11 พ.ค. 2021 เวลา 03:03 • ดนตรี เพลง
ณัฐพล สุนทรานู | สมาชิกวงโลโซคนที่ 4 ผู้ถูกพูดถึงน้อยเกินจริง
.
ภาพจำคนไทยที่มีต่อ “โลโซ” (LOSO) คงหนีไม่พ้นวงร็อคสมาชิก 3 คน เล่นเครื่องดนตรีแค่ 3 ชิ้น แต่สามารถประสบความสำเร็จในระดับสูง ทำลายกำแพงความเรื่องความดังต้องอาศัย หน้าตา รูปลักษณ์ช่วย และพลิกโฉมวงการเพลงไทยไปตลอดกาล ด้วยเพลงของพวกเขา
แน่นอนทุกคนรู้จัก “เสก-รัฐ-ใหญ่” ในฐานะ 3 เมมเบอร์ผู้ร่วมก่อตั้งวง และเป็นไลน์อัพที่อยู่ในฉากสุดท้ายตอนยุบวง “โลโซ”
แต่ถ้าไม่ใช่แฟนคลับที่ติดตามพวกเขาอย่างจริงจัง หรือเป็นคนทั่วไปที่สนใจแค่ตัวเพลงอย่างเดียว บางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โลโซ มีสมาชิก 4 คนไม่ใช่ 3 คนอย่างที่เข้าใจกัน
เขาคนนั้นมีชื่อว่า “กลาง-ณัฐพล สุนทรานู” มือเบสผู้เข้ามาเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของวง โลโซ ในช่วงรอยต่อแสนเปราะบาง และกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้ วงร็อค 3 ชิ้นนามอุโฆษ เดินหน้าสู่ความเป็น “ตำนานร็อคแอนด์โรลล์เมืองไทย”
โลโซ ก่อตั้งวงขึ้นในปี 1994 โดยสมาชิก 3 คน นั่นคือ เสก-เสกสรรค์ ศุขพิมาย, รัฐ-อภิรัฐ สุขจิตร, Yai Kittisak /กิตติศักดิ์ โคตรคำ
เสกเจอกับรัฐก่อนในปี 1992 ที่จังหวัดจันทบุรี หลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา เสกก็มาพบใหญ่ ที่จังหวัดนครสวรรค์
ตอนแรกทั้ง 3 คนวางแผนว่าจะปักหลักอยู่ที่จังหวัดลำปาง เพื่อทำวงโลโซ แต่ลมหนาวปลายปี 1994 ก็พัดพาให้ เสก, ใหญ่, รัฐ เข้ามาฟอร์มวงกันต่อในเมืองกรุง น่าเสียดายด้วยความไม่พร้อมหลายอย่าง สุดท้ายต่างคนต่างต้องแยกย้ายกันไป
1
เส้นทางก่อนมาเป็น "โลโซ" ที่คนไทยร้องตามกันได้ทั่วบ้านเมืองไม่ง่ายเลย ในปี 1995 เสก หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นมือกีตาร์ เล่นให้วงแคนน่อน ต่อมาย้ายไปอยู่กับโอเปร่า ร่วมกับใหญ่ ส่วน รัฐ เล่นดนตรีประจำอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
ผ่านไป 1 ปี เสก ไปตามรัฐกลับมาฟอร์มวง โลโซ ร่วมกับใหญ่ โดยเขาลาออกงานนักดนตรีกลางคืน เพื่อมาแต่งเพลง ทำ Demo ส่งไปเสนอตามค่ายเพลงทั่วไทย แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ใช่คนที่สวยหล่อเหมือนนักร้องที่ดังยุคนั้น จึงไม่มีค่ายไหนมั่นใจว่าเพลงแบบโลโซ การแต่งตัวแบบโลโซ จะขายได้
กระทั่ง มอร์มิวสิค ภายใต้การบริหารงานของ ป้อม-อัสนี โชติกุล หยิบยื่นโอกาสเดบิวต์ วงร็อคที่ตั้งชื่อวงเพื่อเป็นตัวแทนคนชั้นล่างอย่าง โลโซ เซ็นสัญญากับค่าย และปล่อยผลงานอัลบั้มแรก “โล โซไซตี้” (Lo-Society) ออกสู่ตลาดในปี 1996
1
ชุดโล โซไซตี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำยอดขายทะลุล้านก็อปปี้ แจ้งเกิด 3 หนุ่ม “เสก-ใหญ่-รัฐ” ให้ดังชั่วพริบตา จากเพลงฮิตอย่าง “คุณเธอ, ไม่ต้องห่วงฉัน, ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป), ไม่ตายหรอกเธอ, I Wanna Love You” และแทร็กที่ฮิตตลอดกาล โหมดเพลงเกี่ยวกับเพื่อนอย่าง “เราและนาย”
ปีถัดมา “โลโซ” ก็มาดังต่อเนื่องด้วยซิงเกิล “จักรยานสีแดง” เพลงประกอบภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนแกรมมี่ตัดสินใจทำ E.P. อัลบั้ม 5 เพลง ซึ่งก็ยังทำยอดขายได้เกินล้านตลับอีกอยู่ดี แฟนจึงต่างเฝ้ารอคอยงานเพลงุชดใหม่
มีนาคม ปี 1998 “เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (Entertainment) สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 2 ของ 3 หนุ่มวงโลโซ ออกสร้างปรากฏการณ์เป็นอัลบั้มศิลปินกลุ่มที่ขายดีสุดตลอดกาลของแกรมมี่ โดยจำหน่ายไปได้เกิน 2 ล้านก็อปปี้ มีเพลงดังอย่าง “อยากเห็นหน้าคุณ, อะไรก็ยอม, ซมซาน, เลิกแล้วต่อกัน, แม่” เป็นตัวชูโรง
แต่ “โลโซ” มีเวลาเก็บเกี่ยวจากความสำเร็จสูงสุดของวงไม่มากนัก เสก-ใหญ่-รัฐ ก็ตัดสินใจหยุดรับงานชั่วคราว เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสมาชิก ภายหลังจากเพิ่งทัวร์คอนเสิร์ตชุด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไปได้แค่ 100 กว่างานเท่านั้น
“ในขณะที่เรากำลังประสบความสำเร็จและโด่งดังอยู่นั้น ก็มีสิ่งหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาและนับวันก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นในใจของพวกเราแต่ละคน นั่นก็คือ อีโก้”
1
“ก่อนมาเป็นศิลปิน เราเป็นเพื่อนเป็นพี่ เวลามีอะไรก็คุยกันง่ายๆสบายๆ แต่หลังจากได้เข้ามาอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง ทุกอย่างเปลี่ยนไป อะไรที่เคยง่ายก็กลับยากขึ้น"
“ขอให้นึกภาพคน 3 คนที่มี ไลฟ์สไตล์ ความชอบ การกิน การอยู่ ต่างกัน แล้วต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงที่ออกอัลบั้มและทัวร์คอนเสิร์ต"
"ความเหนื่อยหน่าย ความหงุดหงิดและความเปราะบางทางอารมณ์ ของแต่ละคน เป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดความขัดแย้งได้ตลอดเวลา และเมื่อสะสมมาหลายปี (ตั้งแต่ 1996) และในที่สุดมันก็ถึงเวลา”
“เราตัดสินใจหยุดการทัวร์คอนเสิร์ตในชุด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เอาไว้ที่ประมาณ 100 งาน เพื่อเคลียร์ปัญหา ที่สุดหลังจากที่ได้พูดคุยกัน สรุปได้ว่าด้วยทัศนคติในการทำงานที่แตกต่างกัน บวกกับปัญหาสุขภาพของพี่รัฐ เราจึงตัดสินใจแยกทางกับพี่รัฐ”
ใหญ่-กิตติศักดิ์ โคตรคำ มือกลองและผู้ร่วมก่อตั้ง “โลโซ” เขียนบรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงรอยต่อที่สำคัญของวง
เพราะโลโซเกิดจากการเพื่อน 3 คนที่ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ลำบากมาด้วยกัน ก่อนมาโด่งดังมีชื่อเสียง ดังนั้นการลาออกของ รัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกทางใจต่อ เสก และใหญ่ ที่ยังต้องการทำเพลงต่อไป
2
เราเชื่อตอนนั้นคงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเปราะบางสำหรับวงโลโซ ในการเดินไปข้างหน้า จากเคยมีกัน 3 คน วันหนึ่งเหลือ 2 คน ยังไงในใจก็ไม่เหมือนเดิม
เสกกับใหญ่ จึงใช้ช่วงเวลาที่ไม่ได้ทัวร์คอนเสิร์ตชุด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพราะแคนเซิลงานไปหมดแล้ว ออกไปท่องเที่ยวยุโรปเพื่อหาแรงบันดาลใจ รวมถึงผ่อนคลายสมอง จากภาระงานความรับผิดชอบที่แบกมาตลอด ตั้งแต่อัลบั้ม โล โซไซตี้ ชุดแรก เมื่อปี 1996
เขาทั้งคู่กลับมาเมืองไทย ด้วยไฟที่ลุกโชน พร้อมลุยทำสตูดิโออัลบั้มที่ 3 “ร็อคแอนด์โรลล์ ( Rock & Roll) วางแผงในเดือนตุลาคม ปี 1999 มีไซมอน เฮนเดอร์สัน ดูแลเรื่องซาวด์ ใหญ่ อัดกลอง ส่วน เสก โลโซ อัดทั้งไลน์กีตาร์และไลน์เบสด้วยตัวเองทุกเพลง
ช่วงก่อนปิดอัลบั้มชุดที่ 3 เสก และ ใหญ่ เริ่มมองหามือเบสที่เข้ามาทดแทนการขาดหายไปของ รัฐ มีหลายคนที่อยู่ในข่ายน่าสนใจ
1
สุดท้ายทั้งคู่เลือก “กลาง” ณัฐพล สุนทรานู อดีตมือเบสวงเฌอ แห่งค่ายคีตา เรคอร์ดส ที่ทั้งคู่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และค่อนข้างมั่นใจในฝีมือของนักดนตรีรุ่นพี่ ยุค 80's
แม้มือเบสหน้าใหม่ จะไม่ได้มีส่วนอยู่ในกระบวนการอัดชุด Rock n’ Roll แต่เขาก็มีภาพปรากฏตัวอยู่บนปกเช่นเดียวกับ เสก และ ใหญ่ ร่วมหัวจดท้ายอยู่ในทุกโชว์
เพียงแต่ด้วยบุคลิกที่ใส่แว่นดำ ผมยาวทั้งวง ทำให้บางคนอาจไม่ทันสังเกต หรือบางอาจคิดว่ายังเป็น รัฐ เหมือนเดิม เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีโซเชียลมีเดีย หรือสื่อให้คนได้ติดตามแบบทุกวันนี้
อัลบั้มชุดต่อมา “โลโซแลนด์” (LOSOLAND) วางแผง กุมภาพันธ์ ปี 2001 “กลาง” ได้มีส่วนร่วมกระบวนทำเพลงของ โลโซ ด้วย
ถึงแม้หน้าที่หลักยังคงเป็น เสก ที่แต่งเนื้อร้อง-ทำนอง อัดกีตาร์ รวมถึงรับเหมาอัดเบสเองอีกครึ่งอัลบั้ม
แต่ก็มีถึง 4 แทร็กที่ กลาง ได้ปล่อยของผ่านสายลวดเบสในชุดโลโซแลนด์ ประกอบด้วย รอยยิ้มนักสู้, หมาเห่าเครื่องบิน, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอิสระเสรี ซึ่งทุกเพลงล้วนได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ฟัง
รวมถึงในแง่ของคุณภาพ กลาง ก็แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถอุดรอยรั่วและทดแทนการขาดหายไปของ รัฐ ได้จริง ๆ
อย่างเพลง อิสระเสรี “เสก” เคยเขียนบรรยายว่าเป็น แทร็กที่ภาคดนตรีค่อนข้างสลับซับซ้อน มีความเป็นไซคลีดีลิคร็อค แต่กลางก็คิดค้นไลน์เบสออกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ได้ดนตรีดั่งที่ใจเขาต้องการ
นอกจากนี้อีกหนึ่งกิตติศัพท์ของ “กลาง ณัฐพล” ที่ร่ำลือกัน คือเวลาเล่นสด ออกคอนเสิร์ตกับวงโลโซ เขามักโชว์ลีลาเล่นเบสอันดุดัน มีพลัง พลอยทำให้โชว์ของวงออกมาแข็งแรง สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมได้เหมือนเดิม
เรียกว่าในช่วง 4 ปีที่หายไปของ รัฐ “กลาง” เข้ามาแทนที่ได้อย่างแนบเนียนไร้รอยต่อ
1
กระทั่งหลังจากวางแผนชุดที่ 4 “โลโซแลนด์” ไปได้ประมาณ 3 เดือน เสก-ใหญ่-รัฐ ก็กลับมาคืนความสัมพันธ์อันดี ฟอร์มวงแบบยุคบุกเบิกด้วยกันอีกครั้ง ซึ่ง กลาง ก็เข้าใจในจุดนี้ แม้เขาต้องถอยหลังเดินออกจากวงไป
อัลบั้มชุดปกแดง ที่วางแผงหลังจากชุดโลโซแลนด์แค่ 6 เดือน จึงเป็น รัฐ กลับมาทำหน้าที่เดิม
และถือเป็นการสิ้นสุดบทบาทของสมาชิกลำดับที่ 4 ของ ณัฐพล สุนทรานู ไว้เพียงเท่านั้น
โลโซ เมื่อกลับมารวมตัวกัน 3 คนเหมือนเดิม ในเดือนสิงหาคม ปี 2001 ก็สามารถทวงคืนบัลลังก์ วงร็อคมหาชนได้อีกครั้ง ด้วยยอดขายทะลุหลักล้านก็อปปี้
ท่ามกลางบริบทยุคสมัยที่ต้องต่อสู้กับยุคเทปผีซีดีเถื่อนระบาดหนัก (และกลายเป็นที่มาของเพลง พันธ์ทิพย์ ที่แต่งเพื่อประชดย่านที่ครั้งหนึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา)
กระแสความนิยมของแฟนเพลงที่มีต่อ โลโซ นำซึ่งคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของ โลโซ ณ เวโรโดรม หัวหมาก พร้อมกับการปรากฏตัวของ “เสก-ใหญ่-รัฐ” อยู่กันครบทีม และกลายเป็นซีนสำคัญฉากสุดท้ายของ วงร็อค 3 ชิ้นที่ดีสุดของเมืองไทย
เพราะหลังจบคอนเสิร์ตเพื่อเพื่อน ได้ไม่นาน “โลโซ” ก็ตัดสินใจยุบวงช่วงต้นปี 2003
ไม่แปลกใจเลยหากผู้คนทั่วไปจะจดจำว่า โลโซ ว่ามีสมาชิก 3 คน นั่นคือ เสก-ใหญ่-รัฐ เพราะพวกเขาอยู่ด้วยกันในซีนจุดเริ่มต้น, จุดสูงสุด และจุดล่มสลาย
ส่วน กลาง ไม่ค่อยถูกพูดถึงจากสื่อมาแต่ไหนแต่ไร และผู้คนทั่วไปก็ไม่ค่อยนึกถึงสักเท่าไหร่นัก
แม้เขาจะอยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญของวงที่ในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง รวมถึงทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ขับให้ โลโซ เดินไปข้างหน้าได้
อย่างไรก็ดี มีเรื่องน่าประทับใจอย่างหนึ่งที่อยากนำมาแชร์ให้อ่าน
ในปี 2001 ช่วงระหว่างรอยต่อชุด โลโซแลนด์ กับ ปกแดง “โลโซ” มีงานจ้างไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ยุโรป เป็นเวลา 1 เดือน
สมาชิกที่เดินทางไปในคร้้งนั้น นอกจากทีมงานร่วม 10 ชีวิตแล้ว
“โลโซ” ยังขนสมาชิกวงไปครบ 4 คน ประกอบด้วย เสก, ใหญ่, รัฐ และกลาง เดินทางไปเล่นด้วยกัน โดยแบ่งหน้าที่ให้ กลาง เล่นเบสในโชว์แรกที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวลา 3 คืน
ขณะที่ รัฐ รับผิดชอบตำแหน่งมือเบส ในคอนเสิร์ตที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน และสองเมืองในฝรั่งเศส อย่าง ลีลล์ และปารีส
ถ้ามองในมุมธุรกิจ ไม่มีเหตุผลเลยที่ โลโซ ต้องเอา “กลาง” ไปทัวร์ยุโรปกับวงด้วยเลย ในเมื่อรัฐก็กลับมาเล่นเบสอยู่แล้วทั้งคน แต่หากพิจารณาในมุมของเพื่อน
1
นั่นอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่ เสก-ใหญ่-รัฐ อยากตอบแทนและใช้เพื่อขอบคุณเพื่อนที่ชื่อ “กลาง’ สำหรับที่สิ่งเขาทุ่มเทตลอด 4 ปีที่รวมหัวจมท้ายกันมากับวง “โลโซ”
.
.
ติดตามเราได้ทาง www.facebook
com/alongwriter
#งานเขียนอ่านสนุกไม่ซ้ำจับทางไม่ได้ #สนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน #LOSO #โลโซ #วงโลโซ #เพลงไทย
โฆษณา