื้นฐานเข้าข้างการกระทำดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดก็กลายเป็นถูก ภาวะการเสียภาษีซึ่งพระองค์เป็นผู้นำมาใช้ ก็ได้ถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้ และเพิ่มภาระยุ่งยากขึ้นทุกวัน”
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- กรมศิลปากร. (2513). เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา (นันทา สุตกุล, ผู้แปล). พระนคร: กรุงศิลปากร.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2466). ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 16 ตำนานภาษีอากรบางอย่างกับคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. (2553). กรุงเทพฯ: แสงดาว.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ). (ม.ป.ป.). [หนังสือสมุดไทยดำ]. (เลขที่ 30 หมวดจดหมายเหตุ กรุงศรีอยุธยา). เส้นหรดาล. หอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- ภมรี สุรเกียรติ. (2553). เมียนมาร์-สยามยุทธ์. กรุงเทพฯ: มติชน.
- มาณพ ถาวรวัฒน์กุล. (2536). ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ศรีวรวัตร,หลวง และ สิกขกิจบริหาร, ขุน. (2462). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 15 พงศาวดารเมืองพัทลุง. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (2548). พงศาวดารกรุงศรีอยธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มติชน.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (2545). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล.). กรุงเทพฯ: มติชน.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
.
ภาษาต่างประเทศ
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K. (Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Bhawan Ruangsilp. (2007). Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden: Brill.
- Borchberg, P., (Eds.). (2013). The Memoirs and Memorials of Jacques de Coutre: Security, Trade and Society in 16th-and 17th-century Southeast Asia (R. Roy, Trans.). Singapore: NUS Press.
- Commerlin, I.,(Ed.). (1646). Begin ende Voortgangh van de Vereenighde Neederlantsche Geoctroyeerde Oost-Indische Compagnie. Amsterdam: J. Janssonius.
- Iwamoto, Y., & Bytheway, S. J. (2011). “Japan's Official Relations with Shamuro (Siam), 1599–1745: As Revealed in the Diplomatic Records of the Tokugawa Shogunate”. Journal of the Siam Society, 99: 81–104.
- Maxwell, W.G. (1910), A Letter of Instructions from the East Indian Company to its Agent, Circ. 1614. Journal of the Straits Branch of the Royal Asiatic Society, 54, 63–98.
- Mooreland, W.H.,(Ed.). (2002). Peter Floris His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615. Bangkok: White Lotus Place.
- Phraison Salarak, Laung., (Tran.). (1911). Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Maha Yazawindawgyi. Journal of the Siam Society. 8(2), 1-119.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา