11 พ.ค. 2021 เวลา 22:52 • การเกษตร
ทำนาแล้วขาดทุน ทำไมชาวนายังไม่ยอมเลิก?
ขอขอบคุณ ภาพชาวนาสวยๆจาก Pinterest
หลายครั้งที่แม่ยืนยันกับทุกคนเสียงแข็งว่า เราเป็นชาวนา เราต้องทำนาจะได้มีข้าวกินตลอดปี ถ้าต้องทำงานหาเงินมาซื้อข้าวกิน เราตายเลย
นี่เป็นคำพูดที่เมื่อยกเรื่องนี้มาคุยกันทีไรแม่ก็จะยืนยันคำนี้หนักแน่นทุกครั้งไป
ผมพยายามแจกแจงให้แม่ฟังถึงรายละเอียดต้นทุนว่า เราต้องจ่ายอะไรบ้างในการทำนาเพื่อโน้มน้าวให้แม่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการเพิ่มรายได้ต่อไร่ให้สูงขึ้นโดยไม่ยึดติดว่าจะต้องเป็นการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
ต้นทุนในการทำนาของชาวนายุค 4.0 ที่ใช้เทคนิคการบริหารงานแบบผู้จัดการนาพอจะแจกแจงได้ตามที่รู้มาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองดังนี้
ต้นทุนต่อที่นา 1 ไร่ มีอะไรบ้าง
ค่าพันธุ์ข้าว 500 บาท
ค่าไถพลิกหน้าดิน 400 บาท
ค่าไถตีดิน ทำเทือก 400 บาท
ค่าจ้างหว่าน 100 บาท
ค่าแรงฉีดยาคุมรุ่น 100 บาท
ค่ายาฆ่าหญ้า 400 บาท
ค่าน้ำมันเครื่องตัดหญ้า 100 บาท
ค่าปุ๋ยเคมี 700 บาท
ค่ารถเกี่ยวข้าว 600 บาท
ค่าบรรทุกข้าว 100 บาท
ค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ 200 บาท
2
ค่าใช้จ่ายรวม 3,600 บาทต่อไร่ ไม่รวมค่าแรงงานของตัวเอง
ผลผลิตต่อไร่สำหรับข้าวพันธุ์กข15 เฉลี่ยประมาณ 560 กก.
กรณีรัฐบาลประกันราคา 12,100 บาทต่อตันที่ความชื้น 14% (เกษตรกรอาจถูกหักค่าความชื้นสมมุติว่าถูกหัก 1,000 บาทต่อตัน)
คิดเป็นเงินจากการขายข้าว 1 ไร่
(560/1,000)*11,100=6,216 บาท
หักต้นทุนแล้วเหลือเงิน
6,216-3,600=2,616 บาทต่อไร่
2
อายุการเก็บเกี่ยวข้าวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน
เท่ากับว่าชาวนามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากการทำนา 1 ไร่ 872 บาท รายได้คือ 29 บาทต่อวันต่อไร่
(ราคานี้สูงกว่าที่โรงสีรับซื้ออยู่พอสมควร)
ชาวนาต้องมีที่นาประมาณ 10 ไร่ จึงจะมีรายได้ขั้นต่ำ 290 บาทต่อวัน
แต่ปัจจุบันชาวนาอาจต้องเช่าที่ทำกินจากนายทุนเพราะขายที่นาไปแล้ว ซึ่งค่าเช่าที่ทำกินก็อาจจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อไร่ขึ้นไป
ซึ่งเท่ากับว่าชาวนาแทบไม่เหลืออะไรจากการทำนาแต่ละรอบ
ในเมื่อผลประกอบการเป็นเช่นนี้แล้วทำไมยังทำอยู่?
ในความเห็นของผม คิดว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ชาวนาต้องทำนาต่อไปถึงแม้จะไม่ได้อะไรก็ตาม
ดร.แสวง รวยสูงเนิน เป็นอาจารย์ที่เรียนจบมาทางด้านการเกษตรและเป็นคนผลักดันให้มีกลุ่มเกษตรกรที่เชื่อในการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เป็นอินทรีย์แท้ๆ
ท่านกล่าวไว้ในหนังสือที่ท่านเขียนว่า
"ผมสงสัยว่ากระดูกสันหลังของชาติอยู่ที่ไหน ผมไม่เคยเห็นเลย
บัดนี้ผมยืนอยู่ที่นาก็เห็นแต่นา แต่ไม่มีชาวนา เห็นแต่คนที่ทำตัวเป็น...ลอยตามน้ำ ตามกระแส แล้วยังเรียกตัวเองว่า เป็นชาวนา นี่แหละ ชะตากรรมของประเทศไทย"
การที่ อ.แสวงกล่าวเช่นนั้นเพราะท่านได้ศึกษาพฤติกรรมการประกอบอาชีพของชาวนาแล้วพบว่า ชาวนาจะมาที่นาปีละ 5-10 วันเท่านั้น และแค่เพียงขับรถมาโฉบไปมา ไม่ลงไปสัมผัสนาจริงๆจังๆท่านอาจารย์จึงไม่เข้าใจว่าเขาจะดูแลนาของเขาได้อย่างไร
ชาวนาจะไปนาหลังฝนตก 2-3 วันหลังจากน้ำแห้งไปแล้ว เพื่อไถนาหว่านข้าว หรือดำนา แต่ไม่เคยเตรียมการอะไรล่วงหน้าเลย
เมื่อน้ำไม่ทัน ดินไม่ทัน กล้าไม่ทัน ก็จะแก้ปัญหาด้วยการระดมคนมากๆ ซึ่งก็ต้องไปพึ่งนายทุนที่คอยจ้องจะขูดเลือดขูดเนื้ออยู่แล้ว
ก็เลยกลายเป็นที่มาของการทำนาแบบ "ขาดทุน" ทุกครั้ง
ดูจากผลตอบแทนแล้วก็คงไม่ได้จูงใจให้ชาวนาอยากทำนาเท่าใดนัก แต่เพราะความเคยชิน เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายพากันทำมา ถึงแม้ไม่มีทุน รัฐบาลก็ยังช่วยอุดหนุนให้อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเลิกทำ
พอข้าวราคาไม่ดี เดี๋ยวรัฐบาลก็มีโครงการรับจำนำข้าว หรือไม่ก็ประกันราคาข้าว สลับกันอยู่สองอย่างนี้ แล้วแต่ว่ารัฐบาลไหนจะชอบแบบไหนมากกว่า
ถึงแม้รัฐบาลจะประกันราคาให้ก็จริง แต่ราคาข้าวก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ แต่ก็ไม่ทำให้ชาวนาเลิกทำเช่นกัน เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีการอุดหนุนเลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆจากภาครัฐ
พอปีไหนน้ำท่วม ฝนแล้ง รัฐบาลก็มีเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ ไร่ละเท่าไหร่ก็ว่ากันไป
ส่วนธนาคารก็พักชำระหนี้ไปเรื่อยๆแต่ดอกเบี้ยก็ไม่ได้พักตามไปด้วย ก็ช่วยทำให้ชาวนาได้หายใจหายคอต่อได้อีกเฮือกหนึ่งพอมีความหวังขึ้นมาอีกนิดว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขา
การทำนาจึงต้องมีต่อไปแต่ไม่ใช่ว่าชาวนาอยากจะทำหรอกนะเพราะมันก็ไม่ได้ทำเงินให้เป็น
กอบเป็นกำอะไร
ที่ต้องทนทำอยู่ต่อไปก็เพราะอย่างน้อยรัฐบาลก็ช่วยการันตีว่าอย่างไรก็ไม่ทอดทิ้ง มีชดเชยให้แทบทุกกรณี พอเริ่มฤดูทำนาเมื่อไหร่ก็ออกสำรวจทันที บอกว่าเตรียมไว้สำหรับภัยแล้ง ยังไม่ได้ลงมือทำเลยหวังให้แล้งเสียแล้ว
นอกจากนั้น การมีข้าวติดยุ้งไว้มันทำให้อุ่นใจว่าอย่างไรเสียเราก็จะมีข้าวกินตลอดปี ไม่อดตาย เพียงแต่หาค่ากับข้าวเพิ่มอีกนิดหน่อยก็อยู่กันได้แล้ว หาผักหาปลากินปะทังประทังกันไป
1
ชาวนาจึงมักมีอาชีพสำรองทำควบคู่ไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง หรืองานรับจ้างทั่วไป ที่มีรายได้ชัดเจนกว่าที่จะรอการขายข้าวปีละครั้งที่ไม่ค่อยจะเหลือกำไร
ดังนั้น อาชีพชาวนาจึงไม่ได้เป็นอาชีพหลักของคนทั่วไปอีกแล้ว ยกเว้นคนที่มีอุดมการณ์อีกพวกหนึ่งซึ่งเป็นเกษตรด้วยจิตวิญญาณ มากกว่าทำเพื่อเงินซึ่งคงจะได้มาเล่าให้ฟังกันในคราวต่อไป
วันนี้สมควรแก่เวลาแล้ว สวัสดีนะครับ
ขอบคุณที่คอยเป็นกำลังใจให้กันเสมอมา 🙏
ประกาศราคาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวข้าวปี พ.ศ.2563/2564
โฆษณา