11 พ.ค. 2021 เวลา 02:24 • ปรัชญา
เรื่อง พระพุทธเจ้าได้เคยทำกรรมชั่วอะไรไว้บ้างในอดีต
พระ พุทธเจ้าของเราทรงเผยพระประวัติกรรมและผลของกรรมของพระองค์ กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ขณะประทับเหนือพระศิลาอันน่ารื่นรมย์ใกล้สระอโนดาด ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ๑๔ ข้อ ณ ที่นั้นว่า
๑. เราเห็นภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งแล้ว ได้ถวายผ้าเก่า เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าในกาลนั้น ผลของกรรมคือการถวายผ้าเก่า ย่อมอำนวยผลให้เป็นพระพุทธเจ้า กรรมเก่าข้อแรกนี้เป็นกุศลกรรม
๒. ในกาลก่อน เราเป็นนายโคบาลต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัวจึงห้ามมัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ แม้เราจะกระหายน้ำก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามปรารถนา
๓. ในชาติอื่นแต่กาลก่อน เราเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ บางแห่งเป็นมุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุขเวทนาแสนสาหัสหลายพันปีเป็นอันมาก ด้วยกรรมอันเหลือนั้นในภพหลังสุด เราจึงได้รับคำกล่าวตู่ เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา
๔. เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงท่องเที่ยวอยู่ในนรกสิ้นกาลนานถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้วได้ถูกกล่าวตู่เป็นอันมาก ด้วยผลกรรมที่เหลือนั้น นางสุนทริกามากับหมู่ชน ได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่จริง
๕. เมื่อก่อนเราเป็นพราหมณ์ชื่อสุตวา อันชนทั้งหลายสักการะบูชา สอนมนต์ให้กับมาณพ ๕๐๐ คนอยู่ในป่าใหญ่ ได้เห็นฤาษีผู้น่ากลัว ได้อภิญญา ๕ มีฤทธิ์มาก มาในสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่ฤาษีผู้ไม่ประทุษร้าย โดยได้บอกกะพวกศิษย์ของเราว่าฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม แม้เมื่อเราบอกเท่านั้น พวกมาณพก็เชื่อฟัง ครั้งนั้นมาณพทั้งปวงเที่ยวไปภิกขาในสกุล พากันบอกแก่มหาชนว่าฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ภิกษุทั้ง ๕๐๐ เหล่านี้ได้รับคำกล่าวตู่ทั้งหมด เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา
๖. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์จับใส่ลงในซอกเขา แล้วทับด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วเท้าของเราจนห้อเลือด
๗. ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยู่ในหนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ใส่ไฟเผาดักไว้ทั่วหนทาง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงชักชวนนายขมังธนูผู้ฆ่าคนตายมาก เพื่อให้ฆ่าเรา
๘. ในกาลก่อน เราเป็นนายควาญช้างได้ไสช้าง ให้จับมัดพระปัจเจกมนีผู้สูงสุด แม้กำลังเที่ยวบิณฑบาต ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีตัวดุร้าย วิ่งแล่นเข้าไปในคอกเขา เบื้องหน้าผู้ประเสริฐ
๙. ในกาลก่อน เราเป็นทหารราบ เป็นแม่ทัพฆ่าบุรุษเป็นอันมากด้วยหอก ด้วยวิบากแห่งกรรมที่เหลือนั้น บัดนี้ไฟนั้นยังมาไหม้ที่เท้าของเราทั้งสิ้นอีก เพราะกรรมยังไม่พินาศไป
๑๐. ในกาลก่อน เราเป็นเด็กลูกของชาวประมงในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาแล้วเกิดความโสมนัส ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่ศีรษะคือปวดศีรษะได้มีแล้วแก่เรา ในเมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายถูกเบียดเบียน ถูกพระเจ้าวิฏฏุภะฆ่าแล้ว พระเจ้าวิฏฏุภะนี้คือพระเจ้าวิฑูฑภะที่ฆ่าเจ้าศากยะนั่นเอง
๑๑. เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ว่า “ท่านทั้งหลายจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง อย่ากินข้าวสาลีเลย” ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้วอยู่ในเมืองเวรัญชา ได้บริโภคข้าวแดงตลอด ๓ เดือน
๑๒. ในเวลาที่นักมวยปล้ำๆ กันอยู่ เราได้เบียดเบียนบุตรนักมวยปล้ำ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความปวดหลังได้มีแก่เรา
๑๓. เมื่อก่อน เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้บุตรเศรษฐีตาย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นโรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา โรคนี้แหละที่เกิดแก่พระพุทธเจ้าของเราในเวลาใกล้จะปรินิพพาน
๑๔. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าว่า เมื่อเราเป็นมาณพชื่อโชติปาละ ได้กล่าวกะพระสุคตเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหนโพธิญาณนั้นท่านได้ยากยิ่ง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นเราได้ทำกรรมที่ทำได้ยากคือทุกกรกิริยา ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด ๖ ปี แต่นั้นจึงได้บรรลุโพธิญาณ แต่เรามิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดด้วยหนทางนี้ คือมิได้บรรลุโพธิญาณด้วยทุกกรกิริยานี้ เราอันบุพกรรมตักเตือนแล้ว จึงแสวงหาโพธิญาณในทางที่ผิด บัดนี้เราเป็นผู้สิ้นบาปและบุญ เว้นจากความเร่าร้อนทั้งปวงไม่มีความโศกเศร้า ไม่คับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน
ข้อคิดจากเรื่องนี้..
เดี๋ยวนี้การสะเดาะเคราะห์แก้กรรม มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งที่วัดและที่สำนักของอาจารย์ทั้งหลาย ผู้ตั้งตัวเป็นผู้แก้กรรมก็เป็นทั้ง พระ ,แม่ชี, ฆราวาส ส่วนวิธีการนั้นล้วนแต่พิศดาร หรือแบบพื้นๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะแก้กรรมเรื่องความรัก เรื่องการเงิน หรือแม้การแก้กรรมเพื่อให้ถูกหวยรางวัลใหญ่นี้ก็ไปกันใหญ่ ส่วนมากก็หวังแต่ประโยนช์ส่วนตัวทั้งนั้น นี้ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงพระคุณเจ้าบางท่านที่ถือวิธีการนี้เป็นอุบายในการสอนธรรมครับ ถ้าพาดพิงถึงท่านกระผมต้องขอ ขมามา ณ. ที่นี้ด้วย จากเรื่องนี้ ท่านผู้อ่านลองดูก่อน
ขนาดพระพุทธเจ้ายังมีกรรมเก่าเป็นเศษผลกรรมติดตามมา แล้วเราเป็นปุถุชนคนธรรมดาจะขนาดไหน สามารถทำอะไรกับกรรมเก่านี้ได้ไหม?
เรื่องทำบุญแก้กรรม กรรมดีกรรมชั่วเมื่อทำไว้ไม่หายไปไหน สุดท้ายแค่รอเวลาให้ผลในวันหนึ่ง การ **แก้กรรม** ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าทำไม่ได้ (แต่ทำให้**หมดกรรม**ได้) สามารถบรรเทาหรือเลื่อนการให้ผลออกไปได้ สิ่งสำคัญสุดสำหรับคนอยาก แก้กรรม(บรรเทา) คือจิตที่สำนึกผิดและตั้งใจมั่นจะไม่เบียดเบียนใครในทุกด้านอีกแล้วตลอด ชีวิต ซึ่งต้องยอมรับผลกรรมส่วนหนึ่งด้วย ไม่ใช่จะหนีไม่ยอมรับโทษเลย แยกแยะให้ดีๆ นะครับ ระหว่างคำว่า แก้กรรม กับ หมดกรรม
เราควรกระทำ 3 อย่าง
1.เฉย ยอมรับวิบากกรรมอันนั้น ถือว่ากรรมสิ้นสุดลง
2.ถ้า ประทุษร้ายตอบ เท่ากับพอรับผลกรรมชั่วแล้ว ก็สร้างกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ ในภายภาคหน้าก็จะโดนประทุษร้ายอีก
3. ให้อภัย และแผ่เมตตา เท่ากับรับวิบากกรรมเก่าแล้ว ก็สร้างวิบากกรรมดีขึ้นมาแทน ในกาลต่อไป ศัตรูนั้นก็จะกลายเป็นมิตร หรือได้รับวิบากกรรมดีแทน
ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าได้ท้อแท้กับเรื่องที่ไม่ดีเข้ามาในชีวิตเรานะครับ ขอให้เรายอมรับ และให้ใช้สติปัญญา แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ขอให้ธรรมะ นำทางแก่ทุกท่าน
ส่วนวิธีที่จะให้หมดกรรมเลยนั้น เราสามารถทำได้อย่างแน่นอน ขอยกที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ให้ท่านผู้อ่านลองคิดดู
*****ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมเป็นไฉน สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ ฯ*****
เพราะฉะนั้น อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาให้สั้นๆคือ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้เราหมดกรรม ถึงที่สุดแห่งความหมดทุกข์ได้ นั้นคือการเข้าสู่มรรคผลนิพานนั้นเอง
ผู้เขียน...เรื่องนี้ยาวสักหน่อยครับ Keyword คือ "เราทำอย่างไหน เราก็จะได้อย่างนั้น" หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อย
ขอบพระคุณที่ติดตาม
ที่มา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต - หน้าที่ 219
ว่าด้วย บุพจริยาของพระองค์เอง
เนื้อหาบางส่วนตัดมาจากข้อความ ของ โจโฉ เสียงธรรม
ภาพจากอินเตอร์เน็ต ไม่ทราบที่มา ขออนุโมทนาบุญกับผู้วาดด้วย
ติดตามเรื่องน่าอ่านอีกมากมาย ได้ที่ เพจนิทานธรรม
โฆษณา