11 พ.ค. 2021 เวลา 07:41 • คริปโทเคอร์เรนซี
เปย์ทิพย์หรือเปย์เทพ รู้จัก NFT ทรัพย์สินดิจิทัลที่กำลังมาแรง จับต้องไม่ได้แต่มูลค่ามหาศาล
1
ว่ากันว่าในโลกนี้ไม่มีหรอกของราคาแพง มีแต่ราคาที่จ่ายได้ แล้วถ้าคุณจ่ายไหว แต่สิ่งที่ได้กลับเป็น “ของทิพย์” ที่จับต้องไม่ได้ คุณจะยังยอมจ่ายหรือเปล่า?
รู้จัก NFT เปย์ทิพย์หรือเปย์เทพ
จากนี้ไปทรัพย์สินที่เป็นสมบัติส่วนตัวของคุณ หรือแม้แต่ของสะสมที่มีมูลค่ามหาศาลของคุณ อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้เสมอไป เมื่อการเกิดขึ้นของ Non-Fungible Token (NFT) หรือโทเคนที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ โดยการเข้ารหัสทรัพย์สินหรือผลงานนั้น ๆ ไว้กับโทเคนให้เป็นเหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ละเหรียญไม่ซ้ำกัน และสามารถยืนยันการเป็นเจ้าของได้ ถ้าพูดให้เห็นภาพที่สุดก็คือ เราประมูลผลงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลกมา 1 ชิ้น มูลค่าหลายล้าน
7
บาท ผลงานชิ้นนั้นก็กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเราในทันที แต่มาในรูปแบบเหรียญดิจิทัลหรือโทเคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนรูปได้ ดังนั้น NFT จึงหมายถึงทรัพย์สินดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ เช่น ผลงานศิลปะ เพลง ภาพวาด หรือของสะสม ก็สามารถแปลงเป็น NFT ได้ แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่าและมีอยู่จริง ไม่ใช่การเปย์ทิพย์แบบใครเขาว่ากัน เผลอ ๆ อาจเป็นการเปย์อย่างเทพ เพราะสามารถทำเงินต่อให้กับเจ้าของได้ไม่น้อยทีเดียว
3
NFT ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 และเป็นที่รู้จักในแวดวงเกมเมอร์ อย่างเช่น เกม Cryptokitties ที่เปิดให้ซื้อขายน้องแมวในแบบ NFT โดยแมวแต่ละตัวก็จะมีรูปร่าง หน้าตาที่ไม่ซ้ำกัน กลายเป็นของสะสมที่อยู่ในรูปแบบทรัพย์สินดิจิทัลที่เป็น NFT หรือแม้กระทั่งการซื้อขายที่ดินหรือพัสดุในเกม Decentraland ก็ใช้หลักการเดียวกัน
ที่มา: https://www.cryptokitties.co/
แต่ที่ NFT ถูกพูดถึงในวงกว้างออกมานอกเหนือจากเกม นั่นเป็นเพราะมันถูกนำไปใช้ในแวดวงงานศิลปะดิจิทัล มีการนำผลงานศิลปะมาแปลงเป็นดิจิทัลและนำไปขายในตลาด NFT ซึ่งบางชิ้นงาน มีมูลค่าสูงถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 พันล้านบาท!!! (ผลงาน The First 5000 Days ของศิลปิน Beeple)
ที่มา: https://www.christies.com
มากไปกว่านั้น เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Twitter อย่าง Jack Dorsey ก็เพิ่งประกาศขายทวีตแรกของเขาเองที่ทวีตเมื่อปี 2006 ซึ่งทวีตว่า "just setting up my twttr" ในรูปแบบ NFT ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Valuables ตลาดออนไลน์ซื้อขายผลงานศิลปะด้วยสกุลเงินดิจิทัล เหลือเชื่อไหมว่า ทวีตก็ขายได้ด้วย และที่น่าเหลือเชื่อไปกว่านั้นก็คือ ทวีตแรกของซีอีโอ Twitter ชิ้นนี้ ถูกเคาะขายปิดราคาที่ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 90 ล้านบาท โดยผู้ประมูลได้สิทธิ์เป็นเจ้าของก็คือ Sina Estavi ซีอีโอของบริษัท Bridge Oracle ในประเทศมาเลเซีย
1
ที่มา: https://twitter.com/jack/status/20
โดยล่าสุด ผลงานศิลปะของ creator การ์ตูนไทย อย่าง นิตยสารขายหัวเราะ ก็เข้าสู่ตลาด NFT แล้วเช่นเดียวกัน เมื่อมีการนำภาพดิจิทัลปกขายหัวเราะฉบับแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 พร้อมลายเซ็นต์ของ วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการขายหัวเราะ หรือ บ.ก.วิติ๊ดในตำนาน ถูกนำมาประมูลขายในตลาด NFT และมีนักสะสมที่ไม่ประสงค์ออกนามได้ประมูลซื้อผลงานดิจิทัลนี้ไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ด้วยราคา 34,492.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1 ล้านบาทไทย
7
ที่มา: https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122/2856106907938026/
NFT ต่างจาก Cryptocurrency อย่างไร แล้วทรัพย์สินแบบไหนเป็น NFT ได้บ้าง
เพราะ NFT คือ Non-Fungible Token หรือทรัพย์สินดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้หรือนำไปแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ ในทางกลับกัน Fungible Token จึงหมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ แต่สามารถแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้ Cryptocurrency หรือเหรียญดิจิทัลทั่วไปจึงจัดอยู่ในหมวดหมู่ Fungible Token นั่นเอง เพราะมันสามารถนำไปจับจ่ายในระบบของ Cryptocurrency และบาง Bitcoin ยังสามารถแปลงค่าเป็นเงินจริงได้ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ NFT แตกต่างจาก Cryptocurrency หรือ Bitcoin ทั่วไปนั้น มี 3 ประการ
2
1. Unique โครงสร้างภายในของ NFT มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถแก้ไขได้ มีการบรรยายคุณลักษณะว่า NFT นี้เป็นของผลงานชิ้นใด หากจะเปรียบก็เหมือนใบประกาศนียบัตรรับรองที่ลงนามความถูกต้องของเอกสารซึ่งพิสูจน์ได้ว่างานศิลปะนั้นเป็นของแท้
1
2. Rare ความที่มีลักษณะเฉพาะทำให้ NFT กลายเป็นของหายากและเป็นที่ต้องการที่มีอยู่จริง
1
3. Indivisible NFT ไม่สามารถแบ่งซื้อขายเป็นหน่วยย่อยได้ ต้องซื้อขายจำนวนเต็มของมูลค่าเท่านั้น เหมือนกับที่เราไม่สามารถซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ตแค่ครึ่งใบได้
นอกจากนี้แล้ว คุณเองก็สามารถเอาทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือมีชิ้นเดียวในโลกที่คุณทำขึ้นมาเอง หรือครอบครองเป็นเจ้าของ ไปแปลงเป็นดิจิทัลแล้วนำไปขายผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดให้ซื้อขายแบบ NFT ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การ์ดสะสม ภาพวาด งานเพลงที่คุณแต่งขึ้น ตั๋วเข้าชมงาน ไอเท็มในเกม หรือแม้กระทั่งลายเซ็นศิลปินบนกระดาษที่คุณเคยยื่นให้คนดังเซ็น ก็สามารถซื้อขายแบบ NFT ได้ทั้งนั้น
1
ทำให้รูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขายแบบ NFT มีความหลากหลาย และปลอดภัยจากการคัดลอกหรือทำสำเนาบนโลกออนไลน์ด้วยความสามารถในการตรวจสอบได้ เพราะเมื่อมันถูกซื้อขายเข้ารหัสเป็น NFT แล้ว ผู้ที่ครอบครองเป็นเจ้าของหรืออ้างสิทธิ์ก็จะมีเพียงคนเดียวในโลก สามารถตรวจสอบบนระบบ Blockchain ได้ตั้งแต่ต้นว่า ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ ซื้อขายโดยใครบ้าง ผ่านมาแล้วกี่มือ แล้วเจ้าของคนสุดท้ายที่แท้จริงเป็นใครนั่นเอง
3
NFT ฟองสบู่ แฟชั่น หรือก้าวสำคัญของอนาคตศิลปะดิจิทัล
เพราะตลาด NFT ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่แวดวงเกมอีกต่อไป หลายแบรนด์ในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ กีฬา หรือ luxury brand ก็เริ่มเข้ามาเล่นในตลาด NFT ไม่ว่าจะเป็น NBA, Nike, Vodafone หรือ Louis Vuitton เรียกได้ว่าตลาด NFT กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ด้วยตัวเลขการเติบโตของมูลค่าการซื้อขาย NFT ที่น่าสนใจจากเพียงแค่ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 พุ่งไปถึง 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปิดปี 2020 หรือเติบโตราวๆ 824 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางข้อกังขาที่ว่า NFT อาจเป็นแค่กระแสหรือแค่ฟองสบู่ที่เพียงพริบตาเดียวก็อาจแตกได้ แต่สำหรับในแวดวงของผลงานศิลปะดิจิทัลหรือ Crypto Art แล้วนั้น NFT กลับเป็นที่นิยมและมีผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนในแวดวงศิลปะดิจิทัลรวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานศิลปะดิจิทัลในแบบ NFT ที่เคยมีประเด็นว่าซื้อแล้วจะเอาไปอวดใครได้อย่างไร โชว์ได้ที่ไหนบ้าง ก็ได้ถูกแก้ปัญหาไปแล้วเพราะศิลปะในรูปแบบดิจิทัลแบบ NFT นี้ สามารถเอาออกมาแสดงงานได้แล้วผ่านทั้งแกลเลอรี่ออนไลน์อย่าง Flawnt และ Showtime หรือ แกลเลอรี่จริงๆ ที่เริ่มให้มีการแสดงผลงานศิลปะดิจิทัลแบบ NFT อย่างเช่น ABV Gallery ในแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งจัดงานแสดงศิลปะดิจิทัลแบบ NFT ชุด ‘Chain Reactions’ และล่าสุด Lazy.com ก็ได้ครีเอทแกลเลอรี่ออนไลน์สำหรับแสดงผลงานศิลปะดิจิทัลแบบ NFT โดยเฉพาะ ที่เจ้าของผลงานแบบ NFT สามารถแสดงงานได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ภาพ หรือ เสียง จึงยิ่งมีความเป็นไปได้ว่า NFT อาจจะเป็นก้าวสำคัญของอนาคต Crypto Art ก็เป็นได้
1
เปย์ทิพย์แล้วได้ ‘ของทิพย์’ จริงหรือไม่ เปย์ทิพย์กลายเป็นเปย์เทพได้อย่างไร
มีหลายเหตุผลที่การซื้อขายแบบ NFT ซื้อของแต่ไม่ได้ครอบครองเป็นชิ้นอันนั้นอาจไม่สามารถเรียกว่าเป็นการ ‘เปย์ทิพย์’ ได้ แต่อาจเป็นการ ‘เปย์เทพ’ ด้วยเหตุผลที่ว่า ผลงานที่ผู้ซื้อจ่ายเงินไปมีอยู่จริง แม้จะอยู่ในโลกดิจิทัล แต่มีการกำกับความเป็นเจ้าของความเป็น ‘original’ ผ่าน NFT ไว้ และหากผู้ซื้อไม่ได้เป็นแค่ผู้สะสมแต่เป็นนักลงทุนด้วยแล้ว NFT ก็ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนที่สามารถซื้อขายทำกำไรเพื่อเพิ่มมูลค่าโทเคนที่ตนเองครอบครองได้อย่างมหาศาล
แม้ในหลายๆ NFT นั้นไม่ได้ให้ลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ครอบครองโทเคน แต่บาง NFT นั้นผู้ซื้อได้สิทธิ์ส่วนบุคคลในการใช้และเผยแพร่ผลงานศิลปะนั้นหรือแม้กระทั่งได้รับอนุญาตเชิงพาณิชย์ให้สามารถผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลงาน NFT ที่ครอบครองเพื่อการค้าได้ โดยอาจมีข้อจำกัดทางมูลค่าและวัตถุประสงค์บางประการกำกับไว้ ดังเช่น การให้สิทธิเชิงพาณิชย์กับอัลบั้มใหม่ของวง Kings of Leon แบบ NFT โดยแพลตฟอร์ม YellowHeart และในทางกลับกันสำหรับผู้ขาย หากเป็น creator หรือศิลปินแล้ว ตลาด NFT จึงหมายถึงต้นทุนที่ต่ำลงในการจัดส่งผลงาน ส่วนการเพิ่มมูลค่าของผลงานศิลปะจะมากขึ้นเท่าไหร่นั้นย่อมเป็นไปตามความชอบและความพึงพอใจของผู้ซื้อ แบบนี้จะไม่เรียกเปย์เทพได้อย่างไร
แม้จะยังต้องดูกันอีกยาวๆ เพราะยังมีโจทย์ของตลาด NFT เรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ที่แท้จริงของผู้ครอบครองและวิธีการในการจัดเก็บ NFT ว่าควรอยู่ในแพลตฟอร์มลักษณะใดและจะมีเทคโนโลยีใหม่มาช่วยตอบโจทย์นี้ได้หรือไม่ แต่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองไปคิดเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าหากจะครอบครองทรัพย์สินดิจิทัลแบบ NFT แล้วล่ะก็ ผลงานประเภทไหนที่คุณยอมจ่ายได้ จ่ายแบบจับต้องไม่ได้ แล้วยอมจ่ายที่เท่าไหร่ เพราะเรื่องความรัก ความชอบนี่ไม่เข้าใครออกใคร จะเปย์ทิพย์หรือเปย์อย่างเทพ ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ยิ่งในโลกนี้การได้ครอบครองไม่ว่ารูปแบบใด ก็เป็นไปได้แล้วทั้งนั้น
1
#NFT #Bitcoin #CryptoArt #Cryptocurrency #TechByTrueDigital
โฆษณา