12 พ.ค. 2021 เวลา 17:59 • ไลฟ์สไตล์
กฏไตรลักษณ์
คุณกำลังมีความทุกข์อยู่รึปล่าวคะ ถ้าใช่อ่านต่อไปให้จบนะคะ ไม่ว่าคุณจะมีความทุกข์แบบไหน ทุกข์เพราะอกหักรักคุด ทุกข์เพราะตกงานไม่มีเงินใช้ ทุกข์เพราะหนี้สินรุงรัง ทุกข์เพราะนานาจิตตังฯลฯ "กฎไตรลักษณ์" ช่วยคุณได้อย่าง 100% ค่ะ ทำไม? นะหรือคะ เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่มีความทุกข์มหาศาลในความคิดของตัวฉันเอง ทุกข์ตั้งแต่วัยเด็กจำความได้ พอโตเป็นผู้ใหญ่รับรู้ถึงความรู้สึกในวัยเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในวัยเด็กมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในหลายๆอย่างมันไม่สมควรเกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นเหมือนผ้าขาว ควรจะมีแต่สิ่งดีๆ มอบให้กับเด็กสิ ฉันคิดแบบนี้ แต่ฉันลืมไปว่า คนอื่นบนโลกใบนี้ เขาอาจจะเจอสิ่งเรวร้ายมากว่าเรา บางคนหรือหลายๆคน ทำไมเขาเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้หล่ะ เพราะคนเหล่านั้นรู้จักปล่อยวาง
ฉันเชื่อว่าหลายๆคนบนโลกใบนี้ รู้และเข้าใจใน "กฎไตรลักษณ์" เป็นอย่างดีและหลายๆคนก็ยังไม่เคยรู้จัก ส่วนตัวฉันเองก็เพิ่งจะมารู้จัก "กฎไตรลักษณ์" เมื่อไม่นานมานี้เอง "พุทธศาสนา" ใครก็รู้จักถ้าเป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ หรือคนประเทศอื่นที่นับถือศาสนาพุทธ พอจำความได้ก็จะรู้จักคำว่า "พุทธศาสนา" แต่ก็ยังไม่รู้ซึ้งถึงความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าคำว่า "พุทธศาสนา"
เมื่อกล่าวถึง "พุทธศาสนา" ฟังดูแล้วก็เหมือนเป็นธรรมะธรรมโมจนเกินไป คนทั่วไปไม่สนใจ มีแต่พวกนักบวชเท่านั้นแต่ตามความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่้พียงแค่นักบวชเท่านั้นที่จะเรียนรู้หลักพระพุทธศาสนาแต่มันเป็นความจำเป็นที่ทุกคนบนโลกใบนี้ควรที่จะเรียนรู้หลักของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจเพื่อที่จะใช้ชีวิตได้ย่างมีความสุขสงบ และถ้าทุกคนบนโลกใบนี้เข้าใจใน "กฏไตรลักษณ์" หรือจะให้เข้าใจง่ายๆก็คือ "กฏธรรมชาติ" ไม่ว่าบ้านเมืองไหน สังคมไหน บ้านเมืองไหน ก็จะต้องมีกฏตั้งไว้ให้ดำเนินตามไปตามกฏกติกาในทางเดียวกันบ้านเมืองต่างๆก็จะได้สงบสุขไม่วุ่นวายและต่อจากนี้ไปเราจะมาเรียนรู้เรื่อง "กฏไตรลักษณ์" กันเลยค่ะ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์ ๓ ประการ "ไตรลักษณ์" หมายถึง สภาพที่เป็นปกติวิสัยหรือเป็นไปตามธรรมชาติ หรืออาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีแห่งความเหมาะ เพราะทุกสิ่งบนโลกนี้จะอยู่ในกฏหรือภาวะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด "ไตรลักษณ์" จึงเป็นหลักสัจธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่มุ่งสอนให้เข้าใจชีวิตที่เป็นไปตามธรรมดา ตามความเป็นจริง ทำให้เราตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจว่า ชีวิตนั้นเป็นอย่างไร เกิดความรู้เท่าทันและรับรู้ต่อทุกอาการของการปฏิบัติตน
หลักสัจธรรมคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนามีหลักสัจธรรมหรือคำสอนที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่เป็นจำนวนมากโดยไตรลักษณ์นั้นก็เป็นหลักคำสอนที่สำคัญประการหนึ่งที่มุ่งให้ระลึกถึงความเป็นปกติธรรมดาของสรรพสิ่งบนโลกนี้ สอดรับคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นอาการสามัญของทุกสรรพสิ่ง ทั้งนามธรรมและรูปธรรม คำว่า "ไตรลักษณ์" เป็น "คำสันสกฤต" ที่นำมาใช้เป็นภาษาไทย ซึ่งมาจากคำว่า "ไตร" หรือ "ติ" ที่แปลว่า ๓ รวมกับคำว่า "ลักษณะ" หรือ "ลักขณะ" ที่แปลว่าที่เป็นสามัญทั่วไปรวมกันแล้วจึงหมายความว่าลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไป ๓ ประการ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
๑. อนิจจัง หรือ อนิจจตา
อนิจจัง หรือ อนิจจตาแห่งไตรลักษณ์ ๓ คือ ความเป็นของไม่เที่ยง หมายถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ถาวรคงที่แน่นอน ความไม่คงที่อยู่ได้ ในสภาพเดิมตลอดไป ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายแปรปรวนไป กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งคงที่อยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงช้าหรือเปลี่ยนแปลงเร็วเท่านั้น แต่ที่แน่ๆก็คือสิ่งต่างๆทั้งหมด จะถูกกาลเวลาทำให้เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนสภาพไปอย่างแน่นอน สิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นในตอนต้นสิ่งนั้นแม้จะคงมีอยู่ ในท่ามกลางแต่ก็ยังต้องมีความเสื่อมสลายดับไปในที่สุดซึ่งนั่นเป็นสิ่งธรรมดาแท้ของโลก
หลักอนิจจตา หรือความไม่เที่ยง จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง รูปธรรมหรือไม่มีรูปร่าง อรูปธรรม ก็ตาม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญสลายไป ถ้าเราใส่ใจ และพิจารณาให้ดีในตนเองและสรรพสิ่งรอบข้างก็จะเห็นได้ว่าคนเรามักจะเข้าไปยึดติดสิ่งต่างๆจนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งที่ตนเห็นหรือเกี่ยวข้องมีตัวตนจริงแล้วยึดมั่นถือมั่นพยายามรักษา ป้องกันมิให้สิ่งที่ตนชอบพอใจรักใคร่ เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ หรือไม่รักใคร่ก็จะพยายามให้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่ดี ภาวะของความไม่เที่ยงมีสภาพเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ขึ้นอยู่กับการสมมติบัญญัติ แตไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเจริญหรือเสื่อมก็คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงนั่นเอง
พระพุทธศาสนาสอนหลัก อนิจจตา มิใช่ให้เรายึดติดหรือหลีกหนีความไม่เที่ยงแต่สอนเพื่อให้เราเห็น หรือเข้าใจกฏธรรมชาติของความไม่เที่ยงว่า ทุกสิ่งเป็นไปภายใต้กฏของความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ถาวรอยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป เมื่อเรามองเห็นและเข้าใจกฏธรรมชาตินี้แล้วก็จะเกิดความรู้เท่าทันสามารถดึงเอาคุณค่าของความจริงข้อนี้มาปฏิบัติดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมโดยการไม่เข้าไปยึดมั่นว่าเป็น ตัวนั้น สิ่งนั้น อันจะทำให้เกิดความยึดมั่นต่อไปว่า "ของเรา" และโดยการไม่ประมาทในการเวลาในชีวิตและวัยเป็นต้น การรู้และเข้าใจจนเกิดความรู้เท่าทันต่อกฏของความไม่เที่ยงอย่างนี้จะช่วยให้เราไม่เกิดความทุกข์เกินสมควรในยามเมื่อเกิดความเสื่อม ความสูญเสียหรือพลัดพราดขึ้นกับตนเองและไม่หลงจนเกิดความประมาทในความเจริญและความสุขสบาย
ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงของหลัก "อนิจจตา" ปรากฏขณะที่สรรพสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ใน ๓ จังหวะ คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สังเกตได้จาก ๓ จังหวะนี้คือ
๑. "อุปจย" มีการเกิดขึ้น
๒. "สันตติ" มีการสืบต่อ
๓. "ชรตา" มีการตาย แตกดับ และสลายไป
- ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรม มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สังเกตได้จาก ๓ จังหวะคือ
๑. "อุปปาทา" มีการเกิดขึ้นของความรู้สึก จำได้ หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต
๒. "ฐติ" มีการตั้งอยู่ชั่วขณะ ของความรู้สึก จำได้ หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต
๓. "ภังคะ" มีการแตกดับสิ้นสุดไปของความรู้สึก จำได้ หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต
1
๒. "ทุกขัง" หรือ "ทุกขตา"
ทุกขัง หรือ ทุกขตา แห่งไตรลักษณ์ ๓ คือ ความเป็นทุกข์หมายถึง ความผิดหวัง ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง รวมถึงภาวะที่ถูกบีบคั้น ด้วยการเกิดขึ้นของเหตอันไม่พึงประสงค์ เกิดสภาพฝืนทนและขัดแย้งอยู่ในตัว กล่าวคือ สิ่งต่างๆที่มี ล้วนมีองค์ประกอบจากปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถดำรงอยู่ตามสภาพเดิมได้ มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมถอยและสลายไปตามกาลเวลา
หลักทุกขตา หรือ ความเป็นทุกข์ จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง รูปธรรม หรือไม่มีรูปร่าง อรูปธรรม ก็ตาม กำลังตั้งอยู่ หรือดำเนินไป ถ้าเราใส่ใจ พิจารณาให้ดีในตนเองและสรรพสิ่งรอบข้าง ก็จะได้เห็นคำว่า "ทุกข์" ที่หมายถึงในหลักไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะนี้ มีความหมายกว้างทั่วไปทั้งแก่สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มีการจัดแบ่งประเภทของทุกข์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในเรื่องของทุกข์ ก็มีข้อควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการด้วยกันคือ ประการที่ ๑. ทุกข์ใน"ไตรลักษณ์" กับทุกข์ใน "อริยะสัจ๔" กล่าวคือ ทุกที่ปรากฏอยู่ในหมวดธรรมสำคัญ ๓ หมวด คือ "เวทนา" เรียกว่า "ทุกขเวทนา" ประกอบด้วย เวทนา๓ คือ ทุกข์ สุข อุเบกขา และ "เวทนา๕" คือ ทุกข์ สุข โทมนัส โสมนัส และอุเบกขา ๒. "ไตรลักษณ์" เรียกว่า "ทุกขลักษณะ" คือ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ๓. อริยสัจ๔ "ทุกข์อริยสัจ" คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ประการที่ ๒ ลักษณะของทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเรามักเป็นทุกข์ในอริยสัจ๔ เพราะเป็นทุกข์ที่เกิดจากสภาพจิตที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยปุถุชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวข้องในไตรลักษณ์๓ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตหรือการงานอาชีพโดยตรง ดังนั้นทุกข์ในข้อนี้จึงหมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์ที่หมายรวมทั้งสิ่งมีชีวิตคือมนุษย์ และสัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิตเช่น บ้านเรือน ภูเขา ก้อนหิน เป็นต้น ซึ่งต้องมีความทุกข์ มีการทรุดโทรมหรือแก่ชราเป็นธรรมดา ทุกข์ชนิดนี้สัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับหลักอนิจจตา เป็นต้นว่า ความคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้เป็นทุกข์ ก็เพราะสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเหตุแห่งปัจจัยคืออนิจจัง
๓. อนัตตา หรือ อนัตตตา
อนัตตา หรือ อนัตตตา แห่งไตรลักษณ์๓ คือ ความเป็นอนัตตาหมายถึง ความไม่ใช่ตัวตนหรือความไม่มีตัวตนแท้จริงของสรรพสิ่งและไม่สามารถควบคุมให้คงอยู่ได้ตามความมุ่งหมายของตน กล่าวคือ ชีวิตหรือร่างกายนี้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวตนแท้จริงของเราเพราะที่เราเห็นเป็นรูปร่างหรือเป็นชีวิตนี้ ก็เพราะมีการรวมกันของขันธ์ห้า คือ ๑. รูปหรือรูปขันธ์๑ อันเป็นส่วนรูปหรืกายมีส่วนประกอบคือมหาภูตรูปสี่ คือดิน น้ำ ลม และไฟ ๒. อุปทายรูปยี่สิบสี่และนามหรือนามขันธ์สี่ส่วน คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งนามขันธ์ทั้งสี่นี้เป็นส่วนนามหรือจิตเมื่อส่วนประกอบด้านรูปขันธ์หรือนามขันธ์ทั้งห้า ประกอบรวมกันเข้าจึงเป็นรูปร่างหรือชีวิตเกอดขึ้นก่อนในเบื้องต้นอยู่ได้เพียงช่วงขณะเท่านั้นและย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทรุดโทรมจนในที่สุดก็แตกดับสลายสูญสิ้นซึ่งเป็นไปตามกฏของธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง ทั้งนี้สรรพสิ่งนั้น หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกและในจักรวาล รวมทั้ง ตัวจักรวาลเองด้วยก็ตกอยู่ภายใต้ความเป็นอนัตตาเช่นกัน โดยสรุปก็คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่เป็นอนัตตา ทั้งนี้ คำว่า "สรรพสิ่ง" ที่มีความหมายครอบคลุมสรรพสิ่งทีว่านี้เป็น ๒ ประเภทคือ ๑.สิ่งที่เป็นสังขตธรรมคือ สิ่งที่มีเงื่อนไข ปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ เสื่อมลง และดับสลายไปมีลักษณะเฉพาะตน ๒.สิ่งที่เป็นอสังขตธรรม คือสิ่งที่คงอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอะไร ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดอื่นๆมีลักษณะตรงกันข้ามกับสังขตธรรม คือ ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับสลายและเมื่อดำรงอยู่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรากฏได้แก่ "นิพพาน"
"ไตรลักษณ์" ทั้งสามประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงระลึกได้ หากเกิดทุกขังคือความทุกข์ที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาแล้ว ให้พึงใช้ปัญญามองให้เห็น ซึ่งความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งบนโลกคืออนิจจัง จะนำไปสู่ความเห็นแจ้งในอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ โดยไม่มีวันเสื่อมสลาย อย่างไรก็ตาม หลักสัจธรรมไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนายังเป็นหลักธรรมที่กล่าวถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ล้วนย่อมตกอยู่ในสภาวะเดียวกันคือมีการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับสูญ ไม่วันใดก็วันหนึลงอันเป็นกฏของธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธได้
ขออนุโมทนาบุญและกราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ให้คติธรรมคำถามและข้อคิดในการดำเนินชีวิต ข้าพเจ้าขออนุโมทนาบุญให้แก่เทวดาที่ปกปักรักษาตัวข้าพเจ้า บิดามารดา ญาติพี่น้องและขออนุโมทนาบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรทุกท่านหากกรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ก่อไว้ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมและโมทนาบุญให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ สาธุฯ
ภาพจาก "โนวาอนาลัย"
โฆษณา