10 พ.ค. 2021 เวลา 10:33 • สุขภาพ
ถ้าเคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเข้าใกล้หนึ่งแสนรายเข้าไปทุกที แต่ในจำนวนนี้ก็มีหลายคนที่หายป่วยจากโควิดแล้ว ล่าสุดมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 รายที่หายป่วยแล้ว
ขณะที่สถานการณ์โลก ในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดราว 160 ล้านคน มีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 136 ล้านคนแล้วที่หายป่วย
ในห้วงเวลาที่การเร่งฉีดวัคซีนอาจจะเป็นลู่ทางสำคัญในการพาให้โลกนี้ผ่านพ้นจากภาวะโรคระบาดได้ คนจำนวนไม่น้อยจึงมีคำถามต่อมาว่า หากว่าเคยเป็นป่วยและหายจากโรคโควิด-19 แล้ว ยังควรที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 หรือไม่ #JustAsk ได้รวบรวมคำตอบมาให้ #7minread
ถ้าเคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่
Prime-boost immunization
 
หากเคยเป็นโควิด-19 ร่างกายของเราอาจสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อไวรัสได้ อย่างไรก็ตามไม่มีใครรู้ว่าภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหนหรือจะสามารถปกป้องเราจากการติดโควิด-19 อีกครั้งหรือไม่ การฉีดวัคซีนจึงสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว
จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเดียวกันกับความจำเป็นของวัคซีนเข็มที่ 2
วัคซีนโควิดส่วนใหญ่ ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ด้วยหลักการที่เรียกว่า prime-boost immunization คือการให้วัคซีนเข็มแรกเพื่อไปปูพื้น (prime) ให้กับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันก่อน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจดจำและเตรียมพร้อมในการสร้างแอนติบอดี (antibody) ที่เหมาะสมต่อแอนติเจน (antigen) แต่ละตัว
ในที่นี้ แอนติเจนมักจะเป็นสารหรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากไวรัส ที่เปรียบเหมือนสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อแอนตีบอดีซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายรูปตัว Y มีความเฉพาะเจาะจงกับไวรัสถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้จักและจดจำไวรัส จนสามารถทำงานต่อสู้กับไวรัสได้
เช่นกัน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) แล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น T cell และ B cell จะถูกกระตุ้น โดย B cell ที่ถูกกระตุ้นจะสร้าง neutralizing antibody (NAb) ที่สามารถจับกับโปรตีนที่มีลักษณะเป็นหนามแหลมบนพื้นผิวของไวรัส (spike protein) ได้ NAb นี้จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานจนสามารถทำลายไวรัสที่ก่อโรคได้
B cell ส่วนหนึ่งจะพัฒนาไปเป็น memory B-Cell ซึ่งจะทำงานตามชื่อเลย เพราะมันเปรียบเสมือนตำรวจที่คอยจดจำหน้าผู้ร้าย คอยลาดตระเวน และเมื่อ helper T cell ส่งสัญญาณว่าเจอผู้แปลกปลอม memory B cell ที่จำเชื้อได้ ก็จะทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีให้มีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แอนติบอดีก็จะไปทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ไม่ได้บ้าง ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์บ้าง และทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้บ้าง นับว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันนั่นเอง
จึงกล่าวได้ว่า เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของเราต้องอาศัยความจำในการต่อกรกับไวรัสนั่นเอง เพื่อให้ร่างกายจดจำผู้ร้ายได้เสมอ เราจึงต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อไปกระตุ้นหรือเสริม (boost) ให้ร่างกายจดจำ เช่นเดียวในคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีนจึงช่วยการันตีว่าผู้ที่เคยติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้
ถ้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่หายป่วยแล้วจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันอย่างไร
New York Times รายงานถึงงานวิจัยสองงาน สำหรับผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 แล้ว วัคซีนแค่เข็มเดียวอาจจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้แนะนำให้ข้ามการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไป
Times รายงานถึงการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่หายจากโควิด-19 สร้างแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 หลังจากได้รับ Pfizer-BioNTech หนึ่งครั้งในระดับเดียวกันกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและได้รับการฉีดวัคซีนสองครั้งตามที่แนะนำ
นอกจากนั้น BBC ยังรายงานด้วยว่าผลการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พบว่าผู้ที่เคยป่วยมาก่อน แม้ได้รับวัคซีนของ Pfizer เพียง 1 โดส ยังมีการตอบสนองของ T-cell สูงกว่าในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนถึง 6 เท่า และมีการตอบสนองด้วยแอนติบอดีสูงกว่าถึง 7 เท่า และยังมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายเชื้อไปให้บุคคลอื่น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หายจากโควิด-19 อาจจะเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงกว่าหลังฉีด ซึ่งเป็นเหตุมาจากที่ระบบภูมิคุ้มกันพยายามทำลายเชื้อโรคหลังจากที่รู้จักกับโปรตีนของไวรัสแล้ว
ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันย่อมมีความแตกต่างไปในแต่ละบุคคล (เช่น อายุ โรคประจำตัว) รวมถึงสายพันธุ์ของไวรัสเองก็อาจจะมีผล เช่น ถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์ไป แม้จะเพียงเล็กน้อย ระบบภูมิคุ้มกันก็อาจจะจำไม่ได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) แนะนำว่าหากหายป่วยแล้ว ก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
CDC ยังแนะนำอีกว่า หากเคยได้รับการรักษา COVID-19 ด้วย monoclonal antibody เช่น Bamlanivimab/Etesevimab และ Casirivimab/Imdevimab หรือได้รับการรักษาด้วย convalescent plasma ซึ่งเป็นพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายแล้วที่มีแอนติบอดีเป็นองค์ประกอบ ควรที่จะต้องรอ 90 วันก่อนรับวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดเรื่องการฉีดวัคซีน
สรุปได้ว่าวัคซีนเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าจะเคยติดเชื้อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามอื่น ๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น หลังจากที่เรา boost แล้ว ภูมิคุ้มกันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไร ทำไมบางคนถึงยังติดเชื้อทั้ง ๆ ที่ได้รับวัคซีนแล้ว เราจะสามารถถอดหน้ากากและใช้ชีวิตตามเดิมได้อีกหรือไม่ คำถามเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายต่อวงการแพทย์และคงต้องอาศัยเวลาเท่านั้นที่จะตอบได้
โฆษณา